ความเชื่อการสร้าง-โชคลาง “เรือนไทยวน” ทำอย่างนี้แล้วจะ “มงคล”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เฮือนไตยวน”

เรือนไทยวนคือเรือนพักอาศัยของชาวไทยวนหรือชาวไทประชากรหลักในภาคเหนือที่นิยมเรียกตนเองว่า “คนเมือง”

รูปแบบเรือนมีพัฒนาการมานานควบคู่กับประวัติความเป็นมาของชาวไทยวน ที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคแคว้นสุวรรณโคมคำในลุ่มน้ำโขงตอนบนเมื่อราวสองพันปีที่แล้วจนเป็นอาณาจักรโยนกที่รุ่งเรือง

ชาวไทยวนมีความเป็นมาทางวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอาณาจักรล้านนา และยังคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้ได้ แม้ได้มีการรวมดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยมาสองร้อยกว่าปีแล้ว

เรือนชาวไทยวนมีพัฒนาการจากเรือนเครื่องผูกที่เน้นใช้วัสดุก่อสร้างเป็นไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยตับหญ้าคา หรือตับตองตึง (พลวง) ไม้แป้นเกล็ด และดินขอ (กระเบื้องดินเผา)

เรือนของชนชั้นผู้นำ เช่นเจ้าเมืองและกษัตริย์ จะเน้นการใช้โครงสร้างไม้เนื้อแข็งมาก่อสร้างตกแต่ง

หากชาวบ้านจะสร้างเรือนด้วยวัสดุอย่างเจ้าอย่างนายในอดีตถือว่า “ขึด” คือไม่เป็นมงคล ถือว่าไม่สมควร

เรือนไทยวนจะสร้างขึ้นภายใต้จารีตคติความเชื่อแบบล้านนา อันครอบคลุมวิธีปฏิบัติตั้งแต่การออกไปหาไม้ในป่า การเลือกวัสดุไม้ การปกเสาเรือนใหม่ วิธีการก่อสร้าง และประเพณีการขึ้นเรือนใหม่ การทำหิ้งไหว้ผีปู่ย่าในห้องนอน หรือการเพิ่มหิ้งพระที่เติ๋น (ชานร่มรับแขก) เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา

เรือนไทยวนมีโครงสร้างระบบเสาและคานยกพื้นเรือนสูง มีขั้นบันไดจำนวนเลขคี่ เริ่มสร้างขนาดเล็กสุดที่ 6 เสา มีหนึ่งห้องนอน หนึ่งชาน ขนาดใหญ่ขึ้นจะเพิ่มจำนวนพื้นที่ของห้องนอน ชานร่ม ชานแดด และชานแดดด้านหลังเรือน

วิธีการขยายพื้นที่ใช้สอยในเรือนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เรือนนอนเป็นส่วนหลัก เพิ่มเรือนนอนไปทางด้านขนาน นิยมหันประตูหน้าเรือนนอนไปทางทิศใต้เป็นหลักเข้าสู่พื้นที่ชานด้านหน้าเรือน

แต่โบราณ ในห้องนอนจะมีลักษณะเป็นโถงโล่ง เจ้าบ้านจะนอนหันหัวไปทางตะวันออกชิดเสาต้นแรกในสุดของห้อง ซึ่งมักจะเป็นเสามงคลหรือเสาเอก

เสาที่เรียงถัดเสามงคลออกมาคือเสานางหรือเสาพญา สมาชิกในครอบครัวนอนร่วมกันบนพื้นที่ปูด้วยสาด (เสื่อ) และสลี (ฟูก) ในโถงห้องนอน

พ่อที่เป็นเจ้าเรือนนอนด้านในสุดนอนด้านขวาของภรรยา ถัดออกมาคือที่นอนลูกสาวหรือเด็กหญิง ความเป็นส่วนตัวในห้องนอนอาจแบ่งด้วยพื้นที่ผืนเสื่อและผ้าม่านที่รูดได้

เวลานอนจะไม่หันหัวไปทางทิศเหนือ เพราะถือว่าเป็นทิศการวางศีรษะของคนตาย

การเพิ่มจำนวนเรือนนอน หากเพิ่มไปทางด้านขนานจะแบ่งห้องด้วยชานฮ่อม (ชานแล่นกลาง) หากต้องการเพิ่มจำนวนห้องนอนไปทางด้านยาวของเรือนสามารถใช้วิธีการกั้นฝาไม้

เรือนที่มีพัฒนาการก่อสร้างยุคหลังโดยเฉพาะตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงและเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เรือนมีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนห้องนอน ห้องครัว ชาน หรือยุ้งข้าว หลายเรือนสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งมากขึ้นและมีจำนวนเสาเรือนมากเกินกว่าร้อยต้น

ไม้สักเป็นไม้ที่มีคุณค่าเป็นที่นิยมนำมาสร้างเรือนมากที่สุด เนื่องจากแข็งแรง อายุยาว ไม่ถูกปลวกแมลงกัดแทะ

รองลงมาคือไม้มะค่า ไม้แดง ไม้เปา ไม้ประดู่ ไม้ก่อ ไม้ขนุน เป็นต้น เรียงลำดับมูลค่าตามราคาตลาด ซึ่งการใช้วัสดุไม้ดังกล่าวรวมทั้งฝีมือการก่อสร้างให้แข็งแรงสวยงามเป็นสิ่งสะท้อนถึงฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ของครัวเรือนเช่นกัน

เรือนไทยวนโบราณไม่มีหน้าต่าง ส่วนใหญ่ใช้ฝาอำ (ไม้ไผ่สาน) ระบายอากาศผ่านฝาไม้สานและช่องระบายอากาศที่พื้นเรือนและช่องโล่งเหนือฝาเรือน ช่องโล่งเหนือฝาเรือนบางหลังนิยมทำเป็นระแนง หรือแกะสลักฉลุลายสวยงาม

สภาพภูมิอากาศสมัยก่อนมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำ มีสภาวะอากาศหนาวเย็นมาก การสร้างเรือนจึงไม่เปิดช่องรับลมหนาว

ขณะที่โถงห้องนอนและเติ๋น (ชานร่มหน้าเรือน) จะมีกระบะเตาไฟให้ความอบอุ่น

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างมาก ทั้งการอพยพเคลื่อนย้ายของชาวไทยวนจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 3 และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่อาจมาจากการตัดไม้จากขุนเขาจำนวนมากตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 น่าจะมีผลกระทบ ทำให้ชาวไทยวนไม่นิยมสร้างกระบะเตาไฟในเรือนอีก

ขณะเดียวกันมีการปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ร้อนกว่าเดิม จะเพิ่มพื้นที่ชานกลางเรือน หน้าเรือน หรือหลังเรือนให้กว้างขวางขึ้น หรือมีการเจาะช่องหน้าต่างขึ้น เช่นเรือนไทยวนในเมืองแพร่ ตาก และอุตรดิตถ์ และนิยมต่อผืนหลังคาคลุมพื้นที่ชานและเติ๋นที่กว้างใหญ่ขึ้นเหล่านั้น

แต่เอกลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลงของเรือนไทยวนที่สังเกตเห็นได้คือการเน้นชานฮ่อมหรือชานกลางเรือน

ซึ่งแทบไม่มีให้เห็นในเรือนของชนเผ่าอื่น

เรือนไทยวนแบบประเพณีของชนชั้นปกครองและคหบดีมีรูปแบบพัฒนาการมานานหลายร้อยปี จนเกิดเรือนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่เรียกว่า “เรือนกาแล” อันมีศูนย์กลางแห่งกำเนิดรูปแบบในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงเมืองเชียงใหม่ หลังสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์

เรือนไทยวนมีรูปแบบที่สร้างด้วยวัสดุแข็งแรงขึ้นมาก คือนิยมสร้างด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นหลัก มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา

การเข้ามาของรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียที่ผ่านมาทางพม่าและบางกอก ประกอบกับศิลปะช่างจีนบางส่วน ทำให้เจ้านายและคหบดีพ่อค้าเป็นกลุ่มชนที่ประยุกต์โครงสร้างวัสดุก่อฐานรากและก่อผนังแบบอิฐสอปูนเต็มแผ่น (wall baring system) บ้างสร้างเรือนเป็นแฟชั่นลูกผสมคล้ายแบบโคโลเนียล (colonial style)

มีโครงสร้างปูนผสมไม้ มุงหลังคาจั่วแบบไทยวน บ้างนำการตกแต่งเรือนโดยวิธีกลึงไม้และฉลุไม้เพิ่มเติมเข้ากับเทคนิคการแกะสลักที่นิยมแบบเก่า

ทำให้เกิดเรือนร่วมสมัยในยุคหลังที่ศึกษาดูได้ในเรือนแบบคุ้มเจ้า เรือนคหบดี เรือนห้องแถวร้านค้า และเรือนชาวบ้านห่างไกลที่มีฐานะ

ทำให้เกิดองค์ประกอบบางส่วนของเรือนไทยวนที่มีเอกลักษณ์เพิ่มขึ้น เช่น ฝาไหล (ช่องเปิด-ปิดแบบบานเลื่อน) แป้นน้ำย้อย (เชิงชายฉลุลายกันน้ำย้อน) สะละไน (ไม้กลึงยอดแหลมประดับเหนือหน้าจั่วเรือน)