คำ ผกา : ขอให้สลิ่มโชคดีมีชัย

คำ ผกา

ทุกวันนี้ไม่รู้ว่ามีใครเป็นเหมือนฉันบ้าง

นั่นคือ นั่งอ่านข่าวแล้วต้องเอามือทุบหัวเองแรงๆ แล้วถามตัวเองว่า ไม่ได้ฝันไปใช่ไหม?

เพราะแต่ละข่าวที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ มัน “เหนือจริง” เอามากๆ

มากจนไม่น่าเชื่อว่า เราสามารถอยู่กับมันได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร

หนึ่งในข่าวที่ให้ความรู้สึก “เหนือจริง” มากๆ ข่าวหนึ่งคือ การกำหนดโทษประหารชีวิตนักการเมืองในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีซื้อ-ขายตำแหน่ง

และที่ดูเหนืองจริงกว่านั้นคือ คนที่ออกมาคัดค้านกฎหมายนี้อย่างแข็งขันที่สุดคือนักการเมืองเกือบทุกพรรค

 

คณิน บุญสุวรรณ จากพรรคเพื่อไทย บอกว่า

“กรณีที่ กรธ. ยังยืนยันที่จะคงโทษประหารชีวิต ในความผิดฐานซื้อขายตำแหน่งทางการเมือง และตำแหน่งราชการว่า อาจเป็นเพราะคงไม่มี กรธ. คนไหน คิดจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตั้งพรรคการเมือง เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพราะนำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับบุคคลอื่นที่ทำการซื้อขายตำแหน่งเช่นเดียวกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี รัฐมนตรี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงเป็นการตรากฎหมายขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่คดีใดคดีหนึ่ง กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ถือว่าขัดหลักนิติธรรมอย่างร้ายแรง

โทษฐานซื้อขายตำแหน่งเป็นข้อหาที่ครอบจักรวาล และค่อนข้างเป็นนามธรรมซึ่งจับต้องได้ยาก ดังนั้น จึงง่ายแก่การกล่าวหา และสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งทำลาย หรือใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือดิสเครดิตคู่แข่ง ขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ตัดสินคดีความซึ่งถึงแม้จะวินิจฉัยอย่างเที่ยงธรรมปราศจากอคติ ก็ยากที่จะอำนวยความยุติธรรมได้เต็มร้อย เพราะทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจอย่างเดียว ที่ร้ายกว่านั้น จะมีหลักประกันอะไรหรือไม่ ที่จะบอกว่าผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ตัดสิน จะไม่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ นอกจากนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้ง ไม่ให้เกียรติประชาชนที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง และที่สำคัญไม่ให้เกียรติบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นการรอนสิทธิ หรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุเพียงแค่ว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น”

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนมาตรา 44 ของร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ทาง กรธ. ระบุไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ที่ผ่านมาไม่ได้ทักท้วงเรื่องที่มีโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต หรือบังคับใช้กับนักการเมือง แต่ตนเห็นว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือรัฐมนตรีที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ที่อาจทำความผิดแบบเดียวกันได้ ซึ่งตนสงสัยว่าทำไมโทษเหล่านี้ถึงเอาผิดแค่คนที่อยู่ในพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ทำไมกฎหมายนี้ถึงไม่ครอบคลุมคนกลุ่มอื่นด้วย (ที่มา : http://prachatai.com/journal/2016/12/69344X)

 

อ่านแล้ว คงมีคนบอกว่า – ก็แน่ละสิ กฎหมายแบบนี้นักการเมืองได้รับผลกระทบเต็มๆ นักการเมืองก็ต้องออกมาโวยวาย

มีกฎหมายแบบนี้ นักการเมืองชั่วๆ ก็อยู่ไม่ได้

หรือหากจะอยู่ก็ทำชั่วอย่างเดิมไม่ได้ เพราะขืนทำ โทษมันสูงถึงประหารชีวิต

อู๊ยยยย สะใจจัง

ฝันอยากเห็นกฎหมายแบบนี้นานแล้ว

อยากให้นักการเมืองชั่วถูกประหารให้ตายตกตามกัน

ประหารไปเจ็ดชั่วโคตรได้เลยยิ่งดี

แต่เราแน่ใจหรือว่าเราจะสะใจกับการออกกฎหมายแบบนี้

 

ก่อนอื่น สมมุติเราเชื่อในโทษประหารชีวิตจริงๆ

สมมุติเราเชื่อว่า ในกระบวนการจับคนผิดมาลงโทษ เราได้คนที่กระทำความผิดตัวจริงเสียงจริงมาก และประหารชีวิตไม่ผิดคน

แต่คำถามคือ แล้วในฐานความผิดเดียวกัน ซื้อขายตำแหน่ง เอื้อผลประโยชน์ให้ลูกให้เมีย ให้ญาติพี่น้อง ฯลฯ ที่เกิดขึ้นในหมู่คนที่ไม่ใช่นักการเมืองล่ะ?

ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ แล้ว ไหนจะองค์กรอิสระต่างๆ นานา รวมไปถึงสารพัดหน่วยงาน องค์กรที่แต่งตั้งกันขึ้นมาทำงานในนามของกรรมาธิการนั่นนี่ ฯลฯ

คนเหล่านี้ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจหน้าที่ไม่ต่างจากนักการเมืองนั้นคือมีอำนาจที่จะเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องญาติมิตรและกระทำการคอร์รัปชั่นได้ไม่ต่างจากนักการเมืองเลย

คำถามคือ เราจำเป็นต้องมีกฎหมายประหารชีวิตแก่คนเหล่านี้ด้วยหรือไม่

ที่เขียนข้างต้นนั้นคือคิดแบบบัวใต้น้ำแล้ว ก็ยังเห็นช่องโหว่ของการเขียนกฎหมายเช่นนี้

ลองคิดแบบบัวที่โผล่เหนือน้ำกันบ้าง

นั่นคือ ข้อถกเถียงว่าด้วย เรายังสมควรมีโทษประหารชีวิตอยู่หรือไม่?

ในเมื่อวิชาการทางอาชญวิทยาสมัยใหม่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยสังคมดีขึ้น

ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง

ไม่ได้ทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น

ทว่า โทษประหารชีวิตสร้างความเสียหายแก่มนุษย์มากกว่า

โดยเฉพาะกรณีจับผู้ร้ายผิดตัวทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ เท่ากับทำให้คนที่ไม่ได้ทำความผิดต้องถูก “ฆ่า” ไปฟรีๆ โดยที่ไม่มีความผิด

และแม้กระทั่งผู้มีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในหลายประเทศยังรับโทษสูงสุดอย่างมากแค่จำคุกตลอดชีวิต

แต่นี่แค่นักการเมืองซื้อขายตำแหน่ง โกงกิน จะเอาให้ถึงประหารชีวิตเลยหรือ

ไม่นับว่า หากข้อหานี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กลั่นแกล้งฝ่ายตรงกันข้ามล่ะ – บรื๋อ แค่คิดก็สยองแล้ว

หรืออีกที หลังกฎหมายนี้ออกมา ใครจะหาญกล้ามาเป็นนักการเมือง เพราะมันน่ากลัวโคตรๆ

ไม่รู้วันไหนจะถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย ชีวิตเหมือนแขวนไว้บนเส้นด้าย จะตายได้ทุกเมื่อ-งั้น?

 

อ่านแล้วอาจมีคนเถียงว่า โอ๊ยย ไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร? (คลาสสิคมาก คำถามนี้-เกิดมาเคยอ่านข่าวเรื่องจับแพะติดคุกจนตายใช่ไหม?)

แต่สถานการณ์จริงในประเทศไทยใครปฏิเสธได้ว่าเราไม่มีปัญหาเรื่อง “สองมาตรฐาน”?

เอาแค่เรื่อง ข้อหาหมิ่นประมาท ฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทแล้วมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาท อีกฝ่ายหนึ่งหมิ่นประมาทแต่ไม่มีความผิดเพราะเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตใจ

เมื่อเราอยู่กันแบบนี้ก็เป็นธรรมดาที่คนก็กังวลว่า กฎหมายออกมาแรงๆ แบบนี้ อาจมาจากความปรารถนาดี แต่การบังคับใช้จะมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแค่ไหน?

คิดทั้งแบบบัวใต้น้ำ ทั้งแบบบัวพ้นน้ำแล้ว หลายคนก็ยังยักไหล่อยู่ดีว่า-แล้วไง? เกี่ยวอะไรกับชั้น?

จะกลั่นแกล้งทางการเมือง จะจับแพะไปประหารชีวิต ยังไงก็ไม่เกี่ยวกับประชาชนอย่างเราอยู่แล้ว และชีวิตก็ไม่คิดจะเป็นนักเมือง

ของแบบนี้ก็ปล่อยให้นักการเมืองไฟต์กันเองสิ ถ้าไม่อยากตาย

แต่ลองนั่งลงแล้วคิดให้ดีว่า เราโอเคเหรอ กับการมีกฎหมายทำลายความเข้มแข็งของหนึ่งในสถาบันการเมืองที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ พรรคการเมืองและนักการเมือง

เพราะไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนจะครบสมบูรณ์ได้หากไม่มีนักการเมือง และพรรคการเมือง เว้นแต่ประชาธิปไตย 99%

หรือเราคนไทยโอเคกับประชาธิปไตย 99% ที่เราไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายสาธารณะใดๆ เลย

เขาจะแจกเงิน ไม่แจกเงิน

จะยกเลิกสามสิบบาทรักษาทุกโรคหรือจะไม่ยกเลิก จะมีช็อปช่วยชาติหรือไม่มี จะให้เรียนฟรีเก้าปีหรือสิบสองปี? จะมีรถไฟความเร็วสูง สามกิโลห้าหรือสี่กิโล จะทาสีรถไฟชั้นสาม? จะให้ตรวจร่างกายฟรี? จะมี พ.ร.บ.คอมพ์? จะเปลี่ยนชื่อเรียกจาก ผอ.โรงเรียนเป็นครูใหญ่เหมือนเดิม? จะเอาสังคมศึกษาออกจากการสอบโอเน็ต? จะใช้งบประมาณไปทำอะไร ไม่ทำอะไร? จะปลอดผู้ว่าฯ กทม. จะปลอดนายก อบต. อบจ. จะปรับ ครม. เอาใครออก เอาใครเข้า? จะประกาศตรงไหนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะให้สัมปทานบริษัทไหนทำเหมืองที่ไหน? ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ มีทั้งสิ่งที่เราชอบ ทั้งสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ได้แต่ก้มหน้าทำตาปริบๆ

ไม่เพียงแต่ทำตาปริบๆ หายใจทิ้งไปวันๆ และกระเสือกกระสนหาอยู่หากินหาค่าเทอมลูกไปวันๆ

แต่สิ่งที่สูญเสียอย่างใหญ่หลวงและฉันไม่เห็นหนทางว่ามันจะกลับคืนมาสู่สังคมไทยโดยเร็วคือ คนไทยเริ่ม “ชิน” กับการอยู่ในโครงสร้างของรัฐที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นมด เป็นแมลง ที่มีชีวิตไปวันๆ

แล้วรอความเมตตาจากรัฐไปวันๆ นั่นแหละ

ภายในสิบปีนี้ คนไทยกำลังเรียนรู้ว่า ตรรกะของการบริหารงานบ้านเมืองคือ อะไรที่รัฐเห็นว่าดีเดี๋ยวเขาก็จัดหามาให้เราเอง เช่น การออกกำลังกายมันดีไง เดี๋ยวรัฐก็จัดเวลามาบอกให้เราออกกำลังกาย

เด็กหญิง เด็กชายไม่ควรอยู่หอพักรวมไง เดี๋ยวรัฐก็ออกกฎหมายมาจัดการให้

เงินกู้ กยศ. อันเก่าดอกเบี้ยมันถูกไปไง เดี๋ยวรัฐขึ้นดอกเบี้ยให้เลย จากร้อยละหนึ่งเป็นร้อยละเจ็ดจุดห้า – เฮ้ยย ชาวบ้านเดือดร้อน – เฮ้ยยย รัฐเขาคิดมาดีแล้ว ชาวบ้านอย่างเราจะไปรู้อะไร เงียบๆ ไว้ เดี๋ยวก็ดีเอง เราเป็นใครจะมารู้เรื่องบ้านเมืองดีกว่า “รัฐ”

ว้าย สนพ. เจ๊ง นิตยสารก็เจ๊ง นักเขียนตกงาน ไปสั่นกระดิ่งหน้าทำเนียบของนายกฯ ช่วยกันเถอะพวกเรา

ฯลฯ

 

เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น จากพลเมืองผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง กำหนดนโยบายสาธารณะด้วยตนเองผ่านการทำงานของ ส.ส. และพรรครัฐบาลที่ตนเองเลือกไปทำงาน

คนไทยกลายสภาพเป็นคล้ายๆ กับสิ่งมีชีวิตที่มีความหมายเพียงรอส่วนแบ่งบุญไปวันๆ

ถ้าเขาแบ่งมาถูกใจเราก็โชคดีไป

แต่ถ้าไม่ถูกใจแถมยังทำให้เราลำบากก็อดทนไว้ เราเป็นแค่ประชาชน อย่าทำตัวให้เป็นภาระแก่รัฐมาก

แค่นี้ คณะบริหารบ้านเมืองก็ทำงานหนักและเหนื่อยจะแย่แล้ว

อย่าไปบ่นเพิ่มความเหน็ดเหนื่อยให้พวกท่านอีก
กฎหมายที่กำหนดบทลงโทษประหารชีวิตนักการเมือง ยิ่งตอกย้ำโครงสร้างทางอำนาจแบบนี้

โครงสร้างทางอำนาจที่เปลี่ยนประชาชนไปเป็นผู้ขอส่วนบุญ

เพราะจะไม่มีใครอยากมาเป็นนัการเมืองหรือทำงานการเมือง

ส่วนคนที่กล้ามาเป็นก็ต้องมั่นใจว่า “การเมือง” ของตนเองต้องพลีส คนที่สามารถชี้เป็นชี้ตายแก่เขาได้ ซึ่งไม่ใช่ประชาชน

การประหารชีวิตนักการเมืองคือการประหารชีวิตประชาชน คือการประหารชีวิตประชาธิปไตย

“แล้วไงไม่เดือดร้อน ไม่เห็นอยากได้ประชาธิปไตย มีแล้วกินได้เสียที่ไหน ประชาธิปไตยมีแต่นักการเมืองขี้โกง”

เชื่อสิ ยังไงก็มีคนคิดแบบนี้

ส่วนฉันฟังแล้วก็ยักไหล่ให้เหมือนกัน และขอเขียนประโยคเดิม

กูตัดมดลูกแล้ว กูก็ไม่เดือดร้อนเหมือนกัน

ขอให้สลิ่มโชคดี