น้ำนิ่ง-น้ำเน่า | หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมเห็นผลการวิจัยของ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

เรื่อง “การเลือกตั้งและทัศนคติต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทยของผู้เลือกตั้งครั้งแรก”

น่าสนใจมากครับ

กระแสการต่อสู้ทางความคิดระหว่างวัยในวันนี้ ทำให้ผู้ใหญ่ต้องสนใจความคิดของ “เด็กรุ่นใหม่” มากขึ้น

เขาใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,061 คน

ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ

ผลการวิจัยก็ชัดเจนว่าคนหนุ่มสาวที่เลือกตั้งครั้งแรก อายุ 18-23 ปีเลือกพรรคอนาคตใหม่มากที่สุด 61.9%

รองลงมาคือ เพื่อไทย 19.1%

ประชาธิปัตย์. 6.6%

พรรคอื่นๆ ต่ำกว่า 4%

เขาศึกษาลึกลงไปอีกว่า “คนรุ่นใหม่” กลุ่มนี้มีความรู้ความเข้าใจทางการเมืองดีแค่ไหน

ด้วยคำถามวัดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง 5 ข้อ

ปรากฏว่าเด็กตอบผิดหมด 32%

ตอบถูก 1 ข้อ 53%

2 ข้อ 9.9%

3 ข้อ 3.5%

4 ข้อ 1.5%

ตอบถูกทั้ง 5 ข้อ 0.1%

ถ้าดูตามตัวเลขแบบนี้เราสรุปได้เลยว่า “เด็กรุ่นใหม่” ที่เลือกตั้งครั้งแรกไม่มีความรู้ความเข้าใจทางการเมือง

เพราะตอบถูกน้อยกว่า 3 ข้อ ถึง 94.9%

แต่พอมาดูคำถามทั้ง 5 ข้ออย่างละเอียด

อุทานได้คำเดียว

มิน่า…

ครับ ใครที่คิดว่ามี “ความรู้ความเข้าใจ” ทางการเมือง

มาลองตอบคำถาม 5 ข้อนี้เล่นๆ กัน

ถ้าพร้อม…เริ่มเลยครับ

“คนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจการเมืองเพียงใด”

คำถาม

1. ท่านทราบหรือไม่ว่า ใครคือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน

2. ท่านทราบหรือไม่ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีกี่คน

3. ท่านทราบหรือไม่ว่า จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดมีกี่คน (ตามรัฐธรรมนูญปี 2560)

4. ท่านทราบหรือไม่ว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศจีนชื่ออะไร

5. ท่านทราบหรือไม่ว่า ประชาคมอาเซียนมีสมาชิกกี่ประเทศ

เป็นไงครับ

ตอบกันได้กี่ข้อ

อย่าลืมว่าต่ำกว่า 3 ข้อ

…สอบตก

ผมตอบได้ 2 ข้อครับ

คือ ข้อ 1 กับ 3

ข้อ 4 เหมือนกับง่าย แต่จริงๆ เขาหลอก

เพราะส่วนใหญ่คงจะตอบว่า “สีจิ้นผิง”

“สีจิ้นผิง” เป็น “ประธานาธิบดี” ครับ

ไม่ใช่ “นายกรัฐมนตรี”

คาดว่าคนที่จำชื่อนายกฯ จีนได้คงมีน้อยมาก

ผมก็จำไม่ได้เหมือนกัน

สรุปว่าผม “สอบตก” ครับ

ตอนแรกก็ตกใจเพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองพอจะมีความรู้ทางการเมืองอยู่กับเขาบ้าง

แต่คิดอีกมุมหนึ่งก็ดีใจ

“เด็กรุ่นใหม่” สอบตก

ผมก็สอบตก

แสดงว่าเราเป็นคนรุ่นเดียวกัน

อายุลดฮวบลงทันที

นอกจาก “คำถาม” จะยากเกินไป

“ข้อสอบ” ของอาจารย์ยังเป็นแบบ “ท่องจำ”

เข้าใจว่าการวัดผลด้วยการวิจัยเชิงปริมาณแบบนี้

จะให้เด็กเขียนตอบแบบสอบถามด้วยการอธิบายแบบข้อสอบอัตนัยก็คงจะยาก

อาจารย์จึงใช้คำถามทดสอบความจำ

แต่ “การท่องจำ” ชื่อและตัวเลขเก่ง ไม่ได้หมายความว่าจะมีความรู้และความเข้าใจทางการเมือง

ผมนึกถึง “แจ๊ก หม่า” ที่พูดบนเวทีหนึ่ง

เขาพูดเรื่องระบบการศึกษากับ “ความเปลี่ยนแปลง”

“แจ๊ก หม่า” บอกว่าระบบการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้เราสอน เราเรียนกันผิดๆ

ให้เด็กท่องจำตำรา ใครคิดเลขถูกได้มากกว่า เร็วกว่า

เขาตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาแบบนี้ทำให้เด็กรับมือกับเทคโนโลยีได้จริงหรือ

“ทุกวันเครื่องจักรทำได้เหมือนอย่างที่คนทำ แต่การศึกษายังสอนให้คนทำได้เหมือนเครื่องจักร”

ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ

“แจ๊ก หม่า” คงไม่ได้หมายถึง “เครื่องจักร” แบบ “หุ่นยนต์” ที่ทดแทนแรงงานมนุษย์เพียงอย่างเดียว

แต่คงมองไกลไปถึง AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์”

อะไรที่ทำซ้ำๆ ด้วยการใช้แรงงาน “หุ่นยนต์” จะมาแทนที่

อะไรที่ทำซ้ำๆ ด้วย “ความจำ” AI จะมาทดแทน

การศึกษาในโลกยุคใหม่จึงต้องพ้นจากการท่องจำ ซึ่งเป็นกระบวนการทำซ้ำทางความคิด

“ความรู้-ความเข้าใจ” จึงไม่ใช่ “การท่องจำ”

การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่ “การท่องจำ”

“ท่องจำ” คือ “หยุดนิ่ง”

แต่ “ความเปลี่ยนแปลง” คือ การเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ

คุณตัน ภาสกรนที เพิ่งออกคลิปใหม่ชุด “ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน” ทางเพจของเขา

มีคนถามว่า มีธุรกิจอะไรที่เราสามารถกินยาวถึง 20 ปีบ้าง

“ไม่มี” คุณตันตอบ

เขาบอกว่า โลกวันนี้คือความเปลี่ยนแปลง

ผู้บริโภคแสวงหาสิ่งใหม่เสมอ

ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ทันต่อโลก ทันต่อผู้บริโภคที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง

และคุณตันก็สรุปสั้นๆ ว่ามีสิ่งเดียวที่จะอยู่ได้ 20 ปี

“คือ ความเชื่อเรื่องความเปลี่ยนแปลง”

คุณต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ

ธุรกิจของคุณจึงจะอยู่ได้ 20 ปี