จิตต์สุภา ฉิน : รอยเท้าที่ลบยากที่สุด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เมื่อไม่นานมานี้ได้ยินใครสักคนบ่นให้ฟังว่างานยุ่งติดต่อกันตั้งแต่เช้าจนไม่มีเวลาเปิดดูโซเชียลมีเดียเลย ยังไม่ทันจะจบวัน พอได้โอกาสก็คว้ามือถือมาเช็ก แล้วก็ได้เห็นว่ามีแฮชแท็กเกิดใหม่ที่ไม่รู้ว่ามาจากไหนแต่คนใช้กันเกลื่อนโซเชียลมีเดียไปหมด

ก็เลยต้องย้อนกลับไปหาต้นเรื่องว่าในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่ไม่ได้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตนั้น ตัวเองพลาดอะไรไปบ้าง

ดราม่าเมืองไทยไหลไปอย่างรวดเร็วและพัดพาคลื่นคนมหาศาลไปพร้อมๆ กับมันด้วย

จนอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าทำไมเราทุกคนถึงมีเวลาอยู่หน้าจอกันมากขนาดนี้ (รวมถึงตัวฉันเองด้วยแหละ)

เรื่องที่เป็นประเด็นขึ้นมาบ่อยในช่วงหลังๆ ก็มักจะเป็นเรื่องที่มีลักษณะแบบเดียวกัน คือใครสักคนโพสต์อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอดีตนานหลายปีมาแล้ว หรือแค่เมื่อวานนี้ แล้วก็ถูกใครอีกสักคนแคปเจอร์ออกมากางขึงให้สาธารณชนได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น

ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นโพสต์ที่ล่อแหลมให้เกิดความคิดเห็นไปในทางเกลียดชัง ต่อว่า ตำหนิ

เพราะนี่คือธรรมชาติของอินเตอร์เน็ต อินเตอร์เน็ตรักเรื่องร้ายและข่าวลบเพราะมันโหมกระพืออารมณ์ได้ทรงประสิทธิภาพกว่าเรื่องดีๆ หลายเท่า

นั่นก็แปลว่าจะโหมกระพือยอดไลก์ ยอดแชร์ และจำนวนคอมเมนต์ได้มากพอๆ กัน

 

จบจากเรื่องโพสต์ของช่อ ก็มาต่อที่ปั้นจั่น จบจากปั้นจั่น

รายล่าสุดก็เป็นยูทูบเบอร์เจ้าของแชนนอล Point of View บนยูทูบ ที่เคยโพสต์ความคิดเห็นทางการเมืองที่รุนแรงขัดกับภาพลักษณ์ที่คนรู้จักในปัจจุบัน

กรณีของช่อและ Point of View คือโพสต์มานานหลายปีแล้วแต่ถูกขุดกลับขึ้นมาใหม่

ในขณะที่ปั้นจั่นเพิ่งโพสต์ไม่นาน

และถึงแม้จะโพสต์ให้เฉพาะเพื่อนกันได้อ่านเท่านั้น แต่ก็ยังไม่วายจะถูกแคปเจอร์ออกมาจนได้

เรื่องนี้สะท้อนให้หลายๆ คนเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าตัวตนบนโลกดิจิตอลของเรามันอยู่กับเรายาวนานแค่ไหน บางทีเราลืมมันไปแล้วด้วยซ้ำว่าตัวเราเองเมื่อสัก 10 ปีก่อนเคยคิด เคยพูด เคยโพสต์อะไรเอาไว้บ้าง

แต่อินเตอร์เน็ตไม่เคยลืม

มันนอนรออยู่นิ่งๆ ให้ใครสักคนไปค้นหามันเจอเข้าสักวัน

 

Digital Footprints หรือรอยเท้าทางดิจิตอล บ่งบอกถึงกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่เราทำบนอินเตอร์เน็ต เปรียบเปรยคล้ายๆ รอยเท้าที่เราฝากไว้บนผืนดินเวลาเราไปเยือนที่ไหนสักแห่ง เช่นเดียวกับอินเตอร์เน็ต ทุกที่ที่เราไป ก็มีรอยเท้าทางดิจิตอลของเราฝากเอาไว้เหมือนกัน

ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่เราเข้าไปเยี่ยมชม

อีเมลที่เราส่ง หรือข้อมูลอะไรก็ตามที่เรากรอกเข้าไปบนโลกออนไลน์

ทุกอย่างสามารถถูกสาวกลับมาถึงตัวเราได้ทั้งหมด

การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องการลบรอยเท้าดิจิตอลของตัวเองแค่ไหน

ผู้ชุมนุมเข้าใจดีว่ากิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขาถ้าหากหลุดหลงเข้าไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตมันอาจจะนำมาซึ่งภัยต่อตัวเองได้สักวัน

สิ่งที่พวกเขาทำคือหันไปหาวิธีแบบอะนาล็อกให้ได้มากที่สุด

อย่างการใช้ซิมการ์ดรายวันที่ไม่เชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลส่วนตัว การเลือกสรรแอพพลิเคชั่นส่งข้อความหากันให้เป็นแอพพ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด

อย่างแอพพ์ Telegram ที่เป็นระบบปิดและเข้ารหัสข้อความ เมื่อคุยเสร็จก็ลบข้อความทิ้ง ซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินไปชุมนุมแบบเที่ยวเดียว ใช้เงินสดในการซื้อ ใส่หน้ากากเพื่อให้ได้ประโยชน์สองเด้ง ทั้งป้องกันแก๊สน้ำตา และป้องกันการถูกถ่ายภาพใบหน้า หรือเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นใคร

และที่สำคัญ เมื่อไปถึงที่ชุมนุม ก็ไม่ไปยกมือถือถ่ายภาพเซลฟี่เกร๋ๆ เช็กอินเกร๋ๆ หรือแชร์อะไรบนโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น

 

เมื่อข้อมูลส่วนตัวของเราขึ้นไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตแล้วก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะตามกวาด ตามลบได้หมด

อันไหนที่เป็นข้อมูลที่เราใส่เข้าไปเอง บนแพลตฟอร์มของเราเอง ก็อาจจะง่ายหน่อย

แค่ย้อนกลับไปลบก็จบเรื่อง (ถ้ายังไม่ถูกใครฉกฉวยไปเสียก่อน) แต่ข้อมูลไหนที่อยู่บนแพลตฟอร์มของคนอื่น อย่างเช่น กระทู้ที่พูดถึงเรา ข่าวที่เกี่ยวกับตัวเรา ภาพเราที่อยู่บนโซเชียลมีเดียของคนอื่น และอื่นๆ อีกมากมาย ก็อาจจะไม่ง่ายนัก

นี่จึงเป็นที่มาของกฎหมายให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อย่าง GDPR ที่ใช้กันในสหภาพยุโรป ซึ่งให้สิทธิต่างๆ แก่เจ้าของข้อมูล ซึ่งก็คือเราทุกๆ คนนี่แหละ อย่างเช่น สิทธิที่จะถูกลืมจากความทรงจำของสาธารณะ หรือสิทธิที่จะขอลบข้อมูล

สาเหตุที่เราต้องใส่ใจกับรอยเท้าดิจิตอลของตัวเองให้มากขึ้นก็เพราะว่าโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการตัดสินอนาคตหลายๆ อย่างของเราในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เวลาเราจะไปสมัครงานที่ไหนสักแห่ง วิธีการตรวจสอบพื้นหลังของผู้สมัครที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดไม่ใช่การอ่านเรซูเม่สวยหรูที่เราเขียนส่งไป

แต่เป็นการเสิร์ชหาโซเชียลมีเดียของเรา

เพราะนั่นคือที่ที่เรามีแนวโน้มจะเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด โพสต์บางโพสต์อาจจะสำคัญมากเสียจนเป็นตัวตัดสินเลยว่าเราจะได้งานในฝันของเราหรือไม่

ในต่างประเทศมีหลายเคสที่ผู้สมัครต้องชวดโอกาสดีๆ ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะเมื่อนั่งไล่อ่านโซเชียลมีเดียแล้วพบว่าเคยโพสต์อะไรที่แสดงความเกลียดชังและเหยียดคนบางกลุ่มเอาไว้ในอดีต

เช่นเดียวกับการจะตัดสินใจเริ่มออกเดตหรือคบใครสักคน การนั่งไล่อ่านโซเชียลมีเดียของคนคนนั้นเพื่อทำความรู้จักกับตัวตนของเขาและเธอให้มากขึ้นก็เป็นเรื่องที่ทำกันทุกคนสมัยนี้

ไปจนถึงเรื่องระดับประเทศอย่างการจะยื่นขอวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาก็ยังมีนโยบายออกมาบอกว่าจะต้องระบุชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองแนบไปด้วย

 

การจะลบรอยเท้าทางดิจิตอลไม่สามารถลบได้แบบ 100%

เพราะกิจกรรมบนโลกออนไลน์เราช่างมากมายเหลือเกิน

แต่วิธีเริ่มต้นที่พอจะทำได้และควรจะทำทุกคน ก็คือการ “กูเกิลชื่อตัวเอง” เพื่อดูว่าเวลาคนอื่นมากูเกิลเสิร์ชหาชื่อเรา เขาจะเห็นลิงก์เห็นภาพอะไรปรากฏขึ้นมาบ้าง

แล้วค่อยๆ ไล่ดูไปว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราอยากให้คนอื่นเห็น อะไรไม่ใช่ และจะจัดการกับสิ่งที่ไม่ใช่อย่างไรบ้าง

หลายคนไม่เคยกูเกิลชื่อตัวเอง หรือไม่ได้ทำมานานแล้ว ดีไม่ดีถ้าลองทำดูเราอาจจะได้พบเห็นอะไรที่น่าแปลกใจก็ได้

ต่อมาก็คือการป้องกันรอยเท้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับโลกโซเชียลมีเดีย คาถาง่ายๆ อย่างการ “คิดก่อนโพสต์” ก็ยังใช้ได้ดีเสมอ

หลายครั้งอารมณ์พาไป ทำให้เรามันมือโพสต์สิ่งที่เราคิดอยู่ในใจแบบที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองอะไรเลย

แต่ถ้าเราหยุดคิดสักนิดว่าสิ่งที่เราโพสต์มันอาจจะไปไกลกว่าที่เราเห็น และถามตัวเองว่านี่คือสิ่งที่เราอยากให้มันติดตัวไปตลอดหลังจากนี้หรือเปล่า วางโทรศัพท์ในมือลง เดินไปสูดอากาศสดชื่นข้างนอก หางานบ้านทำสักอย่างสองอย่าง เล่นกับหมาแมว

แล้วถ้าตอนนั้นคิดดีแล้วว่าอย่างไรก็อยากโพสต์อยู่ดี ก็ค่อยกลับมาโพสต์ก็ไม่สาย

เลือกที่จะไม่ย่ำไปในบางที่น่าจะเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุด