บทวิเคราะห์ | จับตาแม่ทัพใหม่เพื่อไทย รับศึกผู้นำฝ่ายค้าน 7 พรรค

สถานการณ์ของ “7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” จากฝ่ายรุกที่ประกาศรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงก่อน กลับกลายเป็นฝ่ายตั้งรับทันทีเมื่อสูตรการคำนวณ ส.ส.ภาคพิเศษจัดแบ่งเก้าอี้ ส.ส.ในสภาสำแดงฤทธิ์

ส.ส.ของฝ่าย “7 พรรคการเมือง” โดนหั่นลงกว่า 10 ที่นั่งไปพร้อมกับคดีความต่างๆ อันเป็นผลจากการเลือกตั้งก็ไล่สอย ส.ส.ของฝ่าย 7 พรรคการเมืองไปด้วยควบคู่กัน ทำให้เพียงครึ่งทางแรกของการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ฝ่าย 7 พรรคการเมืองก็ปิ๋วเสียแล้ว

จนต้องโยนเก้าอี้นายกฯ ให้ “พรรคประชาธิตย์” และ “พรรคภูมิใจไทย” พิจารณา บทสรุปก็ออกมาอย่างที่ปรากฏในสภาผู้แทนราษฎร “ประชาธิปัตย์” และ “ภูมิใจไทย” เลือกโดดเข้าร่วมรัฐบาลกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ผลักให้ฝ่าย “7 พรรคการเมือง” กลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ในสภาทันที

ในฐานะที่ “พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับหนึ่งทั้งในการเลือกตั้งและในสภา บทบาทการนำทัพฝ่ายค้านจึงตกลงบนหน้าตัก ซึ่งเพื่อไทยเองก็พร้อมรับ เพราะทำใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าคงจะหนีความเป็นฝ่ายค้านไปไม่พ้น

แต่ด้วยกติกาใหม่ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อไม่มีใครได้เข้าสภาเลยแม้แต่คนเดียว ไม่ว่าจะเป็น “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรค “นายชัยเกษม นิติสิริ” และ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค รวมไปถึงชื่อของ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบัน

ทางแก้ของพรรคเพื่อไทยในการที่จะเข้ามานำทัพฝ่ายค้านในสภาจึงต้องดำเนินการเลือก “หัวหน้าพรรคคนใหม่”

โดยหัวหน้าพรรคคนใหม่นี้จะต้องเป็น ส.ส. เพื่อให้เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 ที่ระบุให้ “หัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

ไม่เพียงแค่นั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่นี้จะต้องเป็นคนที่เพียบพร้อมทั้ง “บารมี” และ “คอนเน็กชั่น” เพราะมีบทบาทที่ต้องทั้งนำทัพเพื่อไทยและนำทัพฝ่ายค้านไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขพิเศษว่าจะต้องเป็นคนที่คนแดนไกลแฮปปี้ยอมรับในศักยภาพด้วย

มองซ้ายมองขวาหาตัวคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่ว่ามาก็เห็นจะมีแต่ “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ เพียงคนเดียว ด้วยความที่เป็นคนที่ผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยนับถือ มีมิตรมาก ทำงานกับทุกคนได้ ไม่เคยประหัตประหารหรือแตกหักกับใคร ส่วนการทำงานก็เชื่อมือได้เพราะเคยนั่งมาหลายตำแหน่ง อดีตรัฐมนตรีก็เคยนั่งมาหลายกระทรวง รองประธานสภาก็เคย

ผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรคก็เคย ขนาดตำแหน่งหัวหน้าพรรค (เพื่อธรรม) ก็เคยนั่งมาแล้ว แถมล่าสุดได้รับความไว้วางใจจาก 7 พรรคการเมืองให้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานสภากับ “นายชวน หลีกภัย” ด้วย

ขณะที่เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมถึงความโดนใจคนแดนไกลก็ไม่มีอะไรติดขัด เพราะชัดอยู่ว่า “สมพงษ์” เป็น ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดมุ้ง “เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” น้องสาวนายใหญ่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ มายาวนาน

หวยจึงล็อกที่ชื่อ “สมพงษ์” เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่แบบแบเบอร์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ พอมีข่าวคราวเรื่องการปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย ผู้นำหญิงของพรรคอย่าง “คุณหญิงสุดารัตน์” ก็ควง “น.ต.ศิธา ทิวารี” มือขวาคนสนิท และลูกรักในทีม กทม.คนหนึ่ง บินด่วนไปพบผู้มากบารมีตัวจริงของพรรคเพื่อไทยที่ “ฮ่องกง” ทันที แบบจังหวะบังเอิญพอดี

ประเด็นใหญ่ที่ทำให้ระดับ “สุดารัตน์” ต้องเดินทางไปคุยกับคนแดนไกลด้วยตัวเอง มีเสียงซุบซิบว่าเป็นเรื่องการขอเปลี่ยนชื่อหัวหน้าพรรคจาก “สมพงษ์” เป็น “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ส.ส.กทม. มือขวาคนสนิทอีกคนหนึ่งของ “หญิงหน่อย”

แต่นายใหญ่ส่ายหน้า ให้ตามคำขอไม่ได้ ในขณะที่ตัว “คุณหญิงหน่อย” เอง ยืนยันแน่นหนักมาตลอดว่า ไม่เคยเสนอชื่อใคร นอกเหนือจาก “สมพงษ์” ย้ำถึงขนาดว่า ไม่เคยพูดชื่อคนอื่นออกมาเลยด้วย

ดังนั้น ชื่อ “สมพงษ์” จึงยืนหนึ่ง รอเพียงที่ประชุมพรรคโหวตรับรองอย่างเป็นทางการ

แต่ที่ไม่จบ และน่าจับตามองมากกว่า คือตำแหน่ง “เลขาธิการพรรคเพื่อไทย” ที่แว่วเสียงว่า มีความพยายามเปลี่ยนตัวเลขาฯ พรรค จาก “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคคนปัจจุบันเป็นคนอื่น คนอื่นที่ว่านี้ก็มีอยู่หลายชื่อ ทั้ง “น.ต.ศิธา ทิวารี” “น.อ.อนุดิษฐ์” และคนจากสายภาคอีสาน

แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “คุณหญิงสุดารัตน์” ให้สัมภาษณ์ชัดเจนทุกคำว่า ไม่เคยเสนอชื่อ น.อ.อนุดิษฐ์นั่งตำแหน่งใดๆ ในพรรคทั้งสิ้น

แรงกระเพื่อมจึงไปอยู่ที่ฝั่งของ “อีสาน” แทน โดยมีชื่อ “นายพงศกร อรรณนพพร” คนสนิทของ “นายสมพงษ์” ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่พรรคชาติไทย ย้ายตามกันมาที่พรรคเพื่อไทย เมื่อ “สมพงษ์” ย้ายไปนั่งหัวหน้าพรรคเพื่อธรรม “นายพงศกร” ก็ตามติดไปนั่งเป็นเลขาธิการพรรคด้วย และก็ย้ายกลับมาพรรคเพื่อไทยอีกครั้งเมื่อ “นายสมพงษ์” มาลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย

ชื่อของ “พงศกร” จะมานั่งเลขาธิการพรรคเพื่อไทยครั้งแรก มาจากปาก ส.ส.อีสาน ที่ลือกันหนาหูถึงขนาดว่า แม้จะไม่โอเค และไม่เห็นด้วยที่จะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ “ภูมิธรรม” เพราะเห็นว่าไม่มีใครมีคุณสมบัติเทียบเท่า ทั้งเรื่องลูกล่อลูกชน เรื่องทิศทางทางการเมือง วิสัยทัศน์ และความทุ่มเทในการทำงาน

แต่อย่างไรก็จะต้องมีการเปลี่ยนตัวเลขาฯ แน่นอน โดย “นายใหญ่” เป็นคนส่งสัญญาณผ่านแกนนำบางท่านมา และชื่อ “พงศกร” ก็ออกมาจากปากของ “นาย” เองด้วย ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สมาชิกระดับแกนนำพรรคก็ระบุว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีใครได้ยินสัญญาณการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ส่วน “ภูมิธรรม” เอง เจ้าตัววางใจนิ่ง ออกปากไม่อยากเป็นเงื่อนไขใดๆ ของพรรค ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง เพราะนั่งตำแหน่งเลขาธิการพรรคมานานแล้ว อะไรที่จะทำให้พรรคเดินหน้าได้ก็พร้อมที่จะทำ การทำงานให้พรรคไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้ แม้ไม่รู้ว่าคำพูดดังกล่าวสะท้อนนัยยะอะไรหรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากชื่อเลขาธิการพรรคเป็น “พงศกร” จริงก็ไม่น่าแปลกหรือเหนือความคาดหมาย เพราะ “พงศกร” แม้จะเป็น ส.ส.อีสานก็จริง แต่ก็อยู่ในมุ้ง “เจ๊แดง” มายาวนาน ได้รับความไว้วางใจจากนายในเรื่องของการทำงานตามสั่ง ประกอบกับเวลานี้ “เจ้าแม่วังบัวบาน” ก็อยู่ขนาบข้างพี่ชายไม่ห่าง ความเปลี่ยนแปลงตามข่าวลือจึงเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้

เชื่อว่าจนถึงวันนี้สถานการณ์ “ปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย” จะเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นั้นคงจะยังไม่นิ่ง เพราะมีการขยับเลื่อนช่วงเวลาที่จะเรียกโหวตเตอร์มาลงคะแนนเลือกกรรมการบริหารพรรค

จากเดิมที่จะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่กันไม่เกินสิ้นเดือนมิถุนายน ตอนนี้กลายเป็นว่าจะมีการขยายเวลาไปไม่เกินสิ้นเดือนกรกฎาคม โดยอ้างเหตุว่ารอการฟอร์ม ครม.ชุดใหม่ให้แล้วเสร็จ และแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน

ทั้งที่การปรับโครงสร้างพรรคจะดำเนินการเลยก็ทำได้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นแผนการยื้อเวลาของใคร หรือเป็นการประวิงเวลารออะไรหรือไม่

ที่แน่ๆ คือน่าจับตา เพราะแว่วว่า “มีเซอร์ไพรส์เพียบ”