ฟื้น “ครูใหญ่-อาจารย์ใหญ่” เอาจริง…หรือแค่โยนหินถามทาง??

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปุ๊บ “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” ก็เรียกเสียงฮือฮาจากผู้คนในแวดวงการศึกษาปั๊บ โดยเตรียมหารือผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ. กำหนดมาตรฐานตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ ซึ่งปัจจุบันใช้ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เท่ากันหมด โดยจะขอให้กลับไปใช้มาตรฐานตำแหน่ง “ครูใหญ่” และ “อาจารย์ใหญ่” ตามระดับโรงเรียนเหมือนสมัยก่อน

เพราะมองว่าครูใหญ่มีความหมายลึกซึ้ง สื่อถึงความรับผิดชอบได้ชัดเจน และครอบคลุมกว่าผู้อำนวยการสถานศึกษา…

“การกำหนดมาตรฐานตำแหน่งใหม่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คงไม่ทำอะไร ความหมายคืออยากให้รักษา 2 คำนี้ไว้ในหัวใจของทุกคน ไม่อยากให้นักเรียน และครู รวมถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกคน ลืมคำว่าครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ อยากให้ช่วยกันรักษา 2 คำนี้ไว้ให้เป็นเกียรติประวัติกับลูกหลาน นักเรียน และครู ได้ภาคภูมิใจ อีกทั้งอยากให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาทุกคนจดจำ 2 คำนี้ไว้ในหัวใจ ว่าไม่ได้มีแค่หน้าที่บริหารเท่านั้น แต่ขอให้ทำหน้าที่ครูคนหนึ่ง อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดี มีคุณธรรม รวมถึง ให้มีความรัก และสามัคคี ด้วยความรักความเมตตา โดยจะหารือกับ “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. ขอให้ช่วยรณรงค์ให้ 2 คำนี้ ดำรงอยู่ในความคิดของคนไทยต่อไป” ม.ล.ปนัดดา กล่าว

หลังจากแนวคิดนี้ออกจากปาก ม.ล.ปนัดดา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาแทบจะในทันที ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และฝ่ายที่คัดค้าน!!

 

ทั้งนี้ แนวคิดที่จะรื้อฟื้นใช้คำว่าครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ และเคยเกิดขึ้นในช่วงที่ “พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ” เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เนื่องจาก พล.อ.ดาว์พงษ์ เห็นว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา ควรจะต้องผ่านประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กมาก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยับมาสู่โรงเรียนขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ตามลำดับ

ในช่วงนั้น คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) รับลูก และหารือเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่งของรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ ว่าในโรงเรียนขนาดเล็กควรจะมีมาตรฐานตำแหน่งอย่างไร เพราะในปัจจุบันเรียกผู้บริหารโรงเรียนว่า “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เท่ากัน

ขณะที่กฎหมายเดิมได้กำหนดมาตรฐาน และเรียกชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กว่า “ครูใหญ่” ส่วนโรงเรียนขนาดกลางเรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” และโรงเรียนขนาดใหญ่เรียกว่า “ผู้อำนวยการโรงเรียน”

อย่างไรก็ตาม มาตรฐานการเข้าสู่ตำแหน่งในปัจจุบัน ไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษาขนาดเล็กไปเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาขนาดใหญ่ เพียงแต่ในทางปฏิบัติทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะพิจารณาความเหมาะสม

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อให้ได้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีประสบการณ์ หากได้ผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ก็จะทำให้โรงเรียนมีคุณภาพไปด้วย ขณะเดียวกัน เนื้อหาการคัดเลือกจะต้องเปลี่ยนไปด้วย

สุดท้ายเรื่องก็เงียบหาย กระทั่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ เองก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.!!

 

ซึ่ง “นายศรีชัย พรประชาธรรม” รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการ “ยกเลิก” ตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ ว่าเกิดขึ้นในช่วงปฏิรูประบบบริหารราชการของ ศธ. ที่ยุบรวมการบริหารงานจาก 14 กรม เหลือ 5 องค์กรหลัก ในช่วงปี 2547 ทำให้ต้องปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู พ.ศ.2523 ที่ปรับแก้เป็น พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือ การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา จากเดิมที่ใช้ครูใหญ่, อาจารย์ใหญ่, ผู้อำนวยการโรงเรียน, ผู้ช่วยครูใหญ่, ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน ไปเป็นรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา

ส่วนหนึ่งมาจากเสียงเรียกร้องของนักวิชาการ และคนในแวดวงการศึกษายุคนั้น ที่อยากเห็นวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงเช่นเดียวกับกลุ่มแพทย์

ประกอบกับความน้อยเนื้อต่ำใจของผู้อยู่ในตำแหน่งครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ มักถูกเปรียบเทียบว่าเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านนอก ต่างจากผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่า

ฉะนั้น เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนทุกคนเกิดความภาคภูมิใจ จึงยกเลิกตำแหน่งทางการบริหารจากเดิมที่ใช้ระบบการจำแนกตำแหน่งตามขนาดโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ คือ ครูใหญ่, อาจารย์ใหญ่ และผู้อำนวยการโรงเรียน มาใช้ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเท่ากันหมด

มีเส้นทางการเติบโต การทำผลงานทางวิชาการ หรือวิทยฐานะ มี 4 ระดับเหมือนกัน

 

คราวนี้ลองมาฟังเสียงฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้าน ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ เริ่มจาก “นายอดิศร เนาวนนท์” คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อดีตประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 ที่มองว่าเจตนารมณ์ของการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเหมือนกันทั้งหมด เพราะต้องการให้ผู้บริหารสถานศึกษาไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ มีความก้าวหน้าในตำแหน่งได้อย่างเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับผลงานทางวิชาการเป็นหลักมากกว่าจำนวนนักเรียน ซึ่ง ก.ค.ศ. ได้วางระบบไว้หมดแล้ว

การที่ ม.ล.ปนัดดา ดูเพียงแค่ความหมาย แล้วจะกลับไปใช้ระบบเดิม จะทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนมาก

ส่วน “นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ” คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ระบุว่า เห็นด้วยที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เห็นคุณค่าในความหมายของคำว่าครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่

แต่เราเดินมาไกลแล้ว หากจะรณรงค์ให้ครู หรือนักเรียนกลับไปใช้คำเรียกเดิม คงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งต้องยอมรับว่าสังคมไทยมีค่านิยม และให้การยอมรับกับคำว่าผู้อำนวยการมากกว่า อีกทั้งมีความหมายกว้างมากกว่าการเป็นครูสอน แต่มีบทบาทในการบริหารจัดการโรงเรียน และจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ

“สมัยก่อนเกิดปัญหาครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ วิ่งเต้นเข้าหานักการเมือง ทำผลงาน ตกแต่งตัวเลขนักเรียน เพื่อให้ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหานี้ รัฐบาลในช่วงนั้นจึงกำหนดตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาให้เท่าเทียมกันหมด เพื่อลดการวิ่งเต้น ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนขนาดใด ก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งชนชั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนชื่อตำแหน่งแล้วก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการวิ่งเต้นได้ แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง เพื่อนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง” นางประพันธ์ศิริ กล่าว

ต้องติดตามกันว่า ม.ล.ปนัดดา จะเอาจริงเอาจังแค่ไหน…หรือแค่โยนหินถามทาง!!