แมลงวันในไร่ส้ม/ ภาษาอังกฤษ ของนายกฯ ไทย จาก ‘ปู’ ถึงยุค ‘บิ๊กตู่’

แมลงวันในไร่ส้ม

ภาษาอังกฤษ

ของนายกฯ ไทย

จาก ‘ปู’ ถึงยุค ‘บิ๊กตู่’

 

ภาษาอังกฤษของผู้นำประเทศ เป็นประเด็นอีกแล้ว

ในวาระที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน

และวันที่ 21 มิถุนายน มีการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 (The Fifth Bloomberg ASEAN Business Summit ABS) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถา และใช้ภาษาอังกฤษตอนต้นและหลังจบปาฐกถา โดยระหว่างปาฐกถา ใช้ภาษาไทย

ภาษาอังกฤษ 2 ประโยคในช่วงต้นและช่วงท้ายของการปาฐกถา ที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก็คือ Take your headphone before or maybe read from our reader.

และ Thank you very much to hear.

“ไทยรัฐออนไลน์” ได้พูดคุยกับคริสโตเฟอร์ ไรท์ ครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้

 

คริสโตเฟอร์ ไรท์ ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้มีพื้นฐานการใช้ภาษาอังกฤษที่แข็งแรงมากนัก อาจเพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ รวมถึงไม่ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ เป็นเรื่องปกติที่คนไทยจะพูดผิดบ้าง ออกเสียงผิดบ้าง ใช้ประโยคไม่ถูกต้องตามไวยากรณ์บ้าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตัวเองตื่นเต้น แต่เราก็ควรให้อภัยกัน มิใช่ใช้ความผิดพลาดในจุดนี้มาโจมตีกัน

คริสโตเฟอร์ ไรท์ ระบุว่า ประโยคที่นายกฯ ใช้ : Thank you very much to hear. แปลว่า ขอบคุณมากๆ ที่ได้ยิน ต้องแก้ไขเป็น : Thank you very much for listening to me today.

หรือ Thank you very much for giving me your attention today. แปลว่า ขอบคุณมากๆ สำหรับการฟังฉันในวันนี้

อีกประโยคที่นายกฯ ใช้คือ Take your headphone before or maybe read from our reader.

ต้องแก้ไขเป็น Please put on your headphones and listen to the English translation or read the prepared script in front of you. แปลว่า โปรดใส่หูฟังของคุณและฟังการแปลภาษาอังกฤษ หรืออ่านจากสคริปต์ที่เตรียมไว้ด้านหน้าคุณ

ตอนท้าย คริสโตเฟอร์ ไรท์ แนะนำผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในงานที่เป็นทางการ โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทระดับประเทศ ควรตระหนักถึง 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

  1. Predict – พยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
  2. Prepare – ฝึกซ้อม เตรียมตัวให้ดี มิใช่ไปด้นสดหน้างาน
  3. Present – นำเสนอสิ่งที่เตรียมมาให้ดีที่สุด
  4. Prevent – ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น

“ในกรณีที่คุณรู้ว่า ภาษาอังกฤษของคุณไม่แข็งแรง ดังนั้น คุณต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี และถ้าคุณมีครบทั้ง 4P การพูดภาษาอังกฤษของคุณต่อหน้าสาธารณชนจะเป็นไปอย่างราบรื่น และน่าประทับใจ” คริสโตเฟอร์ ไรท์ ทิ้งท้าย

 

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด และเคยมีบทบาทในกลุ่ม กปปส. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

ตำหนิลุงตู่ว่าจบโรงเรียนนายร้อยแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าท่านพูดได้หรือไม่ แต่การที่ท่านเลือกที่จะพูดภาษาไทยแล้วใช้ล่าม ไม่ได้เสียหายอะไรเลย ผู้นำหลายประเทศเขาก็ใช้ภาษาของเขาในการสนทนาและปาฐกถาในเวทีโลก ส่วนเรื่องความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยนั้น ขอสรุปให้ดังนี้

  1. คนจบปริญญาตรีเมืองไทย ถ้าไม่ได้จบสาขาภาษาอังกฤษสื่อสาร เป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ถึง 10%
  2. คนจบปริญญาโทและเอกในเมืองไทย ไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ต่างจากคนจบปริญญาตรี
  3. คนจบปริญญาโทและปริญญาเอกเมืองนอก สามารถสื่อสารสนทนาในชีวิตประจำวันได้ แต่อภิปรายหรือแสดงปาฐกถาไม่ได้
  4. อาจารย์ที่จบปริญญาโทและปริญญาเอกจากเมืองนอกและสอนในระดับมหาวิทยาลัย สามารถบรรยายเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่ถึง 50%
  5. คนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ในระดับบรรยายได้ อภิปรายได้ หรือแสดงปาฐกถาได้ คือ เรียนโรงเรียนนานาชาติตั้งแต่เด็ก, จบสาขาด้านภาษาอังกฤษในประเทศไทยด้วยคะแนนระดับสูง, เป็นคนเก่งภาษาอังกฤษตอนเรียนเมืองไทย แล้วมีโอกาสไปเรียนปริญญาโทหรือเอกในต่างประเทศ และไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่ระดับมัธยม หรือระดับปริญญาตรี

ดังนั้น ถ้าใครสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ อย่าตำหนิเลยค่ะ เขาคือ majority ของประเทศ ที่เป็นผลงานของการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย ที่เน้นการสอนไวยากรณ์มากกว่าสอนพูด สอนฟัง คนที่สอบภาษาอังกฤษได้คะแนนสูงๆ บางคนยังพูดไม่ได้เลย พวกเขาแค่เก่งไวยากรณ์ อันนี้รวมถึงครูสอนภาษาอังกฤษบางคนด้วยนะ พูดแล้วก็เศร้าค่ะ เมื่อไหร่จะปรับแนวทางการสอนภาษาอังกฤษกันเสียทีนะ

ประเด็นจาก ดร.เสรี คือ ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคนไทยจำนวนมาก แม้ผ่านการศึกษามากมายก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

 

ย้อนกลับไปสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง 2554-2557 ภาษาอังกฤษของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้ฝ่ายต่อต้านทักษิณวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

เดือนพฤศจิกายน 2554 นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนไทย เว็บไซต์กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่คำแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนางฮิลลารี คลินตัน และระบุว่า มี 12 คำที่ทางเว็บไซต์ระบุว่า inaudible (อินออดะเบิล) แปลว่า ได้ยินไม่ชัด หรือ ไม่ได้ยิน

ในครั้งนั้น นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชน และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด ได้โพสต์ทวิตเตอร์ ว่า ฟังคำแถลงของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ตอบรัฐมนตรี Hillary Clinton พบว่าภาษาอังกฤษของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ใช้สื่อสารเป็นทางการไม่ได้เลย พอๆ กับภาษาไทย

ในการสื่อสารกับต่างประเทศเป็นทางการ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ควรพูดภาษาไทย เพราะภาษาอังกฤษใช้การไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่องและอาจผิดพลาดจนประเทศไทยเสียหาย

ส่วนการสื่อสารกับคนไทยเป็นภาษาไทย นายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็จำเป็นต้องฝึกซ้อมทำความเข้าใจกับเรื่องที่พูดหรืออ่านบท แล้วฝึกการอ่านออกเสียงให้พร้อมก่อน

นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะไปประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี น่าห่วง จะพูดอะไรกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ชาติ และผู้นำชาติ+8 ขอให้ใช้ล่ามกระทรวงการต่างประเทศดีกว่า

ก่อนไปบาหลีขอให้กระทรวงการต่างประเทศให้ความรู้เรื่องอาเซียนแก่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้ครบถ้วนและตามช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ท่านทุกย่างก้าว กลัวพลาด เรื่องการต่างประเทศ ไม่มั่นใจในพื้นความรู้ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีต่างประเทศสุรพงษ์จริงๆ ทั้งห่วงทั้งกลัวว่าจะพลาดพลั้งแล้วแก้ไขไม่ได้

หลังจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์ติติงการใช้ภาษาอังกฤษและภาษาไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีกหลายครั้ง

การใช้ภาษาอังกฤษของผู้นำได้กลายเป็นประเด็นทับถมกันในทางการเมือง ใช้สร้างมุขโจมตีและเหยียดหยาม ซึ่งในยุคของ น.ส.ยิ่งลักษณ์รุนแรงกว่ายุคปัจจุบันนี้มาก