หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ /’ผู้ช่วย’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกปากดำ - ช่วงเวลาที่ต้องนำอาหารมาส่งลูกและเมียที่อยู่ในโพรง พ่อนกจะมีผู้ช่วยหลายตัว

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ผู้ช่วย’

 

สิ่งที่ผมพบในป่าอีกอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ รวมทั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่าต่างๆ นอกจากจะมีหัวหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการรับผิดชอบบริหารจัดการพื้นที่แล้ว ยังต้องมีผู้ช่วยอีกหลายคน

ป่าหลายแห่งมีผู้ที่เป็นข้าราชการ อันหมายถึงผู้ที่สอบบรรจุได้ และถูกส่งเข้ามาทำงานในพื้นที่ จริงๆ แค่สอง-สามคน บางแห่งมีเพียงคนเดียว

ที่เหลือส่วนใหญ่ คือ ชายหนุ่ม หญิงสาว ซึ่งจบปริญญาตรี ส่วนมากจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คนในป่าเรียกหนุ่มสาวเหล่านี้ว่าผู้ช่วย

พวกเขาช่วยงานหัวหน้าได้มาก ทั้งเดินป่า เก็บข้อมูล หลายคนกำลังเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มีความคุ้นชินกับเครื่องมือใหม่ๆ และเทคโนโลยี สามารถนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในป่าได้

และถ้าผู้ช่วยคนใดเอาเครื่องมือใหม่มาใช้ร่วมกับทักษะเดิมๆ ของคนเก่าๆ งานย่อมไปได้ด้วยดี

กระนั้นก็เถอะ มักมีเสียงคนเก่าๆ บ่นบ้าง

เช่น วสันต์ หรือที่คนในป่าทุ่งใหญ่เรียกเขาว่า อาจารย์ด้วง

เขาเมินเฉยกับเครื่องมือนำทางและแผนที่

“ไปตามจีพีเอสอย่างเดียว เดินยาก รก สู้หาด่านสัตว์เดินไปดีกว่า อ้อมหน่อย แต่เดินสบาย” อาจารย์ด้วงพูด

“ในแผนที่บอกมีห้วย จะไปพักแรมตรงนั้น หน้านี้มีน้ำเหรอ”

เป็นความจริงที่เราพบบ่อยๆ รู้ว่ามีลำห้วย แต่ไม่มีน้ำ

นี่จึงสำคัญสำหรับผู้ช่วย ไม่เมินกับทักษะเก่าของลูกน้อง แม้บางคนอ่านหนังสือตะกุกตะกัก หรือเขียน ได้แค่เซ็นชื่อ…

 

ในสังคมสัตว์ป่า คำว่า “ผู้ช่วย” คือเรื่องธรรมดา

สัตว์กินพืชอยู่ร่วมกันเป็นฝูง หรืออยู่ร่วมครอบครัวเดียวกัน พวกมันจะช่วยกันเสมอ ไม่ว่าจะในการหากิน และการเลี้ยงดูลูกๆ

นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกปากดำ เมื่อถึงช่วงวางไข่ เลี้ยงลูก แม่ที่เข้าไปขังตัวเองในโพรง มีสามีนำอาหารมาส่ง

สามีไม่ได้ทำตัวเดียว แต่จะมีผู้ช่วยอีกหลายตัว ซึ่งอาจเป็นนกสาวรุ่นๆ หรือพี่น้อง นอกจากช่วยผ่อนแรงแล้ว ยังเป็นการฝึกงานด้วย

สัตว์ผู้ล่าที่อยู่ร่วมเป็นฝูง อย่างหมาไน ขณะตัวอื่นในฝูงกิน จะมีตัวทำหน้าที่ยาม

ลิงเช่นกัน ช้างก็มีพี่เลี้ยง ช่วยเลี้ยงน้อง คอยดูไม่ให้ตัวเล็กซน ช่วยดันก้นเวลาเจ้าตัวเล็กขึ้นไม่ไหว

ส่วนผู้ล่าที่อยู่ลำพังอย่างเสือ ใช่ว่าพวกมันจะไม่มีผู้ช่วย

นก, กระรอก, กบ, เขียด และเหล่าสัตว์ที่ทำหน้าที่ระวังภัย ทำหน้าที่แจ้งเตือน

แม้จะเตือนว่ามีสัตว์ผู้ล่ามา แต่ก็ทำให้เสือรู้เช่นกันว่า เหยื่อรับรู้การมาของมันแล้ว ต้องซุ่มแนบเนียนขึ้น

การล่าแต่ละครั้ง ยาก ลงมือสิบครั้ง สำเร็จหนึ่งครั้ง

เสือจึงใช้เหยื่ออย่างคุ้มค่า

ในป่าคือสังคม และเป็นสังคมซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล…

 

ผมค่อนข้างสนิทสนมกับผู้ช่วยคนหนึ่ง

ซึ่งถึงวันนี้เขาเติบโตรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าแล้ว

เขาชื่อ เพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาติ เมื่อสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ เขามาทำงานที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

ที่นี่ไม่ใช่แดนแปลกหน้าของเขา เพิ่มศักดิ์มาฝึกงานตอนเรียนอยู่คณะวนศาสตร์ หลังเรียนจบ เขามีโอกาสทำงานร่วมกับสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตคนแรก

หัวหน้าสมโภชน์ตั้งชุดวิชาการขึ้นเพื่อทำการสำรวจสัตว์ป่า

ชุดทำงานนี้มีชื่อว่า “กระซู่”

“เราตั้งชุดกระซู่ขึ้นเพื่อสำรวจสัตว์ป่าอย่างจริงจังครับ ดูว่า เมื่อพื้นที่ที่เราอพยพคนออกไปแล้วสัตว์ป่าจะกลับมาใช้หรือไม่” หัวหน้าสมโภชน์ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งใหญ่ในกรมอุทยานฯ… และรับหน้าที่โฆษกกรมด้วย

ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร แบ่งการบริการจัดการพื้นที่เป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก ขึ้นอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรี และฝั่งตะวันออก ขึ้นกับจังหวัดตาก

ทางฝั่งตะวันออก มีชุมชนหลายชุมชนในป่า

พื้นที่ป่าต้นถูกโค่นเพื่อเอาพื้นที่ทำการเกษตร ปลูกข้าว และขิง

หนึ่งปีหลังคนออกไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งเตรียมรองรับ

พื้นที่โล่ง เริ่มฟื้นคืน

 

งานสำรวจของชุดกระซู่ พบว่า พื้นที่ซึ่งไฟไหม้ในฤดูแล้ง กลายเป็นทุ่งหญ้าอาหารสัตว์ที่สมบูรณ์

“ช้างกับกระทิงมาก่อนเลยครับ เป็นพวกที่มาจากป่าขาแข้ง ปีแรกพวกมันมาและกลับ แต่ปีต่อๆ มา ไม่กลับแล้ว อยู่ประจำเลย” สมโภชน์เล่า

ถึงวันนี้ ไม่ผิดนัก หากจะพูดว่า ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก คล้ายเป็น “สวรรค์” ของสัตว์ป่า

พื้นที่อันเป็นไร่เดิม ได้รับการจัดการให้เป็นแหล่งอาหารที่ดี

ในช่วงแล้ง เพิ่มศักดิ์รับคำสั่งหัวหน้า คุมลูกทีม “ชิงเผา” ทุ่งหญ้า เร่งงาน ปรับปรุงแหล่งน้ำธรรมชาติให้กว้างขึ้น มีน้ำตลอดปี

“การดึงสัตว์ไว้ในพื้นที่ ไม่ให้ออกไปหาอาหารข้างนอก จำเป็นครับ” เพิ่มศักดิ์พูดถึงงานบริหารจัดการสัตว์ป่า

รอบๆ ป่าคือไร่ข้าวโพด ดึงสัตว์ไว้ มีอาหารพอเพียง ไม่ออกไปกินพืชไร่ที่คนปลูก เป็นหนึ่งในหนทางลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า

“ปัญหาหลักๆ ที่นี่ ไม่ใช่บุกรุกพื้นที่ครับ แต่คือการลักลอบเข้ามาล่าสัตว์” เพิ่มศักดิ์เล่า

“คนจะซื้อของ เขารู้ว่าจะไปซื้ออะไรที่ไหนนะครับ”

ป่าห้วยขาแข้ง และป่าทุ่งใหญ่ คือ “หมายหลัก” คนล่าเสือโคร่ง รวมถึงกระทิง

พวกเขาพัฒนาการล่าโดยยิงสัตว์กินพืช เอายาพิษฉาบไว้ วางล่อเสือ

แม้ว่าเสือจะเมินเหยื่อที่ตัวเองไม่ได้ล่า แต่บางครั้งวิธีนี้ก็ได้ผล

ป่าทุ่งใหญ่และป่าห้วยขาแข้ง คือป่าที่นำเอาการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มาเป็นเครื่องมือใช้อย่างเข้มข้น

กระนั้น พวกเขาก็ปกป้องชีวิตสัตว์ไว้ไม่ได้ทุกตัว

บางครั้ง รวมถึงชีวิตของพวกเขา

 

“คนล่าสัตว์อาชีพ พวกนี้ไม่ยอมให้เราจับหรอกครับ พวกเขาสู้และยิงเราก่อนเสมอ”

ไม่กี่ปีก่อน ลูกทีมเพิ่มศักดิ์ เสียชีวิตสองคนจากการปะทะ…

มีสิ่งหนึ่งที่คนที่นี่เห็นคือ ผู้ช่วยคนนี้รักแม่สุดหัวใจ เขาพาคุณยายแมว แม่ของเขามาอยู่ในป่าด้วย

ภาพคุ้นตาคนที่นี่คือ ภาพผู้ช่วยของพวกเขา เดินคู่ไปกับสุภาพสตรีชราร่างบอบบาง เพื่อไปกินข้าวที่โรงครัว

สายๆ ของทุกวัน โดยเฉพาะวันที่เพิ่มศักดิ์เข้าไปทำงานในป่า จะเห็นคุณยายแมวนั่งเก้าอี้ตากแดดอุ่นๆ หน้าบ้านพัก

ทุกครั้งที่มองคุณยายแมว

ผมเห็นความรัก ความห่วงใยลูกชาย

ทำให้ผมนึกถึงสตรีชราอีกคน ที่จะดึงตัวเข้าไปกอดตอนผมบอกลาเพื่อกลับเข้าป่า

“ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก” แม่พูดประโยคนี้ทุกครั้ง

 

ในยามค่ำคืนมืดมิด ฝนตกฟ้าคะนอง

ลูกชายที่หลบฝนอยู่ใต้ผ้ายางแคบๆ รู้ดีว่า อะไรที่เป็น “ผู้ช่วย”

ให้ผ่านพ้นค่ำคืนอันเปียกชื้น หนาวเหน็บนี้ไปได้…