ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
ประติมากรรมหินแกะสลักระบายสีประดับเหนือแท่งเสาน้ำพุกลางมหานครสำคัญในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รูป Lady Justitia (จัสติเซีย-จุสติเชีย) หรือเทพีแห่งความยุติธรรม
ที่เห็นสองภาพนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การทำรูปสตรีมีผ้าพันตา มือซ้ายถือตาชั่ง มือขวาถือดาบ (แต่เมื่อเรามองจะเห็นซ้าย-ขวาสลับกัน)
ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของรูปตราสัญลักษณ์หน่วยงานที่ผดุงความยุติธรรมระดับสากลหลายหน่วย
จัสติเซียคือใคร
ทำไมต้องปิดตา
ความหมายแห่งดาบนั้นต้องการประหัตประหารสิ่งใดเล่า รวมทั้งจะเอาอะไรมาใส่บนตาชั่งทั้งสองข้างล่ะหรือ? ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปริศนาที่ต้องหาคำตอบ
จากเทพีมาอัตถึงธีมีส
ก่อนโลกจะรู้จักเทพีจัสติเซีย อารยธรรมโบราณแถบเมดิเตอร์เรเนียนเคยบูชาเทพีผู้พิทักษ์ความยุติธรรมมาก่อนแล้ว 2 องค์
องค์แรกคือ เทพีมาอัต (Maat) ของอียิปต์ และอีกองค์คือ เทพีธีมีสของกรีก
เทพีมาอัตแสดงออกด้วยสตรีชุดขาวถือตาชั่ง มีขนนก 1 คู่ปักอยู่บนศีรษะ ชาวอียิปต์เชื่อว่าเมื่อมนุษย์ทุกคนที่ตายไปแล้วจักถูกตัดสินว่ามีสิทธิ์ไปเกิดใหม่ได้หรือไม่ ด้วยการนำเอาหัวใจของผู้ตายมาวางไว้บน “ตาชั่ง” ด้านหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งเทพีมาอัตจะนำเอาขนนกบนเศียรของนางมาวาง
หากน้ำหนักของหัวใจเบาหรือเท่ากับน้ำหนักของขนนก (ซึ่งบางเบามาก) แสดงว่าผู้วายชนม์มีจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้น ประตูไปสู่การกำเนิดชีวิตในโลกหน้าจะเปิดออก แต่ถ้าหัวใจนั้นหนักหน่วงถ่วงสังคมทำให้ตาชั่งเอียงกระเท่เร่ แสดงว่าคนผู้นั้นใจบาปหยาบช้า ประตูไปสู่ปรโลกย่อมถูกปิดตาย
ผลกรรมที่ต้องได้รับมีสถานเดียวคือ ถูกเทพอนูบิส (มีหัวเป็นสุนัขสีดำ) จับโยนร่างให้สัตว์ประหลาดชนิดหนึ่ง (สัตว์ผสมระหว่างช้าง จระเข้ สิงโต) กัดกินเป็นอาหาร
ดังนั้น เทพีมาอัตของอียิปต์ แม้จะผดุงความยุติธรรมก็จริง แต่ต้องรอตัดสินดีชั่วจนกว่าบุคคลผู้นั้นจะสิ้นอายุขัย ต้องทำงานร่วมกับเทพอนูบิส บทบาทจึงไม่ต่างอะไรไปจากยมบาลเท่าใดนัก
มาดูเทพีธีมีสของกรีก ธีมีสเป็นชายาองค์ที่สองของเทพเจ้าซูส (คนไทยยุคก่อนนิยมเรียกซีอุส Zeus เทพเจ้าสูงสุดของกรีก) ชื่อธีมีสนี้ ภาษาดั้งเดิมเขียน Thymis ต่อมาเขียน Themis อย่าได้จำสลับสับสนกับอาร์ทีมีส (Artemis) เทพีแห่งการผจญภัยผู้ปราดเปรียว นางเป็นลูกสาวของซูสกับแม่เลโต
ธีมีสมีธิดากับซูสรวมทั้งสิ้น 6 นาง แยกได้เป็น 2 กลุ่ม 3 คนแรกคือ ยูโนเนีย ไดว์ และอีริน รวมเรียกว่ากลุ่มซีซัน (Season) เป็นเทพีที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ส่วน 3 คนหลังเป็นกลุ่มที่สองมี โคลทาโธ แลซิซิส และแอตโทรพอส เรียกรวมว่า เฟท (Fates) เป็นเทพีแห่งโชคชะตา ทั้งสามสาวจะมีลักษณะพิเศษคือมีใบหน้าแก่เกินวัยคล้ายหญิงชรา
เทพีกลุ่มเฟทนี่เอง มักปรากฏรูปหมู่กับธีมีสผู้เป็นมารดา ในลักษณะล้อมวงให้แม่นั่งกลาง ลูกคนเล็กนั่งปั่นฝ้ายเรียกว่า “ฝ้ายแห่งการเริ่มต้นของชีวิต”
ลูกคนกลางทำหน้าที่เอาฝ้ายมาฟั่นเป็นเชือกผูกพันให้ชีวิตมั่นคงดำรงอยู่
ส่วนลูกสาวคนโตทำหน้าที่ตัดเชือกเพื่อทำลายชีวิตให้สั้นลง โดยจะหยิบดาบที่ถืออยู่ในมือแม่ธีมีส
แนวคิดของเทพีกลุ่มเฟทนี้น่าสนใจยิ่ง คล้ายกับเรื่องราวของเทพตรีมูรติในศาสนาฮินดู ที่กำหนดให้พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก พระวิษณุเป็นผู้รักษา และพระศิวะเป็นผู้ทำลายล้างเมื่อโลกถึงกลียุค
มีข้อสังเกตว่า เรื่องราวการพิทักษ์ความยุติธรรมของอียิปต์และกรีก สังคมตะวันตกยุคโบราณพร้อมใจกันมอบภาระอันหนักอึ้งนี้ให้แก่เพศแม่ ผิดกับซีกโลกตะวันออกที่เพศชายยังคงเป็นใหญ่ในการตัดสินชี้ขาดชะตาชีวิตคน
เทพีจัสติเซียแห่งโรมัน
ทั้งเทพีมาอัตและเทพีธีมีส ต่างก็ไม่มีใครเอาผ้าปิดตาเลยนี่นา ถ้าเช่นนั้นแล้วรูปแบบประติมานวิทยาของเทพีจัสติเซียที่เห็นในภาพประกอบนี้ไปเอาต้นแบบมาจากไหน?
เทพีจัสติเซียถือกำเนิดขึ้นในความเชื่อของชาวโรมัน หลังจากที่อารยธรรมอียิปต์และกรีกค่อยๆ ล่มสลาย โดยชาวโรมันได้นำสัญลักษณ์สำคัญสองสิ่งมารวมไว้ให้เทพีจัสติเซียถือ ได้แก่
หนึ่ง “คันชั่ง” หรือตาชั่งนำมาจากเทพีมาอัตที่เคยใช้ชั่งขนนกกับหัวใจผู้ตาย
สอง “ดาบ” ที่เทพีธีมีสและกลุ่มลูกสาวหน้าแก่ (เฟท) เคยใช้ตัดเชือกแห่งชีวิตเมื่อหมดอายุขัย
อันที่จริงภาษาละตินยุคโบราณ ชื่อเทพีผู้นี้ใช้ตัวอักษร L แทน J จัสติเซียเคยเขียนว่า Lustitia มาก่อน ต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็น Justitia และกลายเป็น Justice ในภาษาอังกฤษ นักประวัติศาสตร์ศิลป์ยุคปัจจุบันจึงเรียกเทพีแห่งความยุติธรรมว่า Lady of Justice
เอาล่ะ! ได้ทราบที่มาของตาชั่งและดาบแล้วว่าโรมันรับมาจากอียิปต์และกรีกอย่างละครึ่ง-ครึ่ง แล้วกรณีของผ้าพันตาเล่าเอามาจากใคร เกิดขึ้นในยุคไหน ในเมื่อประติมากรรมรูป Lustitia ที่จัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในกรุงโรมมีแค่ถือตาชั่งกับดาบ 2 สัญลักษณ์เท่านั้น ทว่ายังไม่มีผ้าพันตา?
จากการศึกษาประติมากรรมรูปจัสติเซียทั่วยุโรปแล้ว พบว่ายุคแรกสุดที่มีการนำเทพีแห่งความยุติธรรมของโรมันมาปิดตาก็คือ ยุคเรอเนซองส์ (Renaissance ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) อันเป็นยุคสมัยที่หวนกลับไปให้คุณค่าของอารยธรรมกรีก-โรมันอีกครั้ง
ประติมากรคนแรกในยุคเรอเนซองส์ที่ทำรูปจัสติเซียปิดตาเป็นชาวสวิสนาม “ฮันส์ แก็ง” (Hans Gieng) โดยตั้งใจออกแบบหัวเสาประดับน้ำพุกลางมหานครเบิร์นเป็นรูปเทพและเทพีต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Justitia ในรูปโฉมใหม่ที่ผิดไปจากยุคโรมัน
จัสติเซียของฮันส์ แก็ง นอกจากจะถือดาบและคันชั่งแล้ว ยังได้เพิ่มการทำผ้าปิดตาขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย
เป็นนัยยะว่า ผู้รักษากฎหมายจักต้องตัดสินให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีโดยไม่เลือกข้าง ต้องปราศจากอคติ ฉันทาคติ มายาคติ เพราะการเปิดตาก็ดี หรือหรี่ตาข้างหนึ่งก็ดีของผู้รักษากฎหมาย อาจทำให้เกิดความโน้มเอียงต่อสิ่งเร้าที่เห็นเบื้องหน้า
เช่น คู่คดีฝั่งหนึ่งอาจรวยกว่า สวยกว่า โก้หร่านมียศถาบรรดาศักดิ์สูงกว่า หรือดูต่ำต้อยชวนให้น่าเห็นใจกว่า อีกฝั่งหนึ่ง
เป็นการประกาศว่าการตัดสินที่เที่ยงธรรม จะขอรับฟังเฉพาะ “เนื้อหา” แบบตรงไปตรงมาโดยสุจริตเท่านั้น
ฮันส์ แก็ง สร้างประติมากรรมรูปจัสติเซียมีผ้าพันตาเป็นชิ้นแรกของโลกที่กรุงเบิร์น (ภาพที่ฉากหลังเป็นท้องฟ้า) ในปี ค.ศ.1558 (ตรงกับ พ.ศ.2101 เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สยามคือ บุเรงนองยึดล้านนาได้)
ส่วนอีกชิ้นที่กรุงโลซานน์ ประติมากรรมน้ำพุหัวเสารูปจัสติเซียปิดตาเช่นกัน (ในภาพมีฉากหลังเป็นอาคาร) ก็ได้สร้างขึ้นอีก 33 ปีต่อมาคือเมื่อ ค.ศ.1585 โดยกลุ่มลุกศิษย์ของฮันส์ แก็ง
ในที่สุดรูปแบบของ Lady of Justice ในยุคหลังๆ ก็น้อมรับแนวคิดสร้างสรรค์ของฮันส์ แก็ง สืบมาจนกลายเป็นรูปแบบสากล กล่าวคือ เทพียุติธรรมต้องมีสัญลักษณ์ 3 ประการคือ ถือดาบ คันชั่ง และต้องมีผ้าปิดตาด้วยเสมอ
โปรดสังเกตว่าตรงฐานประติมากรรมนั้น จัสติเซียยืนอยู่ท่ามกลางรูปบุคคล 4 คน ฮันส์ แก็ง อธิบายไว้ว่า ประติมากรรมบุคคลขนาดจิ๋ว 4 คนนี้เป็นตัวแทนของคน 4 กลุ่มในสังคมเมือง ที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันทั้งสิ้น
กลุ่มแรกได้แก่ Theocracy กลุ่มของผู้นำทางจิตวิญญาณ นักคิด นักทฤษฎี แสดงออกด้วยรูปโป๊ปหรือสันตะปาปา
กลุ่มที่สองได้แก่ กลุ่ม Monarchy ชนชั้นปกครองสูงสุด แสดงออกด้วยรูปกษัตริย์หรือจักรพรรดิ
กลุ่มที่สามได้แก่ Autocracy กลุ่มผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมือง แสดงออกด้วยสุลต่าน ขุนนาง อำมาตย์
และกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มของ Republic หมายถึงสาธารณชน หรือประชาชน
นางคานธารีแห่งมหาภารตะก็ปิดตา
มีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพราะการที่สัญลักษณ์ของความยุติธรรมทำรูปเทพีจัสติเซียในลักษณะปิดตานี่เองกระมัง จึงน่าจะเป็นเหตุให้ผู้ผดุงความเที่ยงธรรมบางยุคบางสมัยปฏิเสธการมองเห็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ประมาณว่าแสร้ง “ตาบอดหูหนวกไม่รู้ไม่ชี้” ตามไปด้วยหรือไม่
คำถามดังกล่าวชวนให้นึกถึงสตรีในวรรณกรรมชื่อก้องเรื่อง “มหาภารตะ” มากกว่า เธอคือ “นางคานธารี” ผู้เอาผ้าปิดตาตัวเองตลอดชีวิต เมื่อทราบข่าวว่านางต้องอภิเษกสมรสกับท้าวธฤตราษฎร์ กษัตริย์พระเนตรบอดตั้งแต่กำเนิด ผู้เป็นเจ้าแห่งแคว้นหัสตินาปุระ
ตราบที่สวามีของพระนางยังจมปลักอยู่ในโลกอันมืดมิด นางก็พร้อมที่จะดำดิ่งในห้วงมหรรณพอันมิดมืด บางคนมองว่านางเป็นผู้เสียสละ เต็มใจที่จะกระโจนร่วมชะตากรรมเดียวกันกับพระสวามี นางคานธารีนี่ต้องถือว่าเป็นตัวละครที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่งในเรื่องมหาภารตะเลยทีเดียว
เทพีจัสติเซียปิดตาเพื่อลด Bias ไม่ให้เกิดสิ่งรบกวนสมาธิเย้ายวนจิตใจให้กวัดแกว่งขณะตัดสินคดีความ แต่นางคานธารีปิดตาเพื่อ “สมยอม” ยอมที่จะอยู่ในโลกมืดกับคู่ชีวิตที่ตาบอด