วิเคราะห์สถานการณ์ชายแดนใต้ หลังเลือกตั้ง และ ได้นายกฯ ชื่อ ‘ประยุทธ์’

หลังเลือกนายกฯ ประยุทธ์ ในพื้นที่ชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

ภายหลังที่ประชุมร่วมของรัฐสภาลงมติด้วยคะแนน 500 ต่อ 244 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อสมัยที่สอง บรรยากาศทางการเมืองชายแดนใต้ก็ไม่แพ้การเมืองส่วนกลางเช่นกัน

ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1.สถิติการลงมติก่อน-หลังสะท้อนอะไร

หากดู ส.ส.ทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ จากปาตานี/ชายแดนใต้ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอสงขลา พบว่าแต่ละพรรคโหวตเลือกหรือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ 3 เสียง พรรคภูมิใจไทย ส.ส.เขต 2 เสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 2 เสียง ส.ว. 7 คน

ในขณะที่สนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคประชาชาติ 7 สียง โดยเป็น ส.ส.เขต 6 เสียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เสียง พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เสียง

ไม่มีเสียงจาก ส.ว.เลยแม้แต่คนเดียว

หากพิจารณาจำนวนเสียงที่ประชาชนเลือก ส.ส.เขต (ที่ได้) รวมกัน

ฝั่งฝ่ายค้านชนะฝ่ายหนุนประยุทธ์ คะแนนรวม 56,096 คะแนน

โดยประชาชนลงคะแนนให้จากพรรคพลังประชารัฐ 21,995+28,918+33,076 = 83,989 คะแนน พรรคภูมิใจไทย 17,418+31,286 = 48,704 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 218,790+52,420 = 71,210 คะแนน รวมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 152,990 คะแนน

ในขณะที่คะแนนพรรคประชาชาติ 33,329+37,118+38,361+36,218+28,510+35,550 = 2,090,868 คะแนน ที่สนับสนุนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ไม่นับคะแนนพรรคอนาคตใหม่)

แต่ถ้าพิจารณาพรรคที่ได้คะแนน ส.ส.เขต ที่ไม่เอา/ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตอนหาเสียง ก็จะต้องเอาคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย มาบวกก็จะได้คะแนนมากกว่าที่พลังประชารัฐพรรคเดียว คือ 329,000-83,989 = 245,011 คะแนน เพราะทุกพรรคแม้แต่พลังประชารัฐเองก็ยังไม่กล้ารณรงค์ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น กระแสที่ไม่เห็นด้วยกับ ส.ส. 2 พรรค จากประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยโดยเฉพาะหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา จึงสูงไม่แพ้ที่อื่น โดยเฉพาะหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา มีหลายคนโยงถึงว่า “ไม่เห็นอุดมการณ์การต่อสู้ของคุณปู่หะยีสุหลง โต๊ะมีนา” แม้แต่ “เสี่ยโต้ง” ส.ส.ศรีสะเกษหนึ่งเดียวในสภา กล้าท้าทาย งดออกเสียงให้ประยุทธ์ สวนมติภูมิใจไทยโดยเห็นแก่ประชาชนที่เลือกตนมากกว่า

หากจำได้ก่อนการเลือกตั้ง ในเวทีเสวนาสาธารณะ “สันติภาพชายแดนใต้หลังเลือกตั้ง 62 ข้อเสนอจากประชาชนและนโยบายพรรคการเมือง” โดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี จากสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี และทีมงาน Peace Survey ได้เปิดเผยว่า คะแนนความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ทั้งสามครั้งไม่เคยถึง 5 จาก 10 คะแนน

จึงทำให้ทุกพรรคไม่กล้าชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อการเมืองส่วนกลาง ส.ส.จากหลายพรรคยกเว้น 7 พรรค ยังไม่กล้าประลองอำนาจ คสช.

ดังนั้น จึงทำให้นโยบาย “3 ใน 7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้/ปาตานี” ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน (ข้อที่ 5-7)

“7 ข้อเสนอประชาชน สู่นโยบายชายแดนใต้/ปาตานี” คือ

1. ยกระดับการพูดคุยสันติภาพให้เป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนทุกกลุ่ม ร้อยละ 64.4 มีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

2. เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ โดยเห็นว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน จะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพลเรือน (เป้าหมายอ่อน) ในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ตลาด โรงพยาบาล ปลอดความรุนแรง

3. ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติดและเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง ซึ่งร้อยละ 70.9 เห็นว่า ปัญหานี้สำคัญที่สุด หากจะยุติความรุนแรง

4. ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรัฐด้านการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งคนในพื้นที่ยังคงมีรายได้น้อย แม้จะมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาพื้นที่กว่า 1.3 แสนล้านบาท ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นคำถามว่า การใช้งบประมาณรัฐมีประสิทธิภาพเพียงใด

5. ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม ที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังต้องยอมรับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยรัฐอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

6. การกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครอง ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ มีประชาชนร้อยละ 29.2 รับไม่ได้กับรูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันก็มีเสียงไม่น้อย ร้อยละ 45.8 อีกเช่นกัน ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงไปถึงรัฐอิสระ ซึ่งประชาชนเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่มากที่สุด ส่วนแบบที่เป็นในปัจจุบันต้องการน้อยที่สุด

7. เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย จึงจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยไม่ถูกคุกคาม ยิ่งมีพื้นที่มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย ที่จะทำให้เกิดการถกเถียง ที่สอดคล้องกับความจริงมากขึ้น

2.วิพากษ์วาทกรรม “เผด็จการประชาธิปไตย-กึ่งเผด็จการ”

การเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้คนชายแดนใต้สนใจอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ เหมือนกับคะแนนที่คนออกไปเลือกตั้งที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80

หนึ่งในวาทะเด็ดที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันมากคือ เผด็จการประชาธิปไตยของ ส.ว. “เสรี สุวรรณภานนท์”

“เสรี สุวรรณภานนท์” ส.ว.บทเฉพาะกาล คสช. ได้หลุดวาทะร้อน “นิยมเผด็จการประชาธิปไตย” ในวันโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ทุกคนไม่ยอมรับคำนี้ ในขณะ “เสรี สุวรรณภานนท์” ยอมรับว่าวาทกรรมดังกล่าวนั้นอารมณ์พาไป กลางรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ทางช่อง 32 (https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/videos/842886216094782/)

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี จากสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี อธิบายปรากฏการณ์การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้และการเมืองไทยที่ผ่านมาและอนาคตภายใต้รัฐธรรมนูญนี้สะท้อนถึงการเมืองกึ่งเผด็จการนั้นเอง

การเมืองกึ่งเผด็จการซึ่งกำลังต่อสู้ทางการเมืองที่กรุงเทพมหานคร (การเมืองส่วนกลาง) จึงยากที่อำนาจต่อรองทางการเมืองสำหรับคนชายแดนใต้ โดยมีนักวิชาการและนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาสังคมเชื่อว่า “กระบวนการประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากลจะทำงานควบคู่กับกระบวนการสันติภาพที่มองเห็นคนเท่ากันไม่ว่าแตกต่างทางชาติพันธุ์และฐานะ ที่สำคัญจะยิ่งทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรม อันเป็นปัจจัยหนุนความรุนแรงต่อไป

ดังคำกล่าวยอดฮิตที่ว่า “No Justice No Peace”

3.การปฏิบัติการทางทหารจะถูกตรวจสอบจากนักการเมืองมากขึ้น

สถาบันข่าวอิศรารายงานว่า ปฏิบัติการที่กองกำลังทหาร-ตำรวจเข้าปิดล้อมตรวจค้นจนเกิดการยิงปะทะกับคนร้ายที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ 1 ราย กลายเป็นต้นเหตุของข่าวลือแบบปากต่อปากและเสียงวิจารณ์ตามมา

เหตุเพราะมีบ้านชาวบ้านที่เป็นจุดปะทะเกิดเพลิงไหม้จนวอดทั้งหลัง และมีกระแสโจษขานว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่

ต่อมา นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ลงพื้นที่ไปพิสูจน์ให้เห็นกับตาและพูดคุยกับชาวบ้าน ก่อนจะออกมาโพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดียตั้งข้อสังเกตโดยอ้างคำบอกเล่าของคนในหมู่บ้านว่า น่าจะเป็นปฏิบัติการที่เกินกว่าเหตุ

แต่ฝ่ายความมั่นคงโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาปฏิเสธข่าวอย่างสิ้นเชิง พร้อมเปิดข้อมูลตอบโต้ทำนองว่าน่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงเองมากกว่า ในลักษณะของการเผาทำลายหลักฐานและเปิดทางหนี

จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีความขัดแย้งในพื้นที่ 2 ฝ่ายทั้งในโลกโซเซียลและชุมชนแบ่งออกเป็นสองขั้วเห็นกับไม่เห็นด้วย

กล่าวคือ เห็นด้วยกับปฏิบัติการของหน่วยความมั่นคงจนมีเพจหนึ่งออกมารณรงค์ให้ถอดถอนนายซูการ์โน มะทา ออกจาก ส.ส.ยะลาด้วยข้อหาหนัก “แนวร่วมโจรใต้”

ทำให้นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติและพี่ชายหัวหน้าพรรคประชาชาติออกมาตอบโต้ และมีการติด #Save Sugano Save Patani/Deepsouth People May Allah Al Mighty save and protect them ในโลกโซเชียล

นายซูการ์โน มะทา โพสต์ข้อความ FB ชี้แจงกรณีถูกปฏิบัติการ IO จิตวิทยากล่าวหาว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมโจรใต้ว่า IO (ปฏิบัติการทางจิตวิทยา) น่าจะเป็นของฝ่ายความมั่นคง…มีมาอยู่เนืองๆ ตราบใดที่ผมยังคงยึดในอุดมการณ์ทางการเมืองของผมคือ “รับใช้ประชาชน” ปกป้องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันในฐานะประชาชนคนไทย ภายใต้กฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2560

เสียดายเงินภาษีของประชาชนจริงๆ ครับ แทนที่จะนำมาใช้ในการสร้างความปรองดอง เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 3 จชต.

คงคิดว่าการปิดปาก ปิดตาประชาชนและสื่อแล้วกำหนดขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงนั้นคือหนทางที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้

ยิ่งปล่อยปละละเลยให้มีการใช้ IO อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความเกียจชัง การแบ่งพรรคแบ่งพวกก็จะยิ่งสูงขึ้นในพื้นที่นี้…ถามจริงๆ ครับ…ว่า “อยากเห็นพื้นที่ 3 จชต.เกิดสงบสันติอยู่หรือไม่?”…ประชาชนเขาถามมาครับ เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค 5.0 และประชาชนคนไทยทุกคนก็กินข้าวเหมือนกับผู้ที่ทำหน้าที่ IO อย่าคิดนะว่าประชาชนนั้นโง่? ครับ ขอบคุณ

มีคนเตือนผมว่า “ในอดีตมีอดีต ส.ว.นราธิวาส (ขออนุญาตไม่ขอเอ่ยนามก็เคยถูกปฏิบัติการทางจิตวิทยา IO แบบผมเช่นทุกวันนี้ และสุดท้ายท่าน ส.ว.ท่านนี้ก็ถูกลอบยิง…(รายละเอียดไม่ขอกล่าวถึง)…ประชาชนผู้หวังดีต่อผมเตือนให้ผมระมัดระวังตัวด้วย…ผมไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร และจะยืนหยัดยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้อง และประชาชนคนไทยทุกคน

#หากเกิดอะไรขึ้นก็คงไม่มีเรื่องอื่นใด #ชะตาชีวิตถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) #ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต.2 พรรคประชาชาติ #RIP.IO ปฏิบัติการทางจิตวิทยา #พรรคประชาชาติ

นี่คือวาทกรรมการเมืองทั้งส่วนกลางและชายแดนใต้ที่สอดคล้องกันช่วงนี้ กล่าวคือ ฝ่ายแนวร่วมสืบทอดอำนาจจะจัดการศัตรูทางการเมืองด้วยวาทกรรม “ถ้าส่วนกลางใช้คำว่าไม่รักสถาบัน ถ้าชายแดนใต้จะใช้คำว่าแนวร่วมโจรใต้”

ไม่เพียงเหตุการณ์นี้ ที่สะบ้าย้อยชาวบ้านกำลังตั้งคำถามในรายงานฝ่ายเดียวของหน่วยความมั่นคง

กล่าวคือ ตามข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2562 เวลา 18.40 น. ที่ผ่านมา ขณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ได้ตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าโรงเรียนคอลอมุดอ หมู่ 1 ตำบลจะแหน อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ได้พบรถยนต์ต้องสงสัยยี่ห้อมิตซูบิชิรุ่นไทรทันสีดำ ทะเบียน ขภ 1232 สงขลา จึงขอทำการตรวจค้น

แต่บุคคลภายในรถไม่ยอมให้ตรวจและใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ พร้อมขับรถฝ่าด่านตรวจเพื่อหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงได้ยิงสกัดกระสุนโดนคนร้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไปไม่นานเกิดคำถามจากชาวบ้านว่า ข่าวดังกล่าวจริงไหม เพราะชาวบ้านทราบดีถึงประวัติคนถูกยิงว่าเคยมีส่วนเรื่องยาเสพติดหรือไม่ ทำให้รองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เข้าพบปะสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและเครือญาติของผู้เสียชีวิตให้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

จากสองเหตุการณ์สะท้อนถึงประชาชนในพื้นที่ยังไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ดังนั้น จึงขอเสนอสองข้อคือ ในระยะสั้นให้มีรายงานคู่ขนานอาจจะผ่านคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จริง

และสอง ในระยะยาวต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้โดยเฉพาะจากข้อเสนอของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำเวทีรับฟังความคิดเห็นตลอด 15 ปีไฟใต้

ส่วนในช่วงวันตรุษอิดิลฟิตรี 6-7 มิถุนายน 2562 เยาวชนหญิงมุสลิม ร่วมพลังนับพัน ณ มัสยิดกรือเซะ และตามท้องถนน แต่งกายมลายู สืบสานประเพณี จารึกการแต่งกายที่ดีงาม ทำให้สื่อนอกเสนอข่าวบรรยากาศนี้ที่ชายแดนใต้ (ปตานี) แต่ก็ไม่วายถูกตั้งข้อสังเกตจากเพจ ผีที่คนพื้นที่มองว่าเป็น IO ของรัฐมองว่าอาจทำลายความมั่นคงหรือเสี่ยงต่อสร้างความไม่เป็นไทย

นี่คือบรรยากาศทางการแสดงออกหลังเลือกนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คนชายแดนใต้ดูเหมือนว่าไม่ค่อย Happy สักเท่าไร