สืบค้นเหตุแห่งอ่าวโอมาน หวั่นซ้ำรอยเหตุแห่งอ่าวตังเกี๋ย

เหตุการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำกลางอ่าวโอมาน เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นประเด็นคุกรุ่นระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน คู่รักคู่แค้น

เนื่องจากสหรัฐยืนยันว่า มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า อิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีดังกล่าว แม้จะไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ และเรือทั้ง 2 ลำเป็นเรือของญี่ปุ่น และนอร์เวย์

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับสหรัฐตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งชื่อ โคคูคะ เคอเรเจียส ของญี่ปุ่น และอีกลำชื่อฟรอนต์ อัลแตร์ ของนอร์เวย์ โดยเรือทั้ง 2 ลำเพิ่งจะผ่านช่องแคบฮอร์มุซได้ไม่นานก็เกิดระเบิดขึ้น

ทั้งนี้ เรือฟรอนต์ อัลแตร์ บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงแนฟทา 75,000 ตัน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มุ่งหน้าไปยังไต้หวัน

หลังเกิดระเบิด ได้เกิดไฟลุกไหม้บนเรือ ทำให้กัปตันเรือตัดสินใจสละเรือ

ขณะที่ลูกเรือ 23 คนของเรือฟรอนต์ อัลแตร์ ซึ่งเป็นชาวรัสเซีย 11 คน ชาวฟิลิปปินส์ 11 คน และชาวจอร์เจีย 1 คน ได้รับการช่วยเหลือไว้ได้อย่างปลอดภัยจากเรือฮุนได ดูไบ

 

ตามข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐอเมริกา ที่ซีบีเอส นิวส์ พบเห็นมา ระบุว่าหลังจากเรือฮุนได ดูไบ ช่วยลูกเรือเอาไว้ได้ ได้มีเรือของกองทัพอิหร่านล้อมรอบเรือฮุนได ดูไบ เอาไว้ พร้อมกับบอกให้มอบตัวลูกเรือทั้งหมดให้แก่กองทัพอิหร่าน โดยกัปตันเรือได้ติดต่อไปยังบริษัทเจ้าของเรือของตน ที่บอกให้กัปตันไม่ต้องทำตามคำสั่งของอิหร่าน แต่อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกัปตันก็ยอมมอบตัวลูกเรือของฟรอนต์ อัลแตร์ ให้แก่ทางการอิหร่านในที่สุด

สำหรับเรือโคคูคะ เคอเรเจียส บรรทุกเมทานอลเอาไว้ 25,000 ตัน เดินทางจากซาอุดีอาระเบียมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์ หลังเกิดเหตุระเบิด ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ห้องเครื่องยนต์ แต่ลูกเรือทั้งหมดปลอดภัย มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย โดยมีเรือสัญชาติดัตช์มาช่วยเหลือลูกเรือทั้งหมดเอาไว้ได้

ถือว่าเป็นโชคดีที่ไม่มีการสูญเสียชีวิตใคร

 

หลังเกิดเหตุ สหรัฐอเมริกาออกมาชี้เป้าไปที่อิหร่านว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีครั้งนี้ โดยนายไมก์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐบอกว่า เหตุที่บอกว่าอิหร่านเป็นคนทำ เพราะสหรัฐได้ประเมินจากข่าวกรองเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในการโจมตีครั้งนี้

ขณะที่กองทัพสหรัฐระบุว่ามีการใช้ระเบิดลิมเพตมายน์ หรือระเบิดที่นำมาติดไว้กับเรือ ในการโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันครั้งนี้

โดยเอพีได้รายงานเอาไว้ว่า นายยูทากะ คาตาดะ ประธานบริษัท โคคูคา ซังโย เจ้าของเรือนโคคูคา เปิดเผยว่า ลูกเรือเห็นวัตถุบินได้ ก่อนที่จะเกิดการระเบิดขึ้น

และว่า จากรายงานเบื้องต้นที่ได้รับ คือเรือโคคูคาถูกยิง

 

แม้ว่าสหรัฐจะยืนยันว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันทั้ง 2 ลำนี้ หากแต่อิหร่านเองก็ยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่งจะเกิดเหตุระเบิดบนเรือบรรทุกน้ำมัน 4 ลำ ภายในน่านน้ำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ภายในอ่าวโอมาน โดยเป็นเรือบรรทุกน้ำมนของซาอุดีอาระเบีย 2 ลำ ของนอร์เวย์ 1 ลำ และของยูเออีอีก 1 ลำ เหตุระเบิดดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิต แต่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เรือบรรทุกน้ำมัน

หลังเกิดเหตุ ซาอุฯ ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว และซาอุฯ เองมีหลักฐานมากพอต่อการกล่าวหาดังกล่าว

 

สถานการณ์คุกรุ่นในอ่าวโอมานตอนนี้ ทำให้หลายคนนึกไปถึงเหตุการณ์ “อ่าวตังเกี๋ย” โดยอีเลียต ฮิกกินส์ แห่งนิวยอร์กไทม์ส ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในอ่าวโอมาน ถูกหลายคนนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1964

เมื่อลินดอน บี.จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐในสมัยนั้นพยายามโน้มน้าวให้สภาคองเกรสเห็นด้วยกับการให้กองทัพสหรัฐเข้าไปทำสงครามเวียดนาม และสหรัฐได้ลุกขึ้นมากล่าวหาว่าเรือรบสหรัฐในอ่าวตังเกี๋ยถูกเวียดนามเหนือยิงด้วยตอร์ปิโด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1964 ที่ได้กลายเป็นข้ออ้างในการโจมตีเวียดนามเหนือในที่สุด

หากแต่ในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ถูกชำระ ด้วยผลการพิสูจน์ได้ว่า ไม่เคยเกิดเหตุการณ์โจมตีในอ่าวตังเกี๋ยขึ้น และสหรัฐกุเรื่องดังกล่าวขึ้นมาเอง

ฮิกกินส์ระบุว่า กระนั้นก็ตามเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปี ในช่วงที่เทคโนโลยียังไม่ได้ก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการพิสูจน์ และนำไปสู่การโจมตีเวียดนามเหนือของสหรัฐ

แต่ตอนนี้เทคโนโลยีช่วยทำให้เราสามารถสืบค้นได้ว่า เหตุการณ์โจมตีในอ่าวโอมานนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรืออาจจะถึงขั้นตามหาตัวผู้กระทำผิดได้

รวมไปถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลต่างๆ มากมายให้ตรวจสอบได้

อย่างเรื่องของเรือที่ถูกโจมตี ก็มีภาพที่ชัดเจนยืนยันว่าเป็นเรือ 2 ลำตามที่เป็นข่าว รวมไปถึงภาพความเสียหายของเรือ ที่อาจจะบ่งชี้ถึงวัตถุร้ายแรงที่ทำให้เกิดระเบิดได้ขนาดนั้น

แต่กระนั้นก็ตาม หลักฐานที่ถูกนำมาแสดงทั้งหมด ยังไม่มีอะไรที่สามารถชี้ชัดได้ว่า “อิหร่าน” เป็นผู้ก่อเหตุ

และหวังว่าเหตุการณ์อ่าวโอมานจะไม่กลับไปเป็นเหมือนกับเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ยอีก