มนัส สัตยารักษ์ : หนทางอยู่รอด ของ ว่าที่ ร.ต.ต. ที่เพิ่งก้าวออกจากโรงเรียน

เมื่อพบว่าเงินเดือนจากกรมตำรวจไม่พอใช้ ว่าที่ ร.ต.ต. ที่เพิ่งก้าวออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมองหาหนทางที่จะอยู่รอดได้เพียง 3 วิธี คือ หนึ่ง-เพิ่มรายได้หรือหาอาชีพเสริม สอง-ลดรายจ่าย และสาม-เปลี่ยนอาชีพ

ผมเพิ่มรายได้ด้วยการเป็นหนี้และขอทางบ้าน เคยคิดถึงอาชีพเก่าครั้งเรียนมัธยม คือ เขียนการ์ตูนขาย แต่ก็หมดหนทางจะทำได้เสียแล้ว นิตยสารที่เคยซื้อการ์ตูนของผมเลิกผลิตแล้ว ถึงยังไม่เลิกผมก็ไม่มีอารมณ์ขันพอที่จะเขียนการ์ตูนให้ใครหัวเราะได้

มีอีกอาชีพที่พอจะทำได้ก็คือเป็นนักดนตรี (แซ็กโซโฟน) ถ้าได้เล่นในไนต์คลับรายได้จะสูงทีเดียว ผมมีเพื่อนเป็นหัวหน้าวงคนดัง “นริศ ทรัพยะประภา” สนิทสนมกันจนเชื่อว่าคงไม่ขัดข้องที่ให้ร่วมวง

แต่การเล่นร่วมวงเป็นอาชีพนั้นต้องซ้อมกันอย่างหนัก ผมไม่มีเวลามากพอจะทำได้ เป็นอันว่าวิชาดนตรีช่วยได้แค่ขาย Selmer Alto Saxophone คู่ใจไปในราคาที่ยุติธรรม

ได้แต่คิดอิจฉาเพื่อนนักเรียนนายเรือที่ลาออกไปเป็นกัปตันเรือเอกชน หรือทำงานกรมเจ้าท่า เพื่อนนักเรียนนายเรืออากาศที่เป็นนักบินหรือนายท่าสนามบิน

 

ส่วนในด้านลดรายจ่าย

เท่าที่ผมทำได้ก็คือถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกฌาปนกิจ (หลังจากนั้นอีกหลายปีจึงกลับมาเป็นใหม่)

อีกทางหนึ่ง ผมหยุดให้เขาหักเงินเดือนเพื่อสมทบทุนสร้าง “บ้านพักบุตรข้าราชการมหาดไทย”

ซึ่งผมเห็นว่าไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับผมซึ่งไม่มีศรัทธาในกระทรวงและ รมต. เจ้ากระทรวงนี้แม้แต่น้อย

 

หนทางอยู่รอดทางที่ 3 คือ การเปลี่ยนอาชีพ หนทางนี้ค่อนข้างตีบตันสำหรับนายตำรวจที่จบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์ (รป.บ.) จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเพียงสาขาเดียว ส่วนที่จบปริญญาสาขานิติศาสตร์ ก็ล้วนแต่ใครขอลองใช้ชีวิตที่ตัวเองใฝ่ฝันและฟันฝ่ามานาน

นายตำรวจรุ่นไล่เลี่ยกับผมที่จบจากสามพราน มีบางคนได้ปริญญาตรีนิติศาสตร์มาด้วยจากการศึกษาไปพร้อมกัน บางคนได้เป็นเนติบัณทิตด้วย แต่คนเก่งและขยันเหล่านี้ก็ไม่มีใครเปลี่ยนอาชีพ

มีเปลี่ยนอาชีพไปเพียง 2 คน คนหนึ่งไปเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยของกรมชลประทาน อีกคนหนึ่งไปเป็นนักบินของการบินไทย… พ.ต.ต.ธนเกียรติ วงศาโรจน์

เมื่อครั้งลาออกกัปตันโทรศัพท์ขอโทษเพื่อนที่พบทางรอดไปแต่ลำพัง

“ขอโทษที่ต้องลาออก เงินเดือนตำรวจไม่พอกินว่ะ”

สำหรับตัวผมเองนั้นบางครั้งก็คิดจะลาออกไปทำสวนยางหรือเป็นนักเขียน แต่ใจไม่เด็ดพอจึงเป็นตำรวจจนกระทั่งเกษียณอายุ มิหนำซ้ำในบางเวลายังลืมตัวไปว่ายังเป็นตำรวจอยู่

 

ที่เล่ามาข้างต้นนี้เป็นเรื่องมื่อ 30-40 ปีก่อน ผ่านมาถึงยุคดิจิตอล หลังจากที่คนรุ่นผมเกษียณอายุแล้ว นายตำรวจที่จบจาก รร.นรต. หลายคนคว้าปริญญาตรีนิติศาสตร์มาด้วย ในจำนวนนี้บางคนได้เป็นเนติบัณทิต บางคนไปเอาดีทางปริญญาโท

จึงมีที่เปลี่ยนไปประกอบอาชีพนิติกร ทนายความ อัยการและตุลการ กันทุกปี ปีละหลายสิบ แม้จะอยู่ในครรลองของ “กระบวนการยุติธรรม” เหมือนกัน แต่บทบาทหน้าที่และเงินเดือนต่างกัน

พูดถึงอาชีพทนายความและนักกฎหมายในปัจจุบันนับเป็นอาชีพที่ “ฮิตและแพง” ทำนองเดียวกับในประเทศตะวันตก หลายปัจจัยที่ทำให้เมืองไทยอยู่ในสภาพนี้ เท่าที่นึกออกก็คือ คนหัวหมอมากขึ้น กล้าทำผิดเพราะไม่กลัวการลงโทษ

มีอดีตอาจารย์ทางกฎหมาย ข้าราชการ นายตำรวจระดับสูงที่มีความรู้ มีประสบการณ์และอุดมการณ์ ตั้งสำนักงานกฎหมายและสำนักงานทนายความกันมาก เท่ากับสร้างงานให้ลูกศิษย์หรือลูกน้องนักกฎหมาย

มีกฎหมายใหม่ตามสภาพของบ้านเมือง เช่น กฎหมายเศรษฐกิจ กฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสมัยใหม่ ไปจนถึงกฎหมายเกี่ยวกับการก่อการร้าย ฯลฯ ทำให้ใน “ตลาดค้าความ” ต้องการผู้รู้จริงมากขึ้น

เพราะแทบทุกเรื่องต่างฟ้องร้องกันอุตลุด ล้นศาลและล้นมือทนายความ

ในวงการตำรวจ ไม่เพียงแต่นักเรียนนายร้อยตำรวจที่เตรียมเปลี่ยนอาชีพ ตำรวจชั้นประทวนทั้งหนุ่มและใกล้เกษียณ เมื่อรับปริญญา นบ. แล้วส่วนใหญ่จะหาเวลาไปอบรมหลักสูตรการว่าความของทนาย ซึ่งต้องเรียนและสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

เป็นเรื่องที่มีประโยชน์อย่างมากแม้จะไม่ได้ลาออกและไม่ได้ตีตั๋วเป็นทนายความขึ้นศาล (Lawyer) ก็ตาม ก็จะได้มีอาชีพเสริมเป็นทนายประเภท solicitor คือเขียนฟ้อง ทวงถาม เรียกค่าเสียหาย โต้แย้งสิทธิ์ ฯลฯ …มีงานให้ทำมากมาย

“ทำให้รู้สึกว่าอยู่เมืองไทยง่ายขึ้น…ไม่ยากเท่าไหร่” เป็นคำพูดของจ่าสิบตำรวจ นิติศาสตรบัณทิตท่านหนึ่ง