คุยกับทูตสหรัฐ กับวิสัยทัศน์เพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

คุยกับทูต วิสัยทัศน์ของสหรัฐอเมริกา เพื่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง

ในโอกาสเวียนบรรจบครบรอบวันประกาศอิสรภาพ หรือวันชาติของสหรัฐอเมริกา 4 กรกฎาคม (4th of July) ที่ใกล้จะถึงนี้ ถือเป็นการครบรอบปีที่ 243 ที่สหรัฐแยกตัวเป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ ผ่านคำประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา (Declaration of Independence) ในวันที่ 4 กรกฎาคม คริสต์ศักราช 1776

และถือเป็นวันหยุดประจำปีที่ชาวอเมริกันรอคอยเพื่อเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้ ด้วยการปิกนิก บาร์บีคิว ดอกไม้ไฟ และขบวนพาเหรด

ขณะที่สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย มีนายปีเตอร์ เฮย์มอนด์ (Peter Haymond) อุปทูตรับตำแหน่งรักษาการแทนเอกอัครราชทูตในปัจจุบัน หลังจากนายกลิน ที. เดวีส์ (Glyn T. Davies) อำลาตำแหน่งไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอทำเนียบขาวสหรัฐประกาศชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตคนใหม่ในไทยต่อไป

ในสัปดาห์นี้ เราจึงขอร่วมแสดงความยินดีแก่ชาวอเมริกัน ด้วยการนำเสนอเรื่องพันธกรณีของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อันมั่นคงแน่วแน่และยืนยาว โดย นายไมค์ เพนซ์ (Michael Richard Pence) รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา

ดังต่อไปนี้

“โดยเหตุที่สหรัฐปรารถนาให้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นับตั้งแต่สหรัฐอเมริกาถึงอินเดีย จากญี่ปุ่นถึงออสเตรเลีย ตลอดจนทุกประเทศในอาณาบริเวณระหว่างนั้น เป็นภูมิภาคที่เคารพอำนาจอธิปไตย การค้าพาณิชย์ลื่นไหล ไร้อุปสรรคขัดขวาง อีกทั้งชาติเอกราชเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนเอง ภูมิภาคนี้ซึ่งครอบคลุมกว่ากึ่งหนึ่งของพื้นผิวโลกและจำนวนประชากรโลก ประสบความก้าวหน้าอย่างยิ่ง ในยามที่หลักการเหล่านี้ได้รับการเคารพรักษา ขณะที่บางประเทศพยายามบ่อนทำลายฐานรากนี้ สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเรา พร้อมกับส่งเสริมความสำเร็จร่วมกันของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

“ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของเรา ตั้งอยู่บนเสาหลักสามประการโดยเริ่มต้นจากความเจริญมั่งคั่ง กว่าสองในสามของปริมาณการค้าโลกเดินทางข้ามผ่านทะเล ท้องฟ้า ถนนหนทางและรางรถไฟของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก การค้าของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีมูลค่ามากกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สนับสนุนตำแหน่งงานในสหรัฐมากกว่า 3.3 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ การลงทุนรวมของสหรัฐในภูมิภาคนี้ยังมีมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าการลงทุนโดยจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้รวมกัน”

“โอกาสการเติบโตนี้ไร้ขีดจำกัด เพียงภายใน ค.ศ.2020 ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเป็นบ้านของร้อยละ 40 ของชนชั้นกลางบนโลก ไขศักยภาพมหาศาลสำหรับแรงงาน เกษตรกร และผู้ประกอบการสหรัฐ ในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดขนาดใหญ่ที่กำลังเติบโตเหล่านี้”

“ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของเราจึงได้จัดทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่เสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทนกัน รัฐบาลของเราบรรลุสัญญาการค้าฉบับใหม่กับเกาหลีใต้ และอีกฉบับหนึ่งกับเม็กซิโกและแคนาดาไปแล้ว อีกไม่นานเราจะเริ่มเจรจาข้อตกลงทางการค้าฉบับสำคัญกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่เหล่านี้จะคำนึงถึงตำแหน่งงานและแรงงานอเมริกันเป็นอันดับแรก”

“นอกเหนือจากการค้า สหรัฐอเมริกาจะยังคงอำนวยความสะดวกแก่การเพิ่มพูนการลงทุนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ความพยายามของเราจะขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจ ไม่ใช่ภาคราชการ เพราะรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไม่สามารถสร้างความเจริญมั่งคั่งที่ยั่งยืนได้”

“เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามรับรองกฎหมาย Build Act ซึ่งขยายความสามารถทางการเงินเพื่อการพัฒนาของสหรัฐเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศของเรามุ่งมั่นช่วยภูมิภาคนี้สร้างท่าเรือและท่าอากาศยาน ถนนหนทางและรางรถไฟ ตลอดจนระบบท่อขนส่งและสายรับ-ส่งสัญญาณข้อมูลมาตรฐานระดับโลก”

“เราจะสนับสนุนเฉพาะโครงการที่ก่อประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจนทั้งสำหรับประเทศเจ้าบ้านและประเทศของเรา”

“เสาหลักที่สองของเราคือความมั่นคง ซึ่งเป็นรากฐานของความมั่งคั่ง ภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สหรัฐอเมริกาจะยังคงร่วมมือกับประเทศที่มีหลักการคล้ายกัน เพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดของภูมิภาคนี้ นับจากการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ไปจนถึงคตินิยมสุดโต่งและการก่อการร้าย”

“เฉพาะในปีนี้ สหรัฐอเมริกามอบเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการด้านความมั่นคง ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางทหารเกือบ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นจำนวนมากกว่างบที่ให้ตลอดสามปีที่ผ่านมารวมกัน”

“นอกจากนี้ สหรัฐยังจะให้ความช่วยเหลือใหม่ๆ แก่ประเทศต่างๆ ในการปกป้องชายแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางโลกดิจิตอล อีกทั้งจะยังคงสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อปกป้องเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน ผ่านการฝึกร่วมทางเรือระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นและอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้แสดงถึงพันธสัญญาครั้งใหม่นี้ของเรา”

“ผมขอกล่าวให้ชัดแจ้งว่า สหรัฐจะยังคงแรงกดดันด้านการทูตและเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่อง ความมุ่งมั่นของเราได้นำเกาหลีเหนือเข้าสู่โต๊ะเจรจา และเราขอเรียกร้องให้ทุกประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคงโครงการรณรงค์กดดัน ซึ่งรวมถึงมาตรการคว่ำบาตร จนกว่าเราจะบรรลุการปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์ในคาบสมุทรเกาหลี”

“สุดท้ายนี้ สหรัฐจะสนับสนุนการปกครองที่โปร่งใสเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน หลักนิติธรรมและการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล อันรวมถึงเสรีภาพทางศาสนา ประเทศที่ให้อำนาจแก่ประชาชน ส่งเสริมประชาสังคม ต่อต้านการทุจริต และปกป้องอธิปไตยของตน จะเป็นบ้านที่แข็งแรงสำหรับประชาชน อีกทั้งจะเป็นประเทศหุ้นส่วนที่ดีขึ้นของสหรัฐ ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่กดขี่ประชาชนก็มักละเมิดสิทธิอธิปไตยของเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกไม่มีพื้นที่สำหรับลัทธิอำนาจนิยมและการรุกราน”

“คณะผู้แทนของเราเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เราประกาศข้อตกลงและข้อริเริ่มใหม่ๆ โดยหลายข้อประกอบด้วยการสนับสนุนทางการเงินที่สำคัญจากประชาชนผู้เสียภาษีและภาคธุรกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ เราจะย้ำคำมั่นของประธานาธิบดีต่อการรื้อฟื้นความร่วมมือแห่งการเป็นหุ้นส่วน สหรัฐอเมริกาจะทำงานร่วมกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกัน ตั้งแต่อินเดียจรดหมู่เกาะแปซิฟิก เพื่อเสริมส่งผลประโยชน์ร่วมของพวกเรา เราจะร่วมมือกันยืนหยัดต่อกรกับใครก็ตามที่คุกคามผลประโยชน์และค่านิยมของเรา”

“สหรัฐอเมริกาแสวงหาความร่วมมือ มิใช่การควบคุม เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว ท่านประธานาธิบดีได้ประกาศย้ำพันธกรณีของเราต่อภูมิภาคนี้ คราวนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราด้วยการดำเนินการและการลงทุนต่อไป ความมั่นคงและความมั่งคั่งของสหรัฐขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่สำคัญนี้ และสหรัฐจะยังคงขอรับรองว่า ทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ จะสามารถเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี”