กรองกระแส / อำนาจที่เปลี่ยนไป รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนจะชี้ขาด

กรองกระแส

 

อำนาจที่เปลี่ยนไป

รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ประชาชนจะชี้ขาด

 

เหมือนกับการที่สมาชิกรัฐสภาจำนวน 500 คนอันประกอบด้วย 249 ส.ว. กับ 251 ส.ส.ที่พร้อมใจกันขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงชัยชนะของ คสช.และของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญทางการเมือง

เพราะแม้จะมีรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แล้วเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ก็พ่ายแพ้ให้แก่พรรคพลังประชาชน

เพราะแม้จะมีการใช้ “อภินิหารทางกฎหมาย” ล้มนายสมัคร สุนทรเวช ล้มพรรคพลังประชาชน กระทั่งได้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาเมื่อเดือนธันวาคม 2551 มีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 แต่เมื่อเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ก็พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย

จนในที่สุดต้องมีการก่อการเคลื่อนไหวโดย กปปส.อันนำไปสู่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 โดย คสช.รับภาระในการจัดระเบียบทางการเมืองกระทั่งตรารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกมาและเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 แล้วพรรคพลังประชารัฐก็ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น จัดตั้งรัฐบาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

หากถือว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคือชัยชนะ แต่ชัยชนะนี้วางอยู่บนรากฐานอันแข็งแกร่งและมั่นคงมากน้อยเพียงใด นี่คือโจทย์ใหญ่ทางการเมืองที่จะแสดงผลสะเทือนตามมาในอนาคตอันใกล้

 

อภินิหารทางกฎหมาย

ความชอบธรรมการเมือง

 

ต้องยอมรับว่าชัยชนะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มาเป็นชัยชนะที่วางอยู่บนรากฐานที่วางกฎกติกาเพื่อชิงความได้เปรียบและอำนวยประโยชน์ให้กับตนเอง

ไม่ว่าจะโดยรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยองค์กรอิสระ

ผลการเลือกตั้งในเบื้องต้นพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตรพ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่และพันธมิตรอย่างเด่นชัด

แต่อภินิหารทางกฎหมายผ่านสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้จำนวน ส.ส.ทางด้านต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช.หดหายไปเท่านั้น หากแต่ยังเสกปั้นจำนวน 11 ส.ส.ขึ้นมาจาก 11 พรรคการเมืองขนาดเล็ก

เมื่อนำเอา 11 ส.ส.ไปผนวกเข้ากับ 115 เสียงของพรรคพลังประชารัฐก็ทำให้ได้ 126 เสียงขึ้นมาโดยพื้นฐาน และเมื่อนำไปผนวกเข้ากับ 250 ส.ว. ก็เท่ากับได้ 376 ส.ส.ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เข้าร่วมในภายหลังก็รู้ดีว่าอะไรคือเหตุผลของการเข้าร่วม และผลก็คือการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่บนในลักษณะเดียวกันกับการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2551

สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองมิได้เปลี่ยนไปจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 แม้จะผ่านการจัดระเบียบจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ตาม

คำถามก็คือ นี่ละหรือคือ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อย่างที่กู่ร้องก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2557

 

ปฏิรูปการเมือง

กับการเมืองเก่า

 

ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมองผ่านพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะมองผ่านพรรคประชาชนปฏิรูป อันถือได้ว่าเป็นเครือข่ายของ คสช.

การเมืองได้ย้อนยุคไปก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

หากถือว่านี่คือความพยายามในการปฏิรูปการเมือง แต่ผลการเลือกตั้งก็ปรากฏออกมาว่าไม่เพียงแต่ยังได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หากแต่ยังได้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประสานเข้ากับนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

การเข้ามาของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา คือการเดินตามรอยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

อย่าได้แปลกใจหากจะปรากฏเป็นข่าวการแย่งชิงตำแหน่งในห้วงแห่งการจัดตั้ง ครม.อันยาวนาน ไม่เพียงแต่จากกลุ่มและมุ้งการเมืองเดิมที่ดำรงอยู่ หากแต่ยังมีกลุ่มใหม่อย่างเช่นกลุ่มอีสานตอนบน กลุ่มด้ามขวานทองไทย เป็นต้น

ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งทำให้ 251 เสียงในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความไม่แน่นอนเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่า 2 เสียงจากพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ไม่ว่า 19 เสียงจากภาคอีสานตอนบน ไม่ว่า 13 เสียงจากภาคใต้ หรือแม้กระทั่ง 10 ส.ส. จาก 10 พรรคการเมือง

ฐานการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงวางอยู่บนความไม่แน่นอนเป็นอย่างสูง

 

การเมืองหลังยุค คสช.

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมา 5 ปีจำหลักอย่างหนักแน่นอยู่กับสายตาของประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ความเป็นจริงที่สำคัญก็คือ การแปรเปลี่ยนในลักษณะอันเป็นสภาพการณ์ใหม่

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนมิถุนายน 2562 แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนพฤษภาคม 2557 แม้จะมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ แต่ก็เป็นการดำรงอยู่ที่ไม่เหมือนเดิม

แม้จะมี 250 ส.ว.เป็นฐานกำลังอันแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยชี้ขาดอย่างแท้จริงอยู่ที่ 500 ส.ส.ซึ่งมีประชาชนเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ

การต่อสู้บนหนทางรัฐสภาจึงมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมรภูมิที่ร้อนแรงและเข้มข้นเป็นลำดับ