สุรชาติ บำรุงสุข | ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพฯ ยังมาไม่ถึง! แต่ดอกประชาธิปไตยเบ่งบานหลายที่

“อาหรับสปริงเป็นคำที่สื่อความหมายผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำนี้มีนัยว่า แล้วทุกอย่างก็จะเบ่งบาน [เช่น ดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ] คือเสมือนมีอาวุธวิเศษที่สามารถแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่รุนแรงได้ ทั้งที่วิกฤตนี้เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว… [ว่าที่จริง] สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือ การประท้วงทางสังคมซึ่งเป็นอาการของความอ่อนแอทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง [ในโลกอาหรับ]”

Professor Fawaz Gerges, London School of Economics

เรามักจะกล่าวถึงการเมืองเปรียบเทียบในเชิงภาพลักษณ์เสมอว่า การเมืองไทยได้ผ่าน “ฤดูใบไม้ผลิ” ใหญ่มาแล้วถึงสองครั้ง

คือชัยชนะของประชาชนในปี 1973 (เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) เป็นครั้งแรก และประชาชนชนะอีกครั้งในปี 1992 (เหตุการณ์พฤษภาคม 2535)

แต่การมาของฤดูใบไม้ผลิครั้งแรกไม่ได้ยาวนานนัก แล้วในปี 1976 (การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ฤดูหนาวก็กลับมา… ความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิที่การเมืองไทยได้มีโอกาสสัมผัสเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลก

แม้ฤดูหนาวจะกลับคืน แต่ประชาชนได้รับชัยชนะด้วยการโค่นล้มรัฐบาลทหารเป็นครั้งที่สอง ฤดูใบไม้ผลิกลับมาเยือนกรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 1992 จนหลายคนเชื่อมั่นว่าเราจะอยู่ท่ามกลางความอบอุ่นของ “กรุงเทพสปริง” ตลอดไป

ใครเลยจะคิดว่าแล้วฤดูกาลก็ผันแปร ในที่สุดฤดูหนาวก็หวนคืนในปี 2006 (รัฐประหาร 2549) และผู้มีอำนาจควบคุมฤดูกาลกลัวว่า สังคมไทยจะไม่หนาวจริง พวกเขาจึงเร่งความเยือกเย็นให้มากขึ้นด้วยการนำพาไทยกลับเข้าฤดูหนาวครั้งสำคัญในปี 2014 (รัฐประหาร 2557)…

ฤดูกาลครั้งนี้เป็นความหนาวอันโหดร้ายที่สังคมไทยต้องเผชิญ และดูจะเป็นฤดูหนาวที่เลวร้ายกว่าทุกครั้ง การเมืองไทยหลังจากการยึดอำนาจในปี 2014 แล้ว คือการเดินทางสู่ “ฤดูหนาวอันแสนนาน”

ในขณะที่ไทยต้องเผชิญกับฤดูหนาวถึงสองครั้งในช่วงระยะเวลาไม่นานนัก คือในปี 2006 และ 2014 ซึ่งแน่นอนว่าการมาของฤดูหนาวถึงสองครั้งในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนั้น ย่อมกลายเป็นความหดหู่และความเศร้าใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่เมื่อมองออกไปนอกบ้านแล้ว เรากลับเห็นดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบานท่ามกลางฤดูใบไม้ผลิในหลายที่ แม้ฤดูกาลที่กรุงเทพฯ ยังไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม

ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง

คําว่า “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” (political spring) เป็นคำที่ใช้กันอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ในเชิงภาษาแล้ว คำนี้จะเกิดขึ้นจากการเมืองยุโรปในช่วงของ “การปฏิวัติ 1848” หรือที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “การปฏิวัติของชนชั้นนายทุน” (Bourgeois Revolution) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชาธิปไตยเสรีนิยมในยุโรป และยังมีนัยถึงการผลักดันให้กลุ่มผู้ปกครองเก่าออกไปจากโครงสร้างอำนาจเดิม

อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มของการสร้างรัฐประชาชาติที่เป็น “เอกราชและประชาธิปไตย” ซึ่งอาจถือว่าการปฏิวัติ 1848 เป็น “การปฏิวัติประชาธิปไตย” ครั้งแรกของโลก

กระแสการปฏิวัติประชาธิปไตยนี้มีจุดเริ่มต้นในฝรั่งเศสในเดือนกุมภาพันธ์ 1848 หรือที่เรียกว่า “การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์” และขยายตัวออกไปทั่วทั้งยุโรป อันนำไปสู่การสร้างพันธมิตรครั้งสำคัญระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นคนงาน

แม้สุดท้ายแล้วนักปฏิวัติเหล่านี้จะถูกปราบปรามอย่างหนัก ประชาชนหลายพันคนในหลายประเทศถูกสังหาร และผู้นำการปฏิวัติหลายคนจำต้องลี้ภัยออกจากประเทศของตน

แต่การต่อสู้ของพวกเขาได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อการเมืองยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการล้มระบบไพร่ติดที่ดินในออสเตรียและฮังการี การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในเดนมาร์ก ตลอดรวมถึงการสร้างรากฐานของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (representative democracy) ให้แก่รัฐต่างๆ ในยุโรป และทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจักรวรรดิเยอรมนีในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อีกด้วย

การปฏิวัติ 1848 ยังสร้างรากฐานทางความคิดในการยกเลิกความเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ครอบครองทรัพย์สินในการออกเสียง (หรือการลงคะแนนเสียงตามสถานะทางเศรษฐกิจ) และความเป็นตัวแทนแบบใหม่มาจากการออกเสียงแบบทั่วไป โดยไม่ผูกพันกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (ในขณะนั้นยังจำกัดว่าเป็นการออกเสียงของเพศชายเท่านั้น) และที่สำคัญยังนำไปสู่แนวคิดว่า ผู้ปกครองจะต้องได้รับการยินยอม (consent) จากผู้ถูกปกครอง และทั้งยังนำไปสู่แนวคิดในการจำกัดอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐ ที่สำคัญคือการกำเนิดของแนวคิดที่รัฐต้องยอมรับเสรีภาพของบุคคล

การปฏิวัติครั้งนี้จึงเสมือนดังการมาของฤดูใบไม้ผลิสำหรับการเมืองยุโรป และกระแสนี้ยังขยายไปสู่ส่วนอื่นของโลก เช่น การปฏิวัติในเกรเนดาในปี 1848 การปฏิวัติในชิลีในปี 1851 เป็นต้น

ฉะนั้น ในมุมมองของนักประชาธิปไตยแล้ว เหตุการณ์นี้คือ “การปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งแรก” หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “คลื่นประชาธิปไตยลูกแรก” ของโลก

ฤดูใบไม้ผลิในโลกสมัยใหม่

ในโลกสมัยใหม่นั้น คำนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในเชคโกสโลวาเกียที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียต การลุกขึ้นสู้ในปี 1968 ไม่ประสบชัยชนะ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่การเรียกร้องเสรีภาพจะได้รับการยอมรับจากผู้นำรัสเซีย

แต่ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็น “ฤดูใบไม้ผลิ” ใหญ่ของยุโรปในยุคสงครามเย็น หรือที่เรียกว่า “ปรากสปริง” (The Prague Spring) และเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำนี้อีกครั้งในโลกยุคปัจจุบัน

ฤดูใบไม้ผลิเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่งสปริง (ช่วงเวลาของการเรียกร้องเสรีนิยมในจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1980)

โซลสปริง (ช่วงของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980)

ดามัสกัสปริง (การเรียกร้องเสรีภาพในซีเรียหลังการเสียชีวิตของประธานาธิบดีอัสซาดในปี 2001)

ซีดาร์สปริง (การประท้วงอย่างต่อเนื่องหลังการลอบสังหารประธานาธิบดีฮารีรีในปี 2005) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฤดูใบไม้ผลิที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน คงต้องยกย่องแก่ “อาหรับสปริง” ที่เริ่มจากตูนิเซียในช่วงปลายปี 2010 และพอเข้าต้นปี 2011 โลกได้เห็นอาหรับสปริงที่ใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งที่ไคโร ชัยชนะของประชาชนเหนือรัฐบาลเผด็จการในสองประเทศดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นสู้และการประท้วงครั้งใหญ่ของประชาชนชาวอาหรับ

แม้การลุกขึ้นสู้ครั้งนี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด ที่จะเปลี่ยนโลกอาหรับทั้งมวลให้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นดังการส่งสัญญาณยืนยันว่า การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่

แม้ในบางประเทศจะจบลงด้วยความโหดร้ายของสงครามกลางเมืองเช่นในซีเรีย ลิเบีย และเยเมน

คงต้องยอมรับว่าอาหรับสปริงเป็นการจุดประกายไฟแห่งความหวังในการปฏิรูปทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการที่ประเทศต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการมาอย่างยาวนาน และยังนำมาซึ่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจ

เช่น ราคาขนมปังที่สูงขึ้น อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสังคมมีความคิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องล้มรัฐบาลเผด็จการแล้ว เพราะรัฐบาลเช่นนี้ไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า “รัฐบาลเผด็จการทำให้คนยากจน”

สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการมักจะไม่ตระหนักก็คือ ระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือเมื่อระบอบเผด็จการล้มเหลวในการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับประชาชนแล้ว ระบอบนั้นย่อมจะเผชิญกับการต่อต้านทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสุดท้ายสิ่งที่ระบอบนี้จะหยิบยื่นให้แก่ประชาชนจึงมีเพียงประการเดียวคือการปราบปราม และคงต้องตระหนักร่วมกันในยุคปัจจุบันว่า การเมืองของการปราบปรามนั้นไม่เคยยั่งยืน และรัฐบาลที่อยู่ได้ด้วยการกดขี่และปราบปรามประชาชนนั้น สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเจอกับการต่อสู้ของประชาชนบนท้องถนน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะเห็นได้ว่า หลังจากกระแสอาหรับสปริงในปี 2011 แล้ว เราได้เห็นชัยชนะของประชาชนในบูร์กินาฟาโซในการต่อต้านรัฐประหารในปี 2015 แล้วในปี 2019 เราได้มีโอกาสเห็นคลื่นลูกที่สองของการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ทั้งในแอลจีเรียและในซูดาน

จนมีการเปรียบเทียบว่า ชัยชนะของประชาชนในสองประเทศนี้ เป็นดังฤดูใบไม้ผลิที่มาช้าในโลกอาหรับ

ฤดูกาลที่ผันแปรในโลกตะวันตก

ในขณะที่ที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยปัจจุบันนี้อาจจะถูกมองอย่างไม่มั่นใจ เพราะในด้านหนึ่งประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว กลับส่งสัญญาณให้เห็นถึงความผันแปรของระบอบเสรีนิยม และปรากฏการณ์สำคัญ 3 ประการที่บ่งบอกถึงความท้าทายต่อระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ได้แก่

1) การขยายตัวของกลุ่มประชานิยมปีกขวา (Rightwing Populism) ในโลกตะวันตก อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ และการทะลักของผู้อพยพชาวมุสลิมสู่ยุโรป อันส่งผลให้กลุ่มการเมืองนี้มีทิศทางที่ไม่สนับสนุนระบอบเสรีนิยมแบบเดิม และกลุ่มการเมืองดังกล่าวมีอิทธิพลมากขึ้นในการเมืองยุโรป

2) ความสำเร็จในการลงประชามติให้อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) ในตอนกลางปี 2016 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสแนวคิดประชานิยมปีกขวาอีกแบบ คือการเรียกร้องให้ประเทศถอนตัวออกจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อความเป็นเอกราชของรัฐ อันมีนัยถึงการปฏิเสธพันธะระหว่างประเทศแบบเก่า

3) ชัยชนะในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในตอนปลายปี 2016 อันเป็นการบ่งบอกของทิศทางการเมืองและการต่างประเทศของสหรัฐในอีกรูปลักษณ์หนึ่ง และขณะเดียวกันทรัมป์ก็คือตัวแทนของประชานิยมปีกขวาอเมริกัน อันส่งผลให้การแสดงบทบาทของสหรัฐในเวทีโลกมีลักษณะเป็นเสรีนิยมน้อยลง ซึ่งแตกต่างจากนโยบายเดิมอย่างมาก

ทิศทางการเมืองของโลกตะวันตกที่แนวความคิดแบบต่อต้านเสรีนิยมปรากฏชัดมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้นักประชาธิปไตยหลายส่วนกังวลว่า แนวคิดประชานิยมปีกขวาจะกลายเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดระบอบอำนาจนิยมในประเทศอื่นๆ เพราะแนวคิดดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

เช่นที่ครั้งหนึ่ง รัฐบาลของมหาอำนาจตะวันตกในยุคสงครามเย็นถือเอาการต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นหลักในการดำเนินนโยบายต่อชาติพันธมิตร และต้องการมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ทิศทางเช่นนี้จึงกลายเป็นเงื่อนไขของการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลทหารในประเทศโลกที่สาม

ความผันแปรของประชาธิปไตยตะวันตกกลายเป็นสัญญาณลบของกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลกอย่างหนีไม่พ้น

รอฤดูใบไม้ผลิมาเยือน

แม้โลกตะวันตกจะเผชิญกับความผันแปรของฤดูกาล

แต่เรายังคงเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในโลกอาหรับ

ดังที่กล่าวแล้วว่า วันนี้เรากำลังเห็นฤดูใบไม้ผลิในแอลจีเรียและในซูดาน

ทั้งที่หากย้อนกลับไปสักนิด เราแทบจะมองไม่เห็นถึงชัยชนะของประชาชนในสองประเทศนั้นเลย เพราะต่างก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการมาอย่างยาวนาน

ซึ่งก็อาจเทียบเคียงได้กับกรณีของอียิปต์ ที่เมื่อการต่อต้านรัฐบาลทหารเริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงต้นปี 2011 นั้น ไม่มีใครเลยจะเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ

วันนี้ก็ไม่แตกต่างกัน… พลังประชาชนลุกขึ้นโค่นล้มเผด็จการในประเทศที่เราไม่คาดคิดได้สำเร็จอีกครั้ง ในด้านหนึ่งก็คือ ภาพสะท้อนของความต่อเนื่องของกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ที่หลายคนอาจจะคิดว่ากระแสนี้จบลงแล้วด้วยรัฐประหารในอียิปต์ในปี 2013 พร้อมกับปัญหาสงครามและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในซีเรีย ลิเบีย และเยเมน จนเป็นดังการสิ้นพลังขับเคลื่อนของกระแสอาหรับสปริง

แต่ในที่สุดกระแสลูกที่สองก็เกิดขึ้น และในอีกด้านแม้โลกตะวันตกจะมีทิศทางขวามากขึ้น แต่ก็มิได้บ่งบอกว่ากระแสประชาธิปไตยสิ้นสุดลงแล้วในเวทีโลก

เสียงเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยยังคงเป็นกระแสในหลายประเทศ และรอการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิเช่นที่แอลจีเรียและซูดาน

แม้วันนี้ความอบอุ่นของ “กรุงเทพสปริง” ยังมาไม่ถึง แต่อย่างน้อยนับตั้งแต่รัฐประหารในไทยในปี 2006 และ 2014 แล้ว โลกเป็นพยานถึงการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในโลกอาหรับรอบแรกในปี 2011 ในแอฟริกาตะวันออกในปี 2015 ในโลกอาหรับรอบสองในปี 2019…

กระแสลมของฤดูใบไม้ผลิยังคงพัดต่อไป และความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเช่นนี้บอกแก่เราว่า ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิไม่มา มีแต่ฤดูใบไม้ผลิที่มาช้า!