วิรัตน์ แสงทองคำ : ทิศทางและบทสรุป (3) ธุรกิจอิทธิพล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ถือโอกาสสรุปประเด็นสำคัญๆ ด้วยซีรี่ส์เพียง 2-3 ตอน

แม้เป็นธุรกิจมีพลวัตอย่างมีพลังพิเศษ ทว่า ต้องเผชิญความท้าทายใหม่ เชื่อว่ามีทั้งมาจากพลังธุรกิจเอง กับแรงปะทะสังคมวงกว้าง

โครงสร้างธุรกิจไทยขยับปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ บางธุรกิจสัมพันธ์กับบริบททางสังคมและผู้คนอย่างมาก ความเคลื่อนไหวกับแรงปะทะ มีพลังสั่นสะเทือนอย่างเหลือเชื่อ

ธุรกิจซึ่งปรับโฉมหน้าสังคมโดยรวมกับสังคมธุรกิจ ตลอดจนวิถีชุมชน สร้างผลสะเทือนวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เริ่มก่อตัวมีพลังอย่างแท้จริงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่าพลังและผลสะเทือนจะขยายวงต่อไปอีก นั่นคือธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะเครือข่ายขนาดเล็ก ที่เรียกว่าร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) และขนาดใหญ่ (เรียกว่า Hypermarket)

โดยเฉพาะเครือข่ายร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่สุด–7-Eleven เพียงรายเดียวครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศด้วยสาขาเกือบ 9,000 แห่งแล้ว

ส่วนเครือข่ายร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ (Hypermarket) Tesco Lotus, Big C และ Makro มีสาขารวมกันประมาณ 400 แห่ง

ขณะเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีพลังยืดหยุ่น กำลังปรับตัวสร้างเครือข่ายขนาดเล็กลงเป็นการเพิ่มเติมอย่างขนานใหญ่

ส่งผลเครือข่ายแบบร้านสะดวกซื้อมีอัตราการขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เชื่อกันว่าจะมีถึงปีละประมาณ 1,000 แห่งทีเดียว

ร้านสะดวกซื้อ มีเครือข่ายสาขามากที่สุดในประเทศไทย มากกว่าเครือข่ายทั้งหลายทั้งปวงในสังคมธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ มีมากกว่าสำนักงานของรัฐที่ย่อยที่สุด อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. (มีแค่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ)

และอาจเป็นไปได้ว่าจำนวนผู้คนมีกิจกรรมมากกว่ามาที่วัดเสียอีก แม้ตามสถิติวัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศมีกว่า 3 หมื่นแห่งก็ตาม

“ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 10.9 ล้านคน” ข้อมูลล่าสุดของ 7-Eleven เพียงรายเดียว ให้ตัวเลขที่น่าทึ่ง (อ้างจาก https://www.cpall.co.th) ทั้งมีแนวโน้มการขยายเครือข่ายสาขาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว

เครือข่ายค้าปลีกดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับสังคมมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เนื่องมาจากสินค้าและบริการสามารถตอบสนองชีวิตพื้นฐาน เข้าถึงผู้คนวงกว้างที่สุด

สินค้าและบริการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จากสินค้าอุปโภคบริโภค สู่บริการพื้นฐานสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะการชำระเงินในการใช้บริการสาธาณูปโภคของรัฐไปจนถึงบริการทางธุรกิจ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่มากขึ้นๆ

ยื่งเมื่อเครือข่ายค้าปลีกผนึกเข้ากับเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ ทั้งซีพีและทีซีซีด้วยแล้ว พลังอันน่าเกรงขามจึงเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก

 

เรื่องราวเข้มข้นทุกขณะ เริ่มต้นโดยเครือซีพีซึ่งเป็นผู้เล่นรายใญ่ที่สุดในธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็ก (Convenience store)-7-Eleven ได้เข้าซื้อเครือข่ายค้าปลีกขนาดใหญ่–Makro ในประเทศไทย (ปี 2556) มาจนถึงต้นปี 2558 กลุ่มทีซีซี ซื้อเครือข่าย BigC เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว

นอกจากให้ภาพการแข่งขันที่ดุเดือด ยังให้ภาพการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่

รวมทั้งกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาใหม่ธุรกิจค้าปลีกไทย โดยเฉพาะโมเดลหลัก-Hypermarket จากเคยอยู่ในกำมือธุรกิจต่างชาติอย่างสิ้นเชิง ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่าน ค่อยๆ พลิกโฉมถ่ายโอน มาอยู่ในอำนาจธุรกิจใหญ่ไทย

ภาพที่ซ้อนและมีพลังมากขึ้นอีก บทบาทธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่นอกจากเข้าถึงสังคมไทยกว้างมากขึ้น ลึกมากขึ้น เชื่อกันว่าไม่เพียงสร้างโอกาส และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับชุมชน ทั้งระบบการจ้างงานและห่วงโซ่การค้าที่สร้างขึ้นแวดล้อมแล้วยังได้คุกคาม ทำลายค้าปลีกแบบเก่า โดยเฉพาะร้านโชว์ห่วย หรือตลาดสด

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอยู่มากเนื่องจากการค้าปลีกรูปแบบเดิมยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น” (รายงานประจำปี 2557 บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งขณะนั้นถือหุ้นใหญ่และบริหารอย่างเบ็ดเสร็จโดยเครือข่ายธุรกิจต่างชาติ)

เชื่อกันว่าปัจจุบันบทบาทค้าปลีกสมัยใหม่จะมีมากกว่ารูปแบบเดิมมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครือข่ายที่ทรงอิทธิพลตกอยู่ในกำมือธุรกิจใหญ่ ซึ่งมีธุรกิจสำคัญๆ อื่นๆ สัมพันธ์กับสังคมผู้บริโภคไทยอย่างแนบแน่นมายาวนาน

เชื่อว่า ซีพีซึ่งมีเครือข่ายครบวงจร ผู้นำธุรกิจเกษตรกรรมและอาหาร ในฐานะมีผู้อำนาจที่สุดในตลาด ซึ่งมีรายได้มากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี (ประเมินจากงบการเงินของบริษทซีพีเอฟ) และมีบริการระบบสื่อสารและมีเดียหลายรูปแบบ ส่วนทีซีซี นอกจากเป็นผู้ควบคุมตลาดสุราขาวเบ็ดเสร็จในประเทศไทย ซึ่งยังถือว่าเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทไทบเบฟเวอเรจด้วย เชื่อว่ามีมากกว่าแสนล้านบาท (ประเมินจากงบการเงินไทยเบฟเวอเรจ) ซึ่งยังขยายเครือข่ายสู่ธุรกิจอื่นๆ อีกมาก

ทั้งสองรายดำเนินยุทธศาสตร์ธุรกิจหลัก เข้าถึงผู้ผู้บริโภควงกว้างมากขึ้นๆ อย่างมิพักสงสัย

 

อีกมิติหนึ่ง “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจค้าปลีกในตลาดอาเซียนด้วยการนำเสนอรูปแบบร้านค้าปลีกที่ทันสมัย” (อ้างแล้วข้างต้น) บทสรุปข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลของทีซีซี จากข้อมูลนำเสนอและแผนการธุรกิจใหม่ ต่อนักลงทุน (1Q16 Opportunity Day – Berli Jucker Public Company Limited — 2 June 2016) โดยบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กิจการในเครือทีซีซีในฐานะผู้ซื้อกิจการ ได้ให้ภาพธุรกิจค้าปลีกในอาเชียนไว้ ระบุบว่าผู้นำ (พิจารณาจากยอดขายปี 2558) อันดับ 1 และ 2 อยู่ในประเทศไทย คือซีพีออลล์ (เจ้าของเครือข่าย 7-Eleven) และ Tesco Lotus

ส่วน BigC ในประเทศไทยเมื่อรวมกับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์จะกลายเป็นอันดับ 3 แซงหน้า Dairy Farm กิจการในเครือ Jardine Matheson Group แห่งฮ่องกงทั้งๆ ที่นำเครือข่ายในมาเลเซีย อินโดนีเชีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์มารวมกัน

ภาพดังกล่าวสะท้อนพลวัตสังคมไทย กับแรงบันดาลใจ-แรงบีบคั้นบรรดาเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย

ในสังคมไทย เครือข่ายค้าปลีกผนวกกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่ กลายเป็นโมเมนตัมให้ขยายอิทธิพลมากขึ้น แรงปะทะกว้างขึ้นทั้งสังคมธุรกิจไทย

“แรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง ไม่อาจปรองดองกันได้ เป็นปรากฏการณ์ทั่วไปในสังคมธุรกิจไทย ถือว่าเป็นวิวัฒนาการใหม่อันซับซ้อนขึ้น จากเดิมโครงสร้างง่ายๆ ว่าด้วยการแบ่งพื้นที่ แบ่งประเภทธุรกิจ เป็นระบบจัดสรรผลประโยชน์ และโอกาสที่ลงตัวของบรรดาผู้ทรงอิทธิพลซึ่งมีจำนวนไม่มากราย แต่วันนี้ พื้นที่และโอกาส ไม่อาจจัดสรรด้วยระบบเดิม เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียแล้ว ต้องซ้อนทับและขัดแย้งกัน จึงตามมาด้วยแรงปะทะสั่นสะเทือนไปทั่ว” (ผมเคยอรรถาธิบาย 7 ปีที่แล้ว)

รวมทั้งสังคมวงกว้าง ผ่านปรากฏการณ์แรงปะทะกับตัวเล็กตัวน้อยซึ่งมีจำนวนมาก ไม่ว่า ผู้ประกอบการอาหารรายย่อยๆ หรือเครือข่ายร้านค้าสุรารายเล็กๆ จนกลายเป็นแรงกระเพื่อม สู่สังคมวงกว้างมากขึ้นๆ ตามลำดับ

 

แรงปะทะข้างต้นจะเป็นแรงบีบคั้นสำคัญ ผนวกกับพลังธุรกิจค้าปลีกกับโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น ย่อมส่งผลให้เครือข่ายค้าปลีกใหญ่ไทยเผชิญความท้าทายใหม่

ผลักดันไปเชื่อมโยงกับบริบทใหม่ ว่าด้วยความเป็นไปของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community หรือ AEC) “ความสำเร็จของการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและนอกภูมิภาค” ชาตรี โสภณพนิช ประธานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวสรุปไว้ในรายงานประจำปี 2558 เมื่อต้นปี 2559 พร้อมขยายภาพให้ชัดขึ้น

“การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้อาเซียนมีความสำคัญต่อประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 26 ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ขณะที่การนำเข้ามีสัดส่วนประมาณร้อยละ 19 การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งขึ้นของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในครั้งนี้ ไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยในการขยายการลงทุนไปในภูมิภาคเท่านั้น หากยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นด้วย”

นั่นคือความเชื่อมั่นของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารใหญ่ไทยซึ่งมียุทธศาสตร์ภูมิภาคอย่างชัดเจนและดำเนินแผนการอย่างได้ผล (อ่านรายละเอียดได้จากตอนที่แล้ว-ทิศทางและบทสรุป (2) ธนาคารไทย ไปทางไหน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2559)

ความจริงแผนการดังกล่าวปรากฏมาตั้งแต่ปี 2556 กรณีดีลซีพี-Makro “ซีพี ออลล์” เตรียมพร้อมรับ AEC ซื้อกิจการ “แม็คโคร” หวังใช้เป็นช่องทางนำสินค้า SMEs และสินค้าเกษตรไทยลุยตลาดอาเซียน” ถ้อยแถลงในเวลานั้น (http://www.cpall.co.th 23 เมษายน 2556)

ขณะผ่านไป 3 ปี ยังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมซึ่งถือว่าค่อนข้างนาน “ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมจะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน…” (สารจากประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสยามแม็คโคร–http://www.siammakro.co.th/investor.php กล่าวถึงแผนงานในปี 2559)

ขณะกลุ่มทีซีซีไม่รอช้า ต้นปี (มกราคม 2559) ที่ผ่านมาเปิดฉากเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกภูมิภาคอย่างเต็มตัวเป็นครั้งแรก โดยเข้าซื้อ METRO Vietnam (มีสาขาค้าส่งแบบบริการตนเองที่เรียกว่า Cash & Carry ด้วยเครือข่าย 19 สาขา)

ปี 2560 ภาพจะชัดเจนมากขึ้นๆ