คนมองหนัง | 5 ประเด็นน่าสนใจ ใน 26 ตอนแรกของ “ขวานฟ้าหน้าดำ”

คนมองหนัง

แพร่ภาพไปแล้ว 26 ตอน (น่าจะประมาณครึ่งทาง) สำหรับ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มิถุนายน)

โดยช่วงเปลี่ยนผ่านวัย จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ ของเหล่าตัวละครหลัก ได้เกิดขึ้นในตอนที่ 21 ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน

โอกาสนี้ จึงอยากจะสรุปประเด็นน่าสนใจรวม 5 ข้อ ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงครึ่งแรกของละคร มาเล่าสู่กันฟัง

มิตรภาพระหว่าง “ขวาน” กับ “จ้อย”

ต้องยอมรับว่าประเด็น “มิตรภาพ/คุณธรรมน้ำมิตร” ระหว่าง “ขวาน” กับ “จ้อย” ซึ่งมีกลิ่นอาย “นิยายกำลังภายใน” นิดๆ นั้นพบได้ไม่บ่อยนักในละครจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป

หากคำนึงว่า “มิตรภาพ” ระหว่างทั้งคู่ คือ ความเป็นเพื่อนของลูกชาวบ้านสามัญชนสองราย ที่ดำรงผ่านสัมพันธภาพอันเท่าเทียม และต้องต่อสู้ต่อต้านอำนาจ (รัฐ) ที่เหนือกว่าร่วมกัน

ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายต่างเมือง, เจ้าชายกับพระพี่เลี้ยง หรือมนุษย์กับอมนุษย์ (ผู้มีศักดิ์ด้อยกว่า) ดังที่เรามักคุ้นเคยในละครพื้นบ้านส่วนใหญ่

เครือข่ายอำนาจของ “อำมาตย์แสงเพชร”

เท่าที่เคยดูละครจักรๆ วงศ์ๆ มา “อำมาตย์แสงเพชร” น่าจะเป็นตัวละคร “อำมาตย์” ที่มีฤทธิ์เดชพิษสงมากที่สุดรายหนึ่งในจักรวาลของสื่อบันเทิงประเภทนี้

จากที่ปกติ เรามักจะได้เห็นแต่อำมาตย์ที่รับบทเป็น “ลูกขุนพลอยพยัก” ตลอดจนอำมาตย์ผู้คิดคด/จงรัก ซึ่งไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามอุดมการณ์-ผลประโยชน์ของตนได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องพึ่งพาฤทธิ์เดชของตัวช่วย/ตัวละครอมนุษย์-อภิมนุษย์รายอื่น

ที่สำคัญ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ยังฉายภาพ “อำมาตย์แสงเพชร” ในฐานะ “นักการเมือง” ได้อย่างสมจริง ผ่านการสร้างเครือข่ายอำนาจ/คอนเน็กชั่นอันกว้างขวางซับซ้อนให้แก่ตัวละครรายนี้ ซึ่งมีพี่เพื่อนน้องเป็นทั้ง “มนุษย์กาผัวเมีย” เรื่อยไปถึง “นางยักษ์กาขาว”

ขณะที่เราจะไม่ค่อยเห็นบุคลิก “ความเป็นนักการเมือง” เช่นนี้ ใน “อำมาตย์” ของละครพื้นบ้านเรื่องอื่นๆ สักเท่าไหร่

ใครๆ ก็มีฤทธิ์ (ขอแค่เป็นชนชั้นนำ)

ประเด็นหนึ่งที่สนุกสนานมากๆ คือ ผู้มีฤทธิ์มนตราวิชาอาคมใน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” นั้น ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ที่พระเอก-เทพ-ฤษี-ยักษ์-ปีศาจ-อสูร อันเป็นโครงสร้างเรื่องราว/สูตรหลักที่พวกเราคุ้นชิน

ทว่า มนุษย์ระดับ “ชนชั้นนำ” แทบทั้งหมดในละครเรื่องนี้ ต่างมีวิชา (ไม่มากก็น้อย) กันเกือบถ้วนหน้า

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า “อำมาตย์แสงเพชร” แห่งบุรีรมย์นครนั้น แทบจะเป็นมนุษย์ผู้มีฤทธิ์สูงสุดในจักรวาลของละคร

ขณะเดียวกัน “อำมาตย์ทินกร” ลูกน้อง “อำมาตย์แสงเพชร” และ “อำมาตย์โสฬส” ข้าราชการน้ำดีแห่งนครคันธมาทน์ ก็ต่างมีฤทธิ์เดชใช่ย่อยเช่นกัน (ไม่ว่าจะเป็นการเสกนกมาส่งสาร, การชุบเลี้ยงสองกุมาร “รัก-ยม” และการมีเพลงดาบประจำตระกูล)

เท่ากับว่าตัวละคร “อำมาตย์” ซึ่งปกติมักไม่ค่อยมีวิชาแกร่งกล้ามากนักในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องอื่น ได้กลับกลายสถานะเป็นผู้มีคาถาอาคมใน “ขวานฟ้าหน้าดำ”

นอกจากนี้ ตัวละครผู้ทรงฤทธิ์ใน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ยังแพร่กระจายอย่างกว้างขวางจนน่าทึ่ง

กระทั่ง “บุรีรมย์ราชา” ผู้มีสุขภาพอ่อนแอและถูกโค่นล้มลงจากบัลลังก์ ก็มีวิชาดีติดตัวอยู่ไม่น้อย

หรือตัวละคร “พราหมณ์” ซึ่งปรากฏตัวสั้นๆ แค่ 1-2 ตอน ก็สามารถทำของใส่ “นางยักษ์กาขาว” ได้สำเร็จ ก่อนจะโดนนางยักษ์บุกมาล้างแค้นด้วยการบีบร่างจนแหลกเละ

เทพชั้นรอง-ผู้วิเศษ ณ เบื้องล่าง

แม้แก่นแกนหลักของ “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ยังนำเสนอเรื่องราวว่าด้วยเทพที่จุติลงมาปราบอธรรมบนโลกมนุษย์ และมีตัวละครเป็นเทพอยู่หลายองค์

แต่เทพผู้มีบทบาทสำคัญในละคร ล้วนเป็นเทพชั้นรองๆ หรือผู้แทนของเทพเจ้าระดับสูงอีกต่อหนึ่ง

ตัว “ขวาน” เอง มีอดีตชาติเป็นแค่ “สุธาเทพ” ผู้ทำหน้าที่ “เทพบริวาร” คอยล้างเท้าให้เหล่าเทวดานางฟ้าบนสรวงสวรรค์

เทพเจ้าที่ช่วยเหลือสั่งสอน “ขวาน” คือ “สุริยะเทพ” ซึ่งในช่วงต้น ได้รับบัญชาจากพระอินทร์ (มาอีกทอด) ให้ไปปราบพยศ “สุธาเทพ” หลังครอบครองอาวุธวิเศษ

ครั้น “สุธาเทพ” ลงมาเกิดบนโลก “สุริยะเทพ” ก็รับภาระเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครอง “ขวาน” ต่อไป

น่าสังเกตว่าเทพองค์อื่นๆ หรือเหล่าผู้วิเศษที่ร่วมด้วยช่วยดูแล “ขวาน” นั้น มักมีสถานภาพ-นัยยะที่เชื่อมโยงกับโลกเบื้องล่างหรือชาวบ้านสามัญชน มากกว่าโลกเบื้องบน

เช่น พระแม่ธรณี, นางไม้ในป่า, เจ้าพ่อเขาเขียว รวมถึงหุ่นฟางเสกจากพระฤษี

“ความเป็นทหาร-ความเป็นเด็ก”

“ขวานฟ้าหน้าดำ 2562” ดูจะสร้างภาวะคลุมเครือให้แก่แนวคิดเรื่อง “ความเป็นทหาร” และ “ความเป็นเด็ก” เอาไว้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด

ในด้านหนึ่ง “อำมาตย์โสฬส” แห่งนครคันธมาทน์ ก็ถูกวาดภาพให้เป็น “ขุนศึก-นายทหารผู้จงรักภักดี” ต่อองค์เหนือหัวของตน

เช่นเดียวกับ “ขวาน” และ “จ้อย” ตอนหนุ่ม ที่ไปอาสารับราชการเป็น “ทหารชั้นผู้น้อย” ในบุรีรมย์นคร เพื่อรับใช้ (กอบกู้) บ้านเมือง และสืบข่าวคราวเกี่ยวกับแผนร้ายของ “พระเจ้า (อำมาตย์) แสงเพชร”

แต่อีกด้าน “อำมาตย์แสงเพชร” กับพวกพ้อง ก็ถือเป็นภาพแทนของ “บิ๊กทหาร” ผู้ฉ้อฉล มักใหญ่ใฝ่สูง ละโมบโลภมาก และไม่จงรักภักดี

“ทหาร-กองทัพ” ใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” จึงมิใช่กลุ่มก้อนอันเปี่ยมเอกภาพ และมีทั้ง “คนดี-คนเลว” เคลื่อนไหวอยู่ภายในองค์กร

ขณะเดียวกัน สองกุมาร “รัก-ยม” ที่ “อำมาตย์โสฬส” ชุบเลี้ยงเอาไว้ ก็มักต่อว่าต่อขาน “พ่ออำมาตย์ (คนดี)” ว่าเป็น “เผด็จการ” เมื่อทั้งคู่โดนสั่งให้ไปทำงานบางอย่างโดยไม่เต็มใจ หรือถูกกักขังลงโทษยามเกเรซุกซน

นี่คือเสียงแห่ง “ความเป็นขบถ” ของ “ตัวละครเด็ก” ในละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้

อีกทางหนึ่ง ตัวละคร “นางไม้” ที่เคยช่วยเหลือ “ตัวแทนเด็กดี” เช่น “ขวาน-จ้อย” จากเงื้อมมือ “อำมาตย์แสงเพชร” ก็วิพากษ์วิจารณ์เด็กส่วนใหญ่ใน “สมัยนี้” ว่าเป็นพวกที่คิดว่าตนเองเก่งไปหมดเสียทุกอย่าง

สปิริตในการตั้งคำถามใส่ผู้ใหญ่ของ “เด็ก/เยาวชน” ใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” จึงถูกซัดกลับด้วยคำพร่ำบ่นทำนองว่า พวกเธอเร่าร้อนอ่อนต่อโลกเกินไปหรือเปล่า?

เหล่านี้คือวิวาทะ/นิยามอันหลายหลากว่าด้วย “ความเป็นทหาร” และ “ความเป็นเด็ก” ที่ปรากฏใน “ขวานฟ้าหน้าดำ 2562”