จัตวา กลิ่นสุนทร : ฯพณฯ ชวน หลีกภัย “ประธานรัฐสภา”

เมื่อผลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเฉียด 500 ชีวิต ตกลงเลือกท่านขึ้นเป็น “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” (อีกครั้ง) ย่อมต้องยินดีกับท่าน

ตั้งใจจะหอบกระเช้าดอกไม้ไปแสดงความยินดีอย่างคนอื่นๆ

แต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าไม่กล้าจริงๆ เกรงว่าจะรบกวนเวลา

คงต้องกล่าวผ่านสื่อเอาอย่างนี้แหละว่า “กราบขอแสดงความยินดี” ด้วยหัวใจจริงๆ คิด (เอาเอง) ว่าท่านคงไม่ถือสาอะไรกับมิตรผู้น้องซึ่งรู้จักผูกพันกับท่านมาอย่างยาวนาน

ความจริงค่อนข้างแปลกใจเมื่อได้ยินข่าวท่านตกลงรับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่เกิน 2 วัน ได้เคยพูดเป็นข่าวผ่านสื่อว่าไม่พร้อม

ขณะเดียวกันตัวท่านผ่านเลยตำแหน่งเหล่านี้มาแล้ว คงไม่รับ ยังบอกกับสื่ออีกว่า ท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน (อดีตหัวหน้าพรรค+กรรมการที่ปรึกษาพรรค ปชป.) ท่านเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ (กรรมการที่ปรึกษาพรรค ปชป.) รวมทั้งท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (อดีตนายกฯ+หัวหน้าพรรค+ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ก็คงไม่รับตำแหน่งดังกล่าวนี้

เวลาผ่านไปเพียงวันเดียวท่านพลิกกลับลำมารับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ซึ่งทำให้เชื่อว่าย่อมต้องมี “เหตุผลสำคัญ” หรืออาจมี “ข้อมูลซ่อนเร้นอะไรบางอย่าง” ลึกๆ เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อพรรค “ประชาธิปัตย์” และประเทศชาติบ้านเมือง

เป็นอันว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น “นายกรัฐมนตรี” ต่อไป ทั้งๆ ที่ได้หาเสียงบอกกล่าวกับประชาชนไว้แล้วว่าจะไม่สนับสนุน “เผด็จการ” และการ “สืบทอดอำนาจ”

ฯพณฯ “ชวน หลีกภัย” จึงได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” (คนที่ 15) และ “ประธานรัฐสภา” (คนที่ 30) โดยตำแหน่งอีกครั้งหนึ่ง

 

ในช่วงหลังๆ ระหว่างที่ท่านพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ กระทั่งเป็นอดีต “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 20) เวลาที่กล่าวถึงท่านในมุมสบายๆ มักจะเขียนถึงแบบคุ้นเคยอย่างเป็นกันเองโดยเรียก “ท่านพี่” แต่จากวันนี้จะขอกลับไปเรียกขานท่านอย่างเป็นทางการอีกดีกว่า เพราะท่านเข้าสู่ตำแหน่งประมุขของฝ่าย “นิติบัญญัติ” อีก

คงไม่ต้องแนะนำอะไรมากสำหรับนักการเมือง ซึ่งมาจากการ “เลือกตั้ง” ของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยคนนี้ เนื่องจากคร่ำหวอดจริงๆ กับการเป็นผู้แทนของประชาชน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองซื่อสัตย์ “มือสะอาด” จนได้ฉายาว่า “Mr.Clean” โดยเฉพาะชาวจังหวัดตรัง ที่เลือกท่านเป็นผู้แทนฯ ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 และได้รับเลือกตั้งเรื่อยมามากกว่าสิบสมัยชนิดไม่เคยสอบตกกระทั่งเข้าสู่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” พ.ศ.2534 และเป็นอยู่ถึง 3 สมัย (12 ปี)

ต้องเรียกว่าผ่านงานการเมืองมาทุกตำแหน่ง จนสุดท้ายเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ก่อนการเมืองจะแบ่งขั้วแบ่งข้างจนกระทั่งมีหลายฝ่ายพยายามพูดคุยให้ท่านกลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองประเทศชาติ สร้างความสมานฉันท์

แต่ท่านยืนยันในหลักการว่าจะต้องสนับสนุนท่าน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น กระทั่งถึงปัจจุบัน

 

ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง (24 มีนาคม 2562) ถึงขนาดกรุงเทพฯ ไม่เหลือผู้แทนฯ แม้แต่คนเดียว หัวหน้าพรรคต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าถ้าพรรคได้รับการเลือกตั้งผู้แทนฯ เข้ามาต่ำกว่า 100 ที่นั่ง และต่อมาจึงลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับมติพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ท่านเป็นรัฐมนตรีช่วย รัฐมนตรีว่าการมามากถึง 5-6 กระทรวง ตั้งแต่กระทรวงยุติธรรม พาณิชย์ เกษตรฯ ศึกษาฯ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภา

เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2529 ห่างจากครั้งนี้ถึง 33 ปี เป็น “นายกรัฐมนตรี” ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2535-2538 ผ่านเลยมา 22 ปี ส่วนครั้งที่ 2 จากปี พ.ศ.2540-2544 นับถึงวันนี้จึงย่อมผ่านเลยมา 27 ปีแล้วเช่นกัน

เคยกล่าวแล้วว่าย้อนเวลาไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อนช่วงเวลาเกิด “เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519” เมื่อท่านถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยข้อหาอันไม่เป็นมงคลและไม่เป็นความจริง ขณะที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพวุ่นวายไร้เหตุผล ต้องการสาดโคลน ใครก็ทำเอาตามอำเภอใจ ผลักคนที่ไม่ชอบให้เป็นผู้นิยมลัทธิการปกครองอื่น

กระทั่งต้องหลบหลีกพายุอันรุนแรงไปสักระยะหนึ่ง

เราเคยได้พบพูดคุยกันเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง โดยมีคุณพิชัย รัตตกุล (อดีตหัวหน้าพรรค) ประชาธิปัตย์อีกท่านหนึ่งรวมอยู่ด้วย ที่ร้านอาหารริมถนนราชดำเนิน ข้างสำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ของท่านอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อันมีชื่อเสียงโด่งมีอิทธิพลสมัยนั้น ก่อนท่านชวนจะปลีกวิเวกไป หายไปไหนไม่มีใครทราบแน่ชัด

แต่ว่ากันว่าได้หลบพายุแรงกล้าเพื่อไปรับลมเย็นๆ ตามธรรมชาติ ก่อนจะกลับมาเมื่อบ้านเมืองมีเหตุผลมากขึ้น พร้อมด้วยต้นฉบับหนังสือขนาดพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ “เย็นลมป่า” ในเวลาต่อมา

ท่านไม่เคยปฏิเสธเมื่อไปพบเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือว่าเชื้อเชิญให้ไปเป็นเกียรติในงานต่างๆ บางครั้งถึงจะยุ่งเหยิงติดขัดด้วยงานอะไรต่อมิอะไรมากมายก่ายกอง เนื่องจากไม่เคยหยุดนิ่งงานด้านสังคม และดูแลช่วยเหลือราษฎร เพราะได้ชื่อว่าเป็นคนของประชาชนจึงไม่ห่างไกลประชาชน ถึงจะว่างเว้นการเป็นผู้แทนฯ หลายปี เนื่องจากประเทศนี้ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ถูก “ยึดอำนาจ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557

ทราบกันอยู่แล้วว่า ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ในวัยเยาว์ ได้เข้าศึกษายังโรงเรียนศิลปศึกษาที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปด้วย ท่านจึงเขียนรูปได้ เขียนรูปเป็น และไม่เคยทอดทิ้งการวาดเส้น (Drawing) ยังทำเป็นประจำ

จึงมีผลงานมากพอรับเชิญไปเปิดแสดง One Man Show ในสถานแสดงงานของกงสุลไทยในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles, California, Usa)

ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “ศิลปินแห่งชาติ” เมื่อปี พ.ศ.2527 ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้สมญานามว่า “ฐาปนันดรศิลปิน” กระทรวงวัฒนธรรม และ “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (2540) ได้เชื้อเชิญท่านไปเปิดแสดงงานศิลปะร่วมกับ “ศิลปินแห่งชาติ” ในโครงการแลกเปลี่ยนศิลปิน

รวมทั้งเที่ยวดูงานด้านศิลปะ ตลอดจนวาดลายเส้นในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกามาหลายครั้ง

 

จําได้ว่าเคยถือวิสาสะโทรศัพท์เข้ามือถือท่านเพื่อขอความอนุเคราะห์หลายๆ ครั้ง เรียกว่าเสมอมา

ท่านก็ยินดีไม่มีปัญหา

เมื่อเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินอย่างผิดปกติบริเวณบ้านพัก ได้ไปรบกวนปรึกษาหาช่องทางคลี่คลาย จะมีพิธีเปิดงาน “นิทรรศการศิลปะ” ของรุ่นพี่ที่เคารพซึ่งเป็นเพื่อนในโรงเรียนศิลปศึกษาร่วมรุ่นกับท่าน ท่านก็สับหลีกเวลาไปเป็นประธานในพิธีให้

ต้องจำไม่มีวันลืมเมื่อท่านสละเวลาเดินทางมาเป็นเกียรติใน “พิธีมงคลสมรส” ของสาวน้อยที่บ้าน และกล่าวอวยพรให้กับบ่าว-สาวตามคำเรียนเชิญอย่างเรียบง่าย ไม่ค่อยถือเนื้อถือตัว ทั้งๆ ที่เป็นงานเล็กๆ เจ้าภาพก็ไม่ค่อยจะเชี่ยวชาญงานพิธีรีตองมากนัก

ในงานได้พบรุ่นน้องๆ ซึ่งท่านรู้จักมักคุ้นเป็นส่วนใหญ่ร่วมโต๊ะรับประทานอาหาร และสนทนาสอบถามสารทุกข์กันตามมารยาท รวมทั้งสุขภาพ และอายุ ได้เรียนท่านไปว่า

“พวกผมได้ก้าวขึ้นสะพานพระราม 7 (อายุเกิน 70 ปี) กันหมดแล้ว” ท่านบอกว่า “ตามพี่ไม่ทันหรอ–“

 

ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ตัวเลขนำหน้าอายุของท่านเป็นเลข 8 ผ่านเลยมาได้ 1 ปี (81) ซึ่งดูเหมือนว่ามันสวนทางกับสุขภาพและใบหน้าของท่านอย่างสิ้นเชิงเมื่อไปเทียบเคียงกับคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน

อาจเป็นเพราะท่านเป็นคนรูปร่างเล็ก ดูแลรักษาสุขภาพอย่างดีมีระเบียบ การรับประทานอาหารพร้อมออกกำลังกายเป็นประจำ จึงยังดูหนุ่มแน่นกว่าตัวเลขอายุและคนในวัยเดียวกัน

เหลียวมองบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสภาแล้วนำมาเทียบเคียงกับตำแหน่ง “ประธาน” คิดว่าไม่มีสมาชิกท่านไหนเหมาะสมกว่า ทั้งด้านความรู้ความสามารถ คุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ทางการเมือง การผ่านงานสภา มากกว่าสมาชิกท่านอื่นๆ เปิดสมัยประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรก

ทุกท่านคงได้เห็นความเป็นมืออาชีพ การทำหน้าที่ “ประธาน” ของท่านแล้ว

ขอแสดงความยินดีด้วยความเคารพครับท่านประธาน ฯพณฯ “ชวน หลีกภัย”