“รัฐบาลใหม่” จะอยู่ยาว โดยไม่มีใครทำอะไรได้ ?

อาจมองจาก “ความรู้สึก”

ความเชื่อว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้ง ที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะอยู่ได้ไม่นาน ดูจะขยายวงไปกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่จำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์จะเหนือกว่าคู่แข่งขาดลอย ชนิดไม่เห็นฝุ่น ซึ่งควรจะนำสู่ความคิดว่าเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพสูง

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น

ส่วนหนึ่งคงจะมีเหตุมาจาก แม้เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์จะท่วมท้น แต่เมื่อตัดเสียงคะแนนโหวตของ ส.ว.ออกไป เทียบกันแค่เสียงสนับสนุนของ ส.ว. พบว่าเป็นชนะกับแพ้มีความต่างที่เฉียดฉิวยิ่ง

ตกอยู่ในสภาพที่ไว้ใจไม่ได้เลย

และเมื่อมองผ่านการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีใส่กันเพื่อช่วงชิงแบบไม่มีใครยั้งให้ใคร ยิ่งทำให้เกิดความเชื่อยิ่งขึ้นว่า การเริ่มต้นอยู่ด้วยกันด้วยอาการกินแหนงแคลงใจเช่นนี้ ดูความอดทนต่อกันน่าจะหมดลงง่ายๆ

นั่นเป็นมุมมองของนักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่

ดังนั้น เมื่อ “นิด้าโพล” ทำสำรวจ โดยตั้งคำถามตรงๆ ว่า “ท่านเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ได้นานแค่ไหน”

แล้วผลออกมาว่ามากที่สุดคือร้อยละ 44.11 เชื่อว่าจะอยู่ครบ 4 ปี รองลงมาร้อยละ 18.47 ตอบว่าอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ร้อยละ 16.56 มองว่าอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ร้อยละ 10.11 ชี้ว่าไม่เกิน 6 เดือน ที่บอกว่าไม่เกิน 3 ปีมีร้อยละ 5.50 และร้อยละ 5.25 ไม่มีคำตอบ

จึงเป็นความประหลาดใจอยู่ไม่น้อยว่าที่สะท้อนจากผลโพลจึงดูจะไปคนละทางกับนักวิเคราะห์ที่ประเมินจากแรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็น

อย่างไรก็ตาม หากจะชี้ว่าประชาชนตอบโดยมองจากความเป็นไปเหมือนที่นักวิเคราะห์มองก็ดูจะไม่ใช่เสียทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น บางทีการประเมินด้วยความรู้อาจจะแม่นยำเสียยิ่งกว่าการวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล

ด้วยมีความเป็นไปได้ว่าเหตุที่นำมาชี้ว่าผลนั้นอาจจะไม่ครบถ้วน

การวิเคราะห์อาจจะเป็นในมุมเก่าๆ ที่ให้น้ำหนักกับอำนาจของรัฐสภาอย่างที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรซึ่งก่อนหน้านั้นมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ทว่าวันนี้ กติกาเปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย

เปลี่ยนจนเกินกว่าความเข้าใจของนักประชาธิปไตย เพราะอำนาจที่จะกำหนดเสถียรภาพของรัฐบาลไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎรแล้วที่ยึดกุมบทบาทหนัก สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความสำคัญมากเพียงใดในการควบคุมความเป็นไปของการเมืองให้อยู่ในทิศทางที่กำหนดไว้แล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง นักวิเคราะห์ที่มองการเมืองด้วยความเคยชินเก่าๆ

ประเมินการอยู่ได้หรือไม่ได้ของรัฐบาล ด้วยปัจจัยเดิมๆ จึงสวนทางกับทัศนะของประชาชนที่อาจจะประเมินด้วยความรู้สึก

รัฐบาลที่อยู่ยาวมา 5 ปี โดยนำประเทศสู่ความทุลักทุเลในแทบทุกเรื่อง

ผลการเลือกตั้งแม้พรรคคู่แข่งจะถูกจัดการอย่างเข้มข้น แต่พรรคแกนหลักรัฐบาลจึงถูกวางแผนให้ได้เปรียบทุกอย่างก็ไม่สามารถเอาชนะด้วยจำนวน ส.ส.ได้

แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีกลับผ่านฉลุย ด้วยเสียงโหวตที่ชนะแบบขาดลอย

ขณะที่เกมไล่ล้างพรรคฝั่งตรงกันข้ามเริ่มดำเนินอย่างเข้มข้นอีกครั้ง โดยคล้ายกับว่าผู้ถูกกระทำเหล่านั้นไม่มีทางช่วยเหลือตัวเองได้เลยในทุกเรื่อง

อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกเหล่านี้

มุมมองของประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นว่า “รัฐบาลใหม่” จะอยู่ยาวถึงครบเทอม

โดยไม่มีใครทำอะไรได้