เปิดแอคชั่นแพลน “60 คมนาคม ยังเดินหน้าไฮสปีดเทรน 4 เส้น ลุ้นเกิดจริงหรือขายฝัน?

ปี2560 กระทรวงคมนาคมเตรียมเดินหน้าแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งหรือแอคชั่นแพลน (Action Plan) อีก 36 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 8.95 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานในระยะที่ 2 เพิ่มเติมจากแอคชั่นแพลน ระยะที่ 1 ปี 2559 ที่มีอยู่ 20 โครงการ วงเงิน 1.41 แสนล้านบาท

ในจำนวนโครงการที่กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการในปีนี้ แบ่งเป็น

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 10 เส้นทาง วงเงินลงทุนประมาณ 4.08 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 45.62% ของโครงการทั้งหมด

การก่อสร้างรถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง วงเงิน 2.66 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.97%

โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง วงเงิน 2.21 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 24.69%

โครงการทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ 5 เส้นทาง วงเงิน 1.67 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 18.67%

โครงการสิ่งอำนวยความสะดวกทางถนน 5 โครงการ วงเงิน 2.14 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 2.40%

โครงการรถสาธารณะ 1 โครงการ วงเงิน 2.27 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 0.25%

โครงการระบบบริหารจัดการขนส่งสาธารณะ 1 โครงการ วงเงิน 1.33 พันล้านบาท

โครงการทางน้ำ 3 โครงการ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4.03%

และโครงการทางอากาศ 3 โครงการ วงเงิน 1.09 หมื่นล้านบาท

 

ซึ่งโครงการทั้งหมดได้กำหนดขอบเขตการดำเนินงานไว้ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินงานได้ไปถึงขั้นไหน โดยจัดแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ

โครงการที่พร้อมให้บริการมี 2 โครงการ คือการเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน เส้นทางพัทยา-หัวหิน ที่มีแผนจะเปิดบริการในเดือนมกราคมนี้ และการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่จะให้บริการในปีนี้เช่นเดียวกัน

ส่วนโครงการที่เริ่มก่อสร้าง มี 5 โครงการ คือ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ และการปรับปรุงระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะเปิดประกวดราคาได้ 15 โครงการ คือ การจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า 200 คัน และสถานีประจุไฟฟ้า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และช่วงคูคต-ลำลูกกา รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) รถไฟทางคู่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ช่วงชุมทางจิระ-อุบลฯ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ฯ ช่วงสุราษฎร์ฯ-สงขลา ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ และศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา

โครงการที่นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการพีพีพีได้ 8 โครงการ คือ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ ตอน N2 และอีสท์-เวสท์ คอร์ริดอร์ ทางด่วนสายกระทู้-ป่าตอง มอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ และศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม

โครงการที่สามารถเตรียมข้อเสนอโครงการได้ 4 โครงการ คือ การพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมอ่าวไทยตอนบน (ระยะยาว) มอเตอร์เวย์ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย/มาเลเซีย การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (ชายแดน 9 จังหวัด) และการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค (เมืองหลัก 8 จังหวัด)

และกลุ่มโครงการสำคัญที่ต้องการผลักดัน 2 โครงการ คือ การพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางหลัก และระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้แอคชั่นแพลนในปี 2560 จะไม่มีรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) แต่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อให้สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการภายใต้แอคชั่นแพลน ระยะที่ 1 ที่จะต้องนำมาสานต่อให้ได้ในปีนี้

โดยโครงการที่ขยายระยะเวลาจากปี 2559 เพื่อนำมาดำเนินการในปี 2560 ได้จัดแบ่งเป็นโครงการที่เริ่มก่อสร้างได้ คือ รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

ส่วนโครงการที่จะประกวดราคาได้แน่นอน คือ รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน และช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง ขณะที่รถไฟไทย-ญี่ปุ่น หรือรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก จะสามารถนำเสนอ ครม. และคณะกรรมพีพีพีได้

โดยนายอาคม ยืนยันว่า จะเดินหน้าให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะรถไฟไทย-จีน รวมถึงรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะเป็นการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน

 

สอดคล้องกับ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ระบุว่า สำหรับรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 ก.ม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างประสานสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำผลไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 17 ณ กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 16-18 มกราคมนี้

สำหรับกรอบเวลาที่วางไว้ คือ กระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปโครงการ ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ครม. เห็นชอบ จากนั้นจะลงนามในสัญญาจ้างออกแบบและที่ปรึกษาควบคุมงานได้ภายในเดือนมกราคม เปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มก่อสร้างเดือนมีนาคม ตามแผนงานที่กำหนด

ขณะที่รถไทย-ญี่ปุ่น ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยอทาง 380 ก.ม. วงเงิน 2.77 แสนล้านบาท จะเสนอรายงานความเหมาะสมของโครงการภายในไตรมาสแรกของปี 2560 และฝ่ายญี่ปุ่นจะให้คำตอบว่าจะเข้าร่วมทุนในโครงการด้วยหรือไม่

ส่วนรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 ก.ม. วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท และช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.5 ก.ม. วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท จะเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้

ล่าสุดรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ก่อนส่งให้คณะกรมการพีพีพี ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม เมื่อแล้วเสร็จจะส่งเรื่องให้ สคร. และคณะกรรมการพีพีพีพิจารณาเช่นเดียวกัน

ในที่สุดจะเดินหน้าได้ตามแผนจนถึงขั้นประกวดราคาและก่อสร้างได้จริงหรือไม่ ยังต้องลุ้น!!