นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ภาพตั้งงานศพ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าไม่ใช่เพราะความกรุณาของอาจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ผมคงเขียนบทความนี้ไม่ได้ เพราะอาจารย์ปิ่นแก้วได้มอบของขวัญวันเกิดเป็นหนังสือให้เล่มหนึ่งคือ Refracted Visions : Popular Photography and National Modernity in Java ของ Karen Strassler

Strassler อาศัยภาพถ่ายเพื่อวิเคราะห์ให้เห็นความคิด, ความฝัน, ความยึดมั่น ฯลฯ ที่อยู่ในใจของคนชวา อันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้ อย่างยากที่จะหา “หลักฐาน” ที่เป็นคำพูดใดมาบ่งบอกได้ดีไปกว่าภาพถ่าย หนังสือเล่มนี้จึงให้ทั้งความรู้และมุมมองใหม่ที่ผมไม่เคยมีมาก่อน เพราะไม่เคยนึกว่าภาพถ่ายจะเป็นดัชนีที่บอกถึงข้อมูลอื่นได้กว้างขวางถึงเพียงนี้

ผมอยากชวนคุยเรื่องภาพที่ใช้ประกอบงานศพในเมืองไทย

ผมเพิ่งทราบจากหนังสือเล่มนี้ว่าการตั้งภาพของผู้ตายไว้ในงานศพเป็นประเพณีที่รับมาจากจีน

จีน (ชั้นสูง) วาดภาพของบรรพบุรุษผู้วายชนม์ไว้กราบไหว้บูชามาแต่โบราณ ใครๆ คงเคยเห็นพอร์ตเทรตลายเส้นของบุคคลในหนังสือประวัติศาสตร์จีนมาแล้วทั้งนั้น ล้วนวาดขึ้นในสมัยโบราณ แม้แต่ลายเส้นภาพขงจื๊อก็มีวาดขึ้นมาเก่าแก่ ผมไม่ทราบว่าภาพเหล่านี้ถูกใช้ในงานศพหรือไม่ และหากใช้ เริ่มใช้กันในเมืองจีนมาแต่เมื่อไร

ในชวานั้น ชาวจีนหรือเชื้อสายตั้งภาพถ่ายของผู้ตายในงานกงเต๊กและงานฝัง ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นภาพถ่ายที่รัฐ (อาณานิคมดัตช์หรือเมื่อเป็นเอกราชแล้ว) ใช้เป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของผู้คน จีนในฐานะคนต่างด้าวที่รัฐพยายามควบคุมสูงหน่อย จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เช่น เพื่อติดในบัตรที่อนุญาตให้จีนเดินทางข้ามเขตได้ เพราะสมัยหนึ่งรัฐบาลอาณานิคมไม่อนุญาตให้จีนเดินทางได้โดยเสรี จนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นรายๆ ไป)

สถานการณ์คล้ายๆ อย่างนี้เกิดในเมืองไทยเหมือนกัน คนจีนต้องถือ “ใบต่างด้าว” ก่อนที่คนไทยต้องถือบัตรประจำตัวประชาชนหลายสิบปี และใบต่างด้าวต้องมีรูปถ่ายไว้หมายอัตลักษณ์ของผู้ถือด้วย (มีงานวิจัยของอาจารย์ปิ่นแก้วเองเรื่องอัตลักษณ์เอกสารที่พูดถึงเรื่องนี้ด้วย)

ทั้งในอาณานิคมและในสยามเมื่อรวมศูนย์ได้แล้ว คนจีนและเชื้อสายกลายเป็น “คนนอกที่อยู่ภายใน” หรือ “คนในที่อยู่ภายนอก” ไปเหมือนๆ กัน

พูดง่ายๆ ก็คือรูปติดบัตรนั่นแหละครับคือรูปไว้ตั้งในงานศพ มาในภายหลังงานศพคนไทยก็ตั้งรูปลักษณะเดียวกัน ส่วนจะเป็นรูปติดบัตรจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น เพียงแต่ลักษณะของภาพถ่ายนั้นจะเหมือนหรือคล้ายกับรูปติดบัตรที่ทางราชการกำหนด

นั่นคือภาพขาว-ดำ หน้าตรง ถ่ายเฉพาะส่วนบนหรือเสี้ยวตัว (ไม่ถึงครึ่งแท้ เลยจากกลางตัวขึ้นมานิดหน่อย) หลังภาพเป็นฉากเรียบๆ ที่ไม่แย่งสายตาจากใบหน้า และหน้าไม่แสดง “ความหมาย” อื่นใด เช่น ไม่ยิ้ม, ไม่ขึ้งโกรธ, ไม่ทะเล้น, เรียบเฉยเหมือนศพ

แต่ไม่ใช่เพราะเหมือนศพในความหมายที่กล่าวข้างต้น ที่ทำให้ภาพติดบัตรเป็นที่นิยมใช้ตั้งในงานศพ แต่เพราะภาพติดบัตรเป็นภาพที่ตั้งใจให้ไม่มีความหมายใดๆ เรียบเฉย จึงเปิดให้ผู้ชมใส่ความหมายลงไปเอง แล้วแต่ผู้มาร่วมงานแต่ละคนจะใส่ความหมายอะไรลงไป ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่เคยมีกับผู้ตาย

ภาพที่ตั้งในงานศพจึงเป็นภาพที่ให้ความจดจำได้หลากหลาย และความจดจำที่ผู้ชมสร้างขึ้นเองนี้ ก็หวังได้ว่าจะตราตรึงในใจของผู้ร่วมงานไปอีกนานเท่านาน

(ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่า ภาพที่เรียบเฉยนี้ย่อมเหมาะกับการเดินทางไปสู่สัมปรายภพ อันแตกต่างจากภพของเราอย่างสุดกู่ด้วย)

ในประเพณีจีน ภาพที่ใช้ในพิธีศพตั้งแต่สวดกงเต๊กไปจนถึงนำร่างไปฝังยังสุสาน จะถูกนำกลับไปตั้งไว้ในห้องด้านหน้าของบ้านเรือนและบูชากราบไหว้ตามเทศกาล ชาวชวาทำคล้ายกันคือไปตั้งไว้บนหิ้งพร้อมกระถางธูป ดังนั้น ภาพถ่ายเหล่านี้จึงไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ตายที่ใช้ในงานศพเท่านั้น ในที่สุดก็เป็นที่สิงสถิตของบรรพบุรุษหรือคนอันเป็นที่รักด้วย

ภาพที่จะใช้ตั้งในงานเผานี่แหละ ที่คนไทยให้ลูกหลานถือเดินตามพระเวียนรอบเมรุ ก่อนจะนำไปตั้งไว้บนเมรุ

แต่ผมไม่ทราบว่าประเพณีไทยทำอย่างไรกับภาพที่ใช้ตั้งในงานศพ เคยเห็นในบ้านเรือนของ “ผู้ดี” และกระฎุมพีไทยว่า มีรูปถ่ายหรือรูปเขียนบรรพบุรุษประดับอยู่ด้วย แต่ดูไม่น่าจะใช่ภาพที่ใช้ในงานศพ เพราะเป็นภาพเต็มตัวบ้าง หรือไม่ใช่ภาพที่คล้ายกับภาพติดบัตรแต่อย่างไร บรรพบุรุษหรือต้น9ระกูลของหลายบ้านเรือนอาจทำศพไปตั้งแต่ยังไม่ได้รับธรรมเนียมตั้งภาพผู้ตายในงานศพจากจีนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ผมไม่ทราบว่าในปัจจุบันคนไทยทำอย่างไรกับภาพที่ใช้ตั้งในงานศพ

พูดอย่างใจร้าย งานศพคือการจัดการสถานะทางสังคมของลูกหลาน (หรือเจ้าภาพ) อย่างหนึ่ง ภาพถ่ายของผู้ตายในงานศพนอกจากมีลักษณะของภาพติดบัตรแล้ว ยังต้องมี “เกียรติยศ” ต่างๆ ของผู้ตายปรากฏในภาพด้วย ดังนั้น จากภาพติดบัตรจริง ซึ่งมักไม่ค่อยแสดงสถานะทางสังคมใดๆ จึงถูกเสริมด้วย “เกียรติยศ” ต่างๆ ของผู้ตายเท่าที่จะเสริมลงไปในภาพถ่ายได้

ที่แพร่หลายมากก็คือชุดสูทฝรั่ง จากภาพติดบัตรซึ่งมักเป็นเสื้อเชิ้ตตัวเดียวก็กลายเป็นชุดสูทผูกไท้และเสื้อนอก แม้ว่าในชีวิตจริง เครื่องแต่งกายเช่นนี้ไม่ใช่ปรกติของผู้ตาย แต่ภาพถ่ายในงานศพมักเป็นรูปที่ผู้ตายอยู่ในชุดนี้ แม้ว่าผู้ตายอาจเป็นชาวนารวยคนหนึ่งเท่านั้นก็ตาม

(ผมไม่ค่อยได้ไปงานศพ จึงต้องอาศัยข้อมูลจากหนังสืองานศพ ซึ่งมักมีภาพของผู้ตายที่ใช้ในการตั้งศพอยู่ด้วย ดังนั้น จึงมีอคติโน้มเอียงไปทางธรรมเนียมของคนชั้นกลาง แม้กระนั้นในงานศพของชาวบ้านในชนบทที่เคยเห็นก็มีการตั้งภาพถ่ายของผู้ตายเช่นเดียวกัน แต่ก็เคยเห็นน้อยจนไม่แน่ใจว่าชุดสูทฝรั่งถูกใช้มากน้อยเพียงไร)

ถ้าธรรมเนียมตั้งภาพผู้ตายในงานศพของไทยยังคงทำเหมือนเดิมที่รับจากจีนคือใช้รูปติดบัตรหรือคล้ายติดบัตรก็ประหลาดอยู่ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่ารูปติดบัตรไม่แสดงสถานะทางสังคมสักเท่าไร แม้ว่ารัฐอาจปฏิบัติต่อพลเมืองอย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่ในการเก็บอัตลักษณ์บุคคล รัฐจำเป็นต้องปฏิบัติต่อทุกคนในฐานะ “ข้อมูล” เท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานของรัฐเอง รูปติดบัตรจึงเป็นอีกส่วนของความเสมอภาคซึ่งมีอยู่น้อยนิดในสังคมไทย อันเป็นสิ่งที่คนไทยไม่สู้จะเคยชินนัก

ภาพตั้งในงานศพจึงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ผู้ตายได้อยู่ในสังคมประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานของความเสมอภาค ซึ่งนับว่าน่าประหลาด เพราะขัดกับประสบการณ์จริงของผู้คนเมื่อยังมีชีวิตอยู่

เหตุดังนั้น ภาพที่ใช้ตั้งในงานศพนับวันจึงห่างไกลจากลักษณะภาพติดบัตรไปทุกที เพียงแต่รักษาเค้าของรูปติดบัตรไว้บ้าง เช่น มักเป็นภาพถ่ายครึ่งตัว, มักวางท่าอย่างเป็น “ทางการ” คือนิ่ง, ใบหน้าไม่ถึงกับเรียบเฉยเท่าภาพติดบัตร แต่ก็ไม่ถึงกับแสดงอารมณ์ หรือหัวร่อร่า ฯลฯ

และที่สำคัญคือ แสดงสถานภาพทางสังคมที่สูง ซึ่งไม่ใช่ง่ายนัก เพราะภาพเช่นนั้นอาจมีคนอื่นร่วมอยู่ในภาพด้วย ผิดธรรมเนียมที่จะเอาภาพคนเป็นเข้าไปปะปนกับภาพงานศพ ในสมัยที่ปริญญาบัตรยังมีผู้ถืออยู่ไม่มากนัก แม้ว่าภาพรับพระราชทานปริญญาบัตรอาจติดอยู่บนผนังบ้าน แต่ใช้เป็นภาพตั้งในงานศพไม่ได้ จะแสดงเกียรติยศของผู้ตายที่ครอบครองปริญญาบัตรได้อย่างไร หากเสียชีวิตแต่ยังสาว-หนุ่ม ก็ง่ายมากเพราะอาจใช้รูปที่สวมครุยเป็นภาพตั้งงานศพ แต่หากเสียชีวิตเมื่ออายุมากแล้ว ก็ไม่มีใครสวมครุยไปถ่ายรูป จะเอารูปเมื่อเป็นสาว-หนุ่มมาตั้งแทน ก็ดูขัดๆ

หากผู้ตายได้เหรียญตราหรือสายสะพาย ก็ใช้รูปถ่ายที่แสดงสถานะเช่นนี้ได้ง่าย แต่หากเป็นพ่อค้าเฉยๆ จะแสดงสถานะในรูปถ่ายได้อย่างไร เพราะเกียรติยศในสังคมไทยมักผูกกับรัฐค่อนข้างมาก

วิธีหนึ่งที่คนรวยใช้กันคือภาพถ่ายในชุดสูทฝรั่ง แต่จ้างช่างกล้องที่มีฝีมือ ให้แสงให้เงาในการถ่าย รวมทั้งจัดท่าให้แสดงความไม่ธรรมดาของบุคคลออกมาจากชุดแต่งกายที่ค่อนข้างธรรมดา ช่างกล้องฝีมือดีบางคนสามารถดึงเอาส่วนที่เด่นสุดของบุคลิกออกมาได้ด้วย เช่น อำนาจ หรือเปี่ยมเมตตา หรือความใจกว้าง หรือความสงบเสงี่ยม ฯลฯ

ภาพเหล่านี้เห็นเข้าก็รู้ทันทีว่าผู้ตายไม่ธรรมดาแน่

(ทั้งนี้ ไม่พูดถึงเครื่องประดับศพต่างๆ เช่น รางวัลเกียรติยศต่างๆ หรือเครื่องราชฯ ที่ผู้ตายได้รับมา ฯลฯ)

รูปตั้งงานศพในปัจจุบันจึงกำหนดจินตนาการของแขกเหรื่อที่มีต่อผู้ตาย (เช่นเดียวกับประวัติในหนังสืองานศพซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งที่แสดงสถานภาพของผู้ตายหรือครอบครัวด้วย เพราะราคาค่าพิมพ์ที่สูงขึ้นอย่างมาก) แตกต่างจากสมัยที่ยังใช้รูปในลักษณะรูปติดบัตร ซึ่งเปิดให้แต่ละคนสร้างความหมายของตนเองว่าผู้ตายคือคนอย่างไร

แล้วแต่ความสัมพันธ์ที่เคยมีกับผู้ตายมาก่อน