การศึกษาไทย ระบบเรียนรู้ผิดทาง ภาระ “ซูเปอร์แมน” แห่งศตวรรษ 20 เด็กผู้แบกโลกสังคมสูงวัย

งานวิจัย…ใครก็ว่าอ่านยาก แถมความรู้ยังอยู่ในวงจำกัด จนเกิดวาทะติดหูว่างานวิชาการอยู่เเต่บน “หอคอยงาช้าง” ดังที่ได้ยินมาหลายยุคหลายสมัย

โลกผันเปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตอล ทุกคนเข้าถึงข่าวสารเพียงปลายนิ้วคลิก ไอเดียการนำงานวิจัยมาเผยแพร่ให้ทุกคนได้ค้นคว้า ผ่านสื่อโซเซียลแบบสนุกสนาน

เว็บไซต์ “Knowledge Farm : ฟาร์มรู้สู่สังคม” ของหน่วยวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดประตูโลกวิชาการไปสู่การ “แบ่งปันความรู้” ย่อยงานที่เยอะและยาก มาให้อ่านกันในสรุปเดียว แถมยังคงความน่าเชื่อถือสามารถอ้างอิงได้เช่นเดิม

หนึ่งในงานวิจัยที่ Knowledge Farm นำมาเสนอให้สังคมกับวิกฤต “แก่เยอะ เกิดน้อย” ทางรอดรับมือผู้สูงวัย ภารกิจคนไทยคือต้องเก่งขึ้นเพื่ออยู่ในโลกใหม่ ความกดดันของเด็กอนาคต “ซูเปอร์แมน” ผู้รับผิดชอบหาเลี้ยงทั้งครอบครัว แถมยังต้องเป็น “คนเก่ง-คนดี” ของสังคม

ukytjtut5

รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้วิจัยโครงการ “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาว่าควรต้องเริ่มต้นจากการมี “Leadership” ที่จะเข้าไปรื้อระบบการเรียนรู้ของเด็กไทย

“การเรียนรู้ของคนไทยผิดหมด ประชาชนทราบ พ่อแม่รู้ดี แต่ไม่รู้ควรทำอะไร เด็กได้เรียนตามระบบกระทรวง แต่ตอนประเมินผล เรากลับไปผิดทิศผิดทาง คือให้เด็กสอบ สอบและก็สอบ”

จากรายงาน “โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย” ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ระบุว่า เด็กไทยมีปัญหาตั้งแต่เด็กวัยก่อนเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย

โดย 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการที่ต่ำกว่าวัย

เด็กชั้นประถมราว 140,000 คนอ่านหนังสือไม่ออก และราว 270,000 คนเขียนหนังสือไม่ได้

ส่วนเด็กมัธยม 1 ใน 3 ไม่สามารถอ่านจับใจความได้

แม้โอกาสที่เด็กจะจบ ม.ปลาย มีไม่น้อย แต่การจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ ต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เห็นได้จากโรงเรียนที่คะแนนโอเน็ตสูงสุด 50 โรงเรียน 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ

หากดูต่อไปเมื่อเรียนจบ แม้จะจบปริญญาตรีได้ แต่งานที่ได้ก็ต่ำกว่าวุฒิที่จบมา 40% ของเด็กจบใหม่ระดับปริญญาเป็นเสมียนและพนักงานซึ่งเงินเดือนไม่สูงนัก

ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลต่ออัตราเติบโตเศรษฐกิจไทย โดยมีต้นทุนเสียโอกาสสะสมแล้ว 11% ของ GDP หรือราว 1.5 ล้านล้าน


ทำอย่างไรระบบการเรียนรู้จะดีขึ้น

“การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องปรับหมด ไม่ใช่นั่งเรียนแบบเดิม เพื่อให้เด็กมาถามว่า สอบเมื่อไหร่คะ คำถามนี้ลามไปถึงปริญญาเอก แม้เขาจะเรียนสูงมากแต่ก็ยังถามว่า ข้อสอบมีอะไรบ้าง เปเปอร์นี้ต้องอ่านหรือเปล่า ดังนั้น หากจะแก้ระบบความคิด ต้องสอนให้คิดวิเคราะห์เป็น แต่การประเมินของไทยยังวัดความจำ ทุกวันนี้เราวัดการคิดวิเคราะห์น้อยมาก” ดร.ปังปอนด์ กล่าว

เธอยกประสบการณ์จริงจากห้องเรียนของลูกชั้น ป.4 ที่ครูให้การบ้านอ่านเรื่องราวของ แสงดา บัณสิทธิ์ ศิลปินเเห่งชาติ ว่าบทความนี้ทำให้เรียนรู้ได้มาก แต่ตอนสอบกลับถามว่า “แสงดา นามสกุลอะไร” เป็นตัวอย่างข้อสอบไทยที่ไม่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์

“หากเด็กได้เรียนโดยไม่ต้องท่องจำ เช่น ให้ไปคิดว่าเงิน 1,000 บาท จะทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ระดมสมองคิดในกลุ่ม คนที่ไม่เก่งมากก็จะมีหน้าที่ ส่วนคนที่เก่งมากจะเป็นผู้นำเพื่อน กระบวนการต่างๆ จะได้มาทั้งคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะโดยไม่ต้องยัดเยียด”

จากผลสำรวจในโครงการ “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย” พบว่านักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้ง 3 วิชา (การรู้การอ่าน การรู้คณิตศาสตร์ และการรู้วิทยาศาสตร์) มีสัดส่วนน้อยมาก (2.09%) เมื่อใช้เกณฑ์ผ่าน 40% ทุกวิชาและเกณฑ์การกระจายปกติ

ด้านจิตสาธารณะของนักเรียน พบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างผ่านเกณฑ์จิตสาธารณะระดับมากในด้านการมีความรับผิดชอบต่อตนเองและหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่ก่อให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อส่วนรวม

“ผลวิจัยชี้ว่าเด็กไทยไม่ได้มีระดับจิตสาธารณะที่แย่เลย องค์ประกอบจิตสาธารณะที่มีผลมากคือครอบครัว เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบอบอุ่นจากพ่อแม่ จิตสาธารณะและคิดวิเคราะห์จะดีด้วย แต่ก็พบว่าเด็กที่มีผลการเรียนดีจะมีแนวโน้มจิตสาธารณะที่แย่มากกว่า โดยเฉพาะเด็กที่เกรดเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป

การเรียนและการสอบ ทำให้เด็กไม่มีเวลาที่จะไปเรียนรู้จิตสาธารณะ ดังนั้น หากเราจะเดินไปพร้อมกันทั้งคู่ ต้องมีการเรียนรู้แบบ Problem-based learning (PBL) ที่เป็นบูรณาการทั้งหมด เน้นคิดวิเคราะห์ รับยุคศตวรรษ 21 นวัตกรรมจะเยอะมาก แต่หากเด็กยังคิดไม่เป็น ก็จะรองรับอนาคตไม่ได้” รศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าว

นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษายังเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ เพราะระบบการเรียนที่เเข่งขัน จะทำให้เกิด “เด็กในกรอบ” คือเด็กที่เรียนได้ดีตามหลักสูตร บางคนต้องติวเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ หรือเด็กด้อยโอกาส จะเกิดคำถามว่าต้องเรียนตามหลักสูตรเหล่านี้เพื่ออะไร เรียนแคลคูลัสแล้วนำไปปลูกข้าวได้หรือไม่

“เด็กนอกกรอบจะเบื่อหน่ายในการเรียนการสอน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล เพราะผู้ชี้นำประเทศต่อไปก็จะมีแต่ลูกคนรวย ส่วนลูกคนจนไม่มีทางไปไหน”

รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ เสนอแนะการปรับหลักสูตรว่าควรเป็นปัจจุบันที่สุด รองรับอนาคต พัฒนาทักษะทางปัญญาและทักษะทางอารมณ์ เช่น ความรับผิดชอบ ความมีน้ำใจ โดยจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยให้ได้ มุ่งเน้นการใช้ชีวิต บริหารการเงิน และเเก้ปัญหา โดยการสอนแบบ PBL ให้ทำงานเป็นกลุ่ม ปฏิรูปการวัดผล ปฏิรูปครู

เพราะหากเขียนหลักสูตรดีเเล้ว แต่ครูทำไม่ได้หรือยังคงจัดการเรียนการสอนและประเมินผลเช่นเดิม ก็จะไม่เดินหน้าไปไหน

 

ภาระของ “ซูเปอร์แมน” แห่งศตวรรษ 20

สํานักงานสถิติเเห่งชาติ คาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 2567-2568 ขณะที่อัตราเกิดลดลงพร้อมวิกฤต “คนเจนวายไม่อยากมีลูก” อัตราเจริญพันธุ์ของสตรีอยู่ที่ประมาณ 1.6 ต่อคน และคาดว่า 20 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือเพียง 1.3 เท่านั้น

“ปฏิรูปหลักสูตรใหม่ สอนให้เด็กเอาตัวรอดได้ในอนาคต โลกที่จะมีประชากรสูงวัยเยอะ แรงงานน้อย เด็กจะโตขึ้นไม่มีคุณภาพถ้าเรายังไม่ทำอะไร แต่เด็กรุ่นนี้ถ้าเราทำอะไรเขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพมาก ที่สำคัญเด็กกลุ่มนี้ตามโครงสร้างประชากรแล้วมีแนวโน้มจะมีลักษณะของการเป็น “ลูกคนเดียว” ที่ไม่มีการแบ่งปัน ซึ่งอาจจะส่งผลลบต่อสังคม”

รศ.ดร.ปังปอนด์ แนะว่าหากจะพาประเทศตามอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ต้องทำให้เด็กที่มีอยู่น้อย กลายเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เป็น “ซูเปอร์แมน” เพราะต้องรองรับผู้สูงอายุ

“ซูเปอร์แมนเหล่านี้ ในอนาคตจะเป็นลูกคนเดียว ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ยังไม่เสียชีวิต เพราะอายุยืนขึ้น ดูแลพี่น้องที่ยังไม่แต่งงาน และพี่น้องที่ยังไม่มีลูก ยิ่งไปกว่านั้นต้องดูแลตนเองจากความเครียด ภาระดูแลคนทั้งบ้านจะมากขึ้น อนาคตเด็กจึงอันตรายมาก”

หากจะมีอะไรมาช่วยซูเปอร์แมนได้ คิดว่าน่าจะเป็น “นวัตกรรมสมัยใหม่” ที่จะมาช่วยแบ่งเบาชีวิต แต่ปัญหายังติดอยู่ว่าปัจจุบันเด็กยังใช้นวัตกรรมไปในทางที่ไม่เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ