มุกดา สุวรรณชาติ : สิ่งแวดล้อมทางการเมืองเปลี่ยน เกมเปลี่ยน – การต่อสู้ที่เปลี่ยนไป

มุกดา สุวรรณชาติ

เมื่อความขัดแย้งของคนในสังคมขยายตัวมาถึงจุดหนึ่ง ก็จะมีการต่อสู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และวิธีการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจก็เปลี่ยนตามสิ่งแวดล้อม

วันนี้ 24 มิถุนายน 2562 ครบรอบ…87 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ความมุ่งหวังที่จะเป็นระบอบประชาธิปไตย แม้ใช้เวลาที่ยาวนานถึง 87 ปี แต่ระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสพัฒนาน้อยมาก

ระบอบคณาธิปไตยได้เข้าปกครองเป็นส่วนใหญ่ กว่าประชาชนจะมีโอกาสได้เรียนรู้มากขึ้นก็ในยุคหลังๆ นี้ เพราะเมื่อก่อน สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุถูกควบคุมอย่างหนัก แต่เมื่อผู้คนมีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารโดยเฉพาะหลังยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้เกิดการพัฒนาทางการรับรู้ ทางความคิด ได้ข่าวสาร จึงมีการต่อสู้ ขัดขืนต่อการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ สู้เพื่ออิสระ เสรีภาพ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงความคิดและอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมจึงเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อโค่นอำนาจเผด็จการ

สื่อนำคือหนังสือพิมพ์ กลุ่มนำคือนักศึกษา แน่นอนว่าต้องมีกลุ่มที่ตามมาฉกฉวยประโยชน์

ต่อมาก็เกิดกระแสสังคมนิยมที่ไหลมากับกระแสประชาธิปไตย

มีการต่อต้านจากชนชั้นปกครอง ยุคนั้นสิ่งแวดล้อมทางการเมืองต่างกับยุคนี้ ที่รักกับจีนอย่างดูดดื่ม ก่อนการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จีนยังถูกเรียกว่าจีนแดง จีนและเวียดนามถูกเรียกว่าเป็นจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ ใครขืนใส่เสื้อ สวมหมวกมีดาวแดงต้องโดนจับขังคุก การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฯลฯ

การพัฒนาประชาธิปไตยแบบสันติก็กลับกลายเป็นพวกหนักแผ่นดิน ถูกผู้มีความคิดแบบอำนาจนิยมและฝ่ายอนุรักษ์ร่วมกับมหาอำนาจจัดการใช้อาวุธเข่นฆ่าพลังที่ก้าวหน้ากลางเมืองใน 6 ตุลาคม 2519

ประชาธิปไตยที่เป็นสันติวิธี ซึ่งมีการเลือกตั้งเพียง 2 ครั้ง อยู่ได้ 2 ปี ก็เปลี่ยนแนวทางกลายมาเป็นการต่อสู้ด้วยปืน …แนวทางการต่อสู้เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมจริงๆ

 

เมื่อชาติไทยประสบกับปัญหาสงครามกองโจรกระจายไปทั่วทั้งประเทศ รัฐบาลจึงตัดสินใจออกนโยบาย 66/23 ให้ผู้ต่อต้านรัฐออกมาจากป่า วางปืนและเข้าสู่สนามการเมืองตามปกติ

ประเทศที่ปกครองจากเผด็จการเต็มใบก็ลดลงกลายเป็นเผด็จการครึ่งใบหรืออาจจะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ เริ่มตั้งแต่ ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเอาเปรียบ คือมีเลือกตั้ง แต่ก็มี ส.ว.แต่งตั้งจำนวน 3 ใน 4 ของ ส.ว.ที่มีอำนาจคล้าย ส.ส. (ไม่ต้องใช้งบฯ ไม่ถึง 10 ล้านก็ตั้งได้) นั่นคือยุคของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี 2522 อยู่ได้ 9 เดือน ส.ว.ก็หักหลัง หันไปหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งก็ปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบต่อโดยมี ส.ว.และพรรคการเมืองต่างๆ ช่วยค้ำเก้าอี้นายกฯ ให้อยู่ได้ถึง 8 ปี

นี่คือการต่อสู้ตามสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงอีกวิธีหนึ่ง เป็นการประนีประนอมกันทั้งฝ่ายที่กุมอำนาจปืน กุมอำนาจทุน นักการเมืองอาชีพ

แต่ขณะนี้ไม่ใช่ยุค 2522 แต่เป็น 2562

มีคนคิดจะใช้โมเดล พล.อ.เกรียงศักดิ์ และ พล.อ.เปรม แต่วันนี้ การเลือกตั้งผ่านมาแล้ว 3 เดือนก็ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้เลือกนายกรัฐมนตรีได้มาแล้ว แต่นั่นก็เป็นเพราะมีเสียง ส.ว. 250 เสียงมาหนุนจึงผ่านมาได้ แต่การจัดตั้งรัฐบาลผสมเกือบ 20 พรรค ตามทฤษฎี ตั้งยาก ล้มง่าย

ที่จะวิเคราะห์ครั้งนี้ไม่ใช่การจัดตั้งรัฐบาล แต่มองว่าฝ่ายประชาชนเปลี่ยนไปหรือไม่?

ถ้ากระแสน้ำเปลี่ยน เรือทั้งหลายที่ลอยอยู่บนน้ำต้องมีผลกระทบ

 

มองผ่านการเลือกตั้ง 2562
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน…คนเปลี่ยน…ผลเปลี่ยน

การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไปชนิดที่เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนทางคุณภาพ

นั่นหมายถึงคุณภาพของผู้เลือกที่ยกระดับขึ้นไปสู่ความเข้าใจทางการเมืองของประชาชน ที่สะสมประสบการณ์มานานหลายปี

มีความเข้าใจต่อผู้มีอำนาจมากขึ้นและชาวบ้านได้เลือกจุดยืนทางการเมือง ผลประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐ ผลกระทบทางอาชีพหรือมีเหตุผลทางสังคมที่สนับสนุนการเลือกตั้งของตน ทุกคนทั้งปัญญาชน คนรวย คนชั้นกลาง คนจน รู้แล้วว่าชีวิตตนเกี่ยวกับการเมือง แม้ในครอบครัวเดียวกันก็อาจมีความเห็นทางการเมืองต่างกัน

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายหลังผลการเลือกตั้งปรากฏออกมา

(เนื่องจากความไม่แน่นอนของคะแนนจาก กกต. การยกตัวเลขอ้างอิง จึงเป็นการประมาณ ตัวเลขหลักร้อยไม่นับเป็นความสำคัญในภาพรวม แม้ในบางเขตจะชนะกันเพียงหลักร้อย)

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เคยมีเสียงสนับสนุน 11.4 ล้านเสียงในปี 2554 แต่ครั้งนี้ปี 2562 จึงเหลือเสียงสนับสนุนเพียง 3.9 ล้านเสียง

ทำไมพรรคเพื่อไทยมีเสียงสนับสนุนถึง 15.7 ล้านเสียง วันนี้เหลือเพียง 7.9 ล้านเสียง

ทำไมพรรคใหม่ๆ อย่างอนาคตใหม่ จึงมีผู้สนับสนุนถึง 6.2 ล้านเสียง

ทำไมพรรคพลังประชารัฐแม้เป็นพรรคของผู้กุมอำนาจรัฐแต่เพิ่งตั้งไม่กี่เดือน ก็มีเสียงสนับสนุนมากที่สุด 8.4 ล้านเสียง

ถ้ามองย้อนหลังไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว วันนี้ จตุพร พรหมพันธุ์ ตั้งพรรคเพื่อชาติสามารถทำคะแนนได้เพียง 419,000 เสียง

ขณะเดียวกันที่สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. มาทำพรรครวมพลังประชาชาติไทยร่วมกับเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สามารถทำคะแนนเสียงจากมวลมหาประชาชนได้เพียง 416,000 เสียง

พรรคการเมืองประมาณ 80 พรรคที่ส่งสมัครรับเลือกตั้ง มีเพียง 16 พรรคที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ที่ใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คนไปหารคะแนนรวมของผู้มาใช้สิทธิ์ซึ่งเป็นบัตรดี 35.5 ล้านเสียง จะพบว่าคะแนนเฉลี่ยมาตรฐานของ ส.ส. 1 คนคือ 71,000 เสียง

 

1.ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏออกมาเป็นเพราะสภาพแวดล้อมใหม่ทางการเมือง…และเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง

ในทางการเมืองที่เป็นปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมใหม่ก็คือ การใช้อำนาจของคณะ คสช.และรัฐบาลที่ปกครองหลังการรัฐประหาร ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจกับประชาชนได้

การร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมีลักษณะ “ดีไซน์เพื่อพวกเรา” ทำให้คนรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม

กฎหมายพรรคการเมืองและการกำหนดวิธีการเลือกตั้งใหม่ที่เรียกว่าจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัว

ในทางสังคม มาตรฐานความยุติธรรมตกต่ำลงมาก จะดำเนินคดีหรือไม่ จะฟ้องทันหรือไม่ ถูกหรือผิด อยู่ที่ว่าคุณเป็นใคร อยู่ฝ่ายไหน นี่เป็นความอึดอัด บางคนก็กลัวจนต้องเปลี่ยนข้าง

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชน มีการตั้งคำถาม มีความไม่พอใจต่อการบริหาร การใช้จ่ายของรัฐ และความสุจริต

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้ไม่เกิดการตัดคะแนนเสียงกันเองของฝ่ายไม่หนุน คสช.หลายเขต แทนที่จะแพ้ กลับพลิกเป็นชนะ

 

2.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น

คือการที่ประชาชนสามารถส่งข่าวสารกระจายข่าวสารด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านระบบ Social Media สามารถโต้ตอบกันโดยไม่ต้องมีคนกลาง การนินทา วิพากษ์วิจารณ์ได้ถูกพัฒนาจากเสียงกระซิบเบาๆ กลายเป็นข้อความได้ เป็นภาพนิ่ง วิดีโอ สามารถนำภาพย้อนหลัง นำเสียงย้อนหลังไม่ว่าใครจะพูดอะไรไว้ สัญญาอะไรไว้ในอดีตแม้หลายปีแล้วก็ตาม วันก่อนพูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง ก็จะถูกนำมาเปรียบเทียบ

ผลงานของพรรคการเมือง ผลงานของบุคคลก็สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ ทั้งภาพและเสียง ตัวเลข การยืนยันข้อมูลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ถูกเสนอผ่านอย่างรวดเร็วฉับไว การโกหกไม่สามารถทำได้ง่ายๆ การครอบงำชักจูงก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ยกเว้นคนที่รับข่าวสาร ชอบข้อมูลเท็จ และคำโกหก เพื่อหลอกตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนี้จึงส่งผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก การตั้งเวทีปราศรัยทุกวัน และต้องระดมคนมาฟังมากๆ กลายเป็นเรื่องไม่จำเป็น

 

3.คนใหม่ ความคิดใหม่ ต้องการสิ่งใหม่ที่ก้าวหน้า

มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้งเลย และมีความไม่พอใจในเกือบทุกด้านจากปี 2554-2562 เป็นช่วงเวลาที่เว้นห่างจากการเลือกตั้งประมาณ 8 ปี จึงมีคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มประมาณ 6.5 ล้าน อยู่ในช่วงอายุ 18-25 ผลการสำรวจพบว่ากลุ่มนี้กระตือรือร้นที่จะเลือกตั้งอย่างมาก ประเมินว่าพวกเขามาเลือกตั้งประมาณ 5 ล้านคน อาจมีผลทำให้คะแนนเสียงแปรปรวนไปได้ถ้ามีลักษณะความนิยมเทไปทางใดทางหนึ่ง

และผลการสำรวจหลังการเลือกตั้ง ปรากฏว่า เมื่อสำรวจในหมู่นักศึกษาซึ่งมีอายุ 18 ถึง 23 ปี โดยศูนย์วิจัย ม.ธรรมศาสตร์ พบว่า

น.ศ.เลือกพรรคอนาคตใหม่ ใน กทม. 77% ภาคเหนือ 56% ภาคอีสาน 45% ภาคใต้ 46% ภาคกลาง 73%

และเลือกเพื่อไทยใน กทม.และภาคกลาง 12% ส่วนอีสานและภาคเหนือ 30% ภาคใต้ 5% ประชาธิปัตย์แทบไม่ได้รับความสนใจ มีภาคใต้ภาคเดียวที่ได้ถึง 33% นอกนั้นได้ประมาณ 3-4% เท่านั้นเอง

แต่ถ้าดูผลสำรวจจากมืออาชีพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งทำสำรวจทุกภาค จากหลายอาชีพ หลายวัย

ถ้าใช้อายุของกลุ่มผู้ลงคะแนนเป็นเกณฑ์พบว่า

ยิ่งคนอายุน้อยยิ่งเลือกพรรคอนาคตใหม่มาก

เด็ก 18-19 เลือกพรรคอนาคตใหม่อยู่ระหว่าง 55-60%

อายุ 20-29 จะเลือกอนาคตใหม่ประมาณ 40%

อายุเกิน 30-40 จะเลือกอนาคตใหม่ 20% กลุ่มที่อายุ 40-50 ขึ้นไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ไม่ถึง 10%

ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐจะมีคะแนนนิยมของคนหนุ่มสาวอยู่ไม่ถึง 12%

แต่พออายุ 30-40 พลังประชารัฐจะได้ 20% จากนั้นคะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุตั้งแต่ช่วงอายุ 40-50 พลังประชารัฐจะได้คะแนนนิยมประมาณ 30% อายุ 50-60 ได้ถึง 40% ถ้า 60 ปีขึ้นไปได้ถึง 50%

เพื่อไทยมีกลุ่มที่ให้คะแนนดีมีอายุ 30-50 ปี ที่ประมาณ 30% จากนั้นคะแนนก็จะลดลง จนถึงอายุเกิน 60 ปี ก็ยังมีคะแนน 25% แต่ในกลุ่มวัยรุ่น 18-19 อยู่ที่ 14% และกลุ่มอายุ 20-29 ปี ยังได้คะแนนที่ 25%

เมื่อดูจากผลสำรวจ ถ้าดูเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่เพิ่งมาใช้สิทธิ์เป็นครั้งแรก คะแนนน่าจะเป็นของพรรคอนาคตใหม่ถึง 50% นั่นหมายถึงประมาณ 2.5 ล้านคะแนน