คณะรัฐมนตรี มีคุณภาพ? สะท้อนถึงความตั้งใจปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้นได้ ?

รมต.ที่ไม่ปรารถนา

เพราะอำนาจรัฐถูกสากลโลกกดดันให้อยู่ในสภาวะ “ประชาธิปไตย” อันหมายถึงให้น้ำหนักกับอำนาจประชาชนเป็นด้านหลัก ซึ่งในรูปธรรมย่อมหมายถึงระบบรัฐสภาที่มีผู้แทนประชาชนเป็นสมาชิก

กลไกที่ใช้กันอยู่ทั่วทั้งโลกคือ “มาจากการเลือกตั้ง”

มีความพยายามอธิบายว่าประเทศไทยเราเป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะ “ประชาชนไม่พร้อม” ทำให้ไม่มีความสามารถที่จะเลือกผู้แทนฯ ที่มีคุณภาพในความรู้ความสามารถและสำนึกที่ดีงามเข้ามาทำหน้าที่

ประชาชนไม่มีความรู้พอในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของนักการเมือง

เลือกนักการเมืองไปทำหน้าที่ทั้งในส่วนของผู้บริหารประเทศ และควบคุม ออกกฎหมาย ด้วยความเข้าใจคนละอย่างกับประชาธิปไตยสากล

ประชาชนไทยเรายังเลือกผู้แทนฯ เพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า และความสนิทชิดเชื้อ เห็นหน้าเห็นตาพอเป็นที่พึ่งพาในเรื่องปัญหาชีวิตประจำวัน มากกว่าเพื่อไปทำหน้าที่กำหนดทิศทางของประเทศ และพัฒนาชาติ

ผลการเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงได้บุคลากรทางการเมืองส่วนใหญ่ไปในทางที่น่าผิดหวัง

และนั่นเป็นเหตุผลอันเป็นที่มาของเสียงเรียกร้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ความต้องการสร้างคุณภาพใหม่ทางเลือกมีสูงยิ่ง

ความเห็นดีเห็นงามต่อการรัฐประหารของคนกลุ่มหนึ่งก็ด้วยเหตุผลนี้

เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” มีความใสสะอาด และตั้งใจที่จะสร้างการเมืองคุณภาพขึ้นมา

แต่เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้เวลาถึง 5 ปี ภายใต้การเสียสละของประชาชนต่อเวลาที่จะสร้างอนาคตที่ดี และจำยอมถูกกดข่มเสียจำยอมสูญเสียเสรีภาพในการแสดงออกเนื่องจากความพยายามเข้าใจในเจตนาดีของคณะรัฐประหาร

แต่มื่อ 5 ปีผ่านไป รัฐบาลหลังเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

มองคุณภาพการเมืองผ่านคณะรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยข่าวความเคลื่อนไหวแย่งชิงเก้าอี้

กระทั่งเริ่มเห็นรายชื่อที่พอลงตัวในเบื้องต้น

สะท้อนความรู้สึกของประชาชนอย่างไร

น่าจะประเมินได้จากคำตอบของ “นิด้าโพล” ล่าสุดที่สำรวจเรื่อง “รัฐมนตรีที่ควรเฝ้าจับตามอง” ในคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าบุคคลลักษณะใดไม่ควรให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”

ที่คำตอบออกมาว่า ร้อยละ 52.39 ไม่เอาที่มีข่าวและภาพลักษณ์ในอดีตไม่โปร่งใส ซื่อสัตย์ ร้อยละ 39.89 ปฏิเสธคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีที่ได้รับ

ร้อยละ 27.31 ไม่ต้องการคนที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น ตัวเองหรือคนในครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวพันกับกระทรวงที่ไปดูแล ร้อยละ 24.92 ไม่รับที่มีชื่อเสียงว่าเป็นเจ้าพ่อ มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 13.38 ไม่อยากได้คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนแล้วไม่มีผลงานอะไร

จากผลสำรวจนี้เห็นได้ชัดว่าประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม มีความชัดเจนในคุณภาพนักการเมืองในระดับหนึ่ง

บ่งบอกได้ชัดเจนถึงสถานะที่ยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ด้วยอำนาจที่ล้นฟ้าจากการออกกติกาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เปิดทางให้คนอื่นขึ้นมาแย่งชิงได้

“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เป็นข้อสรุปที่ปฏิเสธไม่ได้

ทว่าอำนาจที่ยอมให้เอาเปรียบคนอื่นถึงขนาดนั้น สามารถสร้างคณะรัฐมนตรีในคุณภาพที่สะท้อนถึงความตั้งใจปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้นได้หรือไม่

หลังจากที่พยายามเปรียบเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มา

ผู้ที่ยึดกุมอำนาจ ย่อมประเมินได้ไม่ยากว่ารายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งไปเกิดแรงเสียดทานอย่างไรกับคุณสมบัติที่ประชาชนไม่ปรารถนา

ขอเพียงกล้าหาญพอที่จะมอง โดยไม่หาเหตุผลมาปกป้องตัวเอง