เพ็ญสุภา สุขคตะ : ผู้หญิงคอยาว บางเผ่าเขานิยม

เพ็ญสุภา สุขคตะ

กรณี “ผู้หญิงมีคอ-ผู้หญิงคอยาว” เวลาใส่เสื้อแล้วสวยกว่าผู้หญิงคอสั้นที่เป็นประเด็นวิวาทะในโลกออนไลน์หลังจากประชุมรัฐสภาวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปแล้วนั้น ได้จุดประกายให้ดิฉันนึกขึ้นได้ว่า ในโลกนี้ยังมีประชากรอีกหลากหลายเผ่าพันธุ์ที่กำหนดบรรทัดฐานด้านรสนิยมว่า “ผู้หญิงคอยาว” นั้นคือความงาม

หากไม่นับสังคมของ “กะเหรี่ยงคอยาว” ตามตะเข็บพรมแดนไทย-พม่าที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว พบว่าเรื่องราวของความพยายามทำทุกวิถีทางที่จะตกแต่งคอสตรีให้ยืดยาวนั้นยังมีอีกมาก ส่วนใหญ่พบในทวีปแอฟริกา

ในที่นี้จะนำเสนอผ่านงานศิลปะที่เรียกว่า Primitive Art

 

Primitive Art คืออะไร

หากแปลตรงตัวก็หมายถึง “ศิลปะดั้งเดิม” เพราะคำว่า primitive มาจากภาษาละตินว่า primitivus แปลว่า แรกเริ่ม ก่อนเก่า ระยะต้น ดังที่เราเรียกสังคมชนเผ่าในยุคปัจจุบันที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมไว้ว่า Primitive Society

ทว่าก่อนที่วงการประวัติศาสตร์ศิลปะจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า Primitive Art นั้น ในอดีตเคยมีการใช้คำเรียกศิลปะของชนเผ่าต่างๆ ในเชิงเหยียดหยามมนุษยชาติมาก่อนแล้ว 2 ชื่อ ได้แก่

ชื่อแรกเรียกว่า “อนารยศิลป์” หรือ Savage Art หมายถึงศิลปะของชนชาติป่าเถื่อน (barbarian) หรือพวกไร้อารยธรรม (uncivilized peoples) ที่ยังล้าหลังห่างไกลความเจริญ

ต่อมาราวทศวรรษ 1970 ได้มีการต่อต้านคำเรียกดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม เหตุเพราะ “ความเจริญของมนุษย์ในแต่ละสังคมมิอาจวัดได้ด้วยมาตรฐานทางวัตถุที่เจริญก้าวหน้าเท่านั้น” มนุษย์บางเผ่ามีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย แต่อาจมีจิตใจที่สูงส่ง

ด้วยเหตุนี้จึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่จาก “อนารยศิลป์” มาเป็น “Spiritual Art” แปลว่า ศิลปะที่เน้นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณมากกว่า

แต่คำคำนี้ก็เป็นที่ยอมรับได้ไม่นานเลย เหตุเพราะศิลปะในศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ เชน ที่มีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด ก็ล้วนแต่สร้างขึ้นตามแนวคิดด้าน Spiritual ด้วยเช่นกันทั้งสิ้น

ดังนั้น ศิลปะในกลุ่มนี้จึงได้รับการบัญญัตินามใหม่ล่าสุดอีกครั้งว่า “Primitive Art” หมายความว่า เป็นงานศิลปะที่ประดิษฐ์ขึ้นในกลุ่มชนที่ยังยึดมั่นต่อแนวความคิดดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่สร้างสืบต่อกันมา

เป็นสังคมบริสุทธิ์ที่ปฏิเสธการรับอารยธรรมของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ เชน ฯลฯ

ในด้านพื้นที่นั้น กระจายกว้างขวางมากทั่วโลก นับแต่ดินแดนอันไกลโพ้นของหมู่เกาะทะเลใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก (โอเชียเนีย) ชาวปาปวนในเกาะนิวกินี ชาวอะบอริจินส์ในเกาะทัสมาเนียตอนใต้ของออสเตรเลีย ชนเผ่าเมารีในนิวซีแลนด์

รวมถึงกลุ่มชนในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้ ฯลฯ ที่ไม่รับอิทธิพลจากอารยธรรมตะวันตกใดๆ มาผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมของตน

ในที่นี้จะขอโฟกัสไปยังบางชนเผ่าของทวีปแอฟริกา ตามที่บทความได้ตั้งชื่อหัวเรื่องไว้ว่ามีความนิยมในเรื่องผู้หญิงคอยาว

 

บ้างใส่ห่วง บ้างสัก tattoo

การตกแแต่งช่วง “คอ” ของสตรีให้ยืดยาวกว่าปกติในวัฒนธรรมหลายชนเผ่าของชาวแอฟริกันนั้น สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแรก เป็นการโชว์รอยสักที่ยาวต่อเนื่องตลอดลำคอ และกลุ่มที่สอง เกิดจากการใส่ห่วงหรือสร้อยคอหลายวง (คล้ายกะเหรี่ยงคอยาว) ซ้อนกัน

มาดูกลุ่มที่เน้นการโชว์รอยสักที่คอกันก่อนว่ามีชนเผ่าไหนบ้าง เท่าที่ศึกษาพบว่ากลุ่มนี้ประกอบด้วย เผ่ากูโร (Gouro) เผ่าเบาอูเล่ (Baoule) และเผ่าเซนูโฟ (Senoufo) สามเผ่านี้อยู่ในประเทศไอวอรีโคต (ระยะหลังนิยมเรียก “โกตดิวัวร์” Cote d”Ivoir แปลว่าชายฝั่งทะเลแห่งงาช้างขาว) เผ่าบากา (Baga) และเผ่าคิสซี (Kissy) ในประเทศกินีต่อเชื่อมกับแคเมอรูน เป็นต้น

กลุ่มชนเหล่านี้ เน้นการตกแต่งความงามของเรือนร่าง ใบหน้า ลำคอ แขนขา ด้วยการใช้ปลายเหล็กแหลมคมสักทิ่มลงไปในเนื้อผิวให้เกิดรอยแดงนูนเป็นตุ่มๆ แบบต่อเนื่อง (ดูคล้ายลายถักเปียหรือเชือกควั่น) โดยไม่ได้เน้นที่สีสันของน้ำหมึกที่ฝังในผิวกาย ผิดกับการสับหมึกดำในวัฒนธรรมล้านนา

ไม่เพียงบุรุษเท่านั้นที่นิยมการสักรอยเป็นตุ่มๆ แต่สตรีก็เช่นกัน เราจึงเห็นรูปเคารพของสตรีในลักษณะ Mother Goddess หรือเจ้าแม่, แม่มดหมอผี ในลักษณะคอยาวจงใจเผยให้เห็นรอยสักนูนแบบชัดๆ ด้วยถือเป็นความงาม

เพราะไม่ว่าชายหรือหญิงที่ผ่าน “ความเจ็บปวดจากเหล็กแหลมทั่วเรือนร่าง” มาได้เท่านั้น จะเป็นผู้กำชัยชนะ สามารถอยู่ได้ในโลกที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด และภัยสงครามล่าหัวมนุษย์จากชนต่างถิ่น

ส่วนเผ่าที่เน้นการสวมห่วงหลายเส้นที่ตีเป็นแผ่นเงิน ทองแดง หรือร้อยลูกปัด อัญมณีมีค่าเต็มคอหลายชั้นนั้นประกอบด้วย เผ่าเบนิน (Benin) อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ปัจจุบันคือประเทศไนจีเรีย เผ่าอันยี (Anyi) ในไอวอรีโคต เผ่าอาชานตี (Ashanti) ในประเทศกานา เผ่าเอกอย (Egoi) ในรอยต่อไนจีเรีย-แคเมอรูน เผ่าเบน่า-ลูลูอา (Bena-Louloua) เผ่าเดนเกเซ่ (Denquese) และเผ่าบาซงเก (Basonque) สามกลุ่มหลังนี้ซ่อนตัวอยู่ในดงที่ลึกที่สุดของทวีปแอฟริกาตอนกลาง

การสวมสร้อยคอหลายเส้นของสตรี แท้จริงจุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เครื่องประดับเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องสะท้อนถึงสถานะทางสังคมว่าผู้สวมใส่มีความร่ำรวย เหตุที่สามีของตนขยันขันแข็งสามารถไปถลุงเงินตีเหล็กหรือล่าเขี้ยวสัตว์งาช้างมาทำเครื่องประดับให้คนในครอบครัวสวมได้

ดังนั้น ผู้ที่มีสร้อยหลายเส้นจึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าเผ่า (ฝ่ายชาย) หรือแม่มดหมอผี (ฝ่ายหญิง)

ต่อมาสร้อยคอหลายเส้นเหล่านี้ได้กลายเป็นความเชื่อในเรื่องโชคลาง โดยผู้สวมไม่อาจอธิบายว่า “ทำไมจึงต้องใส่” แต่มักให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อสวมแล้วห้ามถอดออก มิเช่นนั้นอาจต้องเจ็บป่วยล้มตาย เพราะบรรพบุรุษของตนปลูกฝังว่าเครื่องประดับเหล่านี้จักช่วยปกปักรักษาชีวิตให้พ้นจากภัยธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่า ฝนแล้ง แผ่นดินไหว พายุ สัตว์ดุร้าย และอื่นๆ

เมื่อไม่ถอด สุดท้ายก็กลายเป็นรสนิยมด้านความงามไปว่า “ผู้หญิงคอยาว” คือผู้หญิงที่สวยที่สุดในสังคมนั้นๆ

ศิลปินชื่อก้องโลกแจ้งเกิดในนาม
Neo-Primitivism

ในช่วงศตวรรษที่ 19-20 วงการศิลปะยุโรปและอเมริกาเริ่มหันมาศึกษาและให้ความสำคัญต่องานแนว Primitive Art มากขึ้น นับแต่มีการจัดแสดงงาน African Art and Oceanian Art ตามพิพิธภัณฑ์กรุงลอนดอน กรุงปารีส และนิวยอร์ก

โดยชาวตะวันตกมองว่าแม้นกาลเวลาจะผ่านไปนานกี่ศตวรรษก็ตาม แต่ชนเผ่าใน Primitive Society เหล่านี้ยังคงสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นศิลปะที่บริสุทธิ์ยิ่งนัก เพราะปราศจากการปรุงแต่งตามทฤษฎีสากล

เซอร์ เฮอร์เบิร์ต รีต (Sir Herbert Read) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และนักวิจารณ์วรรณกรรมชื่อดังได้กล่าวถึงศิลปะ Primitive Art ในหนังสือเรื่อง “The Meaning of Art” ว่า

“ศิลปะดั้งเดิมสามารถโน้มนำเราไปสู่ความเข้าใจรูปทรงขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุด และศิลปะที่เป็นรากฐานขั้นต้นนี่แหละ ย่อมเป็นสิ่งที่กระทบต่อจิตวิญญาณผู้เสพมากยิ่งกว่าศิลปะสกุลช่างใดๆ ในโลกที่ซับซ้อนเกินไป”

ศิลปินสมัครเล่นในกลุ่ม “Sunday Painters” จำนวนมากยกย่องว่าศิลปะดั้งเดิมมีคุณค่าสูง กลุ่มคนเหล่านี้มิได้รับการฝึกฝนอบรมจากโรงเรียนศิลปะสาย Academy มาก่อน จึงหันมาให้ความสนใจต่อศิลปะแอฟริกัน ด้วยคำถามที่ว่าเมื่อมนุษย์คิดจะสร้างงานศิลปะสักชิ้นนั้นเขาควรจะเริ่มต้นจากอะไรก่อน

เมื่อได้รับคำตอบว่า งานศิลปะนั้นควรไร้มายา เรียบง่าย ไร้เดียงสา ซื่อสัตย์ต่อการมองเห็น ศิลปินสมัครเล่นกลุ่มดังกล่าวจึงรับแนวคิดนี้มารังสรรค์ผลงานของตนจนประสบความสำเร็จ ที่โลกรู้จักกันดีคือ อองรี รูสโซ่ (Henri Rousseau) ผู้นำกลุ่มนาอีฟ (Na?ve Art)

หรือแม้แต่ศิลปินมืออาชีพอย่างปอล โกแกง (Paul Gauguin) เจ้าลัทธิ Post-Impressionism กับปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) เจ้าพ่อลัทธิ Cubism เอง ต่างก็สารภาพว่าได้รับแรงบันดาลจากศิลปะชาวเกาะ ชาวเล และหน้ากากแอฟริกันด้วยทั้งสิ้น

ขอจบบทความเรื่อง “ผู้หญิงคอยาว” ว่าแท้จริงแล้วเป็นรสนิยมที่มีอยู่จริง มิใช่เป็นแค่วาทกรรมอันน่าหลงใหลที่ว่า “ความงามของสตรีต้องมีคอยาวระหงดุจนางพญา” มอมเมาให้คนไทยปิดตาใฝ่ฝันถึงนางเอกนวนิยายน้ำเน่า แล้วเหยียดหยามคนคอสั้น

คอที่อยากยาวนั้นน่ะ จะเอายาวแค่ไหนล่ะ? มีตั้งแต่ครึ่งฟุต หนึ่งฟุต หรือเกินฟุตก็มีนะ!