พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สยาม- ภารต (จบ) : ภาพรวมของพระราชพิธีเทียบอินเดีย-ไทย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

งานวิทยานิพนธ์ของคุณศรีนวล ภิญโญสุนันท์ เรื่อง “พิธีราชาภิเษกในคติอินเดียและไทย : การศึกษาเปรียบเทียบ” ในปี 2528 ได้เปรียบเทียบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยกับพิธีที่ปรากฏในยุคพระเวทของอินเดียไว้อย่างละเอียดลออดี

และทางจุฬาฯ ก็มีให้ดาวน์โหลดออนไลน์ด้วย นับว่าเป็นการเผยแพร่ความรู้สู่สังคมทางหนึ่ง

แต่งานของคุณศรีนวลซึ่งเป็นงานวิจัยในด้านภาษาตะวันออก เน้นการให้ความสำคัญกับตัวบทสันสกฤตเป็นหลัก และงานชิ้นนี้เน้นการศึกษาเปรียบเทียบพระราชพิธีของเรากับคัมภีร์สำคัญชั้นพราหมณะของอินเดีย หรือวรรณกรรมยุคพระเวท

ดังนั้น ซีรี่ส์บทความที่ผมเขียนมาถึงตอนนี้เป็นงานที่ต่างจากงานของคุณศรีนวล เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า คุณศรีนวลเน้นการเปรียบเทียบจากตัวบทเป็นหลัก

ส่วนงานของผม เป็นการพยายามศึกษาจากรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในพิธีกรรมและพิจารณาว่ามีความเปลี่ยนไปอย่างไรจากขนบเดิมบ้าง หรือน่าจะมีที่มาที่ไปอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเห็นได้ว่าความเป็นพื้นเมืองของเรา รวมทั้ง “ทมิฬ” ได้เปลี่ยนแปลงพระราชพิธีไปมากบ้างน้อยบ้าง

กระนั้นงานของคุณศรีนวลนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาพิธีบรมราชาภิเษกที่ปรากฏในคติเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย

ซึ่งผมต้องแสดงความคารวะไว้เป็นอย่างสูง

 

พิธีราชาภิเษกของอินเดีย อาจกล่าวได้ว่ามีสองระยะหลักคือ ในยุคพระเวท และพิธีราชาภิเษกหลังยุคพระเวท หรือที่ปรากฏหลักฐานในวรรณกรรมยุคหลัง

พิธียุคพระเวท ซึ่งวิทยานิพนธ์ของคุณศรีนวลให้ข้อมูลอย่างละเอียดลออนั้น มาจากไอตเรยะพราหมณ์ซึ่งเป็นคัมภีร์คู่มือของคัมภีร์ฤคเวท มีอยู่สองพิธีได้แก่ “ปุนรภิเษก” (อภิเษกอีกครั้ง) กับ “ไอนทรมหาภิเษก” (อภิเษกพระอินทร์, อินทราภิเษก) และมาจากคัมภีร์ศตปถพราหมณะของยชุรเวทคือพิธี “อภิเษกจนียะ” (เหมาะควรแก่การรดน้ำ)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธี “ราชสูยะ” (การบวงสรวงของพระราชา)

ทั้งสามพิธีมีขั้นตอนที่สำคัญคือการสรงน้ำเช่นเดียวกับพระราชพิธีของเรา แม้ว่าการใช้น้ำจะมีความแตกต่างกับพระราชพิธีดังที่ผมได้เคยเขียนมาแล้ว

แต่อีกสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือทั้งพิธีปุนรภิเษกและไอนทรมหาภิเษกมีการใช้ “ตั่ง” ที่ทำจากไม้มะเดื่อเช่นเดียวกันกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้ว่าลักษณะที่บรรยายไว้ในคัมภีร์กับของที่เราใช้จริงจะแตกต่างกันบ้าง

นอกจากการอภิเษกและการใช้ตั่งไม้มะเดื่อ ที่เหลือมีความแตกต่างกับพระราชพิธีของเราเป็นส่วนมาก

เช่น ทั้งสองพิธีมีขั้นตอนที่พระราชาจะเสวยน้ำจัณฑ์ (เหล้า) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ รวมทั้งรายละเอียดของยัญญกรรมต่าง ซึ่งเราไม่ได้ทำเลย

แม้ว่าเราจะมีการโหมกูณฑ์หรือบูชาไฟ แต่ก็เป็นส่วนที่พราหมณ์กระทำเองภายใน และเชื่อว่าเป็นการดับพระเคราะห์อวมงคลต่างๆ มากกว่าเซ่นสรวงแด่เทพตามขนบพระเวท

 

ผมสนใจชื่อพิธี “ไอนทรมหาภิเษก” เพราะในตำราบรมราชาภิเษกของเราพูดถึงพิธี “อินทราภิเษก” ไว้ด้วย แต่มีเนื้อความทำนองว่า อินทราภิเษก คือพระอินทร์ได้นำเอาราชกกุธภัณฑ์มาถวาย หรือราชรถมาเกยด้วยพระบุญญาธิการ หรือเหาะเหินมาแล้วมีเศวตฉัตรกางกั้น อันเป็นลักษณะที่มีตามตำนานของผู้มีบุญ

ผิดกับของอินเดียที่ชื่อนี้หมายถึงการอภิเษกแด่พระอินทร์ คือเปรียบพระราชาว่าเป็นพระอินทร์ ซึ่งอาจใกล้เคียงกับพิธีอินทราภิเษกในสมัยกรุงเก่า ปรากฏในตำรากฎมณเฑียรบาลฉบับรัชกาลที่หนึ่ง ว่ามีการจำลองเขาพระสุเมรุ ตั้งตุ่มสุรามฤตและสมมุติขุนนางเป็นเทพเทวดาต่างๆ เพื่ออภิเษกพระอินทร์

พิธีอภิเษกจนียะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีราชสูยะ ยิ่งดูแตกต่างกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของเรามาก เพราะเน้นการเซ่นสรวงตามพิธีของพระเวท ไม่มีการนั่งตั่งไม้มะเดื่อ (แม้จะใช้บาตรทำจากไม้มะเดื่อในการสรง) แต่ยืนรับอภิเษก

ที่น่าสนใจคือมีการถวายลูกศรและดาบไม้ที่เรียกว่าสผยะในพิธี ซึ่งแสดงถึงอำนาจของกษัตริย์

 

คุณศรีนวลสรุปไว้ในวิทยานิพนธ์ของท่านว่า พิธีทั้งสาม คือ ปุนรภิเษก ไอนทรมหาภิเษก และราชสูยะนั้น มิใช่พิธีเพื่อจะสถาปนาหรือทำให้เป็นพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการทำขึ้นเมื่อพระมหากษัตริย์นั้นทรงครองราชย์แล้ว เป็นการสรรเสริญพระเดชานุภาพให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

โดยปุนรภิเษกเป็นการส่งเสริมพระราชอำนาจ

ไอนทรมหาภิเษกเป็นการประกาศชัยชนะเหนือชัยชนะทั้งปวง

และราชสูยะเป็นการประกาศความเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย

 

พิธีราชาภิเษกหลังยุคพระเวท ที่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นรองประเภท “สูตร” ต่างๆ กลับมีความน่าสนใจมากกว่า เพราะแม้จะมีหลายขั้นตอนที่เปลี่ยนไปจากยุคพระเวท แต่ยังพอมองเห็นร่องรอยที่คล้ายคลึงกับพระราชพิธีในสยามได้พอสมควร

ในเอกสารชื่อ “รูปแบบและพัฒนาการของพิธีราชาภิเษกในคติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู” ของ “ชมรมเคราปาณินิ” โดยศรีเวทชนนีทาส ได้นำเอารายละเอียดของพิธีราชาภิเษกทั้งตามขนบพระเวท และที่ปรากฏในยุคหลังคือ พระพิธีราชาภิเษกในคัมภีร์ โพธายนคฤหยสูตร (คัมภีร์ว่าด้วยพิธีของคฤหัสถ์ของท่านโพธายน) และคัมภีร์ “ราชาภิเษกปรโยคะ” (ว่าด้วยวิธีการราชาภิเษก) ของท่านบัณฑิตวิศเวศวรภัฏฏาจารย์

ในโพธายนคฤหยสูตร กล่าวถึงการใช้ “เบญจคัพย์” หรือของจากโคทั้งห้าในการถวายอภิเษก ซึ่งมีในพระราชพิธีของไทยเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรม

มีการเตรียมเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เช่น มงกุฎ การสรงสนานโดยใช้หม้อกลัศ การนั่งบน “ภัทราสนะ” ที่ปูลาดด้วยหนังเสือ การสวมมงกุฎหรือโพกผ้าพันศีรษะ (ปัฏฏะ) การมอบทานแด่พราหมณ์ และการประโคม

ส่วนในราชาภิเษกปรโยคะ เริ่มด้วยการทำมณฑลสำหรับสรงสนานในทิศตะวันออกของพระราชมณเฑียรที่ประทับ (มณฑปพระกระยาสนาน?) มีการอภิเษกการประโคมและอารตี การบูชาราชกกุธภัณฑ์ ศาสตราวุธและพระลัญจกร การมอบทักษิณาแด่พราหมณ์ การขัดพระฉวีด้วยดินจากที่ต่างๆ และการสรงสนาน

มีการผันพระพักตร์ไปยังทิศต่างๆ เพื่อขอให้เทวดาซึ่งอยู่ในทิศนั้นอภิเษกและอำนวยพรแด่พระองค์ เช่น พระอาทิตยะ พระรุทระ และผินพระพักตร์ไปยังทิศทั้งแปด เพื่อขอพรและการอภิเษกจากเทวดานพเคราะห์ทั้งหลาย (ในคัมภีร์เรียกว่าทิคีศะ – เทพผู้เป็นใหญ่ในแต่ละทิศ)

จากนั้นพระราชาที่ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์แล้วจะทรงประทับที่ “สรวโตภัทราสนะ” และหนังเสือ ซึ่งพราหมณ์จะไปสู่ที่นั่นเพื่อประกอบยัญญกรรม และมีการสรงสนานพระราชาโดยคนในวรรณะต่างๆ และสรงพระเบญจคัพย์โดยพราหมณ์

ในขณะนั้นต้องมีเสวกามาตย์เชิญฉัตร และถวายงานจามร (โบกพัดแส้ขนหางจามรี) อยู่ด้วย มีการประโคมดุริยดนตรีกลองเภรีและสังข์และเสียงสรรเสริญต่างๆ และสุดท้ายจึงมีการถวายสร้อยสีขาวและพัสตราภรณ์สีขาว และที่ประดับด้วยขนนกยูง

 

จะเห็นได้ว่า ในบรรดาคัมภีร์ที่กล่าวถึงพิธีราชาภิเษก คัมภีร์ราชาภิเษกปรโยคะมีความคล้ายคลึงกับขั้นตอนส่วนใหญ่ในพระราชพิธีของเรามากที่สุด (เฉพาะในส่วนพิธีพราหมณ์)

แต่แม้จะมีความคล้ายคลึงในด้านรูปแบบพิธี ก็ต้องกล่าวไว้ว่า ความแตกต่างมากที่สุดของพิธีบรมราชาภิเษกระหว่างสยามกับอินเดียไม่ว่าจะคัมภีร์ไหน คือในแบบอินเดีย พราหมณ์ต้องมีมนต์กำกับทุกๆ ขั้นตอนของพิธี โดยเฉพาะมนต์จากพระเวท เช่น ในขณะอภิเษกสรงสนาน แต่ของสยามนั้นพราหมณ์มีการใช้มนต์เฉพาะในบางขั้นตอน เช่นการเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสซึ่งเป็นมนต์ภาษาทมิฬ การถวายชัยโดยใช้อนุษฏุภศิวะมนต์ และวิษณุมนต์ซึ่งเป็นสันสกฤตในแบบทมิฬ และอาจมีในส่วนอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น การโหมกุณฑ์

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะพราหมณ์สยามมีประเพณีที่ใช้ภาษาท้องถิ่นทั้งทมิฬและไทยเป็นหลัก ใช้สันสกฤตน้อยกว่า การชำระตำราพราหมณ์สยามโดยท่าน ป.ส.ศาสตรี แสดงให้เห็นว่า มีมนต์สันสกฤตเพียงเล็กน้อยในพิธีต่างๆ

และส่วนมากมาจากคำประพันธ์สันสกฤตยุคหลังมากกว่าคัมภีร์พระเวท

 

ดังนั้น โดยการค้นคว้าจากคุณศรีนวล คุณศรีเวทชนนีทาสและปราชญ์ท่านอื่น ผมจึงพอจะสรุปภาพกว้างๆ ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยได้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสยามแบ่งเป็นสามส่วน คือส่วนของพื้นเมือง ได้แก่การเฉลิมพระราชมณเฑียร การเสด็จเลียบพระนคร ฯลฯ ซึ่งไม่เหมือนกับพิธีของทางอินเดีย หรือไม่ปรากฏในอินเดีย

ส่วนที่สองคือพิธีพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งที่เป็นพิธีของพุทธเอง เช่นการเจริญพระพุทธมนต์ “ภาณวาร” ซึ่งเป็นวรรณกรรมบาลีในลังกา การเลี้ยงพระ และส่วนที่พุทธศาสนาปรับเข้าไปผสมในพิธีพราหมณ์ เช่นการประกาศเทวดา และการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงถวายสรงพระมูรธาภิเษก เป็นต้น

ส่วนที่สามเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของพระราชพิธีนี้ อาจแบ่งออกได้เป็นสามอย่าง

อย่างแรก เป็นรูปแบบเก่าแก่ที่รับสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณยุคพระเวท คือการใช้ตั่งไม้มะเดื่อ และการสรงสนาน ซึ่งส่วนนี้มีไม่มาก

อย่างที่สอง คือ รูปแบบพิธีจากคฤหยสูตรและคัมภีร์ยุคหลัง ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของพิธีบรมราชาภิเษกของเรา เช่นการสรงสนาน การประทับภัทราสนะ เบญจคัพย์ และรายละเอียดอื่นๆ แต่ส่วนนี้ก็ถูกปรับแต่งให้เป็นไปตามวัฒนธรรมพื้นเมืองด้วยเช่นกัน

อย่างสุดท้ายคือ ส่วนที่เป็นพื้นเมืองทั้งทมิฬและสยาม เช่นการถวายมนต์เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส และรายละเอียดบางอย่างในพิธี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเป็นพิธีที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะได้รวบรวมเอาความเป็นผี พราหมณ์ พุทธ ให้ปรากฏเห็นเด่นชัด

รวมทั้งความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมความเชื่อระหว่างอินเดียและไทยด้วย