เกษียร เตชะพีระ | อันเนื่องมาแต่ชาติ…ยอดรัก

เกษียร เตชะพีระ

ในโอกาสศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อายุครบ 79 ปี ทางร้านหนังสือและชุมชนปัญญา บุ๊ครี : พับลิค เชียงใหม่ ได้จัดงานเสวนา “ชาติที่เรา(จะ)รัก” ขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 25 พฤษภาคมศกนี้ ณ ที่ทำการร้านชั่วคราว เพื่อชวนนักคิดนักเขียน นักวิชาการมาร่วมถกอภิปรายแตกประเด็นต่อยอดจากบทความเรื่อง “ชาติ…ยอดรัก” ของอาจารย์นิธิที่ตีพิมพ์ในคอลัมน์ประจำมติชนสุดสัปดาห์, ฉบับวันที่ 19-25 ตุลาคม 2561, น. 30-31. (www.matichonweekly.com/culture/article_142589)

ผมได้มีโอกาสรับเชิญเข้าร่วมด้วย และอยากนำเนื้อหาที่นำเสนอมาเรียบเรียงเล่าไว้ในคอลัมน์นี้ เผื่อเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านที่อาจไม่ได้ไปร่วมในงานดังกล่าว

โดยผมแบ่งประเด็นเนื้อหาที่พูดคุยออกเป็นดังนี้คือ :

1) สรุปสาระสำคัญของบทความ “ชาติ…ยอดรัก” ของ อ.นิธิ

2) จากกะเทยมุสลิมสู่ความเป็นคนไทย

3) ปัจเจกบุคคลแห่งศาสนาพลเมือง

4) ปัจเจกบุคคลสร้างชาติในหีบบัตรเลือกตั้ง

5) เสรีภาพ, ชะตากรรม และความรัก

1)สรุปสาระสำคัญของ “ชาติ…ยอดรัก”

บทความ “ชาติ…ยอดรัก” ของ อ.นิธิพูดถึงความรักชาติแบบชาตินิยม ว่ามันเปรียบได้กับความรักประโลมโลกย์ (romantic love) อันเป็นความรักผูกพันระหว่างปัจเจกบุคคลพลเมืองสองคน (individuals) ซึ่งเป็นความรู้สึกแบบสมัยใหม่ (modern) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 ลงมา

ความรักเช่นนี้เกี่ยวพันกับเสรีภาพในการเลือก ([educated/ governmentalized] freedom to choose) แม้ว่าเสรีภาพในการเลือกดังกล่าวเอาเข้าจริงจะถูกปลูกฝังมาก่อนผ่านระบบการศึกษาของรัฐหรือกล่อมเกลาโดยรัฐให้เกิดความรู้สึกนึกคิดจิตใจที่สอดคล้องรองรับเข้ากับระเบียบการปกครองมาก่อนก็ตาม

กล่าวในเชิงกรอบทฤษฎีชาตินิยมสากล ซึ่งแบ่งแนวคิดทฤษฎีเรื่องชาติออกกว้างๆ เป็น 2 แนว ได้แก่ :

– Primordialism ที่เชื่อว่าปรากฏการณ์เรื่องความเป็นชาติมีรากหยั่งลึกย้อนหลังไปได้ถึงยุคโบร่ำโบราณในตำนานความเชื่อและค่านิยมทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับ

– Modernism ที่เชื่อว่าปรากฏการณ์เรื่องความเป็นชาติเป็นสิ่งประดิษฐ์คิดสร้างใหม่ที่กำเนิดและปรุงแต่งขึ้นในยุคสมัยใหม่ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ควบคู่ปฏิสัมพันธ์ไปกับการปฏิวัติประชาธิปไตยทางการเมือง การปฏิวัติอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจและการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ทางภูมิปัญญาในตะวันตก แล้วค่อยแต่งเรื่องเล่าประวัติของชาติย้อนยุคเหยียดหยั่งกลับไปในอดีตอันไกลโพ้นตามหลังอีกทีหนึ่ง

ก็อาจจัดอาจารย์นิธิอยู่ในแนวคิดทฤษฎีชาตินิยมสาย Modernism ได้ดังแผนภูมิด้านล่างนี้ :

2)จากกะเทยมุสลิมสู่ความเป็นคนไทย

ผมคิดว่าเราอาจเข้าใจความรักชาติแบบชาตินิยมที่ อ.นิธินำเสนอได้ง่ายขึ้นโดยผ่านการวิเคราะห์ทำความเข้าใจเรื่องเอกลักษณ์แห่งชาติ (national identity) ด้วยการนำมันไปวางเทียบเคียงกับเอกลักษณ์ชุมชน (community identity) และเอกลักษณ์บุคคล (individual identity/self-identity) ในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย (ในแนวการศึกษาภาษาศาสตร์แบบร่วมเวลาหรือ synchronic approach แทนที่แนวการศึกษาภาษาศาสตร์ตามลำดับเวลาหรือ diachronic approach) ผ่านบทสรุปสังเขปของวิทยานิพนธ์ปริญญาโทเรื่อง “กะเทยในสังคมมุสลิม” (พ.ศ.2546) ดังต่อไปนี้ :

“เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน มีการนำเสนอวิทยานิพนธ์ของ น.ส.สมฤดี สงวนแก้ว อายุ 26 ปี นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคม(วิทยา)และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “กะเทยในสังคมมุสลิม” โดยเก็บข้อมูลวิถีชีวิตของกะเทยในจังหวัดปัตตานี อายุ 19-24 ปี และ 25-39 ปี จำนวน 8 คน ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นชนชั้นกลาง มีอาชีพครู รับราชการ และค้าขาย

“น.ส.สมฤดีกล่าวว่า ตนสนใจชีวิตของกะเทยมุสลิมเพราะเป็นสังคมที่เคร่งครัดทางศาสนามาก ในบทบัญญัติของศาสนาระบุว่า ห้ามมีการแปลงเพศ ห้ามเปลือยกายใต้ผ้าห่มกับชายด้วยกัน อีกทั้งถือการเป็นกะเทยเป็นสิ่งผิดและบาป ชายที่เป็นกะเทยจะถูกชาวมุสลิมเรียกว่า “ปอแน” เป็นคำดูถูกเหยียดหยาม

“จากการเก็บข้อมูล กะเทยมุสลิมใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ มีชีวิตกดดัน คนรอบข้างจะพูดจาประชดตลอดเวลาว่าเป็นพวกหนักโลก กะเทยเหล่านี้ไปไหนจะถูกไล่และขว้างปาสิ่งของ ที่รุนแรงกว่านั้นคือถูกผู้ชายลากไปรุมทำร้ายร่างกาย

“นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีลูกเป็นกะเทย คนในหมู่บ้านก็จะเหยียดหยามครอบครัวนั้นด้วย ทำให้กะเทยบางคนต้องไว้หนวดเคราอำพรางตน แต่ช่วงเวลาที่กะเทยมุสลิมสามารถแสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนได้คือเวลากลางคืน สถานที่พบปะเป็นร้านน้ำชา ในตัวเมือง ผับบางแห่ง คนเหล่านี้จะแต่งหน้าทาปากกันเต็มที่

“น.ส.สมฤดีกล่าวอีกว่า กะเทยมุสลิมส่วนใหญ่ยังมีคู่นอน โดยเป็นเด็กวัยรุ่นชายในหมู่บ้าน อายุ 11 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 45 ปี เด็กวัยรุ่นเหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน 20-50 บาท แต่ถ้าบริการถูกใจจะได้ 100-200 บาท โดยไม่มีพันธะผูกพันต่อกัน วัยรุ่นชายหลายคนเต็มใจ เพราะวัยรุ่นมุสลิมถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงจะถูกจับแต่งงานทันที

“กะเทยพวกนี้รู้ดีว่าการเป็นกะเทยเป็นบาป แต่ไม่สามารถปฏิเสธวิถีชีวิตที่เคร่งครัดได้ พวกเขาจะปฏิบัติตนด้วยการไถ่บาปด้วยการถือศีลอด บริจาคทานมากกว่าคนอื่น ส่วนการไปมัสยิดเพื่อปฏิบัติศาสนกิจนั้นจะไปเฉพาะวันสำคัญๆ เท่านั้น เมื่อไปถึงมัสยิด กะเทยจะไม่สามารถแสดงออกมาได้ เพราะเกรงกลัวโต๊ะอิหม่ามและผู้เคร่งครัดศาสนา ซึ่งรวมตัวอยู่จำนวนมาก อาจทำให้เกิดความรุนแรงกับตัวเองได้

“อย่างไรก็ตาม กะเทยมุสลิมอยากให้สังคมเข้าใจเขาบ้าง ที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้” น.ส.สมฤดีระบุ” (มติชนรายวัน, 18 มิถุนายบน 2546, น. 12)

ตัวอย่างชีวิตเศร้าของ “กะเทยมุสลิม” ข้างต้นสะท้อนความขัดแย้งกันในตัวบุคคลคนเดียวเหล่านั้นระหว่าง

– “ความเป็นกะเทย” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์บุคคลหรือ individual or self-identity ที่พวกเขาไปค้นพบว่าตัวเองมีและเป็นนอกชุมชนหมู่บ้าน เมื่อไปศึกษาต่อระดับสูงขึ้น ไปรับราชการหรือไปค้าขายในเขตเมือง (Gesellschaft) vs.

– “ความเป็นมุสลิม” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชุมชนหรือ community identity ที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังกล่อมเกลาให้ยึดถือเป็นของตนตั้งแต่กำเนิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวและชุมชนหมู่บ้านร่วมศาสนา (Gemeinschaft)

ที่น่าเห็นใจคือ คนเหล่านี้เมื่อกลับมาอยู่ในชุมชนหมู่บ้าน ก็ไม่อาจปฏิเสธละเลิกเอกลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ได้ พวกเขาทั้งเลือกเป็นและจำต้องเป็น “กะเทย” กับ “มุสลิม” ควบคู่กันไป ทั้งที่ตัวเองรู้อยู่แก่ใจว่าเอกลักษณ์ทั้งสองนั้นขัดแย้งตึงเครียดกันตามหลักศาสนาอิสลามแต่เดิม จึงต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ จากสายตาชาวบ้าน

หรือแม้ยามไม่มีใครรู้เห็น พวกเขาก็ยังสำนึกผิด (guilty) ในใจ เพราะถึงอย่างไรตัวเอง/พระอัลเลาะห์ก็เห็น จึงหาทางทำบุญกุศลเพิ่มเติมชดเชยบาปผิดในใจนั้นด้วยการถือศีลอดหรือให้ทานเป็นพิเศษ เป็นต้น

จากนี้จึงพอตั้งข้อสังเกตเชิงสันนิษฐานได้ว่า ชาย/หญิงที่สร้างเนื้อสร้างตัวเองขึ้นมาทั้งในด้านฐานะทางเศรษฐกิจและเอกลักษณ์บุคคลล้วนแต่สร้างตัวเองขึ้นในตลาด (ทั้งตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า ตลาดแรงงานและตลาดวัฒนธรรม) เสมอ

ฉะนี้แล้วสังคมเมืองสมัยใหม่ที่ชาย-หญิงจากชุมชนหมู่บ้านชนบทร้อยพ่อพันแม่ร้อยแปดพันเก้าภูมิหลังเหล่านี้อพยพเข้าไปอยู่จึงย่อมกลายเป็นที่ประชุม/ที่ชุมนุมของเอกลักษณ์ของบุคคลหลากหลายต่างๆ นานามากมาย ซึ่งก็คือพวกเขาล้วนแต่เป็น “คนแปลกหน้า” ไม่รู้จักเทือกเถาเหล่ากอ สกุลรุนชาติและหัวนอนปลายตีนของกันและกัน

ความแปลกหน้าของเหล่าคนแปลกหน้าย่อมนำมาซึ่งความแตกต่าง ขัดแย้ง ปะทะ วุ่นวาย โกลาหลได้ เสมอเสมือนหนึ่งการจราจรบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้าอยู่ในรถแต่ละคัน/คนเดินถนนแต่ละคน ต่างก็ไม่รู้จักมักคุ้นกันและกัน เดาใจกันยาก หากแม้นไม่มีกฎจราจรที่รับรู้ร่วมกันคอยกำกับควบคุม (สัญญาณไฟจราจร, ทางม้าลาย, ป้ายจราจร ฯลฯ)

ในความหมายนี้ เอกลักษณ์แห่งชาติ (national identity) จึงช่วยทำให้หรือเปิดโอกาสความเป็นไปได้ให้บรรดา “คนแปลกหน้า” ทั้งหลายสามารถกลายเป็น “เพื่อนร่วมชาติ” “เพื่อนร่วมประเทศ” หรือ “เพื่อนคนไทย” ด้วยกัน คือสร้างสายสัมพันธ์/เอกลักษณ์ในจินตนากรรมติ๊งต่างขึ้นมาในหมู่คนแปลกหน้าในสังคมเมืองสมัยใหม่นับหลายสิบล้านคนนั่นเอง

เรารักชาติแบบชาตินิยม คือรักคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักมักคุ้นหรือแม้กระทั่งไม่เคยเห็นหน้าค่าชื่อเลยเหล่านี้ได้และรักลง ก็เพราะเขามีเอกลักษณ์แห่งชาติเดียวกับเรา คือเป็น “เพื่อนร่วมชาติ” หรือ “เพื่อนคนไทย” ของเรานี่เอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)