จัตวา กลิ่นสุนทร : รัฐบาล (ผสม) หลังเลือกตั้ง

ถึงวันนี้ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะจัดตั้งรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่เสียงปริ่มน้ำได้หรือยัง

ซึ่งมันก็เป็นไปตามที่ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองคาดหมายไว้ล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำไปว่าจะยุ่งยากวุ่นวาย

เนื่องจากการ “เลือกตั้ง” ผิดเพี้ยนไปมากมายจากเดิม

เริ่มต้นจากการวางแผนจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” ที่เอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลที่มาจากการ “ยึดอำนาจ” จากปี พ.ศ.2557 เพื่อสืบทอดอำนาจ โดยวางตัวหัวหน้า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 29) ต่อไป

มันเพี้ยนไปจริงๆ ระหว่างการจัดการเลือกตั้ง รัฐบาลเดิม (คสช.) ก็ยังอยู่ตามปกติ ไม่ต้องเป็นรัฐบาลรักษาการ คนในรัฐบาล หรือ “หัวหน้ารัฐบาล” กลับไปเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตัวจริงอย่างที่รู้กันโดยทั่วไป และได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี”

เรียกว่าลงสนามแข่งขันทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เอาเปรียบคู่แข่งอย่างชัดๆ 

 

รัฐธรรมนูญซึ่งพยายามลอกแบบมาจากประเทศในยุโรป การเลือกตั้งเรียกว่าระบบแบ่งสันปันส่วนไม่ปล่อยให้คะแนนหายหกตกน้ำไปสักคะแนนเดียว มันแปลกแปร่งมาตั้งแต่ต้นดังกล่าว พรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมและให้ความไว้วางใจเลือกผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งของตนเข้ามามากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ จึงต้องไม่ได้ผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

“คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำงานอย่างไร?

แต่ผล “เลือกตั้ง” ที่ออกมาก็ประหลาดๆ ดั่งที่เห็นพรรคขนาดจิ๋วได้รับเลือกมาจากทั่วทั้งประเทศได้ 20,000 กว่าคะแนน กลับได้ผู้แทนฯ ไปพรรคละ 1 คน

ไม่รู้ว่าใช้สูตรอะไรมาคิดกัน ทำเหมือนกับว่าจะเอาผู้แทนฯ จากพรรคขนาดจิ๋วเหล่านี้มาเติมให้กับขั้ว “ผู้สืบทอดอำนาจ” เพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ เพราะหลังเลือกตั้งได้จำนวนเสียงไม่พอ พรรคที่เป็นแกนนำไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1

คาดว่าน่าจะมีการพูดจาตกลงกันทีหลัง พรรคจิ๋วเหล่านี้ซึ่งไม่เคยคาดคิดมาว่าจะได้เป็นผู้แทนฯ จึงสงบเสงี่ยมมากกว่าจะพยายามเรียกร้องตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่

มีออกอาการบ้างจากพวกซ่าๆ ไม่ค่อยรู้เรื่องราวมากกว่าพวกเขี้ยวลากดินหน้าช้ำๆ ที่รู้ว่าจะเดินเกมอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

 

การปฏิบัติหน้าที่ของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)” ยึดถือเอาอะไรเป็นมาตรฐานไม่ได้ การตีความต่างๆ เรื่องการคิดคะแนนก็ดี การรับเรื่องราวร้องเรียนจากพรรคการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็ดี ล้วนแล้วแต่ดำเนินเอียงไปในทิศทางฟากฝั่งรัฐบาลเดิมแทบทั้งสิ้น

ประชาชนทั่วไปไม่ได้โง่งมจนไม่รู้อะไร สามารถคิดเป็นสัมผัสได้

แต่ท่านยังยืนยันว่าทำงานไปตามหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

การวางแผนเดินงานเพื่อก่อตั้งพรรคฝ่ายผู้สืบทอดอำนาจนั้นคิดกันมาเป็นเวลายาวนานหลายปีทีเดียว คงไม่น้อยกว่าอายุของรัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” เข้ามามีอำนาจ การก่อตั้งพรรคการเมือง การหาแหล่งเงินทุนไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ไปกว่าเดิม การดำเนินการต่อรองเรื่องตำแหน่งแห่งหนกับกลุ่มผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลกับผู้แทนฯ เก่าๆ ในพื้นที่ภาคต่างๆ ของประเทศ อดีตผู้แทนฯ ที่คิดว่ามีบารมีสามารถรวมกลุ่มกันได้ ซึ่งไม่พ้นจากเครือข่ายอำนาจเดิมทั้งสิ้น

ผู้ที่พยายามเดินงานซ่อนแอบในการรวมกลุ่มผู้แทนฯ กระทั่งส่งเด็กๆ ในสังกัดผู้ร่วมอุดมการณ์ ผลประโยชน์ออกมาก่อตั้งพรรคมิได้ลึกลับซับซ้อนอะไร

เพราะเป็นคนเก่าๆ ลูกน้องเก่าๆ ของอำนาจเดิมของนายใหญ่ที่ต้องไปอยู่นอกประเทศแปรพักตร์มาทั้งสิ้น

 

การก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้นายทหารซึ่งมาจากการปฏิวัติได้ฟอกตัวเพื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป ไม่แตกต่างกับพรรค “สามัคคีธรรม” ที่มีผู้มากบารมีอย่าง พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล (บิ๊กเต้) เป็นผู้วางแผนเดินงานเจรจากับกลุ่มก๊วนต่างๆ เพื่อจะส่งให้ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” (บิ๊กสุ) ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” หลังการยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2534

คิดว่า “กลุ่มทุน” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พรรคการเมืองต่างๆ ส่วนมากยังคงเดิม ทั้งที่เวลาได้เดินทางผ่านเลยมาเกือบ 30 ปี เพียงแต่ครั้งกระนั้นพรรค “สามัคคีธรรม” (ที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ เป็นการวมกันเฉพาะกิจ และต่อรองกันด้วยผลประโยชน์) ชนะการเลือกตั้ง ผิดกับปี พ.ศ.2562 ครั้งนี้ ที่พรรค “พลังประชารัฐ” ไม่ชนะการเลือกตั้ง ทั้งๆ ได้ทุ่มเททุกสิ่งอย่าง ทั้งผลประโยชน์ เงินทอง ตำแหน่ง

แต่บอกว่ามาชนะการเลือกตั้ง เพราะได้เสียงประชาชนที่เลือกผู้แทนฯ ระบบบัญชีรายชื่อมากกว่า จึงแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ตามประสงค์ที่วางไว้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้เรื่องจำนวนและที่มาของวุฒิสมาชิก 250 คน ก็ชนะในการโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” อยู่แล้ว ดังที่ปรากฏ

 

เฝ้าติดตามเมืองการเมืองไทยมาตั้งแต่ครั้งยังหนุ่มแน่นจนเติบโตสู่ปัจฉิมวัย รู้จักนักการเมืองในวัยเดียวกันจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ในขณะรุ่นพี่ป้าน้าอาครูอาจารย์ได้ล้มหายตายจาก กลับไม่เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงก้าวหน้า

มีแต่ย่ำซอยรอยเดิมจนถึงถอยหลัง

การเมืองในประเทศนี้ยังดำเนินไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ แบ่งฝักฝ่ายไม่เปลี่ยนแปลง การแบ่งชนชั้น ช่องว่างระหว่างความมั่งมี-ยากจน ยังคงดำรงอยู่

กลุ่มที่ได้ประโยชน์ มีความสุขสมบูรณ์ ซึ่งไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

ขณะฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยเพื่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาการดำรงชีวิตและความยากไร้ขัดสน

การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” และฉีกทำลายรัฐธรรมนูญเป็นระยะๆ เพื่อจัดทำขึ้นใหม่ให้ได้ประโยชน์กับฝ่ายตนก่อน เปิดให้มีการเลือกตั้งโดยผู้มีอำนาจเป็นผู้กำหนดกติกา นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่พัฒนา ยังย่ำอยู่ในวังวนน้ำเน่าและผลประโยชน์

แต่เมื่อมีพรรคการเมืองที่จะจริงจังมีอุดมการณ์เกิดขึ้นเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมประเทศนี้บ้าง กลับถูกรุมทำลายด้วยข้อหาที่ฉกาจฉกรรจ์จากกลุ่มสืบทอดอำนาจเก่าๆ หรือชนชั้นในสังคมอันสุขสบายเดิมๆ ที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

เราได้พบเห็นการต่อสู้ทางการเมืองอย่างนี้มาในหลายทศวรรษ ทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่เติบโตมาเปลี่ยนตัวละครมาดำเนินงานทางการเมืองท่ามกลางสายตาประชาชนรุ่นเก่าๆ เดิมๆ นักอนุรักษ์ทั้งหลายเฝ้ามองดูด้วยความหวาดกลัว

พร้อมจ้องหาโอกาสรวมตัวกันขุดค้นหาเหตุผลเพื่อสร้างแนวร่วมมาช่วยกันเพื่อทำลาย

 

ไม่มีทฤษฎีการเมือง การศึกษาเรื่องการเมืองอะไรมาวิเคราะห์มากไปกว่า “ประสบการณ์” อันยาวนานที่ได้พบเห็น ก็สามารถทำนายได้ว่าในที่สุดมันจะจบลงตรงไหน บรรดาผู้นำที่ทำท่าแข็งขัน ผยอง กร่างทั้งหลายจะกระเด็นกระดอนไปอย่างไร? เพียงแต่พยายามวิงวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในประเทศนี้ว่าอย่าให้การเมืองไทยมาจบลงบนท้องถนนเหมือนที่ผ่านๆ มา อย่างกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 – ตุลา 19 จนถึงพฤษภา 35–

เราจะไปเชื่อได้อย่างไรว่าการ “ปิดกรุงเทพฯ” แล้วประกาศว่าจะ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนการ “เลือกตั้ง” แล้วจะไปเชื่อได้อย่างไรว่า “จะคืนความสุขให้ประชาชน” โดยเร็ว หลังการ “ยึดอำนาจ” เพื่อจะได้มีการเมืองแบบใหม่เกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้ไม่มีอะไรแตกต่าง ยิ่งกว่านั้นยังจะถอยหลัง “เน่าเฟะ ไร้คุณภาพ ไร้ฝีมือ” มากกว่าเดิม?

ประเทศนี้มีการ “เลือกตั้ง” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เราได้ (ท่าน) ชวน หลีกภัย เป็น “ประธานรัฐสภา” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม และได้ “นายกรัฐมนตรี” (คนเดิม-ตามแผนที่วางไว้) วันที่ 5 มิถุนายน แต่ยังไม่สามารถจัดตั้ง “รัฐบาล” ได้

มีแต่ข่าววิ่งเต้นกดดันต่อรองขอตำแหน่ง “รัฐมนตรี” และผลประโยชน์อื่นๆ กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ในที่สุดบ้านเมืองย่อมต้องมี “รัฐบาล” จนได้ และเป็นรัฐบาลผสมของพรรคการเมืองเฉียด 20 พรรค โดยพรรค “พลังประชารัฐ” (พปชร.) เป็นแกน

ซึ่งต้องเรียกว่า “รัฐบาล (ผสม) ร้อยพ่อพันแม่” คงไม่ผิดอะไร

 

เมื่อปี พ.ศ.2518 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายรัฐมนตรี โดย “พรรคกิจสังคม” (18 เสียง) เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล ตั้งรัฐบาลเสร็จแถลงนโยบายจนผ่านสภาแล้วการวิ่งเต้นเพื่อจะเป็นรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลที่เรียกว่า “สหพรรค” (12 พรรค) ยังไม่จบ ต้องจัดสรรตำแหน่งต่างๆ อีกมากมายเอาไว้แจกจ่ายสนองตอบ และรัฐบาลก็มีอายุสั้นๆ

รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523-2531) มีอายุ 8 ปีเศษ แต่ต้องปรับ “คณะรัฐมนตรี” มาไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทั้งๆ ที่มี “กองทัพ” สนับสนุน มีการวิ่งเต้นเรื่องตำแหน่ง ซึ่งก็พยายามหาทางจัดสรรกันตลอดมา แต่ไม่วายจะถูกเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในที่สุดบรรดา (ลูกป๋า) นายทหารฝ่ายเสนาธิการทั้งหลายต้องช่วยกันหาทางทำให้ญัตตินั้นถูกถอนไป ซึ่งต้องใช้เงินสดจำนวนมาก เนื่องจากท่าน “นายกรัฐมนตรี” จะ “ลาออก” ถ้าหากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐบาล (ผสม) ร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “นายกรัฐมนตรี” จะอยู่บริหารประเทศได้สักเท่าไร? ต้องมาเฝ้าดูกัน