วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ประธานที่ปรึกษา

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ ประธานที่ปรึกษา

หนังสือพิมพ์มติชนขึ้นแผงฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2521 ยังไม่ทันครบปี ต้องย้ายสำนักงานใหม่ใหญ่กว่าเดิม เนื่องจากการเจริญเติบโตของปริมาณการจัดจำหน่ายและหน่วยงานภายในกับจำนวนผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวที่รับเข้ามาทำงานใหม่และที่ปรึกษา

กองบรรณาธิการรับสมัครผู้สื่อข่าวและตำแหน่งอื่น เช่น พนักงานขายโฆษณา พนักงานจัดจำหน่าย ยังไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่น เช่น ช่างเรียงพิมพ์และช่างพิมพ์ซึ่งเริ่มจัดวางเครื่องพิมพ์ใหม่มือสองไปบ้างแล้ว

ขณะนั้นเป็นห้วงแห่งความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งรัฐบาล ทั้งพรรคการเมือง หนังสือพิมพ์มติชนเป็นหนังสือพิมพ์เน้นข่าวสารการเมืองเป็นหลัก ทั้งยังเน้นข่าวประเภทที่เรียกว่า “ข่าวหนัก” (Hard News) หรือข่าวสาระ ไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงข่าวทางการศึกษา ข่าวความเคลื่อนไหวที่มีผลกระทบสังคม

จึงต้องการผู้สื่อข่าวที่ให้ความสนใจในข่าวประเภทสาระมากกว่าข่าวประเภท “ป๊อปปูลาร์นิวส์”

 

ผู้สื่อข่าวผ่านเข้ามาสมัครเป็นนักข่าวซึ่งสนใจข่าวสารการเมือง ข่าวสารทางเศรษฐกิจและความเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นหลัก ซึ่งผู้สื่อข่าวเดิมและหัวหน้าข่าวมีประจำการแล้วหลายคน

ผู้สื่อข่าวใหม่ที่รับสมัครก่อนหน้านี้ อาทิ ชุติมา นิ่มสุวรรณสิน จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มาสมัครงานชนิดเรียกร้องให้ผู้สัมภาษณ์ทดลองใช้งานดูก่อน แล้วเธอก็พิสูจน์ฝีมือการเป็นนักข่าวสายการเมืองให้ประจักษ์ในเวลาต่อมา

ส่วนที่รับสมัครหลังจากย้ายมาสำนักงานใหม่ เช่น ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ ซึ่งปรับเปลี่ยนจากงานคอมมูนิตี้รับเงินหมื่นมาเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ผู้สื่อข่าวรับเงินเดือนหลักพัน เป็นผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกับดนัย เอกมหาสวัสดิ์ เมื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจเติบโตเป็นหนังสือพิมพ์รายสามวัน

นักข่าวแต่ละคนเป็นทั้งนักข่าวเศรษฐกิจธุรกิจให้กับหน้าเศรษฐกิจ ที่มีรัฐกร อัศดรธีรยุทธ์ เป็นหัวหน้าข่าว

และเป็นผู้ควบคุมดูแลกองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจที่มีกองบรรณาธิการตั้งโต๊ะข่าวเพียงห้าหกคน ผลิตหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจราย 3 วันให้บรรดานักธุรกิจนิยมติดตามอ่านทุก 3 วัน

 

ครั้ง 6 ตุลา 19 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับนายประหยัด ศ. “นายรำคาญ” นาคะนาท เป็นที่ปรึกษา ได้สั่งการภายในไปยังหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่อนุญาตให้ออกจำหน่าย ห้ามนักข่าวนักเขียนอาวุโสหลายคนในกองบรรณาธิการฉบับนั้นปฏิบัติหน้าที่ทั้งออกหาข่าวและเขียนคอลัมน์

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อนุญาตให้ขรรค์ชัย บุนปาน ออกหนังสือพิมพ์มติชน เพียงไม่กี่เดือนจากนั้น หนังสือพิมพ์มติชนเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น

ขรรค์ชัยซึ่งมิได้เป็นผู้สื่อข่าวและนักเขียนทั้งในชื่อจริงและนามปากกาเพียงเท่านั้น ยังออกไปพบพี่เชื้อนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เหล่านั้นชักชวนให้มาร่วมกองบรรณาธิการมติชนทั้งหาข่าว เขียนคอลัมน์ และเป็นที่ปรึกษา อาทิ เจ๊วิภา สุขกิจ นักข่าวตลอดชีวิตประจำรัฐบาลที่รู้จักกับนายกรัฐมนตรีหลายคนหลายสมัย และนักการเมืองระดับอาวุโส

ผู้ที่ขรรค์ชัยให้ความเคารพนับถือ ทั้งร่วมเดินทางไปเยอรมนีเมื่อก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือ เจ๊ หรือ “แม่เสริมศรี เอกชัย” ที่ใครต่อใครเรียกด้วยความเคารพเช่นนั้นได้เห็นเหตุการณ์ระหว่างนั้นถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ในเยอรมนี เดินทางกลับมาหลัง 6 ตุลา พบกับพวกเรานักข่าวที่ไปรอรับ ต่างส่ายหัวแสดงสีหน้าสลดใจกับเหตุการณ์ที่เห็นผ่านจอโทรทัศน์สดๆ ได้รับเชิญมาเขียนคอลัมน์ในนาม “สนทะเล” และเป็นที่ปรึกษาของน้องนักข่าวด้วย

หรือผู้ที่ขรรค์ชัยเคยปฏิบัติหน้าที่ร่วมเมื่อครั้งเป็นนักข่าวสยามรัฐ คือ มานิต สังวาลย์เพชร ผู้มิได้เชี่ยวชาญในเรื่องพุทธศาสนาเท่านั้น ยังรู้ซึ้งเรื่องโหราศาสตร์อีกด้วย ได้ทำนายทายทักในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ในอีกหลายเดือนต่อมา

 

ที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการต่อมาอีกหลายคนที่ขรรค์ชัยเชิญมาทั้งนั่งประจำและมาพบเป็นครั้งคราว พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เจ้าของนวนิยายหลายเรื่องในนามโก้ บางกอก และอีกหลายเล่มในนามวสิษฐ เดชกุญชร ที่ขรรค์ชัยรู้จักมักคุ้มตั้งแต่ครั้งเป็นผู้สื่อข่าวสยามรัฐและก่อนหน้านั้น

นักเขียนอีกคนที่ขาดเสียมิได้ คือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ทั้งที่สมัยยังมี (หนุ่ม) และเมื่อถอน (หนุ่ม) ออกแล้ว แต่ยังคง ’ทัดไว้หน้ารงค์ ด้วยเหตุผลว่า เปลี่ยนชื่อจาก “ณรงค์” เป็น “รงค์” ซึ่งแปลว่า “ที่รัก” แต่ยังคงสัญลักษณ์ เพื่อเป็นที่รำลึกถึง “ณ” ที่แม่ตั้งให้ มาประจำทำการคอลัมน์ 2 นาฑีในมติชนสุดสัปดาห์

ยังมีใครต่อใครอีกหลายคน ทำให้น้องนุ่งนักข่าวทั้งเก่าทั้งใหม่อบอุ่นใจและอิ่มท้องไปพร้อมกัน

 

บุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ขรรค์ชัยไปเชิญมาเป็นประธานที่ปรึกษา ท่านเป็นทั้งนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนที่อยู่ยงคงกระพัน เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือทั้งผู้อ่านรุ่นก่อนและรุ่นใหม่ เป็นที่เคารพนับถือทั้งจากนักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นก่อนถึงรุ่นปัจจุบัน

หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้อ่านหลายรุ่น แม้มีหลายเล่มหลายเรื่อง แต่เมื่อเอ่ยถึงเรื่องนี้เล่มนี้ ผู้อ่านต่างร้อง “อ๋อ!!!” รู้จักทั้งเคยอ่านมาแล้วหลายรอบ และรู้จักชื่อมานาน แม้เพิ่งอ่าน

วันนี้ นักอ่านรุ่นใหม่ เมื่อเอ่ยชื่อเรื่องนี้ยังรู้จักเป็นอย่างดี “ปิศาจ” หรือ “ปีศาจ” เอ่ยชื่อ “เสนีย์ เสาวพงศ์” กับเรื่อง “ปีศาจ” คือชื่อคู่ขนานกัน เอ่ยชื่อหนึ่ง ต้องรู้ถึงอีกชื่อหนึ่ง

อย่างที่บอกกล่าวไปแล้ว เพียงหนังสือพิมพ์มติชนออกจำหน่ายได้ 8-9 เดือน ชื่อ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ก็ปรากฏขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์มติชน

ประธานที่ปรึกษาของบริษัท มติชน จำกัด คือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ปรากฏให้เห็น พร้อมกันนั้นอีกไม่นาน นวนิยายในนามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์” อีกหลายเรื่องและคอลัมน์ในชื่อเดียวกันออกมาสู่สายตาผู้อ่านมติชนให้ได้ชื่นชมชื่นชอบ ตั้งแต่ “คนดีศรีอยุธยา” ฯลฯ

“พี่เส” คือชื่อที่พวกเรารุ่นน้องรุ่นหลานต่างเรียกขานเหมือนกันหมด การเรียกชื่อนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ของพวกเรารุ่นหลัง เรียกตามรุ่นพี่ที่เรียกกันมาก่อน เช่น “เจ๊วิภา” “เจ๊เสริม” “พujปุ๊” (เรียกตามชื่อเล่นที่เพื่อนพี่เขาเรียกขานมานาน) หรือ “พี่เส” ก็เรียกตามขรรค์ชัย พงษ์ศักดิ์ (พยัฆวิเชียร)

ก่อน “พี่เส” เกษียณจากเอกอัครราชทูตเพียงเดือนเดียว ขรรค์ชัยไปเชิญมาเป็นที่ปรึกษาทันที

พวกเราที่เคยอ่านคอลัมน์ของ “พี่เส” จากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเลียบเคียงถามถึงเหตุที่มาเป็นที่ปรึกษามติชนในทำนองว่ามายังไงไปยังไง “พี่เส” ตอบสั้นๆ ว่า “คุณขรรค์ชัยเขาไปเชิญมาก่อน” – เท่านั้นเอง