วิเคราะห์ | ปมร้อนพิษหุ้นสื่อ 41 ส.ส. เขย่า “ครม.บิ๊กตู่” นับถอยหลังได้ ?

ประเด็นร้อนจากกรณีคำร้องที่นายหัวชวน “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของ 41 ส.ส.ของทั้ง 5 พรรคร่วมรัฐบาล

ประกอบไปด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 26 คน พรรคประชาธิปัตย์ 12 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน และพรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน

ตามที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภามานั้น

ถือเป็นอีกเรื่องที่คอการเมืองต้องลุ้นระทึกกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคำร้องเรื่อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ว่าจะขัดกับมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดย (3) บัญญัติว่า “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ””

เรื่องที่ต้องลุ้นหากศาลรัฐธรรมนูญยึดแนวทางการวินิจฉัยเดียวกับกรณีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค อนค. กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัคมีเดีย ที่ศาลมีคำวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้เป็นการชั่วคราว พร้อมกับให้นายธนาธรชี้แจงข้อกล่าวหาในเวลา 30 วัน

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง

หากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าวและส่งผลให้ทั้ง 41 ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว อาจเสี่ยงให้เกิด “สึนามิ” ทางการเมืองขึ้นได้ เนื่องจากทั้ง 41 ส.ส.ที่ถือหุ้นสื่อ ล้วนอยู่ในฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่อยู่ในสภาพเสียงปริ่มน้ำที่ 254 เสียง กับพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรคที่มีเสียงรวมอยู่ที่ 246 เสียง ยกเว้นนายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 คน จึงเหลืออยู่ 245 เสียง

หากมีเหตุให้ 41 ส.ส.ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว แน่นอนย่อมเกิดผลกระทบเรื่องใหญ่ต่องานในสภาของฝ่ายรัฐบาล เพราะเสียงของรัฐบาลจะเหลือเพียง 213 เสียง กลายสภาพเป็นรัฐบาลจมน้ำ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปทันที

ยิ่งตามมารยาทการโหวตในสภา ประธานสภาและรองประธานทั้ง 2 คนจะต้องงดออกเสียงตามมารยาทแล้ว ฝั่งของรัฐบาลจะเหลือเสียง ส.ส.เพื่อสู้ศึกในสภาอยู่ที่ตัวเลขกลมๆ 210 เสียง

เป็นรองเสียงของฝ่ายค้านหากยังจับมือกันแน่นที่ 245 เสียง ถึง 35 เสียง

แม้ฝั่งของรัฐบาลอาจจะแก้เกมด้วยการให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคที่ได้รับการคัดเลือกเป็นรัฐมนตรี ลาออกจาก ส.ส.เพื่อขยับผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เลื่อนขึ้นมานั่งเป็น ส.ส.แทน

แต่สัดส่วนของผู้ที่เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มาเป็นรัฐมนตรีนั้นก็มีจำนวนน้อยกว่าจำนวน ส.ส.ทั้ง 41 คนที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของพรรค พปชร.จะยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส.

เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ก็จะได้รับผลกระทบกับการทำงาน เพราะไม่ใช่แค่กระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลด้วย เพราะว่ารัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายในรัฐสภา

พร้อมกับยกหลักฐานการยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ก่อนที่ประธานสภาจะส่งเรื่องต่อมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ไม่มีรายละเอียดของพยานหลักฐาน

ไม่เหมือนกับคดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อนค. ที่ร้องผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ กกต.มีการตรวจสอบแล้วว่าโอนหุ้นวันไหน โอนหุ้นเมื่อไหร่ จ่ายเงินเมื่อไหร่

ดังนั้น เมื่อคดีมาถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะต้องวางมาตรฐานว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการกับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ จึงไม่อยากให้สังคมเอาไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า อนค.หยุดปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสองมาตรฐาน เพราะการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในหลายคดีไม่เหมือนกัน

อีกทั้งหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ 41 ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ เกรงว่าจะมีปัญหาต่อการประชุมสภา เกิดปัญหาทางลบยิ่งกว่า คือ รัฐบาลจะไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงจะไปเทียบกับกรณีของนายธนาธรไม่ได้ กรณีหุ้นสื่อของ 41 ส.ส.ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน

แน่นอน เมื่อฝั่งของรัฐบาลอยู่ในสภาพรัฐบาลเสียงข้างน้อย ย่อมจะเข้าทางเกมการเมืองในสภาของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมาย รวมทั้งวาระและญัตติที่สำคัญๆ ที่ต้องใช้เสียงของสภาผู้แทนฯ ทั้ง 500 คนเป็นผู้ชี้ขาด

โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญฉบับแรก ภายหลังที่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสร็จเรียบร้อยแล้ว คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับสำคัญของฝั่งรัฐบาลที่จะนำงบประมาณไปขับเคลื่อนการบริหารประเทศ

หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภา ย่อมส่งผลให้ฝั่งของรัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น การยุบสภา

อีกทั้งยังต้องเจอกับด่านหิน คือการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล หรือ ครม.ทั้งคณะถึงความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี หากมีการเสนอชื่อว่าที่รัฐมนตรีที่มีข้อร้องเรียนเรื่องการถือหุ้นสื่อ อาทิ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค พปชร.และแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถือครองหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด “สาธิต ปิตุเตชะ” ส.ส.ระยอง เขต 1 และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ถือครองหุ้นบริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง

หากรัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องเจอกับศึกหนัก คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านเสียงข้างมาก โอกาสแพ้โหวตในสภา แพ้น็อกต้องยุบสภา

ม้วนเสื่อกลับบ้าน เสียของซ้ำแล้วซ้ำอีก คงจะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ทั้งหมดทั้งมวลคงจะโทษใครไม่ได้ นอกเสียจากเหตุอันเกิดจากกติกา อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พลพรรค ส.ส.พรรค พปชร. ต่างออกมายอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ดีไซน์มาเพื่อเรา”

แต่ใครจะไปคาดคิดว่า ในทางปฏิบัติแล้ว ทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน

โดยเฉพาะประเด็นร้อนอย่างเรื่องการถือหุ้นสื่อของ 41 ส.ส. จะกลับกลายมาเป็นคมหอกทิ่มแทงพวกเดียวกัน เป็นปัญหาใหญ่ให้แกนนำพรรคและผู้มีอำนาจนั่งกุมขมับว่าจะหาทางออกจากกติกาที่เขียนมากับมือได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา “สองมาตรฐาน” กลับมาหลอกหลอนผู้ที่ควบคุมกฎและกติกาของประเทศ

ชนิดที่ยากจะปฏิเสธและชี้แจงให้กับสังคมเข้าใจได้