ในบทสนทนาที่คุณจะต้องเชิญให้ใครสักคนออก | ธุรกิจพอดีคำ

“ประหลาดใจ ไม่ได้”

สมชายนั่งอยู่ในห้องทำงานห้องเดิม

ด้วยความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม

เขากำลังรอสมนึก ลูกน้องคนเดิม ที่ทำงานกับเขามาหลายปี

เมื่อสมนึกเดินเข้ามาในห้อง

สมชายจึงเอ่ยถาม

“ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

สมนึกตอบแบบงงๆ “ดีครับพี่ มีอะไรรึเปล่า”

สมชายพยายามรักษาท่าทาง แล้วเริ่มพูดว่า

“วันนี้มีเรื่องสำคัญอยากคุยด้วยนะ เป็นเรื่องที่ผมก็ลำบากใจ แต่คิดว่า ได้พูดคุยกับหลายๆ คนแล้ว น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทีมเรา”

สมนึกนิ่งเงียบ มองหน้าสมชาย

สมชายพูดต่อ

“ผมค่อนข้างลำบากใจนะ บริษัทเราก็จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีกมาก ที่ผ่านมาเราก็คุยกันบ่อย แต่ผมอาจจะไม่ได้พูดอะไรชัดเจน มองดูคุณมาเรื่อยๆ”

“ผมคิดว่า อาจจะต้องให้คุณออกจากทีมนะ”

ล่าสุดผมได้หนังสือใหม่มาครับ

เป็นหนังสือที่ตั้งตารอมากที่สุดหนึ่งเล่มในรอบปี

มีชื่อว่า “โค้ชเงินล้าน” ครับ

โค้ชเงินล้านที่ว่า มีตัวตนอยู่จริงๆ ครับ

เขามีชื่อว่า “บิลล์ แคมป์เบลล์”

เคยเป็นโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอลมาก่อน

แต่ช่วง 20 ปีสุดท้ายของชีวิตทำงาน

เขาผันตัวเองมาเป็นโค้ชผู้บริหารให้กับบุคคลดังต่อไปนี้ครับ

สตีฟ จ็อบส์ เจ้าพ่อแอปเปิ้ล ผู้ล่วงลับ

เอริก ชมิดต์ ซีอีโอแห่งบริษัทกูเกิล

เชอริล แซนด์เบิร์ก ผู้บริหารสูงสุดคนหนึ่งของเฟซบุ๊ก

บริษัทเหล่านี้มีมูลค่ารวมกันกว่าหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ

มากกว่างบประมาณประเทศเราเสียอีกครับ

ผู้บริหารเหล่านี้ที่ว่าเก่ง ก็ยังต้องมีโค้ชคอยแนะนำในการบริหารงานต่างๆ

หนังสือเล่มนี้ที่น่าสนใจคือ เขียนเกี่ยวกับวิธีการบริหารงานของบิล แคมเบล ที่แนะนำคนเหล่านี้

แต่ว่าเขียนโดยเอริก ชมิดต์เองเลย ซึ่งน่าสนใจมาก

อาจจะสงสัยว่า ทำไมเจ้าตัวไม่เขียนเอง

คำตอบคือ บิลล์ แคมป์เบลล์ เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่แล้วนี้เอง

นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยีที่อเมริกาครับ

บิลล์ แคมป์เบลล์ ให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมาก

ทั้งการเลือกคน พัฒนาคน รวมถึงการเชิญให้คนที่ไม่ใช่ออกจากทีมโดยเร็ว

ผมนั้นเล่าเรื่องการเลือกคน และพัฒนาคนมาบ้างแล้ว

วันนี้จะขอเล่าเรื่องการเชิญคนออกที่น่าสนใจ

และเป็นแก่นหลักที่ใช้โดยผู้บริหารระดับโลกมาแล้วครับ

หลักการแรก “ไม่มีความประหลาดใจ หรือ No Surprise”

เวลาที่ลูกน้องทำงานได้ไม่ดี ไม่ได้ดั่งใจ

หัวหน้างานส่วนใหญ่นั้น มีแนวโน้มที่จะไม่พูดจากับลูกน้องตรงๆ

พูดอ้อมๆ เตือนแบบแตะๆ แต่คิดว่า เราได้ตักเตือนไปแล้ว

แต่ในใจของลูกน้องนั้น เขาอาจจะไม่ได้รู้ถึงความรุนแรงของความผิดพลาดนั้นๆ

หลายครั้ง คนเราก็มักจะมีเหตุผลมากมายมาเป็นข้ออ้างให้ตัวเองนั้นไม่ผิด

มีงานวิจัยมากมายที่บอกว่า

แม้แต่คนที่ติดคุกติดตะรางนั้น

ส่วนมากก็คิดว่า ตัวเองไม่ได้ทำผิด

มีสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาต้องทำอย่างนั้นจริงๆ

เขาไม่ใช่คนเลวร้าย

การทำงานก็เช่นกัน คนส่วนใหญ่จะไม่คิดว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดจากตัวเอง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีการพูดคุยกันให้ชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่ทำผิด

ความเข้าใจระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องก็อาจจะไม่ตรงกัน

หัวหน้าอาจจะคิดว่า ฉันบอกใบ้แกไปแล้วนะ ถ้าแกไม่ได้โง่มากน่าจะรู้

ถ้าทำผิดอีกครั้ง หรือยังไม่ปรับปรุงตัว อาจจะต้องเชิญให้ออก

แต่ในใจลูกน้องกลับไม่รู้สึกอย่างนั้น

เพียงคิดว่า เป็นคำแนะนำธรรมดาก็เป็นได้

แต่พอถึงเวลาที่ต้องคุยกันจริงๆ

พอบอกว่า “คุณต้องออกนะครับ ผมเคยเตือนคุณแล้ว”

หลายครั้ง พนักงานคนนั้นก็ไม่รู้ตัวมาก่อน

เขาคิดว่า ทำไมถึงไม่ให้โอกาสเขาแก้ตัวอีกครั้ง

และไม่ทราบมาก่อนว่า สิ่งที่เขาทำมันไม่ดีขนาดนั้น

หลักการ “ไม่มีความประหลาดใจ” ก็คือ

ในบทสนทนาที่คุณจะต้องเชิญให้ใครสักคนออก

คนคนนั้นควรจะรู้ตัวดีแล้วว่า การเชิญมาคุยครั้งนี้

คือ ไม่มีทางเลือกอื่น และยอมรับว่าเคยโดนตักเตือนไปหลายครั้ง

มิใช่เข้ามาเพื่อพบกับความประหลาดใจว่า ผมไม่เคยรู้เลยว่า ตัวเองทำตัวไม่ดี

ถ้ามีแบบนี้ คุยยังไงก็จะไม่จบ

เพราะฉะนั้น ต้องบอกเขาแต่เนิ่นๆ

ให้ระยะเวลาให้ชัด สามเดือนนะ ถ้าไม่ปรับปรุง ก็แยกทางกัน

สอง ให้เกียรติ

คนเรานั้น มีช่วงเวลาที่ดีต่อกัน

เวลาต้องแยกทางกัน ก็ควรจากกันด้วยดี

ในเชิงนายจ้าง เราไม่อยากให้เขาเอาบริษัทเราไปพูดในทางร้ายๆ กับคนอื่น

อย่าลืมว่า พนักงานนั้น ยังไงก็มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนพนักงานอื่นๆ มากกว่าผู้บริหาร

เขาจะไปพูดอะไรให้พนักงานที่ยังอยู่รู้สึกไม่ดีกับบริษัทเราก็ไม่รู้

อีกทั้งเขาอาจจะไปพูดกับคนนอกบริษัท ที่อาจจะเป็นคนที่เราอยากให้มาร่วมงานด้วยในทางที่ไม่ดี

จริงหรือไม่จริง เรากำหนดคำพูดเขาไม่ได้

สิ่งสำคัญจึงต้อง “ให้เกียรติ” คนที่เราเชิญออกให้มากที่สุด

พูดถึงสิ่งดีๆ ในตัวเขาให้กับทีมงานได้รับทราบโดยทั่วกัน

ช่วยเหลือเขาให้ได้งานใหม่ที่เหมาะสม

ช่วยเขียนจดหมายอ้างอิง แนะนำงานใหม่ให้

สองหลักการนี้ จะเป็นเครื่องป้องกัน

ทำให้การเชิญคนออกนั้น อาจจะไม่ได้รื่นรมย์

แต่ก็ราบรื่นอย่างแน่นอน

สมนึกมองหน้าสมชาย ตกใจ

“ครั้งที่แล้วพี่ยังบอกว่าผมทำงานพอใช้ได้อยู่เลย”

สมชายตอบเบาๆ

“พอใช้ได้ของพี่นี่คือ แย่มากละนะ พี่นึกว่าเธอรู้”