วิรัตน์ แสงทองคำ : ค้าปลีกไทย ไม่ลดละ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธุรกิจค้าปลีกไทยเป็นไปอย่างคึกคักและมีสีสัน เดินหน้าสวนกระแสอย่างไม่ขาดสาย

เครือข่ายค้าปลีกภายใต้กำมือธุรกิจยักษ์ใหญ่ไทย ยังมองโอกาสที่เปิดกว้าง มองโลกในแง่ดี ขยายตัวกันอย่างต่อเนื่อง เปิดโฉมหน้ารูปแบบอย่างหลากหลาย อย่างไม่หยุดหย่อน

ความเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน อย่างน่าทึ่ง อย่างน่าบังเอิญ ดูๆ ไปแล้วเหมือนจะตั้งใจเผชิญหน้าแข่งขันกันโดยตรง

ปรากฏการณ์ กลุ่มเซ็นทรัล กับ สยามพิวรรธน์ ได้เปิดฉาก เปิดแผนการโครงการค้าปลีกรูปแบบที่เรียกว่า Outlet อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน จากนั้นเพียงปีเศษๆ สามารถจะเปิดตัวได้ กำลังจะได้ยลโฉมกัน สปีดทางธุรกิจที่ว่า สะท้อนสภาวะแข่งขันด้วยเช่นกัน

อันที่จริงคู่แข่งทั้งสองถือเป็นคู่แข่งคู่ใหม่ ด้วยเรื่องราวที่แตกต่างอย่างน่าสนใจ

 

เซ็นทรัล ผู้นำค้าปลีกไลฟ์สไตล์ยึดใจกลางกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม ผ่านมาได้ 3 ทศวรรษ ต้องเผชิญหน้าคู่แข่งใหม่อย่างไม่คาดคิด หลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ช่วงกรุงเทพฯ ปรับโครงสร้างระบบคมนาคมครั้งใหญ่

สยามพิวรรธน์เข้ามาผนึกผสานพลัง ห้างที่นำหน้าด้วย “สยาม” ยึดทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ ไว้อย่างแท้จริง ประหนึ่งผลักเครือข่ายเซ็นทรัลออกไปเป็นดาวบริวาร

หากพิจารณาในภาพใหญ่กว่านั้น สยามพิวรรธน์ย่อมไม่สามารถเทียบเคียงกับกลุ่มเซ็นทรัลได้ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกซึ่งเป็นผู้นำอย่างแท้จริงในประเทศไทย แม้ไม่ได้ยึดทำเลทองกรุงเทพฯ อย่างเบ็ดเสร็จ แต่หัวเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวในประเทศไทยยังเป็นของเซ็นทรัล

มองไกลไปกว่านั้น เซ็นทรัลยังมีห้างในใจกลางเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปด้วย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ย่อมน่าสนใจเสมอ เกมล่าสุดเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ต่างฝ่ายต่างมุ่งมั่นเข้าถึงทำเลยุทธศาสตร์ใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ

 

เริ่มต้น (24 เมษายน 2561) โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กิจการในเครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล เรียกตนเองว่าเป็น “ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีก (developer of retail property)” แถลงข่าวเปิดตัว เปิดแผนโครงการใหม่ ประกาศเปิดตัวเซ็นทรัลวิลเลจ

“เป็นลักชัวรี่เอาต์เล็ต (Luxury Outlet) มาตรฐานระดับโลกที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกในไทย ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ยังเน้นอีกด้วยว่าจะใช้ที่ปรึกษาระดับโลก ผู้มีประสบการณ์ในโครงการใหญ่

ผ่านมาเพียงเดือนเศษ (5 มิถุนายน 2561) ปรากฏความเคลื่อนไหวทำนองเดียวกันตามมาอย่างกระชั้นชิด–สยามพิวรรธน์ ผู้นำค้าปลีกไทยไลฟ์สไตล์รายล่าสุด ใช้คำคล้ายๆ กันว่า “ลักชัวรี่พรีเมียมเอาต์เล็ต (Luxury premium outlets)”

เป็นแผนการใหม่โครงการรูปแบบล่าสุดเช่นเดียวกัน

ที่สำคัญเป็นโครงการร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐ-ไซม่อน (SIMON PROPERTY GROUP)

 

เรื่องราวของ SIMON น่าสนใจ อย่างที่สรุปสั้นๆ ไว้ (http://business.simon.com/about)

“ไซม่อน คือหนึ่งในบริษัทผู้นำของโลกซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางทางด้านการจับจ่าย กินดื่ม บันเทิง และผสมผสาน และเป็นหนึ่งในบริษัทใน S&P 100 (ดัชนีบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐ โดย Standard & Poor) มีโครงการอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย นำเสนอพื้นที่ที่เชื่อมโยงชุมชนและผู้คนนับล้านๆ เข้าหากันในทุกวัน และสร้างยอดขายเป็นพันๆ ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี”

SIMON ขยายต่างประเทศครั้งแรกใน Canada เป็นอิทธิพลต่อเนื่องในเชิงภูมิศาสตร์ มีถึง 15 แห่งอยู่ในเอเชีย ส่วนใหญ่ขยายเครือข่ายอย่างดีในญี่ปุ่น มีมากที่สุดถึง 9 แห่งแล้ว 4 แห่งในเกาหลี และ 2 แห่งในมาเลเซีย

Outlet รูปแบบค้าปลีก มักมีทำเลนอกเมือง ก่อกำเนิดเป็นโมเดล และถือเป็นปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้น ในสหรัฐอเมริกาขยายตัวอย่างมากๆ ในช่วงเมื่อ 3-4 ทศวรรษที่แล้ว

อันที่จริงเมืองไทยได้เดินตามกระแส Outlet มาสักพักใหญ่ๆ โดยเฉพาะเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ราวๆ ปี 2544 เป็นต้นมา ริเริ่มโดยผู้ผลิต ผู้ถือลิขสิทธิ์สินค้าเสื้อผ้าแบรนด์เนม นั่นคือ FN (fly now) และ Pena House Group

โดยยึดพื้นที่ในต่างจังหวัด ริมถนนหลัก เส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในทำเลซึ่งมีราคาที่ดินไม่แพงเท่ากรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ และขณะนั้นก็ไม่แพงเท่าปัจจุบัน

ทั้งสองขยายเครือข่าย Outlet อย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน แต่ละรายมีสาขาประมาณ 10 แห่งแล้ว

ทั้ง FN (fly now) และ Pena House Group ยุคเริ่มแรก อาจเข้าข่ายโมเดลเรียกว่า factory outlet อ้างอิงเฉพาะสินค้าตนเอง ซึ่งเผอิญแต่ละรายมีหลายแบรนด์ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตาม ในเวลาต่อมามีความพยายามเพิ่มแบรนด์ต่างๆ อย่างหลากหลาย เพิ่มสินค้าอื่นๆ เข้าไปด้วย ดูจะกลายเป็นบุคลิกไปตามนิยามที่เรียกว่า multi-store outlet

ซึ่งทั้งกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์เดินตามโมเดลนี้

 

กรณีกลุ่มเซ็นทรัลและสยามพิวรรธน์เป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง ผู้นำค้าปลีกไทยกับความพยายามปรับตัว แสวงหาโอกาสทางธุรกิจอย่างไม่ลดละ อ้างอิงสถานการณ์ กลุ่มเป้าหมาย และทำเล อย่างพลิกแพลง หลากหลาย มีแนวคิดไปในทางเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลสำคัญจากถ้อยแถลง (ตอนเปิดแผนโครงการเมื่อปีที่แล้ว)

“เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจับจ่ายใช้สอยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (ซีพีเอ็น) และ “พรีเมียมเอาต์เล็ตมีความเหมาะสมอย่างมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของประชากร และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 35 ล้านคนเดินทางมาท่องเที่ยวและมองหาสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่า” (สยามพิวรรธน์)

ทว่าขณะนี้ซีพีเอ็นให้รายละเอียดแผนการมากขึ้น ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น ระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า “Domestic 65%, International Tourists 35%”

ขณะนั้นซีพีเอ็นแห่งกลุ่มเซ็นทรัล แถลงว่าใช้พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่สยามพิวรรธน์ระบุว่า อยู่ในพื้นที่ประมาณ 150 ไร่ ในกรุงเทพฯ ย่านตะวันออก ในขณะนี้มีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เซ็นทรัลวิลเลจ “โครงการรีเทลรูปแบบใหม่ของซีพีเอ็น ที่จะเป็น The First International Luxury Outlet ที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย มีมูลค่าลงทุนทั้งโครงการรวม 5,000 ล้านบาท บนทำเลศักยภาพสูง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ประตูสู่ภาคตะวันออก กำหนดเปิดไตรมาสที่ 3 ปี 2562”

ส่วนสยามพิวรรธน์ใช้ชื่อ “สยามพรีเมียมเอาต์เล็ต” เริ่มต้นก่อสร้างแล้ว พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2562 ขนาด 50,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 150 ไร่ ย่านลาดกระบัง-มอเตอร์เวย์

 

ภาพใหญ่จริงๆ ภาพสะท้อนความเคลื่อนไหวสังคมธุรกิจไทย เชื่อว่ามาจากมุมมองทางธุรกิจเฉพาะว่าด้วยสถานการณ์ค้าปลีกไทย ท่ามกลางกระแสแนวโน้มระดับโลก ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมกำลังผันแปรอย่างมากๆ เมื่อค้าปลีกเชิงภูมิศาสตร์มีความสำคัญลดลง

“อุตสาหกรรมค้าปลีกในไทยคิดเป็นร้อยละ 15 ของ GDP รวมทั้งประเทศ และในปี 2561 มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 10 จากร้อยละ 6 ในปี 2560 ในส่วนที่เป็นห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไปขยายตัวร้อยละ 4 …กําลังซื้อส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางและระดับบนและผู้มีรายได้ประจํา ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลาง-ล่าง และกลุ่มเกษตรกรในต่างจังหวัดซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากเริ่มมีการฟื้นตัวแต่ยังไม่แข็งแรง เนื่องจากรายได้เกษตรกรยังขยายตัวช้า รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนสะสมอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรุงเทพฯ และตามเมืองท่องเที่ยวสําคัญต่างๆ เป็นแรงสนับสนุนสําคัญของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค”

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนความสำคัญธุรกิจค้าปลีกในสังคมไทย ขณะบทวิเคราะห์ข้างต้น เชื่อว่ามีอิทธิพลไม่น้อยต่อปรากฏการณ์ข้างต้น (อ้างมาจาก “อุตสาหกรรมค้าปลีกปี 2561”

รายงานประจําปี 2561 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จํากัด (มหาชน)

 

ภายใต้ภาพใหญ่ มองเห็นความเคลื่อนไหวทางธุรกิจ มีการแข่งขันอย่างดุเดือด คึกคัก ปีที่เพิ่งผ่านมา (2561) ห้างสรรพสินค้า (โมเดล outlet ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้) โครงการใหญ่ๆ เกิดขึ้นพอสมควร ทั้งมาจากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ทั้งรายเก่าและหน้าใหม่–ไอคอนสยาม เทอร์มินอล 21 พัทยา เกตเวย์บางซื่อ และสิงห์คอมเพล็กซ์

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2562 จะมีโครงการเปิดใหม่คึกคักไม่แพ้กัน

นอกจากเซ็นทรัลวิลเลจแล้ว ก็มี เดอะมาร์เก็ตแบงคอก ศูนย์การค้ามิกซ์จตุจักร เอกมัยมอลล์ วิสซ์ดอม 101 สามย่านมิตรทาวน์ พีเพิลพาร์ค อ่อนนุช มาร์เก็ตเพลสดุสิต และสยามพรีเมียมเอาต์เล็ต

ทั้งนี้ ซีพีเอ็นยอมรับด้วยว่า “ในภาวะตลาดปัจจุบันผู้ประกอบการศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าได้เผชิญกับความท้าทายจากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป…ความถี่ในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ามีแนวโน้มน้อยลง”

โดยเฉพาะมาจากปรากฏการณ์ที่สำคัญ “ความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งความท้าทายจากการเติบโตของตลาดสินค้าออนไลน์ (Online Shopping)”

กรณีเซ็นทรัลวิลเลจ และสยามพรีเมียมเอาต์เล็ต เป็นความพยายามของ Lifestyle Retail และ New Concept Retail เพื่อ “ออกแบบการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว”

ความพยายามอันไม่ลดละ ท่ามกลางช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจค้าปลีก ชิ้นส่วนสำคัญ สะท้อนภาพสังคมไทย