วิเคราะห์ : ไทยทำได้แค่ไหน? เมื่อประกาศนำอาเซียน “สะอาด”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

จบลงไปแล้วกับการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิดการประชุมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Meeting) ในงานมีการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปทำเป็นของขวัญของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมประชุม

แนวคิดฟังดูเท่

แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฝั่งเอกชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า รักษ์โลกแบบฉาบฉวย ผลิตภัณฑ์สีเขียวที่นำมาใช้กับงานอาเซียนซัมมิตใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง หรือของที่มีอยู่แล้วไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เก้าอี้ ทำไมต้องผลิตเก้าอี้ใหม่?

ก่อนหน้านี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอให้ผู้นำอาเซียนร่วมผนึกกำลังต่อต้านการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้ว

ปรากฏว่าในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนไม่ได้หยิบประเด็นของกรีนพีซมาหารือ แต่หันมาชูประเด็นสิ่งแวดล้อมเรื่อง “ขยะในทะเล”

 

ในการแถลงปฏิญญากรุงเทพฯ ระบุปัญหาขยะในทะเลมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนบอกว่า อาเซียนมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน

ประเด็นการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กรีนพีซผลักดันกับขยะในทะเล ความจริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพียงแต่ผู้นำอาเซียนเลือกแก้ปัญหาขยะในทะเลก่อนเท่านั้นเอง

สาเหตุที่เลือกเพราะในรายงานการทิ้งขยะลงในทะเลขององค์กรอนุรักษ์ทะเล (Ocean Conservacy) เมื่อปี 2558 พบว่าชาติสมาชิกอาเซียน 3 ชาติ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย รวมถึงจีน ทิ้งขยะลงท้องทะเลมากที่สุด

องค์กรอนุรักษ์ทะเลซึ่งมีชื่อเสียงในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลและชายฝั่ง มีอาสาสมัครทั่วโลกรวมถึงบริษัทเอกชนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมมานานแล้ว ระบุว่าแต่ละปีมีขยะใต้ทะเลเฉลี่ย 5-12 ล้านตัน

ขยะส่วนใหญ่มาจากการทิ้งบนบกถูกน้ำชะไหลทะลักลงสู่แหล่งน้ำลำคลองแล้วก็ไหลไปกองรวมกันใต้ทะเล

ประเทศกำลังพัฒนา มีปัญหาขยะใต้ทะเลมาก เพราะระบบเก็บกำจัดขยะไร้ประสิทธิภาพ

เศษขยะใต้ทะเลที่กลุ่มนักดำน้ำอาสาสมัครเก็บได้มากที่สุดคือก้นบุหรี่ หลอดดูดพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ฝาขวดพลาสติก ถุงพลาสติก

สัตว์ใต้ท้องทะเลมากกว่า 600 ชนิดได้รับผลกระทบจากขยะเหล่านี้ เช่น วาฬ โลมา แมวน้ำ เต่า และยังมีนก รวมถึงแพลงก์ตอน

ฉะนั้น เสียงโจมตีว่าขยะใต้ทะเลในพื้นที่อาเซียนติดอันดับต้นๆ ของโลกจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกประหลาดใจ

เพราะใน 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่เอาใจใส่ในปัญหานี้มากที่สุด นอกเหนือจากนั้นยังเป็นเมืองที่เปื้อนไปด้วยขยะสิ่งสกปรกและมลพิษ

 

ถ้าถามว่า ทำไมบ้านเรือนถนนหนทางในสิงคโปร์สะอาด ได้รับการยกย่องว่าเป็น 1 ใน 5 ประเทศสะอาดที่สุดของโลก และเป็นมหานครที่มีต้นไม้ร่มรื่นเขียวสดใสที่สุด

คำตอบก็เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะและลงมือทำจริงจังทั้งเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี

ตั้งแต่สมัยนายลี กวน ยิว ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ได้วางแนวคิดให้รัฐบาลสิงคโปร์ออกกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ ใช้บทลงโทษผู้ฝ่าฝืนหนักหน่วง

ใครทิ้งขยะลงบนถนนมีโทษปรับ 1,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือราว 23,000 บาท

ถ้าทำผิดซ้ำเป็นรอบ 2 อีกจะโดนปรับเป็น 5,000 เหรียญ หรือราว 115,000 บาท

ไม่เพียงแค่โดนปรับ ศาลอาจสั่งให้คนมือบอนทิ้งขยะไม่เลือกที่ไปบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ เช่น กวาดถนน ล้างห้องน้ำ หรือส่งไปอบรมการทิ้งขยะ

ทำความผิดในครั้งที่สาม นอกจากเจอโทษปรับแล้วและยังบังคับให้ใส่เสื้อที่มีป้ายประจานตัวเองว่า “ฉันเป็นคนมารยาททราม ทิ้งขยะเรี่ยราด”

นอกจากการลงโทษผู้ทิ้งขยะแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีบทลงโทษกับคนบ้วนน้ำลายทิ้ง ถุยหมากฝรั่ง หรือปัสสาวะข้างทาง เข้าห้องน้ำสาธารณะแล้วไม่กดน้ำทำความสะอาด

กฎหมายสิงคโปร์มีผลบังคับใช้จริง ตำรวจเข้ม จับจ้องสอดส่องคนทำผิดแล้วลงโทษอย่างเด็ดขาด ไม่มีการประนีประนอมหรือรับสินบนจากคนกระทำผิด

แต่คนที่ไม่ชอบ “ลี กวน ยิว” ก็หาว่าเป็นวิธีเผด็จการ บีบบังคับลิดรอนเสรีภาพชาวสิงคโปร์

 

หันมาดูประเทศอื่นๆ ที่เหลือในกลุ่มอาเซียน ยังไม่มีประเทศใดทำเมืองให้สะอาดได้เหมือนสิงคโปร์ เนื่องเพราะการบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ คนไร้วินัย เจ้าหน้าที่ลูบหน้าปะจมูก นโยบายทำครึ่งๆ กลางๆ ไม่ต่อเนื่อง

ฉะนั้น ไทยในฐานะประธานอาเซียน ถ้าคิดวาดหวังจะให้ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านทิ้งขยะใต้ทะเลมีผลสำเร็จได้ ไทยต้องเป็นผู้นำทำตัวอย่างให้เพื่อนสมาชิกอาเซียนเห็นว่าเมืองไทยสะอาด มีระบบกำจัดขยะครบวงจร มีประสิทธิภาพสูง ไม่มีขยะปนเปื้อนไหลลงทะเล

สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกๆ คือปัดฝุ่นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสะอาดซึ่งมีอย่างน้อย 3 ฉบับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เอากฎหมายทั้ง 3 ฉบับมาใช้ให้เต็มรูปแบบ ลบกระบวนการยุ่งยากซับซ้อนออกไป เช่น คนทิ้งขยะ เจ้าหน้าที่เทศกิจจับได้ แต่คนทำผิดปฏิเสธ เทศกิจทำอะไรไม่ได้ต้องส่งให้ตำรวจสอบสวนดำเนินคดี

ความซับซ้อนอย่างนี้ คนชุ่ยไร้สำนึกสาธารณะจึงไม่กลัวเกรงกฎหมาย

ส่วนแผนยุทธศาสตร์จัดการขยะมีมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้ขยะยังล้นเมือง กระบวนการลดขยะยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

การคัดแยกขยะไม่เห็นผล มีถังแยกประเภทขยะ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่ถังโชว์ น้อยคนที่แยกขยะแต่ละประเภทหย่อนลงถัง

ต้องเอาแผนยุทธศาสตร์มาทำให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด ปลุกให้คนรู้สำนึกว่า ถ้าทิ้งขยะลงในพื้นที่สาธารณะบนถนนหรือแม่น้ำลำคลองจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อาศัยจังหวะเป็นผู้นำรัฐบาลชุดใหม่ เป็นประธานอาเซียนของปีนี้ จัดการ “ขยะ” อย่างมีประสิทธิภาพเด็ดขาดฉับไว

เชื่อได้ว่าภาพลักษณ์ผู้นำเผด็จการที่โดนตราหน้าทุกวันนี้ อาจจะเลือนหายเหมือน “ลี กวน ยิว” ซึ่งวันนี้คือรัฐบุรุษของสิงคโปร์