ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (1)

หากพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส สำหรับสังคมไทยแล้ว มักคิดถึงเหตุการณ์ทลายคุก Bastille บ้าง ภาพของการประหารชีวิตด้วย “กีโยตีน” บ้าง นึกถึงการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์บ้าง หรือบางคนก็อาจเข้าใจผิดนำเหตุการณ์ในปี 1830 หรือ 1848 มาปะปนกับ 1789

ในด้านตัวบุคคล เราอาจรับรู้ถึงความโดดเด่น ความกล้าหาญ ความโหดเหี้ยม หรือวีรกรรมของเหล่าบรรดานักปฏิวัติ เช่นกัน

เราอาจรับทราบถึงความล้าหลังไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับกาลสมัยของขั้วกษัตริย์นิยม

ความสนใจในเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสของสังคมไทยมักแสดงออกในสองมิติที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

มิติแรก สนใจปฏิวัติฝรั่งเศสแบบลุ่มหลงและใฝ่ฝันถึง

มิติที่สอง สนใจปฏิวัติฝรั่งเศสแบบรังเกียจเดียดฉันท์และหวาดกลัวในฐานะที่เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างอันเลวร้าย

ความสนใจทั้งสองมิตินี้ยังไม่เพียงพอต่อการศึกษาปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นเพียงความสนใจแบบทำให้เป็นละคร ฝ่ายหนึ่งทำให้การปฏิวัติโรแมนติก

ส่วนอีกฝ่ายก็ทำลายความชอบธรรมของการปฏิวัติ โดยละเลยสาเหตุความเป็นมา ปรัชญาการเมืองเบื้องหลัง ตลอดจนการตีความของนักประวัติศาสตร์

ผู้เขียนจึงอยากทดลองบรรยายถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยไม่มุ่งเน้นถึง “ทลายคุก Bastille” – “ล้มเจ้า” – “ตัดหัว” หรือไม่บรรยายเชิงลำดับเหตุการณ์ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร

แต่หันมาสนใจเรื่องปรัชญาการเมืองและภูมิปัญญาของปฏิวัติฝรั่งเศส โดยในตอนนี้ จะเริ่มต้นจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ตีความเหตุการณ์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” แตกต่างกันไป

 

เป็นเวลาเกือบสองศตวรรษแล้วที่นักประวัติศาสตร์ได้ตีความและอธิบายเหตุการณ์ “ปฏิวัติฝรั่งเศส” ในช่วงปี 1789-1799 เราอาจหยิบยกชื่อของนักประวัติศาสตร์เหล่านั้นจากรุ่นสู่รุ่นได้ เช่น Adolf Thiers, Jule Michelet, Alexis de Toqueville, Taine, Jean Jaures, Alfonse Aulard, Albert Mathiez, Georges Lefebvre, Francois Furet, Michel Vovelle เป็นต้น

แนวคิดที่แตกต่างกันของนักประวัติศาสตร์ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงและความขัดแย้งในหมู่ปัญญาชน อย่างน้อยๆ ก็สองครั้ง

ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อคราวที่ Jean Jaures เขียนหนังสือเรื่อง Histoire socialiste de la Revolution francaise หรือ “ประวัติศาสตร์แบบสังคมนิยมของปฏิวัติฝรั่งเศส” ในปี 1898 โดยเขาใช้วิธีการแบบมาร์กซิสต์เข้าไปวิเคราะห์เหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมจนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส

ซึ่งงานของเขาถูกวิจารณ์โดยปัญญาชนฝ่ายขวาเป็นจำนวนมาก

ส่วนครั้งที่สอง คือ ช่วงครบรอบ 200 ปีปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1989 Francois Furet และสานุศิษย์ ได้ผลิตงานเพื่อเสนอว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่ผลพวงของการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นกระฎุมพีเสรีนิยมกับชนชั้นนำดั้งเดิมอนุรักษนิยม ปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่เหตุการณ์อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ใช่เหตุการณ์จำเป็น และปฏิวัติฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลงแล้ว เหตุการณ์ปฏิวัติในศตวรรษที่ 20 ในหลายที่ เช่น ปฏิวัติรัสเซีย ปฏิวัติจีน ไม่ได้สัมพันธ์เชื่อมโยงใดๆ กับปฏิวัติฝรั่งเศส

ซึ่งทำให้ปัญญาชนฝ่ายซ้ายวิจารณ์ความคิดของ Furet อย่างกว้างขวาง

 

ท่ามกลางการตีความเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสของนักประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันนี้ เราอาจสรุปประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันได้ 3 ประเด็น ได้แก่

1) การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่มีลักษณะเด่นแยกเป็นเอกเทศออกจากการปฏิวัติอื่นๆ หรือไม่?

2) การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติกระฎุมพีหรือการปฏิวัติประชาชน?

3) การปฏิวัติฝรั่งเศสคือความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์หรือการตัดตอนแตกหักทางประวัติศาสตร์?

 

ใน ประเด็นแรก เป็นการถกเถียงกันระหว่า”สองแนวคิด ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส คือ การปฏิวัติที่เกิดจากบริบทเฉพาะของประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส อันได้แก่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฝรั่งเศส และปรัชญาในยุคแสงสว่าง (Enlightenment) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นประวัติศาสตร์ในปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งชนชั้นกระฎุมพีในยุโรปต้องการออกจากระบบฟิวดัล

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสและชาวอเมริกันได้เสนอสมมุติฐานว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส คือ เหตุการณ์ที่สืบเนื่องจากความตึงเครียดและความขัดแย้งที่สะสมต่อเนื่องมาในสังคมยุโรป จนในท้ายที่สุดกลายเป็นการปฏิวัติ

โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปฏิวัติอังกฤษในศตวรรษที่ 17 สองครั้ง ได้แก่ ปฏิวัติช่วง 1642-1649 และปฏิวัติช่วง 1688-1689 และโหมกระพือลุกลามต่อเนื่องในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เกิดเหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ในดินแดนอเมริกาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ นำมาซึ่งการประกาศอิสรภาพและตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกกันว่า “ปฏิวัติอเมริกา”

จากนั้นก็เกิดปฏิวัติในสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ไอร์แลนด์ ก่อนที่คลื่นปฏิวัติจะระเบิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงปี 1787-1789

ความคิดของนักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ไม่ได้จัดวางให้ปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเหตุการณ์โดดเด่นหรือมีเอกลักษณ์พิเศษแยกจากเหตุการณ์ปฏิวัติในที่อื่นๆ

ตรงกันข้าม มันต่างก็มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ข้อเสนอดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาถึงสภาพสังคมเศรษฐกิจของยุโรปในยุคสมัยนั้น นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 พัฒนาการของระบบทุนนิยมได้สร้างชนชั้นใหม่ในทางเศรษฐกิจขึ้น คือ บรรดาสามัญชนที่ไม่ได้มีเชื้อสายกษัตริย์ ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาง ไม่ได้เป็นนักบวชในศาสนจักร แต่เป็นคนทั่วไปที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนไม่มาก เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยในการผลิต และมีความสามารถในการสะสมทุนได้ ซึ่งเราเรียกกันว่า ชนชั้นกระฎุมพี

ชนชั้นกระฎุมพีเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางความรู้วิทยาการต่างๆ จนวันหนึ่ง ก็มีอำนาจมากกว่าพวกชนชั้นนำดั้งเดิม

เมื่อพวกเขามีทั้งทรัพย์สิน มีทั้งความรู้ ยึดกุมหัวใจสำคัญในทางเศรษฐกิจไว้ได้ แล้วทำไมพวกเขาจึงต้องทนอยู่กับระบอบที่ดำรงอยู่ในเวลานั้นซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของอภิสิทธิ์และลำดับชั้นตามฐานันดรศักดิ์?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ในอเมริกา ในที่ต่างๆ ในยุโรป ก็คือ ผลลัพธ์ของสถานการณ์ที่ชนชั้นกระฎุมพีไม่ต้องการระบอบที่เป็นอยู่ จึงปฏิวัติโค่นล้มมัน เพื่อสร้างระบอบใหม่ที่พวกเขาเข้าไปมีส่วนในการใช้อำนาจด้วย

เหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หากจะมีความแตกต่าง ก็คงเป็นเพียงกรณีของฝรั่งเศสนั้นเกิดความรุนแรงมากกว่า ซึ่งนักประวัติศาสตร์ที่เสนอความคิดตามแนวทางนี้เห็นว่าความแตกต่างเช่นว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก

สงครามและการนองเลือดตลอด 10 ปีในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ยังไม่ใช่สาระสำคัญเพียงพอที่จะยกระดับให้การปฏิวัติฝรั่งเศสกลายเป็นศูนย์กลางของการล้มระบบฟิวดัลในยุโรป

 

หากสำรวจงานของนักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ จะพบว่าพวกเขาศึกษาความเชื่อมโยงกันระหว่างปฏิวัติอเมริกาและปฏิวัติฝรั่งเศส ไม่เพียงแต่ในด้านบุคคผู้กระทำการในเหตุการณ์ปฏิวัติทั้งสองที่เป็นคนคนเดียวกันหรือกลุ่มก้อนเดียวกันเท่านั้น แต่มิติทางปรัชญาและความคิดของการปฏิวัติของสองฝั่งแอตแลนติกนี้ยังเหมือนกันด้วย

ผู้ก่อการปฏิวัติอเมริกาและผู้ก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสรับอิทธิพลทางความคิดมาจากปรัชญาเมธีในยุคแสงสว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของมนุษย์และเสรีภาพ

ดังจะเห็นได้จากคำประการอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 1776 และคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ต่างก็รับรองสิทธิและเสรีภาพต่างๆ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความคิดยุคแสงสว่าง เช่น กรรมสิทธิ์ เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด ความเสมอภาค เป็นต้น

ในด้านโครงทางการเมืองก็เช่นกัน ปฏิวัติอเมริกาและปฏิวัติฝรั่งเศสต่างก็ขับเคลื่อนโดยชนชั้นกระฎุมพีเป็นหลัก และผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิวัติ คือ ชนชั้นกระฎุมพีเข้าไปมีบทบาทในทางการเมืองและในทางเศรษฐกิจของรัฐ

นักประวัติศาสตร์ที่ยืนยันลักษณะร่วมกันของ “ปฏิวัติสองฝั่งแอตแลนติก” ในสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ก็เช่น Bailey Stone ในงานชื่อ The Genesis of the French Revolution. A Global-Historical interpretation, Tim Blanning ในงานชื่อ The French Revolutionnary Wars และ Annie Jourdan ในงานชื่อ La Revolution francaise, une exception francaise?

ในตอนหน้า จะบรรยายถึงข้อโต้แย้งของนักประวัติศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นว่าปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นเอกเทศ โดดเด่นแยกออกจากปฏิวัติในที่อื่นๆ