‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ มอง “ประยุทธ์ 2” มีโอกาสอยู่นานแค่ไหน ? และชะตากรรมอนาคตใหม่จะเป็นอย่างไร ?

: อายุรัฐบาลประยุทธ์ 2 สั้นหรือยาว?

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มอง 2 มุมกรณีอายุรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้กรอบอะไรมามอง-ประเมิน

ถ้าเอาแค่คณิตศาสตร์-มองจากสถิติของรัฐบาลผสมในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลแบบนี้จะอยู่ได้สั้น เมื่อมองผ่านกรอบตัวเลข-คณิตศาสตร์ จากการที่เขามีเสียงปริ่มน้ำเกินครึ่งมาแค่ 4 เสียงเท่านั้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลผสมแบบนี้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 1 ปีครึ่ง ไม่เคยมีใครอยู่ครบวาระ

แล้วเมื่อมองถึง “จำนวนพรรค” ที่รวมกันตั้งรัฐบาล ในอดีตรวมกันมากสุด 8-9 พรรค ก็ยังอยู่ไม่รอดเลย อยู่ได้ 1-2 ปี แต่ครั้งนี้เป็นรัฐบาลผสมสูงถึง 19 พรรคการเมือง ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ลงในกินเนสส์บุ๊กได้เลย

เราก็พอจะมองเห็นแล้วว่าการตั้งรัฐบาลแค่ช่วงการฟอร์ม ครม.มันมีอุปสรรคขนาดไหน เพราะว่ามีตัวผู้เล่นเยอะมาก

นอกจากจะต้องคอยเอาใจคนในพรรคพลังประชารัฐด้วยกันแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยก็ยังต้องใส่ใจ

แถมยังต้องดูแลพรรคเล็กอีกไม่ให้งอน พอมันเกินครึ่งมาแค่ 4 เสียง พรรคที่มีแค่ 3-4 ที่นั่งก็มีอำนาจต่อรองได้ เพราะถ้าเขาไม่เข้ามาสนับสนุนรัฐบาลจะไปไม่รอด

ฉะนั้น ถ้าเราประเมินดูว่าการตั้งรัฐบาลยังขลุกขลักขนาดนี้ แล้วโอกาสในการที่จะทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นในภายภาคหน้าแบบ 19 พรรค ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

นี่คือกรอบแรกมองด้วยประวัติศาสตร์+คณิตศาสตร์ทางการเมืองผ่านมา

แต่เราจะวิเคราะห์แค่นั้นไม่ได้

เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ณ วันนี้ มีปัจจัยใหม่คือ “รัฐธรรมนูญปี 2560” ซึ่งถูกดีไซน์ไว้อย่างละเอียดในการที่จะช่วยพยุงให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกฯ ได้อย่างยาวนาน

พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามที่คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน พูดเอาไว้เลยว่าดีไซน์มาเพื่อเรา

มาเพื่อเครือข่ายอำนาจของ คสช. เครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ และเครือข่ายชนชั้นนำทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลัง พล.อ.ประยุทธ์

แน่นอนว่าไม่มีทางที่เขาลงทุนทำมาขนาดนี้แล้ว จะยอมปล่อยให้รัฐธรรมนูญนี้เสียของ

ไม่มีทางที่จะยอมปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี 10-11 เดือนแล้วก็ต้องยุบสภาไปเลือกตั้งใหม่

การฟอร์มรัฐบาลครั้งนี้มันคือความต่อเนื่องจากระบบประยุทธ์ที่มาจากการยึดอำนาจปี 2557 ที่ต้องการอยู่ยาวและวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี วางกลไกรัฐธรรมนูญเอาไว้

วางชุด ส.ว.แต่งตั้งเอาไว้ให้โหวตตัวเองเป็นนายกฯ ได้แบบนี้

เราก็พอจะมองเห็นแล้วว่ามีความพยายามที่จะอยู่ยาวแน่นอน และก็อาจจะทำให้มีความพยายามใช้กลไกหลายๆ อย่างเข้ามาช่วย

ต่อให้เสียงปริ่มน้ำ รัฐบาลนี้ก็สามารถอยู่จนครบวาระได้

เราต้องไม่ลืมว่า ในอดีต รัฐบาลผสมอย่างในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ตาม ที่เป็นรัฐบาลผสมอายุสั้นสมัยนั้นเขายังไม่มีองค์กรอิสระ เขายังไม่มีตัวช่วยเยอะเท่ากับในวันนี้

พล.อ.ประยุทธ์มีตัวช่วยเยอะกว่า บรรดานายพลในสมัยอดีตทั้งหมด

https://www.youtube.com/watch?v=C_7O3scyaU4&feature=youtu.be

: ไม่มีโอกาสได้เห็น “เกมยุบสภา” ในระยะไม่กี่ปีนี้?

ผมมองว่า เกมการยุบสภาน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายมากๆ ถึงจะเลือกใช้

เพราะถ้าเราดูว่า กว่าเขาจะชนะเลือกตั้งมาแล้วฟอร์มรัฐบาลเกินเสียงเกินครึ่งต้องใช้อภินิหารทางกฎหมายและอภินิหารทางการเมืองอย่างเยอะมากๆ

มอง พปชร. แล้วก็คิดว่าคงไม่มีใครอยากกลับไปสู่การเลือกตั้งในเวลาอันใกล้นี้ เพราะเขารู้ว่าถ้ากลับไปสู่การเลือกตั้งเมื่อไหร่ เสียงเขาจะได้น้อยลงกว่าเดิม ไม่สามารถได้เท่าเดิม

แล้ว กกต.ยังจะสามารถทำแบบเดิมได้หรือเปล่า?

ในวันที่ชาวบ้านเขาตื่นตัวและรู้ทันกันหมดแล้ว

การนับคะแนนแล้วเกิดข้อกังขาแบบครั้งล่าสุดที่ผ่านมาทำได้หรือไม่?

แม้กระทั่งสูตรคำนวณพิสดารที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ หลายๆ อย่างก็คงทำได้ยากขึ้น

มิเช่นนั้นคนก็จะไปตั้งพรรคเล็กพรรคน้อยมากมาย เพราะเห็นว่า 2-3 หมื่นคะแนนก็ได้เก้าอี้แล้ว

ฉะนั้น การใช้อภินิหารพวกนี้มันจะยากขึ้น ถ้ากลับไปสู่โหมดของการเลือกตั้ง

ที่สำคัญ ปชป. และ ภท. เขาเองก็ไม่อยากจะกลับสู่การเลือกตั้งในเวลาอันใกล้นี้ เขาก็บอบช้ำพอสมควรและยังไม่สามารถตั้งหลักได้ เพราะถูกมองว่าบิดพลิ้วคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ทำให้การวางตัวครั้งหน้าจะยิ่งลำบาก ว่าจะยืนตรงไหน

จะปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะทำได้ลำบาก หรือเลือกที่จะประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่ไปเลย ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ที่นั่งเท่าเดิมหรือเปล่า

: อนาคตของอนาคตใหม่

พรรคอนาคตใหม่เองก็ลำบากขึ้น แต่ต้องถือว่าเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่เขาประสบความสำเร็จมาก เป็นพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์สูงสุด หลังก่อตั้งมาเพียงแค่ปีกว่าๆ เมื่อเทียบกับพรรคและนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่มีอยู่ต้องดิ้นรนหมด

พปชร.ใช้ทุกวิถีทางก็ยังได้แค่อันดับ 2 พรรคอนาคตใหม่ตั้งมาได้แค่ปีเดียวใช้ต้นทุนน้อย มีแต่ ส.ส.โนเนม ได้คะแนน 6 ล้านกว่า เป็นอันดับ 3 มี ส.ส.ถึง 80 คน

แต่เราจะเห็นว่าหลังจากนั้นเขาก็จะโดนโจมตีทุกวิถีทางจากทุกมุมทั่วสารทิศ

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร ถ้ามีคนคาดการณ์ว่าหากพรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบในอนาคต เพราะชนชั้นนำเห็นแล้วว่าพรรคนี้โตเร็วมากและได้เสียงคนรุ่นใหม่ไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งในอนาคตจำนวนคนรุ่นใหม่ก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งครั้งถัดๆ ไป

ฉะนั้น อาจจะมีความพยายามที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

เพราะว่าชนชั้นนำไม่อยากสู้ศึกถึง 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งต้องสู้กับพรรคเพื่อไทยเดิม (ทั้งในชนบทในภาคเหนือ ในภาคอีสาน)

แต่ครั้งนี้ต้องมาสู้กับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งชนะในเขตเมืองเยอะมากๆ ชนะใจในหมู่คนรุ่นใหม่อย่างล้นหลาม ตามโพลก็แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้ที่คะแนนเทมาที่อนาคตใหม่

: ถ้ากระทำกับอนาคตใหม่ ใครได้ประโยชน์

ตอนนี้การเมืองไทยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปคล้ายๆ กับเมืองมาเลเซีย มีการแบ่งขั้ว เป็นขั้วรัฐบาลกับพวกฝ่ายค้าน ในแต่ละขั้วประกอบด้วยหลายพรรค

ก่อนหน้านี้มาเลเซียมีอัมโนและอีกหลายพรรคการเมืองเป็นขั้วสืบทอดอำนาจ กับอีกขั้วหนึ่งที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน

จริงๆ มันเกิดการสร้างการเมืองแบบนี้ขึ้นมาแล้ว ตอนนี้ ฝั่งเพื่อไทย, อนาคตใหม่, เสรีรวมไทย, ประชาชาติ, พรรคของคุณมิ่งขวัญ ฯลฯ เราจะเห็นภาพที่เขาเกาะเกี่ยวอย่างเหนียวแน่นใน 7 พรรค ที่เขาเรียกแทนตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่แตก ผมคิดว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ฝ่ายรัฐบาลจะลำบากเพราะว่าฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถรวมตัวกันได้เหนียวแน่น แถมมีความขัดแย้งสูง

ประกอบกับ ปชป.-ภท.ก็ไม่ได้คิดว่าจะร่วมหัวจมท้ายกับ พปชร.ตลอด

สังเกตได้จากการตอนอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี คุณจะเห็นว่าไม่มีคนของ 2 พรรคนี้เลยที่ Defense อภิปราย เพื่อปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์

กลับกลายเป็นว่ามีสมาชิกวุฒิสภารวมกับ พปชร.ที่แสดงบทบาทนี้

ฉะนั้น ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ไม่แน่ว่า ปชป.-ภท. เขาจะยังร่วมหัวจมท้ายกับ พปชร.

แต่ปีกฝ่ายค้านเกาะเกี่ยวกันแน่นผนึกกำลังกัน ต่อให้เกิดอะไรขึ้นกับพรรคหนึ่ง เสียงก็จะยังไหลอยู่ในพรรคเหล่านี้

ดังที่เราจะเห็นจากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คะแนนก็ถูกเทมาที่อนาคตใหม่ ก็ต้องสมมุติว่าถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจริงในอนาคต ยังไงคนก็จะไม่ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ไปเลือกประชาธิปัตย์ มันก็ต้องไหลไปเพื่อไทยและพรรคเครือข่าย

หรือตัว ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ที่แตกกระจายก็ต้องไปหาสังกัดใหม่อยู่ ก็ต้องเลือกแนวร่วมเดียวกัน

: พรรคพลังประชารัฐ คือตัวแทนชนชั้นนำ

มีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายอีลีตหรือชนชั้นนำอนุรักษนิยมเลือกที่จะไม่ใช้ไพ่พรรคประชาธิปัตย์แล้ว

พอตั้งพรรคของตนเอง แล้วระดมสรรพกำลังเข้ามา ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม ต้องมองว่าพรรคพลังประชารัฐไม่เหมือนกับพรรคสามัคคีธรรมที่ในอดีตมีแต่นักการเมืองท้องถิ่นหรือเจ้าพ่อ

ในขณะเดียวกันก็ไม่เหมือนกับพรรคสหประชาไทยหรือเสรีมนังคศิลาว่าเป็นทหารชัดเจน บุคลากรมีแต่ทหารและข้าราชการ

แต่พลังประชารัฐเป็นการเกาะเกี่ยวกันของหลายกลุ่ม มีทั้งพลเรือนและการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการประจำ เทคโนแครต มาเกาะกลุ่มกัน ชัดเจนว่าอุดมการณ์เขาอยู่อนุรักษนิยมสุดหรือขวาสุดตอนนี้

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้เขาพยายามวางตัว ลดดีกรีความเป็นอนุรักษนิยม พยายามที่จะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น พยายามจะใช้คำว่าประชาธิปไตยสุจริต หรือท่าทีที่กลุ่ม NewDem พยายามแสดงออกมา แต่ก็ปรากฏว่าพ่ายแพ้อย่างยับเยิน มันก็สะท้อนว่าผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่เทิร์นหรือมีแนวโน้มเป็นขวามากขึ้น เป็นอนุรักษนิยมมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเขาอาจจะกลัวความเปลี่ยนแปลงหรืออาจจะกลัวกระแสของพรรคอนาคตใหม่จึงได้เสียงไปจากคนที่เคยโหวตให้ประชาธิปัตย์ หรือไม่เอาทักษิณในครั้งนี้ พุ่งมาที่พลังประชารัฐ

ทำให้ตอนนี้ พปชร.กลายเป็นตัวแทนที่ชัดเจนที่สุด ของผู้เลือกตั้งที่เป็นชนชั้นกลาง-กลางระดับสูง ที่มีแนวโน้มอนุรักษนิยมทางการเมืองแล้วก็หวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลง

คำถามก็คือว่า พปชร.จะอยู่ยาวแค่ไหน ก่อนหน้านี้พรรคลักษณะนี้ที่ทหารมาช่วยหนุนในการในการจัดตั้ง มักจะอยู่ได้ไม่ยาว เป็นพรรคที่เรียกว่าเป็น one time election คือเกิดขึ้นมาเพื่ออยู่ให้ผ่านการเลือกตั้งแค่ครั้งเดียว

พอหัวหน้าตัวเองหมดอนาคตทางการเมือง พรรคเหล่านั้นจะหายไป

ดังตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา

คำถามก็คือ เลือกตั้งครั้งหน้าจะยังอยู่หรือไม่ ล่าสุดตามกระแสข่าว หากมีการให้ พล.อ.ประยุทธ์นั่งหัวหน้าพรรคก็คิดว่าน่าจะเป็นระยะยาว

แล้วตอนนี้มันชัดมากว่าในพรรคดันมีหลายมุ้ง สะท้อนว่าหากเขาลงมาเป็นหัวหน้าเอง

แสดงว่าเริ่มเอาไม่อยู่ ทำให้หัวหน้าตัวจริงเลยต้องลงมาคุมเอง คุมคนหลายมุ้งที่ไม่เคยมีนโยบาย-อุดมการณ์ร่วมกันมาก่อน

ข้อดีของการเกิดพรรคของอนุรักษนิยมไปเลย คือเป็นการเอาความขัดแย้งมาสู้กันในสภา ฝ่ายอนุรักษ์มีตัวแทนในสภา หากอยากปกป้องเผด็จการก็ทำแบบชัดๆ ไปเลยในสภา ไม่ออกไปสู่ท้องถนน

แต่ข้อเสีย อย่าลืมเรามี ส.ว.แต่งตั้ง มี ผบ.เหล่าทัพมานั่ง ให้เขามีอำนาจเสียเลย กลายเป็นว่าเอาอำนาจเหล่านี้ไปอยู่ในระบบ โดยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่สามารถชี้เป็นชี้ตายได้

เสมือนอำนาจของคณะรัฐประหารได้ถูกสถาปนาไปแล้วอยู่ในรัฐธรรมนูญในระบบ ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แถมระดับความเป็นประชาธิปไตยยังน้อยกว่ายุค พล.อ.เปรมด้วยซ้ำ เพราะครั้งนี้ได้ใช้กลไกรัฐมาสนับสนุนชัดเจน ยากที่การเลือกตั้งจะเกิดแบบฟรีและแฟร์ เพราะเล่นระดมสรรพกำลังมาเกื้อหนุนให้ชนะ

แถมองค์กรอิสระที่ คสช.ตั้งเอง ต้องมาทำหน้าที่ ก็ทำให้มองว่าขาดความเป็นกลางได้

ชมคลิป

https://youtu.be/C_7O3scyaU4