วิกฤติศตวรรษที่ 21 | สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (3)

สหรัฐกับจักรวรรดินิยมและลัทธิทหาร

หลังสงครามเย็น ชนชั้นนำสหรัฐได้ประกาศตัวว่า ตนเป็นอภิมหาอำนาจแต่เพียงผู้เดียว เป็นนายอำเภอโลกแบบจำใจ เป็นจักรวรรดิใหญ่ที่สุดเท่าที่เป็นมาในประวัติศาสตร์ ดำเนินนโนบายอนุรักษนิยมใหม่ ไม่ยอมให้ประเทศใดขึ้นมาท้าทายอำนาจอย่างที่สหภาพโซเวียตเคยทำ สร้างสันติภาพอเมริกันเหมือนจักรวรรดิโรมันสร้างสันติภาพโรมันในอดีต

หลังเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์เทรด สหรัฐประกาศสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ใช้ลัทธิทหารอย่างเต็มตัวในการรักษาจักรวรรดิของตนไว้

การเปลี่ยนแปลงนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจการเมืองเอเชียตะวันออกเคยเป็นผู้วิเคราะห์สถานการณ์ในองค์การซีไอเอ คือ ชาลเมอร์ส จอห์นสัน ได้ชี้ในหนังสือชุดหลายเล่มของเขา (เผยแพร่ระหว่าง ปี 2000-2006) ว่า การเดินนโยบายจักรวรรดินิยมและลัทธิทหารจะนำมาสู่การล่มสลายของสหรัฐในที่สุด ด้วยเหตุ 4 ประการคือ

1) การต้องทำสงครามอย่างไม่สิ้นสุด ยิ่งทำให้สหรัฐตกเป็นเป้าของการก่อการร้ายรุนแรงขึ้น วนเวียนไปไม่รู้จบ

2) การสูญเสียประชาธิปไตยและสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยอำนาจทางอุตสาหกรรม-การทหาร-ความมั่นคง ประสานกับอำนาจรัฐขึ้นอยู่เหนือสภาคองเกรสทำลายโครงสร้างการบริหารในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐของสหรัฐ

3) การเปลี่ยนความจริงเป็นโฆษณาชวนเชื่อ การบิดเบือนข่าวสาร และการสรรเสริญสงคราม อำนาจ และระบอบทหาร

4) ความล้มละลายและการล่มสลายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการใช้จ่ายทางงบประมาณทหารสูงเกินตัว ละเลยด้านการศึกษา สุขภาพ และความปลอดภัยของพลเมืองของตน

หนังสือชุดนี้ติดอันดับขายดีในสหรัฐ มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ในเดือนเมษายน 2019 ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1977-1981) เหมือนรื้อฟื้นการวิเคราะห์นี้ขึ้นใหม่ ในการเปิดเผยว่า ทรัมป์ได้โทรศัพท์ไปถึงเขา เพื่อปรึกษางานบางอย่าง

คาร์เตอร์ได้เปิดเผยบางส่วนของการสนทนาว่า ทรัมป์แสดงความวิตกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน และกังวลว่า “จีนกำลังแซงหน้าเรา”

คาร์เตอร์กล่าวเห็นด้วยกับการประเมินเช่นนี้ และเสริมว่า ที่จีนประสบความสำเร็จมากเช่นนั้น เนื่องจากมีนโยบายสันติภาพ ไม่ทำสงคราม และเขาไม่ได้มีความกังวลในประเด็นดังกล่าว สิ่งที่เขากังวลได้แก่นโยบายก่อสงครามของสหรัฐ

คาร์เตอร์ชี้ว่า “นับแต่ปี 1979 คุณรู้ไหมว่าจีนทำสงครามกี่ครั้ง ไม่เลยสักครั้ง แต่เราทำสงครามมาโดยตลอด” (จริงอยู่ที่จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามช่วงสั้นๆ ในปี 1979 แต่ก็ถอนกำลังกลับโดยเร็ว)

เขากล่าวว่า ในประวัติศาสตร์สหรัฐ 242 ปี มีเพียง 16 ปีเท่านั้นที่มีสันติภาพไม่ได้ทำสงคราม

สหรัฐเป็น “ชาติที่ชอบก่อสงครามมากที่สุดของประวัติศาสตร์โลก”

สหรัฐได้บังคับให้ประเทศต่างๆ “ยอมรับหลักการของสหรัฐ” คาร์เตอร์กล่าวอีกว่า จีนได้เงินปันผลจากสันติภาพ และใช้เงินสร้างทางรถไฟความเร็วสูงถึง 29,000 ก.ม.

“ผมคิดว่าสหรัฐใช้เงินราว 3 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อการทหาร …ถ้าหากคุณใช้เงินยอดนี้เพื่อสร้างและบูรณะโครงสร้างพื้นฐานของเรา ก็ยังจะเหลือเงินอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์” (ดูรายงานข่าวของ Brett Wilkins ชื่อ Jimmy Carter Lectures Trump : US Is “Most Warlike Nation in History of the World” ใน telesurenglish.net 18.04.2019)

นั่นเป็นการให้คำปรึกษาที่ดี ที่ทรัมป์ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมืองทั้งหมด บีบให้สหรัฐต้องทำสงครามไม่รู้จบ เพื่อรักษาจักรวรรดิ

ดังนั้น ทรัมป์ไม่เพียงไม่เลิกทำสงครามอย่างที่เคยหาเสียงไว้ กลับยกระดับการสงครามให้สูงขึ้น จากการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่กระทำต่อองค์กรต่ำกว่ารัฐ

หรือรัฐที่มีขนาดเล็กกว่ามาก สู่การทำสงครามกับประเทศใหญ่เทียบเคียงกับตน ได้แก่ จีนและรัสเซีย

สงครามรักษาความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ

สมการอำนาจของสหรัฐ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการรักษาจักรวรรดิและความเป็นใหญ่ทางทหาร ยังอยู่ที่การรักษาความเป็นใหญ่ของดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะเป็นทุนสำรองและการค้าระหว่างประเทศด้วย ตราบที่ดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นใหญ่ ก็เท่ากับควบคุมเศรษฐกิจ-การค้าโลกได้

มีบทเรียนจากจักรวรรดิโรมัน ว่าการเสื่อมค่าของเหรียญเงินเป็นสาเหตุหนึ่งของการล่มสลายของจักรวรรดิ

แต่การรักษาความเป็นใหญ่ของดอลลาร์ ยิ่งทำให้สงครามที่ก่อโดยสหรัฐขยายตัวรุนแรงและซับซ้อนขึ้นอีกมาก

นำมาสู่การเข้าสู่สงครามในมหาตะวันออกกลาง การแซงก์ชั่นประเทศต่างๆ และสงครามการค้ากับจีน มหาตะวันออกกลางมีน้ำมันและดอลลาร์น้ำมันปริมาณมาก

หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้ขึ้นมาท้าทายอำนาจทางการเงินของสหรัฐ ได้แก่ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย เป็นต้น เสนอแนวคิดในการซื้อขายน้ำมันในสกุลเงินอื่นนอกจากดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อใช้ทดแทนดอลลาร์

สหรัฐจำต้องทำสงครามอิรัก ทิ้งระเบิดลิเบีย ปิดล้อมแซงก์ชั่นอิหร่านอย่างแน่นหนา ไม่อาจทอดทิ้งภูมิภาคนี้ไปได้ แม้รู้ว่ารบชนะไม่สำเร็จ สำหรับการกดดันทางการเงินและการแซงก์ชั่นประเทศต่างๆ ได้ยกระดับสู่การสงครามในปี 2002 นำโดยกระทรวงการคลังสหรัฐ โดยมีความคิดชี้นำว่า อำนาจทางการเงินของสหรัฐนั้น มีพลังสูงมากสามารถทำสงครามโดยตัวของมันเอง

ไม่ใช่เครื่องพ่วงของปฏิบัติการทางทหาร การบังคับใช้ทางกฎหมาย หรือการดำเนินงานทางการทูต

โดยข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มบุคคลองค์การใดก็ตามที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงของสหรัฐ จำต้องเข้าถึงระบบการเงินโลกที่สหรัฐควบคุมอยู่ตั้งแต่ต้นน้ำคือ ความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปลายน้ำคือ ระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ และเทคโนโลยีการสื่อสารที่สหรัฐเป็นผู้นำ

เป้าประสงค์ของการสงครามการเงินของสหรัฐคือ การโดดเดี่ยวบุคคล กลุ่มบุคคล องค์การ สถาบันวิจัย ไปจนถึงบรรดารัฐเกเรหรือระบอบปกครองแห่งความชั่วร้าย ออกจากระบบการเงินโลก (ดูบทความของ Gary Feuerberg ชื่อ US Treasury Develops a New Kind of Warfare ใน theepocktimes.com 29.10.2013)

ความสำเร็จของการสงครามการเงินในการกดดันกลุ่มอัลไคด้าและประเทศต่างๆ มีส่วนให้ฝ่ายบริหารสหรัฐขยายปฏิบัติการสงครามการเงินไปสู่การค้าและเทคโนโลยีขั้นสูง จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงกันอย่างเอาจริงเอาจัง สามารถทำสงครามการเงิน-การค้า-เทคโนโลยีได้อย่างแคล่วคล่อง

ในปัจจุบันมี 3 หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐทำหน้าที่สำคัญในการจัดทำบัญชีรายชื่อดังกล่าวได้แก่

ก) สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างด้าว (FAC) ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ซึ่งนอกจากสามารถริบหรืออายัดทรัพย์ต่างด้าวแล้ว ยังสามารถห้ามกลุ่มดังกล่าวเข้ามาอยู่ในระบบการเงินสหรัฐ เป็นบัญชีรายชื่อที่มีรายละเอียดมาก

ข) สำนักอุตสาหกรรมและความมั่นคง (BIS) ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ผู้ถูกขึ้นบัญชี ต้องขออนุญาตในการค้าสินค้าบางรายการก่อน

ค) เครือข่ายการควบคุมอาชญากรรมทางการเงิน (FinCEN) ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายรักชาติ (ออกปี 2001) เน้นเรื่องการฟอกเงิน

การแซงก์ชั่นจะทำโดยฝ่ายบริหาร เช่น ประกาศสำนักประธานาธิบดี ตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจฉุกเฉินทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือโดยรัฐสภาก็ได้ (ดูหัวข้อ Global sanctions guide ใน sanctionsguide.eversheds-sutheland.com 2018)

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายกระทรวงที่ร่วมมือในการก่อสงครามการเงินการค้าของสหรัฐ ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงพลังงาน จนกล่าวได้ว่ารัฐบาลสหรัฐไม่เพียงเป็นนายอำเภอโลก แต่ยังเป็นนักแซงก์ชั่นโลกด้วย

ประธานาธิบดีทรัมป์ก็เรียกตนเองว่าเป็น “นักเก็บภาษีศุลกากร” เมื่อมีการตระเตรียมพื้นฐานไว้พร้อมเพรียงแล้ว การทำสงครามการค้ากับจีนก็เหลือเพียงการเลือกเวลาที่เหมาะเท่านั้น

แนวคิดการปะทะทางอารยธรรมในสหรัฐ : ชาวคอเคเซียนทั้งหลายจงรวมกันเข้า

หลังสงครามเย็น วงวิชาการสหรัฐมีทฤษฎี 2 ขั้วในการอธิบายโลก ขั้วหนึ่งเรียกว่า “ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์” ชี้ว่าการพัฒนาทางอุดมการณ์โลกสิ้นสุดลงที่ลัทธิเสรีนิยม อีกขั้วหนึ่งเรียกว่า “การปะทะกันทางอารยธรรม” ชี้ว่าแม้การต่อสู้ทางอุดมการณ์จะลดความสำคัญ แต่มีความขัดแย้งใหม่เป็นความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรม ที่จะดำเนินไปอย่างรุนแรง สารเบื้องลึกของแซมมวล ฮันติงตัน ผู้เสนอทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรม ก็คือผู้นำสหรัฐควรจะ สร้างสำนึกแห่งชาติว่า อเมริกันเป็นชาติคริสเตียนผิวขาว

ทฤษฎีการปะทะกันทางอารยธรรม ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มตัวในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

เมื่อนางคิรอน สกินเนอร์ ศาสตราจารย์ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการวางแผน นโยบายในกระทรวงต่างประเทศไม่นาน กล่าวในการอภิปรายเรื่องความมั่นคงที่กรุงวอชิงตันว่า…

…ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น เป็น “การต่อสู้กับอารยธรรมและอุดมการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และสหรัฐไม่เคยประสบเช่นนี้มาก่อน”

และว่า การแข่งขันกับสหภาพโซเวียตเป็น “การต่อสู้ภายในครอบครัวตะวันตก” นี่ “เป็นครั้งแรกที่การแย่งความเป็นใหญ่ระหว่างมหาอำนาจ ไม่ได้อยู่ในหมู่ชาวคอเคเซียน” (ดูบทความของ Minxin Pei ชื่อ Is Trump”s Trade War with China a Civilizational Conflict ใน project-synicate.org)

คำอภิปรายของเธอเป็นเหมือนการขยายความทฤษฎีของฮันติงตันออกไปว่า ชาวคอเคเซียนทั้งหลายจงรวมกันเข้าภายใต้การนำของสหรัฐ

คำอภิปรายของเธอดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้ทั้งจากนักวิชาการสหรัฐและทางการของจีน เช่นผู้เขียนบทความที่อ้างแล้ว เห็นว่าควรยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมในการต่อสู้กับจีน ไม่ใช่อ้างเรื่องอารยธรรมและเชื้อชาติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีทรัมป์หรือไม่มีทรัมป์ หรือไม่ว่าจะใช้เรื่องเล่าและคำอธิบายแบบใด ความขัดแย้งสหรัฐ-จีนจะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อและรุนแรง ท่ามกลางโครงสร้างอำนาจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธาธิบดีรัสเซีย กัย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

คำปราศรัยของปูติน ผู้นำชาวคอเคเซียนคนหนึ่ง

การตอบโต้ที่ทรงพลังมาจากปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ผู้กำลังวางฐานะของรัสเซียเป็นตัวแทนของชาวคริสต์ผิวขาวแทนที่สหรัฐ

ปูตินได้กล่าวโจมตีนโยบายครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐมาตั้งแต่ปี 2007 ในการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เดือนพฤษภาคม 2019

ปูตินได้อัพเดตการโจมตีนั้นอย่างเจ็บแสบยิ่ง ให้สหรัฐยุติการทำสงครามการค้า การแซงก์ชั่นและการกดดันประเทศต่างๆ เสีย

เขากล่าวว่า “เมื่อกฎหมายสากลระหว่างประเทศถูกแทนที่ด้วยกฎหมายของประเทศหนึ่ง เมื่อกลไกทางการบริหารและศาลของประเทศหนึ่งหรือกลุ่มรัฐที่ทรงอิทธิพล อย่างเช่นที่สหรัฐขยายอำนาจศาลของตนไปใช้ทั่วโลก ตัวแบบเช่นนี้ขัดกับตรรกะของการสื่อสารระหว่างประเทศและความเป็นจริงของโลกหลายขั้วที่กำลังเกิดขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันไม่เหมาะกับภารกิจของอนาคตมนุษยชาติ”

ปูตินชี้ว่าสหรัฐและพันธมิตรของเขาคุ้นกับการมีเอกสิทธิ์ หรือสิทธิพิเศษเหนือประเทศอื่น แต่ “เมื่อระบบที่แสนสบายนี้เริ่มถูกสั่นคลอน เมื่อคู่แข่งของพวกเขามีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ความปรารถนาและความต้องการแรงกล้าในการรักษาความเหนือกว่าในทุกวิถีทางได้เข้าครอบงำ “โลกตะวันตก” รัฐต่างๆ ที่เคยกล่าวสนับสนุนหลักการค้าเสรี การแข่งขันที่เปิดเผยและยุติธรรม เริ่มพูดภาษาสงครามการค้า และการแซงก์ชั่น การจู่โจมทางเศรษฐกิจอย่างโจ่งแจ้ง การบิดแขน การขจัดคู่แข่งโดยสิ่งที่เรียกว่าไม่ใช่วิธีการทางตลาด”

ผลด้านลบของนโยบายแซงก์ชั่นและกดดันของสหรัฐ นำมาสู่ “การแตกเป็นเสี่ยงของพื้นที่ทางเศรษฐกิจโลก ทำให้ความอหังการทางเศรษฐกิจขยายตัว และเกิดความพยายามในการผลักดันให้ได้ผลประโยชน์ของตนโดยผ่านการ ใช้กำลัง… นี่เป็นหนทางนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด สู่สงครามการค้า และอาจไม่ใช่เพียงสงครามการค้าเท่านั้น เป็นการต่อสู้ที่ไม่มีกฎกติกา เหมือนดังในนวนิยายญี่ปุ่นเรื่อง “เกมนรกโรงเรียนพันธุ์โหด” (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1999)”

ในกรณีบริษัทหัวเว่ยที่มีการขึ้นบัญชีห้ามค้า “เป็นความพยายามไม่เพียงสร้างการกดดัน หากต้องการบีบให้บริษัทนี้ออกจากตลาดโลก ในบางวงการเรียกว่าเป็นสงครามเทคโนโลยีครั้งแรกของยุคดิจิตอล”

ในกรณีโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอร์ดสตรีม-2 ที่เป็นผลประโยชน์ของรัสเซียกับหลายชาติตะวันตก ที่ต้องการความมั่นคงทางพลังงาน แต่กลับถูกต่อต้านจากสหรัฐผู้คุ้นเคยกับความพิเศษและการทำอะไรก็ได้ของตน และ “คุ้นกับการให้ผู้อื่นชำระบิลของตน”

ปูตินสรุปว่า “ระบบใดก็ตามที่ตั้งอยู่บนฐานของความอยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง จะไม่มีวันมั่นคงและได้สมดุล” (ดูข่าวชื่อ 7 times Putin apparently trouced US at St. Petersburg Forum ใน rt.com 07.06.2019) เป็นการพูดคนละภาษากับสหรัฐ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องแมวที่จับหนูได้ และการเดินทัพทางไกลใหม่ของจีน