กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “งานฉลอง ของผู้กล้า” ให้คุณค่ากับการลงมือทำ

ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศอเมริกา

จอห์นและเพื่อนๆ อีกสี่คน กำลัง “นั่งรอ” อยู่ในห้องแคบๆ ภายในตึกเล็กๆ ขนาดสองชั้น

ภายนอกห้องแคบๆ มีเสียงอื้ออึงของผู้คนเกือบร้อย มารวมตัวกัน

เสียงดนตรีและเสียงเพลงจากดีเจ เล็ดลอดออกมาให้ได้ยิน

ราวกับว่า เป็นงานเลี้ยงฉลองเหตุการณ์สำคัญอะไรสักอย่างหนึ่ง

เวลาผ่านไปราว 10 นาที

มีเสียงประกาศดังขึ้น จาก “เดวิด” หัวหน้าของกลุ่มคนกลุ่มนี้

“เอาล่ะ พวกเราได้เวลาแล้ว พร้อมจะพบกับพวกเขาหรือยัง”

ผู้คนโห่ร้อง ส่งเสียงเชียร์ดังสนั่น

“พร้อมแล้วๆ”

เดวิดจึงประกาศเชิญกลุ่มคนสำคัญของค่ำคืนนี้

“ขอเชิญ จอห์น และทีมงาน “รถยนต์ลอยฟ้า” ขึ้นมาบนเวทีได้เลยครับ”

เสียงเฮอื้ออึง ดังไปทั่วห้อง

ณ ห้องแคบๆ แห่งนั้น

จอห์นและทีมงาน “รถยนต์ลอยฟ้า” ลุกขึ้น และวิ่งออกทางประตูข้าง

ขึ้นเวที พร้อมโบกมือทักทายเพื่อนๆ พนักงานทุกคน พร้อมรอยยิ้ม

เมื่อเสียงอื้ออึงสงบลง

เดวิดจึงประกาศให้ทุกคนทราบว่า

“อย่างที่ทุกคนทราบกันดี โครงการรถยนต์ลอยฟ้า ของจอห์นและทีมงานนั้น

เป็นโครงการสำคัญ นับว่าเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของบริษัทเรา

ไม่เคยมีใครที่มีความกล้าหาญ ท้าทาย วิทยาศาสตร์ สุดโต่งขนาดนี้มาก่อนในบริษัทเรา

วันนี้ โครงการนี้มาถึงจุดสิ้นสุด ไม่สามารถไปต่อได้ สภาพแวดล้อมของตลาดยังไม่พร้อม

แต่สิ่งที่เราได้มาคือ การเรียนรู้มหาศาลจากการทดลอง ทีมงานนี้ได้ทำลงไป

แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของ “นวัตกร” อย่างแท้จริง

บัดนี้ ได้เวลาอันควรแล้ว เรามาร่วมฉลองให้กับ “ความล้มเหลว” อันน่าทึ่งนี้ด้วยกันเถอะ”

เสียงเพลงดังขึ้น ผู้คนโห่ร้อง ปรบมือแสดงความยินดี ชนแก้วกัน อย่างสนุกสนาน

“นี่คือ ตั๋วเดินทางไปพักผ่อนบนเรือสำราญในเม็กซิโก เวลาสองสัปดาห์” เดวิด กล่าวเสริม

“จอห์น คุณพาทีมงานไปพักผ่อนให้เต็มที่ แล้วกลับมาเริ่มโครงการใหม่กันอีกเร็วๆ นี้ เยี่ยมมาก!”

 

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีท่านผู้บริหารหลายๆ ท่าน เข้ามาถามผมทำนองว่า

อยากส่งพนักงานไปเรียนต่อด้าน “นวัตกรรม” ที่ d.school มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เหมือนที่ผมเรียนมา

ต้องทำอย่างไร

ผมก็ได้แต่ตอบไปอย่างสุภาพว่า “มันอาจจะไม่ได้เหมือนการสมัครเรียนสาขาวิศวกรรม หรือบริหารธุรกิจ อย่างที่เข้าใจกัน”

เพราะที่จริงๆ แล้ว d.school ไม่ได้มีการให้ “ปริญญาบัตร” ตรี โท เอก เหมือนกับคณะอื่นๆ

โรงเรียนแห่งนี้ ตั้งอยู่ตรงกลางมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ไม่มี “นักเรียน” เป็นของตัวเองแม้แต่คนเดียว

แถมไม่มีการให้ปริญญาบัตร (Degree) หรือประกาศนียบัตร (Certificate) ใดๆ

เป็นสถานที่ที่ให้ “ความรู้” เรื่อง กระบวนการสร้าง “นวัตกรรม” อย่างเป็นระบบที่เรียกว่า “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)”

โดยนักเรียนจากคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย จะต้องกรอกใบสมัคร แข่งกันเข้ามาเรียนอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอ นักกฎหมาย วิศวกร คุณครู นักธุรกิจ

ต่างต้องส่งใบสมัคร และผ่านการ “สัมภาษณ์” อย่างเข้มข้น

เพื่อทดสอบ “ทัศนคติ” และ “ความสามารถ” ที่จะสามารถเป็น “นวัตกร” ได้

โดยอัตราการตอบรับได้เข้าเรียนอยู่ที่ประมาณ หนึ่งในห้า หรือ 20% เท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจคือ Design Thinking สามารถนำนักเรียนจากต่างคณะ มานั่งทำงานร่วมกันได้

จริงๆ เรียกว่า “จำเป็น” ต้องมีนักเรียนจากหลายคณะ มาเรียนด้วยกัน อาจจะถูกมากกว่า

เพราะหลักการแรกของการสร้าง “นวัตกรรม” ก่อนที่จะเริ่มเรียนวิชาใดๆ

ก็คือ การที่คนต่างสาขา สามารถมาทำงานร่วมกันได้ มักจะเกิดสิ่งใหม่ง่ายกว่าคนเหมือนกันมาอยู่ด้วยกัน

หรือที่เรียกว่า “Diversity (ความหลากหลาย)” นั่นเอง

 

ห่างจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือ

ณ เมืองแห่งการศึกษาระดับโลก ชื่อว่า “บอสตัน”

ที่มีมหาลัยชื่อดังระดับโลกมากมาย อาทิ ฮาร์วาร์ด (Harvard) หรือ เอ็มไอที (MIT)

โจ อิโต (Joi Ito) ผู้อำนวยการสถาบัน MIT Media Lab

สถาบันวิจัย ที่ทำการทดลองเรื่องของอนาคตล้ำๆ มากมาย

ถึงขนาดที่บอกว่า ถ้ามีใครหรือสถาบันใดทำเรื่องวิจัยนั้นๆ อยู่แล้ว

MIT Media Lab จะ “ไม่ทำ”

จะทำแค่สิ่งที่ยังไม่มีใครทำ เท่านั้น

“ล้ำ” ขนาดนั้นเลย

โจ เขียนไว้ในหนังสือขายดี เล่มล่าสุด เพิ่งออกมาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Whiplash”

บอกเล่าวิธีการทำงาน และแนวคิดของ MIT Media Lab

ซึ่งเขาพูดถึงหลักการ “Antidisciplinary” ไม่ใช่ “Multidisciplinary”

“ต่อต้าน” วิชาอาชีพเดิมๆ มากกว่าแค่ใช้ “วิชา” เดิมๆ มายำรวมกัน

เราคงจะพอทราบว่า ยุคสมัยนี้นั้น การนำคนที่มีวิชาต่างกัน มาทำงานร่วมกัน

ก็ถือเป็น “พื้นฐาน” ที่สำคัญ ของการสร้าง “นวัตกรรม”

หรือที่เราเรียกว่า “Multidisciplinary”

แต่ว่า MIT Media Lab เหนือขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง

เขามองว่า การทำงานในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ “วิชา” เก่าๆ มาสร้าง “นวัตกรรม” ได้อีกแล้ว

วิศวกร มาทำงานกับ นักธุรกิจ

ก็อาจจะได้ธุรกิจที่เกี่ยวกับ “วิศวกรรม” ใหม่ๆ หากยึดติด “วิชา” ของตนเอง

ถ้าใช้หลักการของ Antidisciplinary ที่ต้องทิ้ง “วิชา” เดิม เพื่อสร้าง “วิชา” ใหม่ แล้วล่ะก็

วิศวกร มาทำงานร่วมกับ คุณหมอ

อาจจะได้เป็น นักตัดต่อพันธุกรรม มือฉมัง

เป็น “ศาสตร์” ใหม่ที่มีมาสักพัก ซึ่งเกิดจากการไม่ยึดติด “วิชา” เดิมนั่นเอง

เอ็มไอที นอกจากจะ “ล้ำ” เรื่องเทคโนโลยีแล้ว

แนวคิด วิธีการทำงาน ก็ล้ำไม่แพ้กันเลยจริงๆ

 

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับหน่วยงาน “นวัตกรรม” หลายๆ แห่ง

ไม่ว่าจะเป็น Google X, Stanford d.school หรือ MIT Media Lab

หน่วยงานเหล่านี้มักจะ “เล็ก” ใช้คนไม่มาก

แถมดูเหมือนจะ “ยุ่งเหยิง” เล็กน้อย ไม่นำ “ระบบ” แข็งๆ ขององค์กรใหญ่ๆ มาจับ

Joi Ito เขียนไว้ในหนังสือว่า

“เมื่อ 30 ล้านปีที่แล้ว ไดโนเสาร์ เป็นชาติพันธุ์ที่แข็งแรง กำยำ

ผู้ล่าแห่งยุคสมัย คำรามเสียงดังฟังชัด ใครๆ ก็เกรงขาม

หากแต่ว่า วันหนึ่ง เมื่ออุกกาบาตพุ่งเข้าชนโลก

มันก็พบว่า ตัวเองต้องใช้พลังงานมากกว่าสัตว์อื่น จึงจะเคลื่อนที่ได้

ต้องใช้พื้นที่มากกว่าสัตว์อื่นๆ ในการหาที่หลบภัย

ต้องการอาหารมากกว่า ในการประทังชีวิต ในช่วงที่ยากลำบาก

มารู้ตัวว่า เคลื่อนที่ “ช้า” ปรับตัวไม่ทันสภาพแวดล้อม

จนในที่สุด ก็ต้อง “สูญพันธุ์”

ต่างกับสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น “กบ” หรือ “แมลง”

ที่มีชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้

ในโลกยุคนี้ที่อะไรๆ ก็ไม่แน่นอน

“ความเข้มแข็ง (Strength)” ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้ให้กับ “การปรับตัวได้ง่าย (Resilience)”

ดังที่เห็นได้จาก บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องมาตายไป พร้อมๆ กับการเกิดของบริษัทเล็กๆ ที่เรียกว่า “Start-Up” นั่นเอง

ในยุคนี้ที่หลายๆ องค์กรใหญ่ ก็อยากจะสร้างหน่วยงาน “นวัตกรรม” กันทั้งทั้น

ให้จำไว้ว่า ไม่ต้องใช้คนเยอะ ไม่ต้องพึ่งพาระบบ เผลอๆ ไม่ใช้เงินมาก

แต่จะต้องมี “คนที่แตกต่าง” และ “วิถีทางของคนตัวเล็ก”

แค่นั้นเอง

 

กลับมาที่ จอห์นและทีมงาน

ที่เพิ่งจะได้กลับมาจากการไปพักผ่อนที่ “เม็กซิโก”

และผ่านพิธีกรรม “ฉลองความล้มเหลว” ที่โด่งดังของบริษัทแห่งหนึ่ง

บริษัทแห่งนี้ มีชื่อว่า “Google X” ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้าง “นวัตกรรมล้ำๆ” ให้กับ Google

พวกเขาพร้อมเต็มพิกัด กับ “ความท้าทาย” ต่อไป

เพราะเขารู้ว่า บริษัทแห่งนี้ และหัวหน้าของเขา

ให้คุณค่ากับการลงมือทำแล้ว “ผิดพลาด”

มากกว่า “การพูดและคิด แต่ไม่ทำเสียที” เป็นไหนๆ