“เอ็กซ์ตรีม พัวร์” โลกไม่เท่าเทียมที่คนเข้าถึง ‘มือถือ’ ง่ายกว่า ‘น้ำสะอาด’

AFP PHOTO / ROBERTO SCHMIDT

แม้ทุกคนจะลืมตามาดูโลกอย่างเท่าเทียม แต่เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นความเท่าเทียมก็หมดไป

ทารกแรกเกิดในเมืองใหญ่ ห้อมล้อมด้วยแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ย่อมมีโอกาสอยู่รอดและเจริญเติบโตสดใสมากอย่างยิ่ง

เมื่อเทียบกับทารกอีกคนที่ลืมตามาในป่าเขา ที่แม้แต่หมอตำแยยังหายากยิ่ง

โลกพยายามลดช่องว่างดังกล่าวลงโดยอาศัยการพัฒนา ปัญหาก็คือแม้แต่การพัฒนาก็ยังเกิดความไม่เท่าเทียม เนื่องเพราะจำเป็นต้องพึ่งพาหลากปัจจัยหลายองค์ประกอบอย่างยิ่ง

การพัฒนาไม่เพียงจำเป็นต้องพึ่งเงินลงทุน ยังจำต้องมีรัฐบาลที่รับผิดชอบ ไม่ฉ้อฉล ทั้งยังต้องการการคิดใคร่ครวญทั้งในเชิงสารัตถะและรูปแบบมากอย่างยิ่ง การพัฒนาจึงสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้โดยเสมอภาค

ด้วยเหตุนี้ความพยายามในการพัฒนาเพื่อลดช่องว่างที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ แม้จะคืบหน้าอยู่บ้างตามกาลเวลาที่ผ่านไป

ในรายงานการสำรวจว่าด้วยความยากจนและการแบ่งปันความมั่งคั่ง (พีเอสพี) ของธนาคารโลกล่าสุด (ซึ่งเป็นข้อมูล ณ ปี 2013) ปรากฏข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า โลกนี้ยังมีคน “จนสุดขีด” อยู่มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก เมื่อคนบนโลกมีไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าบนโลกนี้ยังมีคนจนสุดขีดอยู่อีกไม่น้อยกว่า 750 ล้านคน

นิยามล่าสุดของความ “จนสุดขีด” หรือ “เอ็กซ์ตรีม พัวร์” คือใครก็ตามที่มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้ไม่เกิน 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน

เทียบเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด คือวันละไม่เกิน 68 บาท!

AFP PHOTO / FETHI BELAID
AFP PHOTO / FETHI BELAID

หากใช้ความยากจนสุดขีดเป็นเครื่องวัดขีดขั้นการพัฒนา อาเซียน ที่เป็นส่วนหนึ่งของเอเชียแปซิฟิกก็นับว่าเป็นภูมิภาคที่โชคดีกว่าอีกหลายภาคส่วนของโลก

โดยเฉพาะในพื้นที่ของโลกส่วนที่เรียกกันว่า “ซับซาฮาราน แอฟริกา” สัดส่วนของคนยากจนสุดขีดที่นั่นสูงกว่าสัดส่วนของโลกมาก 4 คนใน 10 คน (ราว 41 เปอร์เซ็นต์) ที่นั่นยังชีพอยู่ด้วยรายได้ต่ำกว่า 68 บาทต่อวัน

คิดเป็นจำนวนคนมากถึง 389 ล้านคน

ในเอเชียแปซิฟิก คนจนสุดขีดคิดเป็นเพียง 3.5 เปอร์เซ็นต์ (71 ล้านคน) ของประชากรทั้งหมด

ต่ำเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง (2.2 เปอร์เซ็นต์ 10.3 ล้านคน)

แต่ในเอเชียใต้ สภาพการณ์ต่างออกไปสุดขั้ว คนจนสุดขีดที่นั่นยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด คิดเป็นจำนวนคนมากมายมหาศาล 256.2 ล้านคน

แต่หากเราใช้อีกบางอย่าง เป็นตัวชี้วัดการพัฒนา เราจะพบข้อมูลแปลกๆ ที่คาดไม่ถึงอีกมากมาย

ตัวอย่างเช่น หากการเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีเป็นพื้นฐานของการพัฒนาไปสู่การมีสภาวะโภชนาการที่ดี สะอาด และการเติบโตที่เหมาะสมของเด็กๆ ที่เป็นลูกหลานแล้วละก็ ข้อมูลของ “คณะกรรมการระดับสูงว่าด้วยปัญหาน้ำ” ของสหประชาชาติ ก็สามารถแสดงให้เห็นว่า บนโลกนี้มีคนอีกราว 2,400 ล้านคนที่ไม่มี “ส้วม”

1,000 ล้านคนโดยประมาณจากจำนวนกว่า 2 พันล้านดังกล่าว ยังคงใช้ “พื้นที่เปิดโล่ง” สำหรับบรรเทาทุกข์หนัก-เบาประจำวันของตัวเอง

ของเสียเหล่านั้น ไม่ได้ผ่านการบำบัด ผลก็คือสามารถนำไปสู่การระบาดของโรค อาทิ อหิวาต์ หรือสามารถนำไปสู่ภาวะ ทุพโภชนาการ และการชะงักงันของการเจริญเติบโตในเด็กๆ ได้

AFP PHOTO / Farouk Batiche
AFP PHOTO / Farouk Batiche

หรืออีกตัวอย่าง ข้อมูลจากรายงานการพัฒนาของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของคนทั่วโลกที่เข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีรายได้ต่ำ ไปจนถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ที่เสียดแทงอย่างมากก็คือ คนที่เข้าถึงมือถือในประเทศเหล่านั้นคิดเป็นสัดส่วนแล้วสูงกว่าจำนวนคนที่เข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคด้วยซ้ำไป

มือถือสำคัญกว่าน้ำไปแล้วอย่างนั้นหรือ?

ความเป็นจริงที่ย้อนแย้งในแง่ของการพัฒนาประการหนึ่งก็คือ ยิ่งประเทศร่ำรวยมากขึ้น ประเทศยิ่งชราภาพลงเร็วขึ้นและมากขึ้น

“โกลบอล มอนิเตอริ่ง รีพอร์ตส์” ตั้งข้อสังเกตว่า ในราว 40 ชาติในแอฟริกา สัดส่วนของประชากรที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมีสูงเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ตรงกันข้ามกับประเทศที่รวยกว่า 30 ประเทศ สัดส่วนประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปีมีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป

โลกหนึ่งกำลังชราภาพและเรียวลง อีกโลกหนึ่งกำลังเติบใหญ่สู่วัยฉกรรจ์

นี่คือสัจจะของความไม่เท่าเทียมกันบนโลกใบนี้โดยแท้!