วิเคราะห์ : “เทสลาแห่งเมืองไทย” ที่เป็นมาและจะเป็นไป

ที่มาภาพ : Facebook -Energy Absolute

คนที่อุปมา “เอเนอร์ยี แอบโซลูต-อีเอ” หรือ “บมจ.พลังงานบริสุทธิ์” ว่าเป็น “เทสลาแห่งเมืองไทย” คือสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่เผยแพร่เรื่องนี้เอาไว้เมื่อ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่า อีเอภายใต้การกุมบังเหียนของสมโภชน์ อาหุนัย ดำเนินกิจการด้านพลังงานสะอาดแบบครบวงจร ทำนองเดียวกับที่อีลอน มัสก์ ขับเคลื่อนเทสลาในสหรัฐอเมริกาอยู่ในเวลานี้

ด้วยเป้าหมายทะเยอทะยานในท่วงทำนองคล้ายคลึงกันด้วยอีกต่างหาก

บลูมเบิร์กบอกว่า วิสัยทัศน์ต่ออีเอในอนาคตของคุณสมโภชน์ คือการกลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ในแวดวงรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรืออีวีให้ได้

แม้ว่าในเวลานี้จะมีรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าในเมืองไทยอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 1,500 คัน

รวมทั้งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถบัสใช้พลังงานไฟฟ้าแล้ว

คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.004 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมดเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่นิยมรถยนต์นั่งที่ใช้ไฟฟ้า เหตุผลสำคัญเป็นเพราะราคารถที่ยังแพงลิ่ว และหันมาใช้รถจักรยานยนต์สองล้อกันเสียมาก

 

แรนดี้ แทนทอง-ไนต์ ผู้เขียนบอกว่า รัฐบาลไทยกลับมองรถยนต์อีวีว่าเป็นช่องทางเพื่อบรรเทามลภาวะทางอากาศของเมืองหลวงและปลุกอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เคยเป็นเครื่องจักรทำรายได้สำคัญให้กับประเทศราว 12 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

การสนับสนุนทั้งทางการเงินและทางภาษีของรัฐบาล เป็นช่องทางที่อีเอใช้เป็นประโยชน์เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายผลักดันให้มีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งตามท้องถนนให้ได้ 5,000 คันภายในปีหน้านี้ พร้อมสรรพทั้งระบบสนับสนุน ตั้งแต่สถานีชาร์จไฟฟ้ากว่า 700 จุด ทั้งยังเตรียมแผนก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับใช้ในรถยนต์ขึ้นเองมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

ทั้งหมดนั่นไม่ได้เป็นเพียงความคิดลอยๆ อยู่ในอากาศ แต่อีเอที่เดิมเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทย ดำเนินการจนเป็นรูปเป็นร่าง เป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว

 

ในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ปีนี้ อีเอนำเอารถอีวี “ไมน์ โมบิลิตี้” รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปอวดโฉมและได้รับการตอบรับด้วยดี มีคำสั่งซื้อแล้วกว่า 4,500 คัน ในสนนราคาคันละ 1.2 ล้านบาท ถูกกว่ารถอีวีเช่นเดียวกันจากค่ายรถต่างชาติ อย่างเช่น นิสสัน ลีฟ หรือเกีย โซล อีวี อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ การตั้งเป้าของอีเอมีขึ้นในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกจับจ้องตาเป็นมันจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์นั่งไฟฟ้าทั้งหลายทั่วโลก

เหตุเพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถอีวีทั้งในจีน, สหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมๆ กันแล้วลดลงมากถึงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสาเหตุสารพัดอย่าง ตั้งแต่เทรดวอร์เรื่อยไปจนถึงเบร็กซิท

บีวายดี ผู้ผลิตรายใหญ่จากจีน, บีเอ็มดับเบิลยู เอจี, นิสสัน มอเตอร์ หรือแม้แต่กระทั่งเดมเลอร์ เอจี ในเครือเมอร์เซเดส-เบนซ์ ล้วนแล้วแต่ประกาศแผนจะผลิตและประกอบรถอีวีในภูมิภาคนี้กันแล้วทั้งสิ้น

อนาคตของอุตสาหกรรมรถอีวีในภูมิภาคนี้จึงทั้งสดใสและแข่งขันกันสูงยิ่งไปพร้อมๆ กัน

 

“ไมน์ โมบิลิตี้” ชูจุดขายที่เป็นจุดแข็งของบริษัทว่า เป็นรถยนต์อีวีแรกสุดที่ออกแบบและผลิตในประเทศไทย เป็นรถขนาด 5 ที่นั่งแบบแฮทช์แบ็ก ชาร์จประจุ 1 ครั้งเดินทางได้มากถึง 200 กิโลเมตร แม้จะไม่มากเท่าเทสลา โมเดล 3 หรือ บีวายดี อี6 แต่ก็ดีพอที่จะดึงดูดกลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่รายใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่สั่งจองรวดเดียว 3,500 คัน

แท็กซี่กับผู้ให้บริการรถเช่า คือกลุ่มเป้าหมายในเบื้องต้นสำหรับอีเอ เพื่อใช้เป็นหนทางในการ “อวดเทคโนโลยี” ของบริษัทให้ได้รับรู้ของสาธารณชนไปพร้อมๆ กันด้วย

แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ของอีวีของอีเอ จะมาจากโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ของบริษัทที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่ในเวลานี้ ตามข้อมูลของบลูมเบิร์กระบุว่า ถ้าดำเนินการผลิตเต็มกำลังของโรงงาน จะส่งผลให้ไทยกลายเป็นชาติผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมสำหรับรถยนต์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกไปในทันที

ในอนาคต อีเอตั้งเป้าหมายจะผลิตอีวีออกมาให้ได้ 3 ระดับ นอกเหนือจากไมน์ โมบิลิตี้แล้ว จะมีอีกรุ่นที่เป็นระดับคอมแพกต์คาร์ ราคาถูก และสปอร์ตคาร์ รถอีวีหรูราคาแพง

ที่ผ่านมาอีเอติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าไปแล้วราว 400 จุด และจะเพิ่มอีก 300 จุดให้แล้วเสร็จในปีนี้ ก่อนที่จะขยายออกไปเรื่อยๆ ให้ได้อย่างน้อย 1 สถานีทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตร

ถัดจากเมืองไทย อีเอเตรียมขยายไปยังประเทศใกล้เคียง รวมทั้งอินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

ไทยจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีอีวีในภูมิภาคนี้ คุณสมโภชน์ยืนยันเอาไว้อย่างนั้นครับ