เศรษฐกิจ / งานเร่งด่วน วัดฝีมือรัฐบาล ‘บิ๊กตู่ 2’ ดันงบ ’63-หาเงินอัดฉีด ศก.ทะยาน

เศรษฐกิจ

 

งานเร่งด่วน

วัดฝีมือรัฐบาล ‘บิ๊กตู่ 2’

ดันงบ ’63-หาเงินอัดฉีด ศก.ทะยาน

 

งบประมาณ 2563 มีกำหนดล่าช้ากว่ากำหนดเดิม จากต้องแล้วเสร็จและประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงเวลานี้เป็นที่แน่ชัดแล้วต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 แทน

ปฏิทินงบประมาณถูกเลื่อนออกไปเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีใหม่เข้ามาปรับแก้งบประมาณตามนโยบายที่หาเสียงไว้

ดังนั้น สำนักงบประมาณจึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ให้ปรับปฏิทินงบประมาณใหม่สอดคล้องกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม

รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงมีเวลาทำงานไม่มาก เพื่อพิจารณางบฯ ที่เสนอขอไว้ มีกำหนดให้ยืนยันคำของบฯ ให้สำนักงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม 2562

หลังจากนั้นจะเสนอต่อสภาวาระที่ 1 ช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 และสภาพิจารณาวาระที่ 2-3 ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเสนอให้วุฒิสภากลางเดือนธันวาคม 2562 จากนั้นจึงนำร่าง พ.ร.บ.งบฯ ทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 กำหนดกรอบงบฯ ไว้ที่ 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 2.35 ล้านล้านบาท, รายจ่ายลงทุน 6.91 แสนล้านบาท, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 8.76 หมื่นล้านบาท, รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท

แน่นอนเมื่องบประมาณแผ่นดินล่าช้า สร้างความกังวลถึงเงินที่รัฐนำมาใช้จ่ายว่าจะเกิดเดดล็อกหรือไม่

 

เท่าที่สอบถามไปยังกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ให้คำตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า งบฯ ประจำสามารถเบิกได้ปกติ โดยให้อิงการเบิกจ่ายจากงบฯ ปี 2562 ส่วนงบฯ ลงทุนถ้ายังไม่มีการลงนามสัญญา ไม่มีการผูกพันงบฯ มาก่อน ต้องรอกฎหมายงบประมาณมีผลจึงจะเบิกจ่ายได้

งบฯ ที่สามารถเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง เช่น เงินเดือนข้าราชการ งบฯ ลงทุนที่ลงนามสัญญาไว้แล้ว งบฯ ดำเนินนโยบายสวัสดิการต่อเนื่อง เช่น เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี เบี้ยคนชรา งบฯ บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น โดยสามารถเบิกจ่ายไม่เกิน 50% ของงบประมาณปี 2562

ส่วนงบฯ ลงทุน 6.91 แสนล้านบาทต้องมาดูว่ามีการผูกพันสัญญาไว้เท่าไหร่ เป็นงบประมาณใหม่เท่าใด รวมถึงต้องรอดูว่ารัฐมนตรีเข้ามาทำงานใหม่ จะมีการรื้องบฯ ลงทุนอย่างไรบ้าง

ตามที่ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณxระเมินไว้ คาดว่ารัฐบาลจะไม่รื้อกรอบงบประมาณที่กำหนดไว้ 3.2 ล้านล้านบาท เพราะถ้ารื้อกรอบงบประมาณต้องนับหนึ่งใหม่ การนำงบฯ มาใช้จะล่าช้าจากเดือนมกราคม

เท่าที่ดูสถิติย้อนหลังถ้าไม่เกิดวิกฤตทางการเมือง ไม่มีสภา รัฐบาลทุกชุดจะเร่งการจัดทำงบประมาณให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาให้ได้ แม้แต่ช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2547 ยังสามารถจัดทำงบประมาณแล้วเสร็จและนำมาใช้ได้ทันวันที่ 1 ตุลาคม

หากรัฐบาลใหม่ต้องการใช้งบประมาณเพิ่มเติมสามารถจัดทำเป็นงบประมาณเพิ่มเติมกลางปีได้ โดยงบฯ กลางปีจะเริ่มจัดทำช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม และประกาศใช้ในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดwx ซึ่งมีข้อแม้ของการจัดทำงบฯ เพิ่มเติมต้องนำมาจากรายได้เก็บภาษี ไม่สามารถกู้มาใช้จ่าย

ทั้งนี้ รัฐบาลประยุทธ์ 1 จัดทำงบฯ กลางปีถึง 3 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2559 งบฯ กลางปีอยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท ปี 2560 งบฯ กลางปีอยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท และปี 2561 งบฯ กลางปีอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท

ดังนั้น คงประเมินไม่ยากว่าถ้ารัฐบาลประยุทธ์ 2 อยากใช้เงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำงบฯ กลางปีเพิ่มเติม รวมถึงสามารถจัดสรรงบฯ เพิ่มเติมเข้าไปอยู่ในงบประมาณปี 2564 ซึ่งเริ่มจัดทำช่วงเดือนพฤศจิกายนช่วงเวลาเดียวกับงบฯ กลางปี

รัฐบาลใหม่คงต้องเร่งไม่ให้งบประมาณล่าช้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเบิกจ่ายเงินงบฯ ลงทุน และเศรษฐกิจ

 

“ลวรณ แสงสนิท” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า งบประมาณล่าช้าทำให้กระทบต่อการเบิกจ่ายเงินงบฯ ลงทุนไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562) ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลใหม่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจ

แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่นิ่งนอนใจ ต้องเร่งรัดการใช้จ่ายที่พอทำได้ อาทิ สัมมนา รวมถึงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อดูแลเศรษฐกิจในปี 2562 ให้เติบโต กระทรวงการคลังเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้นำเสนอรัฐบาลมีทั้งมาตรการแบบธรรมดา จนไปถึงมาตรการยาแรง การนำมาใช้จะต้องดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยว่าเป็นอย่างไร

“หากใช้ยาแรงอาจเห็นผลเร็ว แต่ยาแรงจะมีต้นทุน และใช้เงินมาก ถ้านำมาใช้ไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มาตรการไม่ได้ผลมากนัก และเป็นการใช้งบประมาณสิ้นเปลือง ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะเลือกใช้มาตรการใด”

นอกจากนี้ ต้องติดตามว่ารัฐบาลใหม่จะหยิบยกนโยบายหาเสียงใดมาใช้บ้าง โดยกระทรวงการคลังนำนโยบายหาเสียงรัฐบาลใหม่ 8-9 มาตรการมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินถึงงบประมาณ พบว่านโยบายหาเสียง อาทิ สวัสดิการคนจน เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาท แจกคูปองซื้ออุปกรณ์ผู้สูงอายุ มารดาประชารัฐ

ต้องใช้เงินเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

 

ในส่วนของเงินทราบมาว่าสำนักงบประมาณเตรียมพร้อมไว้ให้รัฐบาลใหม่แล้ว 1 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินนี้น่าจะเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจปลายปี โดยเงิน 1 แสนล้านบาทจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 0.3%

กระทรวงการคลังหวังว่าเศรษฐกิจปีนี้โตถึง 3.8% สูงกว่าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ว่าเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 3.6% เนื่องจากกระทรวงการคลังประเมินตัวเลขไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ขอติดตามตัวเลขต่างๆ ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน และมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลใหม่ ก่อนจะประเมินเป้าหมายเศรษฐกิจใหม่ในเดือนกรกฎาคม

ทั้งเอกชนและนักวิชาการ มีความเป็นห่วงการจัดทำงบประมาณ 2563

 

“ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีความเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในประเทศ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ล่าช้าจะเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะขยายตัวชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้

ด้าน “นริศ สถาผลเดชา” เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ผลจากงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และความไม่มั่นใจทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทีเอ็มบีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 โตได้แค่ 3% ซึ่งต่ำกว่าที่อื่น เพราะเท่าที่ดูเศรษฐกิจไตรมาสแรกโตเพียง 2.8% และคาดว่าไตรมาส 2 ไม่ต่างจากไตรมาสแรก ครึ่งปีหลังคาดว่าจะโตได้ไม่ถึง 4% ดังนั้น คิดว่าทั้งปีนี้โตได้ 3% เป็นตัวเลขที่เหมาะสมแล้ว

ขณะที่ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความกังวลกับงบประมาณปี 2563 ล่าช้า 1 ไตรมาส ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนของรัฐบาลเพราะงบฯ ใหม่ๆ จะออกไม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้เพียง 3.5% จากกรอบ 3.5-3.8%

โดยให้ความเห็นต่อว่า กรณีกระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอรัฐบาลใหม่ 1 แสนล้านบาทนั้น คงต้องขอดูรายละเอียดของโครงการและการใช้งบประมาณก่อน คาดว่ามาตรการออกเร็วสุดช่วงกลางเดือนสิงหาคม หรือต้นเดือนกันยายน ถือเป็นช่วงปลายไตรมาส 3 แล้ว ดังนั้น ผลต่อเศรษฐกิจไตรมาส 3 คงไม่มาก และหากเริ่มใช้ช่วงไตรมาส 4 ต้องดูว่ามีปัญหางบฯ หรือไม่ เพราะงบประมาณปี 2563 ถ้าเป็นโครงการใหม่ๆ ต้องรอวันที่ 1 มกราคม 2563

ในปีงบประมาณ 2563 ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี เกิดเหตุงบประมาณล่าช้า จากก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อปีงบประมาณ 2555 โดยล่าช้า 4 เดือนมีผลบังคับใช้วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 จากเหตุการเมืองวุ่นวาย

ปีนี้ผลจากการเมืองทำให้งบฯ ล่าช้าเช่นกัน และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพจาก 2 ปีก่อน เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้เกิน 4% เป็นระดับที่มีศักยภาพที่กระทรวงการคลังวางไว้

  ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จึงเป็นที่ถูกจับตาและคาดหวังให้ผลักดันและใช้งบฯ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยให้เติบโตไม่แพ้ 2 ปีที่ผ่านมา