ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อนาคตใหม่ และอวสานของเผด็จการในพานไหว้ครู

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ฟังเผินๆ แล้ว พานไหว้ครูเป็นการแสดงออกถึงความเคารพครูซึ่งนักเรียนทุกคนพึงทำ

แต่ที่จริงเด็กไทยถูกอบรมให้พนมมือไหว้ครูทุกครั้งที่เจออยู่แล้ว

พานไหว้ครูจึงมีความหมายมากกว่าการเคารพครูตัวเป็นๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะพานเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่นักเรียนต้องเคารพครูทุกคนในฐานะสถาบัน

ขณะที่พิธีไหว้ครูปลูกฝังว่าครูคือผู้มีพระคุณ จนเด็กที่ไม่เคารพอาจเข้าข่าย “เนรคุณ”

ในความเป็นจริงคือไม่มีเด็กคนไหนยกมือไหว้ครูทุกคนไปหมด เราไหว้ครูประจำชั้น, ครูที่สอนเราจริงๆ และครูที่ยืนดูความเป็นระเบียบเรียบร้อยหน้าประตูโรงเรียนแน่ๆ

แต่คงไม่ใช่ครูที่สอนห้องอื่นหรือไม่เคยเกี่ยวพันกันเลย

เด็กทุกคนเคยผ่านวัยซึ่งครูหมายถึงผู้ใหญ่ที่ใส่กางเกงขายาวหรือกระโปรงทรงกระสอบในโรงเรียน

แต่เมื่อเราโตขึ้น เราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นมีทั้งครูที่สอนเราจริงๆ และครูที่ไม่เคยสอนเราเลย

จากนั้นก็จะเรียนรู้ต่อไปว่า ครูที่สอนนั้นก็มีทั้งครูที่ดี, ครูที่หากินกับการสอนพิเศษ, ครูใช้กำลัง และครูที่ไม่ดี

ด้วยสำนึกของปัจเจกบุคคลที่แตกต่างตามวุฒิภาวะของทุกคน นักเรียนจะค่อยๆ ประเมินครูแต่ละรายจากความประพฤติ, การเรียนการสอน และการต่อติดกับครูซึ่งแต่ละคนต่างกันหมด

ครูที่ผมชอบและระลึกถึงที่สุดสมัยเรียนเซนต์คาเบรียลได้แก่ครูประจำชั้น ม.5 และครูภาษาไทยชั้น ม.3 ซึ่งเพื่อนในชั้นไม่ชอบเลย

ในพิธีไหว้ครูที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกปี คุณค่าของครูและความรู้สึกของนักเรียนในฐานะปัจเจกถูกทำให้ไม่มีความหมายไปหมด

นักเรียนมีหน้าที่ต้องเคารพครูทุกคน และใครที่ได้ชื่อว่าครูก็ถือว่ามีบุญคุณจนนักเรียนมีพันธะต้อง “ไหว้ครู” ให้หมด

ต่อให้ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่รู้จักครูส่วนใหญ่ในพิธีนั้นเลยก็ตาม

ในงานไหว้ครูระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาใหม่คือกลุ่มคนที่ถูกกดดันให้เข้าพิธีนี้ที่สุด ทั้งที่ยังไม่มีความผูกพันกับอาจารย์และสถานศึกษาเลย

ส่วนอาจารย์ที่ปรากฏตัวในพิธีมักได้แก่คณบดีถึงอธิการบดีซึ่งส่วนใหญ่ไม่สอนหนังสือแล้ว นักศึกษาจึงต้องเคารพคนซึ่งที่เกี่ยวข้องกันน้อยมาก หากไม่ใช่ในงานพิธีกรรม

เมื่อการไหว้ครูกลายเป็น “พิธีกรรม” สำนึกของนักเรียนนักศึกษาระดับปัจเจกก็ไม่มีความหมายพอๆ กับคุณค่าของครูบาอาจารย์ระดับปัจเจกที่ถูกทำให้ไร้ค่าไปด้วย ความยอมรับอันเกิดจากความนับถือคุณธรรมส่วนบุคคลถูกกดให้อยู่ใต้พิธีแสดงความเคารพ “ผู้ใหญ่” ที่มีอำนาจเพียงเพราะมีสถานภาพครูเท่านั้นเอง

เห็นได้ชัดว่าการไหว้ครูที่เป็นพิธีกรรมคือผลผลิตของวัฒนธรรมอำนาจนิยม เพราะหัวใจของอำนาจนิยมได้แก่การบังคับให้ “ผู้น้อย” จำนน “ผู้ใหญ่”

โดยถือว่าผู้ใหญ่คือคนที่ “ผู้น้อย” ต้องแสดงความเคารพเสมอ ต่อให้ความเป็นผู้ใหญ่จะมาจาก “อาชีพ” และ “ฐานันดร” ยิ่งกว่าคุณธรรมหรือความสามารถของบุคคล

ภาพเด็กนักเรียนในชัยภูมิ, หนองคาย, สกลนคร, พิษณุโลก ฯลฯ จัดทำพานไหว้ครูเป็นรูปธนาธร, ตาชั่งเอียง, 250 ส.ว.ใหญ่กว่าประชาชน, ชูสามนิ้ว ฯลฯ สร้างความฮือฮาให้กับสังคม

เพราะโดยพื้นฐานแล้วมันแสดงว่าเด็กมองการเมืองไม่เหมือนรัฐบาลชุดนี้แน่ๆ และที่สำคัญคือเด็กไม่กลัวที่จะแสดงออกมาตรงๆ

แน่นอนว่าการแสดงออกของนักเรียนแบบนี้ทำให้รัฐบาลอับอาย

ผลก็คือข่าวทหาร ตำรวจบุกโรงเรียนเพื่อกดดันให้ลบภาพพานระบาดไปทั่ว

ครูซึ่ง “อยู่เป็น” บางคนจึงสั่งเด็กทำแบบนี้โดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่บอกเลยก็ได้ และในที่สุดการไล่ล่าภาพถ่ายกลายเป็นอีกบันทึกของความอัปยศที่รัฐบาลทหารทำกับประชาชน

เส้นทางที่อื้อฉาวของข่าวทำให้หลายฝ่ายผลักดันจนข่าวซึ่งตอนแรกคือ “ทหารบุกโรงเรียน” กลายเป็น “ตำรวจบุกโรงเรียน” และจบว่า “ไม่มีใครบุกโรงเรียน”

อันเป็นทิศทางที่ไม่มีผู้ร้ายคนไหนไปสั่งเด็กลบภาพทั้งสิ้น

เด็กกับโรงเรียนจึงเป็นคนลบภาพพานไหว้ครูไปเองเฉยๆ ไม่ใช่ทหาร ตำรวจหรือคนของรัฐบาล

เมื่อเส้นเรื่องของการเล่าข่าวเปลี่ยนไป เจ้าหน้าที่รัฐย่อมไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างที่ปรากฏในช่วงแรก แต่ทิศทางข่าวที่เปลี่ยนไม่ได้ก็คือผู้นำรัฐบาลที่กล่าวหาว่าเด็กๆ ที่ทำพานไหว้ครูนั้น “มีคนอยู่เบื้องหลัง”

และยิ่งกว่านั้นคือการยืนยันต่อไปว่าเด็กไม่มีทางคิดหรือทำอะไรแบบนี้ด้วยตัวเองได้อย่างแน่นอน

ในกะลาของคนที่ถูกอวยเป็น “ผู้ใหญ่” ในสังคมไทย ใครก็ตามที่ถูกป้ายสีว่าเป็น “ผู้น้อย” คือคนที่ไม่มีปัญญาคิดอะไรได้ทั้งสิ้น คำพูดของ พล.อ.ประวิตรเรื่องเด็กข้อนี้เหมือนกับ “ผู้ใหญ่” อีกมากที่กล่าวหาว่า “ผู้น้อย” โง่, ถูกหลอก หรือไม่รู้ประวัติศาสตร์ เพียงเพราะพูดหรือแสดงออกต่างจากที่ผู้มีอำนาจต้องการ

อย่างไรก็ดี คนในเครือข่ายผู้มีอำนาจที่ฉลาดกว่า พล.อ.ประวิตร พึงเห็นว่าพานสะท้อนว่า “คนรุ่นใหม่” มีโลกทัศน์กว้างไกลกว่าที่ พล.อ.ประวิตรคิด เพราะสัญลักษณ์ทุกอย่างชี้ว่าเด็กมองเห็น “ระบบ” ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาการเมืองทั้งหมด และยิ่งกว่านั้นคือมองเห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของระบอบอำนาจในสังคม

ขณะที่รองนายกฯ งมงายกับการยัดข้อหาว่าเด็กทำเพราะมีคนสั่งการ สัญลักษณ์ชูสามนิ้วบนพานแสดงความเข้าใจเรื่องการต่อต้านอำนาจที่แพร่หลายถึงระดับมัธยมปลาย ส่วนภาพล้อนายกฯ และตาชั่งที่เอียงข้าง 250 ส.ว. แสดงความรับรู้ถึงความเอียงของกระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระซึ่งเข้าข้างรัฐบาลนี้โดยตรง

ด้วยการแสดงออกของเด็กๆ อย่างที่ผ่านมา สำนักเรื่องความไม่เป็นธรรมทางการเมืองได้หยั่งรากสู่ “คนรุ่นใหม่” จนพวกเขาแปลง “พิธีกรรม” ซึ่งโดยพื้นฐานเกิดเพื่อบังคับให้ “ผู้น้อย” แสดงความเคารพ “ผู้ใหญ่”

ไปเป็นการสะท้อนว่าเขาเห็นประเทศนี้อย่างไร, มองผู้มีอำนาจแบบไหน และมีโลกทัศน์การเมืองอย่างไร

โรงเรียนคือกลไกผลิตซ้ำอุดมการณ์รัฐเพื่อครอบงำสังคม พิธีไหว้ครูจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “พื้นที่ทางอำนาจ” ซึ่งรัฐควบคุมวินัยเด็กๆ ตั้งแต่หัวกบาลถึงง่ามเท้าให้เป็นพลเมืองเชื่องๆ

แต่สิ่งที่เด็กๆ ทำคือการทำให้พิธีกรรมเป็น “พื้นที่ทางการสื่อสาร” ซึ่งแสดงว่าเด็กๆ เป็น “พลเมืองตื่นรู้” ที่ไม่เออออกับรัฐต่อไป

ตรงข้ามกับรัฐที่สะกดจิตตัวเองว่า “คนรุ่นใหม่” ซึ่งชอบประชาธิปไตยเป็นเพียงพวก “คลั่งธนาธร” เพราะถูกหลอก, ถูกปลุกระดม หรือถูกล้างสมอง ความเปลี่ยนแปลงในพานไหว้ครูเป็นส่วนหนึ่งของสำนึกใหม่ใน “คนรุ่นใหม่” ที่ไปไกลจนเห็นความห่วยของ “ระบบ” และรู้ด้วยว่าต้นตอของระบบห่วยๆ นั้นคืออะไร

ปัญญาชนแนวหนุนทหารอย่าง ดร.เสรีพยายามบิดประเด็นว่า “คนรุ่นใหม่” ไม่รู้คุณค่าของข้าวตอก, ดอกไม้ และหญ้าแพรก จนไม่เห็นความสำคัญของพิธีไหว้ครู แต่ถ้าพิธีเหล่านี้มีพลังจริงๆ การจรรโลงพิธีเหล่านี้คงไม่ต้องใช้วิธีบังคับเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาปีหนึ่งทำอย่างที่ทำกันนานนับสิบปีจนปัจจุบัน

สำหรับครูที่รักในสัมมาอาชีวะจริงๆ คุณธรรมและความสามารถของครูคือฐานแห่งความเคารพยิ่งกว่าพิธีกรรมยัดเยียดให้คนพนมมือไหว้ทั้งหมด ความยอมรับนับถือที่จีรังมาจากการมองเห็นคุณค่าของครูในฐานะปัจเจกที่เกิดจากความทุ่มเทให้ศิษย์ตลอดชีวิต

ไม่ใช่การยกมือไหว้ปีละหนกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

อนาคตใหม่ในพานไหว้ครูคืออีกสัญญาณว่าสังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงนี้มีรากฐานในคนรุ่นใหม่ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าที่คิด

การบังคับให้คนรุ่นใหม่ทำตามนั้นอาจทำได้

แต่ในทุกช่องทางที่ทำได้ การต่อต้านผู้มีอำนาจจะปรากฏขึ้นเสมอ

แม้กระทั่งในพื้นที่พิธีกรรมอย่างงานไหว้ครูก็ตาม

เผด็จการทุกยุคเข้าใจว่าอำนาจคือการบังคับให้คนอื่นทำตามที่ผู้นำต้องการ

แต่เนื้อแท้ของการบังคับคือการใช้กำลังข่มขู่ให้คนในสังคมหวาดกลัว

ความรังเกียจที่ประชาชนมีต่อผู้ใช้อำนาจจึงลุกลามเป็นความเกลียดเผด็จการเสมอ

อวสานของเผด็จการส่วนใหญ่เกิดเมื่อคนเกลียดจนกล้าขั้นไม่ยอมจำนนอีกต่อไป