“สราวุธ เบญจกุล” ผลักดันแนวคิด “ตำรวจศาล” หลังจาก17 ปีก่อน เกิดเหตุลอบยิงผู้พิพากษาปัตตานี

ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้เป็นวันที่ระเบียบคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลจะบังคับใช้

สำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่บริหารจัดการได้เตรียมความพร้อมทุกอย่างเพื่อรองรับหน่วยใหม่ “คอร์ตมาร์แชล” หรือเจ้าพนักงานตำรวจศาล ชุดแรก 40 อัตรา นับเป็นที่น่าสนใจถึงที่มาที่ไป ว่าเหตุใดจึงมีการตรากฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น

และมีอำนาจหน้าที่ จะเป็นประโยชน์อย่างไรบ้าง

สราวุธ เบญจกุล หรือ “ท่านวุธ” เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เล่าถึงที่มาของแนวคิดการเสนอให้มี “คอร์ตมาแชล” ว่า

เรื่องนี้มาจากจุดเริ่มต้นในช่วง พ.ศ.2545 นายรพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีถูกยิงเสียชีวิตกลางสี่แยกไฟแดงในช่วงเช้าขณะที่กำลังขับรถส่งลูกไปโรงเรียน เสียชีวิตพร้อมแม่ยาย

เหตุการณ์นี้เป็นจุดแรกที่เราตระหนักว่าผู้พิพากษานั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในขณะนั้น ที่ผมเองได้ทำงานร่วมกันกับท่านก็เสนอความเห็นว่า ในระบบของต่างประเทศ มีหน่วยงานที่ชื่อว่าคอร์ตมาร์แชล เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคลากรศาล รวมทั้งดูแลความปลอดภัยในสถานที่ เพราะเราตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีหน่วยงานของเราเอง เพราะอย่างตำรวจที่ประจำอยู่ตามศาล จะมีภารกิจหลักในเรื่องการดูแลทรัพย์สินของประชาชนอยู่เเล้ว ภารกิจหลักจะไม่ใช่เรื่องการดูแลศาล และอำนาจบังคับบัญชาก็ยังอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรามองจุดนี้ต้องเปลี่ยนแปลง

ก่อนนี้เราเคยเสนอหลักการเกี่ยวกับตำรวจศาลไปตลอด แต่เรื่องก็เงียบหาย เนื่องจากการที่จะผลักดันกฎหมาย ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จนถึงไปตรวจร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งให้สภาพิจารณา จะเห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายค่อนข้างยากและซับซ้อนพอสมควร

เราติดด่านตรงที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารมาเสมอ

แต่ในยุคนี้ที่เราเสนอร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาลสำเร็จได้ เป็นเพราะภาวะผู้นำของท่านชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา ที่เห็นถึงความสำคัญจนผลักดันนำเรื่องนี้ไปหารือกับฝ่ายบริหารกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นเพราะหลังจากเกิดเหตุเรื่องท่านรพินทร์ถูกยิง ช่วงหลังยังมีเหตุวุ่นวายในบ้านเมือง ที่ขนาดศาลอาญายังถูกอาวุธอาร์พีจียิงเข้ามาในอาคาร มีการขว้างระเบิดในบริเวณอาคารศาล และการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับนักการเมืองก็มีการคุกคามข่มขู่ผู้พิพากษา

กรณีเหล่านี้ทำให้ประธานศาลฎีกาและ พล.อ.ประยุทธ์เห็นถึงความสำคัญว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เเค่เรื่องความคุ้มครองส่วนบุคคลเท่านั้น แต่เมื่อเกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ศาลก็เป็นเป้าหมายจุดหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็ง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยก็มีการใช้ความรุนแรง เกิดปัญหาคุกคามศาล เมื่อประมวลเหตุการณ์ที่เกิด

การผลักดันของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการก็ทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดและผ่านความเห็นชอบได้

หน้าที่หลักของตำรวจศาล คือการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของบุคลากร สถานที่ รวมถึงการอารักขาบุคคลสำคัญของศาลและสำนักงานศาล อย่างเช่นในกรณีที่มีการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางคดี จะมีมวลชนมาเป็นจำนวนมาก

การที่จะเข้าไปทำหน้าที่ตัดสินคดีบางครั้งก็เป็นปัญหาอุปสรรค ต้องขอกำลังทหาร ตำรวจ หรือที่เคยมีผู้ชุมนุมมาล้อมศาล กว่าจะเรียกตำรวจมาใช้เวลาเป็นชั่วโมง ตรงนี้กฎหมายจึงเขียนว่าให้เป็นภารกิจหลักที่สำคัญ นอกจากคุ้มกัน เรายังมอบอำนาจหน้าที่ในการดูแลจัดการจับกุมตามหมายจับในกรณีจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากศาลแล้วหลบหนี และก็ดูแลผู้ควบคุมผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยใช้กำไล EM อีกด้วย

ในการเตรียมความพร้อม ก่อนหน้านี้เราได้เปิดรับสมัครบุคคลที่มีประสบการณ์ความรู้ความชำนาญในการดูแลรักษาความปลอดภัยและเรื่องการจับกุม ก็มีทั้งตำรวจ, ทหาร, หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาสมัคร เราได้มีกระบวนการในการสรรหาคัดเลือกเพื่อให้ได้บุคคลที่ดีที่สุด จนตอนนี้เราได้รับโอนผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยซึ่งจะเป็นตำรวจศาลจาก สตช. ส่วนที่เหลือขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างมีคำสั่งและรับโอนจากหน่วยงานต้นสังกัดอีก 30 กว่าคน

ในวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เราจะมีตำรวจศาลตามกรอบอัตรากำลังทั้งสิ้น 40 คน โดยวันแรกที่เริ่มงาน กฎหมายกำหนดตำรวจศาลต้องผ่านการอบรม เพื่อพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กรของศาล ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล ในช่วงแรกจะเป็นการอบรมระยะสั้นเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ ผมก็จะมอบหมายปัญหาต่างๆ ให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำเลยหลบหนี หรือปัญหาอื่นในการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้ตำรวจศาลใช้เป็นโจทย์ประชุมแนวทางในการปฏิบัติการ

เราจะมีการประเมินผลงานรายไตรมาสไปยัง กบศ. แต่ในข้อเท็จจริงทุกวันนี้ ผมประเมินเป็นรายสัปดาห์ ยกตัวอย่างเรื่องกำไร EM ผมให้รายงานในที่ประชุมทุกสัปดาห์ หรือถ้าไม่เป็นทางการผมให้รายงานผ่านระบบ LINE ตำรวจศาลก็เช่นกัน

ในฐานะที่เลขาฯ ศาลเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง การประชุมผมจะให้รายงานความคืบหน้าทุกสัปดาห์ ยิ่งเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ยิ่งต้องการให้มีการเตรียมความพร้อม มีประสิทธิภาพ เราต้องทำให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม อันนี้คือเป้าหมาย ผมเข้าไปดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด

“ต่อไปหากมีการพิจารณาคดีสำคัญและองค์คณะต้องการการคุ้มกัน ตำรวจศาลจะต้องไปอารักขา ต้องดูแลตั้งแต่สถานที่พัก ไม่ว่าจะอยู่ร่วมกัน หรือจะเป็นเซฟเฮาส์ที่ต้องมีความปลอดภัย ในอดีตเราต้องไปยืมกำลังไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจ ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขาส่งใครมาบ้าง ไว้ใจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงานที่องค์คณะตัดสินคดีถือเป็นงานความลับ ที่จะต้องเก็บตัวเพื่อที่จะเตรียมเขียนคำพิพากษา ตรงนี้ความลับจะต้องไม่รั่วไหล เราจึงต้องมีตำรวจศาลเพราะเป็นคนของเราเอง เรามีอำนาจบังคับบัญชา ถ้าเขาทำฝ่าฝืนผิดวินัยเราสามารถลงโทษได้”

“แม้ในตอนนี้หน่วยงานมีคนน้อย ในเรื่องการตามผู้ต้องหาหลบหนียังให้ปฏิบัติเองไม่ได้ แต่หน่วยนี้จะเป็นผู้วางระบบจนค่อยๆ เพิ่มจำนวน ใน 5 ปีเราตั้งเป้าไว้ที่ 207 คน อนาคตบุคลากรมีมาก การดูแลก็จะทั่วถึง เราจะทำให้เห็นถึงข้อแตกต่างในปัจจุบันและอนาคต ประชาชนและบุคลากรในศาลต้องมีความมั่นใจในชีวิตทรัพย์สิน”

“ซึ่งเรื่องมาตรฐานดูแลระบบความปลอดภัย เรานำระบบไอทีมาใช้ให้มากที่สุด อุปกรณ์เครื่องมือเราต้องพร้อม”