เศรษฐกิจ / ‘ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์’ ฝันใหญ่ รบ.ประยุทธ์ 1 แค่เริ่มก็แท้งไร้เอกชนซื้อซองร่วมลงทุน โครงการค้างเติ่งรอ รบ.ประยุทธ์ 2 ไปต่อหรือม้วนเสื่อ

เศรษฐกิจ

 

‘ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์’

ฝันใหญ่ รบ.ประยุทธ์ 1

แค่เริ่มก็แท้งไร้เอกชนซื้อซองร่วมลงทุน

โครงการค้างเติ่งรอ รบ.ประยุทธ์ 2

ไปต่อหรือม้วนเสื่อ

 

‘ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์’ หรือชื่อเป็นทางการว่า เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ‘อีอีซีดี’ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ขนาดพื้นที่กว่า 700 ไร่ ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พื้นที่อุตสาหกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งหวังเป็นพื้นที่แม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

โดยเจตนารมณ์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 1 ต้องการให้เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ ที่มีโครงข่ายมหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล มีสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล เข้ามาวิจัยพัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อนำเทคโลยีอัจฉริยะต่างๆ มาใช้พัฒนาเมือง เกิดการลงทุนธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิม ไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ หรือนิวเอสเคิร์ฟ ดิจิทัล อินดัสทรี

หนึ่งในนิวเอสเคิร์ฟ ที่เป็นความหวังใหม่ผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น

แต่ทำท่าจะไม่ได้เกิดเสียแล้ว!!

 

เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอเพื่อคัดเลือกร่วมลงทุนในโครงการนี้ รอจนถึงเวลาทำปิดการราชการ 16.00 น. ไม่ปรากฏตัวแทนเอกชนแม้แต่รายเดียวโผล่หน้ามายื่นเอกสารแต่อย่างใด

ต่างจากจุดตั้งต้นของโครงการนี้ มีต่างประเทศแสดงความสนใจอย่างมาก ทั้งสอบถามเข้ามาและเดินทางมาซื้อซองแสดงความประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนด้วย เมื่อช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มากถึง 16 ราย และเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน หรือมาร์เก็ต ซาวดิ้ง เพื่อหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งจัดขึ้น 3 ครั้ง

และครั้งล่าสุดก่อนเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอ ก็ยังมีเอกชนมาร่วมรับฟังกว่า 50 บริษัท

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอี ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ก็สงสัยเช่นกันว่าทำไมไม่มีเอกชนสนใจ

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เอกชนหลายรายแสดงความสนใจมาโดยตลอด ได้ออกสำรวจสถานที่จริง มีหนังสือสอบถามข้อมูลในรายละเอียด

ซึ่งได้ตอบข้อซักถามรวมถึงออกเอกสารแก้ไขข้อกำหนดให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่รับรู้มาตลอดว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนอย่างเต็มที่จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด

ส่วนการขอใบอนุญาตด้านธุรกิจก็จะสะดวกรวดเร็วกว่าพื้นที่อื่น

เช่น การขอวีซ่าให้นักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ สิทธิลดหย่อนภาษีให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอีอีซี เป็นต้น

 

ขณะที่แคท หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลโครงการดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ โดยนายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวอย่างมั่นใจว่า โครงการนี้จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาตั้งธุรกิจ ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมอย่างมาก เพราะจะมีอาคารสูงหลายหลังรองรับบริษัทดิจิทัลและสตาร์ตอัพจำนวนมาก มีห้องแล็บวิจัยพัฒนาดิจิทัล มีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ทันสมัยและระบบเมืองอัจฉริยะรองรับ

แล้วอะไรคืออุปสรรคที่เอกชนไม่มาลงทุน ปลัดกระทรวงดีอีได้ประเมินว่า อาจเป็นเพราะยังมีข้อกำหนดบางข้อในร่างสัญญาร่วมลงทุนที่อาจเข้มงวดมากเกินไปสำหรับนักลงทุน

เช่น ต้องรับผิดชอบงานออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาแหล่งเงินทุน งานให้บริการ งานบำรุงรักษา ดูแลระบบสาธารณูปโภคหลัก รวมถึงทำตลาดกับนักลงทุนกลุ่มเป้าหมายเอง

นอกจากนี้ ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ 3% จากรายได้ไม่ใช่กำไร, ให้ส่วนแบ่งที่จ่ายเท่ากันทุกปีตลอดการทำโครงการ 50 ปี และจ่ายค่าเช่าให้รัฐตั้งแต่ปีแรก รวมถึงบังคับให้ต้องทำโครงการเฟสแรก ขนาด 90,000 ตร.ม.ให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วกว่าทำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำหนดเสร็จภายใน 5 ปี

จึงมองว่า เป็นตัวเลขที่มากเกินไป

 

ดังนั้น คณะกรรมการจึงกำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบใหม่ เป็นการทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง รอบที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางปรับปรุงข้อกำหนดต่างๆ ให้เป็นที่ยอมรับได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะปรับเงื่อนไขลง เพราะโครงการนี้รัฐไม่ต้องการแสวงหาผลกำไร แต่ต้องการสร้างพื้นที่ดิจิทัล พาร์ค ในประเทศไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

เงื่อนไขที่จะปรับปรุงใหม่ ได้แก่ การยกเลิกส่วนแบ่งรายได้แบบคงที่ให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น โดยเอกชนสามารถเสนอมาได้อย่างอิสระ อาจจะเป็น 0% ใน 5 ปีแรก และปีถัดๆ ไป ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกปีก็ได้ โดยตัวเลขการคาดการณ์รายได้ในอนาคตเอกชนไม่ต้องกำหนดเท่ากันทุกปี และต้องจ่ายให้รัฐ 50% ของเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งรายได้ที่เสนอ

ส่วนค่าเช่า จะเว้นให้ 5 ปี และกำลังพิจารณาว่าจะแบ่งการจ่ายออกเป็น 10 งวด หรือ 30 งวด ซึ่งค่าเช่าจะคิดในรูปแบบให้รัฐเช่า คือ 120 บาทต่อไร่ต่อปี ส่วนเรื่องการส่งมอบงานเฟสแรกจะขยายเป็น 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่

 

นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวว่า คาดว่าจะรวบรวมความเห็นมาร์เก็ต ซาวดิ้ง รอบที่ 4 และออกร่างสัญญาใหม่ได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้สามารถเปิดขายซองเทคนิคภายในเดือนสิงหาคม และเริ่มประมูลช่วงเดือนตุลาคม 2562

ช่วงโปรโมชั่นจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้

เพราะปลัดดีอีบอกด้วยว่า ต่อไปกระทรวงดีอีจะช่วยเอกชนที่ชนะการประมูลออกไปโรดโชว์ช่วยหาลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วย

จากก่อนหน้านี้กระทรวงดีอีได้เดินสายโรดโชว์เชิญชวนเอกชนต่างชาติ ได้รับความสนใจจากหลายบริษัท “จึงไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องนี้” นางสาวอัจฉรินทร์กล่าวให้เอกชนมั่นใจ

แต่งานนี้คงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก

เมื่อล่าสุด นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การลงทุนในอีอีซีเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า

ประกอบกับขั้นตอนการขอยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีความซับซ้อน ต้องขอผ่านทั้งบีโอไอ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก่อนกลับมายื่นที่อีอีซีอีกครั้ง แทนที่นักลงทุนจะสามารถยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนได้โดยตรงที่อีอีซีเบ็ดเสร็จจุดเดียวได้เลย ทั้งที่มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อีอีซีบังคับใช้แล้ว รวมทั้งบุคลากรของอีอีซีมีจำนวนไม่เพียงพอในการทำงาน เป็นอุปสรรคต่อการขอรับส่งเสริมการลงทุน

เป็นอีกหนึ่งโครงการในฝัน รอพิสูจน์ ‘น้ำยา’ รัฐว่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้หรือไม่ ซึ่งคงต้องเอาใจช่วยไม่ให้เละตุ้มเป๊ะไปมากกว่านี้ เป็นการบ้าน ‘โจทย์ใหญ่’ อีกข้อของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2