นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ไหว้ครู

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ บทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ไหว้ครู นี้ ถูกเผยแพร่ครั้งแรก มิถนายน 2562 ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ 

เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ผมเคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูในโรงเรียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประเด็นหลักก็คือ พิธีไหว้ครูในวัฒนธรรมไทยแต่เดิมนั้นคือไหว้ผี (หรือเทพ) ไม่ใช่ไหว้คนหัวหยัก และถ้าจับจุดนี้ได้ ก็อาจพัฒนาการไหว้ครูให้เหมาะกับกาลสมัยไปได้อีกมาก ที่ผมเสนอคือไหว้ “หลักการ” ซึ่งอาจแสดงออกได้ด้วย “ผี” ที่มีชื่อเสียงบางตน เช่น นักเรียนประวัติศาสตร์อาจไหว้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ฯลฯ

หรือแม้แต่เป็นผีฝรั่งผีเจ๊กก็ไหว้ได้ทั้งนั้น เพราะที่จริงไม่ใช่ไหว้บุคคลที่ตายไปแล้ว แต่ไหว้หลักการบางอย่างที่ผลงานของผีเหล่านั้นส่งเสริม (และแม้ผีบางตนอาจไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างงานได้ตามหลักการนั้นก็ตาม)

แต่ผู้รู้บางท่านก็ท้วงผมว่า ไหว้ครูคือไหว้ผีนั้นใช้ได้เฉพาะแต่กับครูด้านศิลปะ เช่น ครูโขนละครและครูช่างเท่านั้น ส่วนครูหนังสือหมายถึงคนจริงๆ ที่เป็นผู้สอนอ่านเขียนให้แก่นักเรียน

ตอนนั้นผมไม่ได้คัดค้านอะไรท่าน เพราะมีความเกียจคร้านเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว แต่ตอนนี้จำเป็นต้องแสดงความเห็นค้านไว้ เพราะมันจะเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูซึ่งจัดขึ้นตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมานานหลายสิบปีแล้ว

ผมคิดว่า การไหว้ครูหนังสือก็ยังเป็นการไหว้ผีเหมือนกับไหว้ครูวิชาอื่นเช่นกัน และมีร่องรอยให้เห็นอยู่เป็นอันมากในพิธีกรรมเพียงแต่ผู้ริเริ่มทำให้พิธีนี้กลายเป็น “ทางการ” ขึ้น เอาครูคนปนเข้าไปกับผี เพราะเจตนาของท่านต้องการให้พิธีไหว้ครูเป็นส่วนหนึ่งของการอบรม “คติธรรม” แก่เด็กๆ (ตามสำนวนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ)

อย่าลืมนะครับว่า พิธีไหว้ครูในสมัยก่อนคือพิธีรับมอบเด็ก (หรือศิษย์) ให้มาอยู่ในความดูแล พ่อ-แม่หรือเจ้าตัวนำธูปแพเทียนแพพร้อมดอกไม้ไปฝากตัวไว้กับ “ครู” พร้อมเงินกำนลอีกจำนวนหนึ่ง (ดูเหมือนจะเป็นตำลึงกึ่ง) ดังนั้น จึงทำเฉพาะเมื่อตอนรับเด็กเข้ามาใหม่ ไม่ใช่พิธีที่ต้องทำทุกปี

พิธีอย่างนี้ทำกับครูทุกประเภท รวมทั้งครูหนังสือด้วย ดูจากเครื่องบูชาครู ก็เห็นได้ว่าบูชา “ผี” ซ้ำเงินกำนลนั้นก็เป็นธรรมเนียมที่ครูจะเอาไปทำบุญมากกว่าเก็บไว้ใช้เอง ทำบุญให้ใคร เคยอ่านประวัติของครูช่างท่านหนึ่ง ท่านเอาไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ครูของท่านซึ่งตายไปแล้ว พูดให้ขลังก็คือ ครูในพิธีไหว้ครูนั้นหมายถึง”ปาจารยาจารย์” ไม่ใช่ด๊อกเตอร์ด๊อกตีนที่มานั่งเรียงแถวให้เด็กกราบ

ถ้าดูจากบทไหว้ครูที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็อ้าง “ผี” ก่อนคือ “ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ผู้กอปรเกิดประโยชน์ศึกษา…”

หลังบทความนั้นตีพิมพ์ไม่นาน ผมก็ให้บังเอิญได้พบซือแป๋สุจิตต์ วงษ์เทศ ผมจำได้ว่าแกตอบสนองบทความนั้นว่า “นั่นน่ะสิ ครูก็ต้องมีครู ทำไมนักเรียนเท่านั้นที่ต้องไหว้ครู ครูไม่ต้องไหว้ครูหรอกหรือ” ข้อสังเกตของซือแป๋สรุปได้ชัดเจนเลยว่า พิธีไหว้ครูคือพิธีทำความเคารพต่อ “บุรพาจารย์” ซึ่งเป็นตัวแทนของวิชาความรู้ทั้งหลาย อาจรวมคุณธรรมบางอย่างไว้ด้วย เพราะคติของไทยแต่ก่อนไม่ได้แยกวิชาความรู้ออกจากศีลธรรมหรือหลักการคุณธรรม และด้วยเหตุดังนั้น ครูในที่นี้จึงไม่อาจหมายถึงคนคอหยัก มีแต่ “ผี” (หรือเทพ) เท่านั้นที่จะเป็นสัญลักษณ์ได้

ในส่วนคำสอนให้เคารพเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูที่เป็นคนนั้น อ้างแต่คำสอนในพุทธศาสนาอย่างเดียวไม่พอ เพราะมันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมหนุนหลังอยู่ด้วย ครูสมัยก่อนไม่แต่เพียงสอนฟรีเท่านั้น ในหลายกรณียังเลี้ยงดูลูกศิษย์เหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวด้วย (เช่น ครูเป็นหลวงพ่อ และศิษย์เป็นเณร) และด้วยเหตุดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่ต้องอาศัยแรงงานของศิษย์ในกิจการต่างๆ นับตั้งแต่ครัวเรือนขึ้นไป ครูจึงเป็นเหมือนพ่อ-แม่ใหม่ที่ให้กำเนิดคนที่มีวิชาความรู้

มันไม่ใช่เรื่องของ “บุญคุณ” ที่สอนหนังสือ (หรือวิชาอื่น) ให้ แต่เป็นเรื่องของพันธะหน้าที่ทางสังคมซึ่งมีต่อกันระหว่างครูและศิษย์ เพื่อให้ระบบการศึกษาดำเนินต่อไปได้ ไม่แต่ระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงเครือข่ายทางสังคมระหว่างครูกับศิษย์ และระหว่างศิษย์สำนักเดียวกัน (ถ้าเป็นวงการเพลง-ดนตรี ก็คือเป็นศิษย์ “สาย” ไหน หรือ “ทาง” อะไร) จะแปรเครือข่ายทางสังคมนี้ไปใช้ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลซึ่งมีโอกาสในชีวิตที่แตกต่างกัน

ในสังคมไทยโบราณ กลุ่มทางสังคมหรือเครือข่ายที่เกิดขึ้นนอกกำกับของรัฐมีไม่มากนัก นอกจากบ้านเกิด, เครือญาติ, ศรัทธาวัด, อุปัชฌาย์องค์เดียวกันแล้ว ก็มีสำนักเรียนนี่แหละ ที่ทำให้เกิดกลุ่มทางสังคมซึ่งอยู่นอกการกำกับของรัฐ

มองจากมุมนี้ พิธีกรรมไหว้ครูน่าจะเป็นอีกวาะหนึ่งของการเสริมสร้างกลุ่มทางสังคม, การเมือง, เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรมที่อยู่นอกการกำกับของรัฐด้วย เช่น การที่นักเรียนจัดกระทงในรูปล้อ (หรือหยันหว่า?) การเมืองในปีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเกาะกลุ่มที่อยู่นอกกำกับของรัฐ บังเอิญกิจกรรมที่เลือกทำเป็นกิจกรรมทางการเมือง จึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมากหน่อย เพราะเข้ามาแทรกในความอึดอัดทางการเมืองของประชาชนทั่วไปพอดี

เมื่อสังคมเปลี่ยนไปจนเป็นอย่างทุกวันนี้ ครูคอหยักจึงควรเลิกอ้างเสียทีว่าตนเป็นประหนึ่งพ่อแม่ของนักเรียน ในหลายโรงเรียนแม้แต่งบประมาณอาหารกลางวัน ครูยังเจียดเอาอาหารกลางวันเด็กไปกิน ใครเป็นคนเลี้ยงดูใครกันแน่ ยังไม่พูดถึงว่าครูรับเงินเดือนเป็นการหาเลี้ยงชีพเหมือนคนทั่วไป พันธะหน้าที่ระหว่างกันของครูและนักเรียนจึงเปลี่ยนไปแล้ว จะเรียกร้องให้นักเรียนเคารพเชื่อฟังครูอย่างแต่ก่อนไม่ได้ แต่ต้องเคารพเชื่อฟังเพียงพอที่จะทำให้การศึกษาหาความรู้ของชั้นเรียนเป็นไปได้โดยราบรื่น

และน่าสนใจสำหรับทุกคนเท่านั้น

“โรงเรียน” (สถานศึกษาแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช่บ้านเรือนของครูหรือวัด) จะจัดให้มีพิธีไหว้ครูแยกต่างหากจากการมอบตัวนักเรียนมาแต่เมื่อไรไม่ทราบได้ แต่ใน พ.ศ.2486 ม.ล.ปิ่น มาลากุล ในฐานะอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้มีคำสั่งวางรูปแบบพิธีไหว้ครูให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทุกโรงเรียน จึงต้องถือว่ากระทรวงได้บังคับให้ทุกโรงเรียนรัฐจัดพิธีไหว้ครูหมด

เพราะเหตุใดผมก็ไม่ทราบ แต่นับจากนั้นมา ตัวพิธีกรรมดูจะถือกันเคร่งครัดขึ้น และแปรเปลี่ยนเป็นการไหว้ครูที่เป็นคนอย่างชัดแจ้งขึ้นทุกที (แม้บทไหว้จะยังสักการะ “บุรพาจารย์” อยู่ก็ตาม) นอกจากไหว้ครูที่เป็นคนแล้ว ยังมีเป้าหมายโดยนัยยะแทรกอยู่อีกอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งคือ ตอกย้ำคุณค่าของวัฒนธรรมช่วงชั้นของไทย นับแต่การจัดระยะห่างระหว่างครูและนักเรียน (ครูอยู่สูง นักเรียนอยู่ต่ำ) กิริยาการมอบพานดอกไม้ การกราบ และการแต่งกายของทั้งนักเรียนและครู (ครูหญิงมักสวม “ชุดไทย” เพื่อผสานวัฒนธรรมช่วงชั้นให้เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ) และสอง ความเคารพเชื่อฟังครูหรือผู้อยู่ในช่วงชั้นที่สูงกว่าอย่างราบคาบ

ไหว้ครูจึงยิ่งมีความหมายแก่ครูและรัฐ เสียจนกระทั่งกลายเป็นดัชนีวัดความมั่นคงของ “ความเป็นไทย” และบ้านเมือง แต่มีความหมายแก่นักเรียนน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะพันธะหน้าที่ระหว่างกันของครูกับนักเรียนได้เปลี่ยนไปแล้ว จนพิธีกรรมนี้ไร้ความหมายแก่นักเรียนไปเสียแล้ว

ในบทความซึ่งเขียนเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมจึงเสนอว่า ไหนๆ เราก็ไหว้ครูซึ่งเป็นผีหรือเทพมาตลอด ทำไมเราไม่แปลงผีให้เป็นหลักการบางอย่างที่อาจมีความหมายนิรันดร์กาล (หรืออย่างน้อยก็ในระยะเวลายาวนาน) เพราะจะใกล้เคียงกับ “ผี” ในความเชื่อเดิมของไทยมากกว่า

แต่การไหว้หลักการจะทำด้วยพิธีกรรมแบบเก่าไม่ได้ คงต้องแปลงพิธีกรรมแบบเก่าให้รับใช้จุดมุ่งหมายใหม่ คือเสริมสร้างความยึดมั่นในหลักการบางอย่าง และความสามารถที่จะมองเห็นทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของหลักการนั้นๆ ด้วย หรือความสามารถเชิงวิพากษ์ไปพร้อมกัน

ตอนนั้น ผมไม่ได้นึกว่าพิธีไหว้ครูอาจจะแปลงไปรับใช้ความประสงค์ของโลกสมัยใหม่ได้อีกหลายอย่าง แต่การจัดพานดอกไม้ของนักเรียนจนเป็นข่าวทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมนึกออกว่า ไม่จำเป็นต้องเกาะสาระแห่งความหมายในพิธีกรรมที่ตกทอดมาแต่อดีตแต่อย่างไร พิธีกรรมมันมีชีวิตอยู่ได้เพราะผู้ “ใช้” สามารถให้ความหมายใหม่แก่มันได้ และตราบเท่าที่เป็นอย่างนั้น พิธีกรรมก็มีคุณประโยชน์อย่างที่มันเคยมี คือช่วยเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม และตอกย้ำค่านิยมบางอย่างที่มีในสังคมนั้นๆ (ค่านิยมใหม่ก็ได้นะครับ)

ในสภาพที่ช่องทางการสื่อสารทางการเมืองอย่างเสรีถูกริบเอาไปแทบหมด โดยเฉพาะในหมู่นักเรียนซึ่งต้องอยู่ภายใต้สายตาของ “ผู้ใหญ่” ตลอดเวลา การดัดแปลงพิธีกรรมไหว้ครูให้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารทางการเมืองของคนไร้สิทธิ์อย่างนักเรียน นับเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่ง หากเราเปิดให้นักเรียนเป็นผู้จัดการไหว้ครูเองมากขึ้นไปกว่านี้ เรื่องที่นักเรียนอยากสื่อสารก็อาจเปลี่ยนไปจากการเมืองระดับชาติ มาเป็นการเมืองในโรงเรียน (ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามเสียยิ่งกว่า) ก็ได้

และพิธีกรรมไหว้ครูก็คงเปลี่ยนไปรับใช้จุดหมายอื่นๆ ตามแต่ที่นักเรียนมองเห็นจากความเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าการต่อสู้ต่อรองระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการทหารยังมีอยู่ใน 10 ปีข้างหน้า วันไหว้ครูอาจเป็นวันที่สื่อจ้องเสนอข่าวเสียยิ่งกว่าฟุตบอลประเพณี หรือวัน ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ ก็ได้

บางคนอาจท้วงว่า หากพิธีกรรมขาดรูปแบบตายตัวที่ดำเนินสืบเนื่องไปในช่วงเวลาที่ยาวนานสักหน่อยเลยแล้ว ยังจะเป็นพิธีกรรมอยู่ได้อย่างไร ก็เลิกไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?

เอาอย่างนั้นก็ได้ครับผมไม่ขัดข้อง เพียงแต่เห็นว่า พิธีกรรมในรูปแบบใหม่ที่ไม่ตายตัวเช่นนี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่เปิดให้นักเรียนได้แสดง “ตัวตน” ของตนเองออกมาให้สังคมเห็น “ตัวตน” ของนักเรียนเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นแล้วบังคับให้นักเรียนต้องมีตัวตนอย่างนั้นตลอดมา จะหาใครในเมืองไทยที่มีเสรีภาพน้อยกว่านักเรียนได้ยากเต็มทน ดังนั้น จึงอยากเก็บความเป็นพิธีกรรมไว้ให้เป็นโอกาสแห่งเสรีภาพที่จะมี “ตัวตน” ตามใจชอบของนักเรียน เพราะพิธีกรรมนั้นมัน “แรง” ดีครับ พลังของมันจึงอาจกระทบออกไปได้กว้างไกลกว่าที่เราจะคาดถึง