เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | บิดาแห่งกลอนแปด

ยี่สิบหกมิถุนายน เป็นวันสุนทรภู่ บิดาของกลอนแปด ถือเป็นครูกลอนผู้กำหนดจังหวะจะโคนของกลอนไทยได้ลงตัว เป็นแบบฉบับกลอนไทยมาจนทุกวันนี้

คือแบบฉบับกลอนแปด

วรรคละแปดคำ

ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย

ยังไม่เคยเชยชิดพิสมัย

ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย

จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย

แต่ละวรรคมีแปดคำลงตัว แม้วรรคท้าย “จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย” มีเก้าพยางค์แต่ถือเป็นแปดคำโดยอนุโลม จำเพาะคำ “เหมือนสตรี” โดยภาษาแล้วคำ “สตรี” ถือเป็น “หนึ่งคำ” ได้ ดังนั้น “เหมือนสตรี” จึงจัดลำดับเป็นสองคำตามจังหวะ “ช่วงกลอน” ที่กำหนดให้แต่ละวรรค แบ่งเป็นสามช่วง คือ

สามคำ-สองคำ-สามคำ

ลองอ่านกลอนที่ยกมานี้ดูเถิด จะรู้สึกได้ถึงจังหวะช่วงกลอนสามช่วงดังกล่าวในแต่ละวรรคทุกวรรค

นี่เป็นหลักมาตรฐานของกลอนแปดที่ท่านสุนทรภู่แต่งประจำจนกลายเป็นแบบแผนตายตัว โดยที่จริงแล้วก่อนหน้าท่านสุนทรภู่ก็มีกลอนในลักษณะกลอนแปดอยู่ หากแต่มีไม่มาก สุนทรภู่ท่านทำให้กลอนแปดปรากฏจนกลายเป็นมาตรฐานแบบฉบับขึ้นมา จนกระทั่งถือกันว่าท่านเป็นบิดาของกลอนแปด

แม้กลอนอื่นที่จำนวนคำไม่ตายตัวในวรรคมีเจ็ดคำบ้าง เก้าคำบ้าง จนถึงสิบคำก็มีนั้น ก็อนุโลม เรียกโดยรวมว่า กลอนแปดด้วยกันสิ้น

กระบวนกลอนทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลอนสี่กลอนหก และกลอนแปดก็ดี มีลักษณะจำเพาะพิเศษที่ทำให้กลอนต่างจากโคลง ฉันท์ กาพย์และฉันทลักษณ์อื่นก็คือ เสียงกลอน

เสียงของคำท้ายวรรคทุกวรรค นี่แหละคือ เสียงกลอน

อย่างกลอนตัวอย่างข้างต้น เสียงคำท้ายวรรคทั้งสี่วรรคมีคำเอ๋ย-หมัย-ลัย-เลย

คำเอ๋ยกับหมัยเป็นเสียงจัตวา คำลัยกับเลยเป็นเสียงสามัญ

กลอนทั่วไปที่เป็นกลอนแปดอื่นๆ รวมทั้งกลอนสี่กลอนหกล้วนอยู่ในบังคับเรื่องเสียงท้ายวรรคทั้งสิ้น

สูตรเสียงคำท้ายวรรคกลอนจำง่ายดังนี้คือ

คำท้ายวรรคแรกได้ทุกเสียง

คำท้ายวรรคสอง ห้ามเสียงสามัญกับตรี

คำท้ายวรรคสี่ ต้องเสียงสามัญกับตรีเท่านั้น

จำสูตรเสียงท้ายวรรคกลอนให้แม่นแล้วลองไปอ่านสารพัดกลอนดูเถิด ล้วนอยู่ในบังคับเสียงตามกำหนดบังคับนี้ทั้งนั้น

ผิดจากนี้จะสะดุดหู ขาดความไพเราะทันที

เสียงท้ายวรรคกลอนที่ถูกต้องนี่แหละที่ทำให้บทกลอนไพเราะ เพราะความลื่นไหลและเหลื่อมล้ำของเสียงอักษร ก่อให้เกิดความไพเราะเป็นสุนทรีย์แห่งเสียงไปโดยปริยาย

จังหวะจะโคนของเสียงที่กำหนดเป็นช่วงวรรคละสามช่วงด้วยลักษณะคำสัมผัส ทั้งระหว่างวรรคและในวรรค กอปรกับเสียงท้ายวรรคจึงทำให้กลอนกลายเป็นดนตรีที่มีทั้งท่วงทำนองและเนื้อหา เป็นบทเพลงขึ้นมาทันที

กลอนดีๆ เป็นบทเพลงดีๆ ด้วยตัวมันเองจริงๆ

เป็นห่วงเรื่องเสียงคำในภาษาไทย เหมือนจะง่ายแต่ยาก ที่อาจเลือนกันไปแล้วว่าคำนี้เสียงอะไร เช่น คำง่ายๆ อย่าง “แม่ค้า” แม่เสียงอะไร ค้าเสียงอะไร

ไม่รู้ก็ไปฉวยเอารูปวรรณยุกต์ว่าเป็นเสียงนั้น แม่ เป็นเสียงเอก ด้วยสะกดด้วยไม้เอก ค้าเป็นเสียงโท ด้วยไม้โท ซึ่งผิดฉกรรจ์

ด้วยเสียงวรรณยุกต์ย่อมผันไปตามพื้นเสียงอักษรเป็นสำคัญ อย่างคำแม่ค้า พื้นเสียงอักษร ม. กับ ค. เป็นอักษรต่ำ วรรณยุกต์บังคับให้เปลี่ยนเสียงสูงขึ้นไป คำแม่กลายเป็นเสียงโท คำค้ากลายเป็นเสียงตรี

ตรงนี้ที่ทำให้สับสน บังคับด้วยไม้เอกแต่เป็นเสียงโท บังคับไม้โทแต่เป็นเสียงตรี

วิธีกำหนดรู้เฉพาะตัวก็คือ ไม่รู้คำไหนว่าเสียงอะไรให้ใช้อักษรกลาง เช่น ตัว ก. เข้าไปจับเสียง อย่างคำ “แม่ค้า” ถ้าใช้ตัว ก.เข้าจับเสียงก็จะออกเสียงเป็น “แก้ก๊า” ซึ่งใช้วรรณยุกต์โทกับตรีปรับเข้ากับเสียงเดิมคือแม่ค้า คำใหม่คือแก้ก๊านี่แหละจะบอกว่าเป็นเสียงโทกับตรี ตรงตามรูปวรรณยุกต์ จึงทำให้รู้ว่า คำ “แม่ค้า” เป็นเสียงโทกับตรี หาใช่เอกกับโทตามรูปวรรณยุกต์ไม่

นี่เป็นสูตรและเคล็ดกลอนที่จะทำให้ศึกษากำหนดกฎเกณฑ์ของกลอน ช่วยให้อ่านและแต่งกลอนได้ถูกต้องไพเราะยิ่งขึ้น

ท่านสุนทรภู่ไม่ได้บอกอย่างนี้ แต่กลอนสุนทรภู่ให้แบบอย่างไว้อย่างนี้จนกลายเป็นแบบฉบับคำประพันธ์ประเภทกลอนขึ้นมาให้เราได้เรียนรู้และจดจำเป็นตำรากลอนมาจนวันนี้

อันแสดงถึงอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยที่เอื้อต่อการนำมาใช้แต่งบทกวีด้วยรูปแบบหลากหลาย

ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี นามปากกา พ.ณ ประมวญมารค ท่านนิยามบทกวีว่า บทกวีคือ

การร่ายรำของภาษา

ดังนั้น เราจึงใช้คำว่า “แต่ง” คำประพันธ์ เสมือน “แต่งตัว” ให้ภาษา

ก่อนปล่อยตัวออกมาร่ายรำนั่นเอง

กวีวรรณ

เขียนคำ เป็น คำคำ

คือคำคัด คำจัดแจง

ไม่มีอะไรแปลง

อะไรเปลี่ยน ไปจากคำ

เขียนคำ ด้วยสัมผัส

จัดลำดับ เสียงสูงต่ำ

ไพเราะเสนาะล้ำ

ก็คือคำ มีทำนอง

เขียนความ เป็นเรียงความ

ไปตามขั้น ตามครรลอง

ถึงคำ จะคล้องจอง

ก็เป็นได้ แค่ เรียงความ

เหวยเหวย กวีวรรณ

เห็นไหมนั่น อะไรงาม

อลังการ อันเรืองราม

การร่ายรำแห่งภาษา

เศกใจ จนแจ้งใจ

ให้หัวใจ ได้รจนา

มธุรทัศน์ ทิพย์สัจจา

ผจงเนรมิตร กวี!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์