“นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ทะเลอันดามัน ศูนย์กลางของจักรวาลในพระอภัยมณี

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในวรรณกรรมการเมืองเรื่อง “พระอภัยมณี” ของกวีรัตนโกสินทร์ตัวจริงอย่าง “สุนทรภู่” นั้น ได้กล่าวถึงสถานที่ที่ชื่อว่า “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ไว้ในตอนที่ท้าวสิลราช เจ้าเมืองผลึก ได้พาลูกสาวไปเที่ยวทะเลแล้วพบพายุเข้า จนหลงทางไปไกล จึงต้องตั้งพิธีเซ่นปู่เจ้า ด้วยการเข้าทรงขึ้นบนเรือ เพื่อถามทางว่าตอนนี้พวกตนเองหลงทะเลอยู่ไหน?

แล้วปู่เจ้าก็ตอบกลับมาดังความที่ว่า

 

“ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า นั่งหลับตาเซื่องซึมดื่มอาหนี

แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคีรี ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์

ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่านาควารินทร์สินธุ์สมุทร

ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย”

 

จะสังเกตได้ว่า คำว่า “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ที่สุนทรภู่พูดผ่านปากของร่างทรงปู่เจ้าเขาคีรีนั้น หมายถึง “ทะเล” ซึ่งก็คือทะเลอันดามัน ดังความที่ว่า “ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์” และตอนก่อนที่จะตั้งพิธีเซ่นไหว้นั้น สุนทรภู่ก็พรรณนาไว้ด้วยว่า

 

“ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง เรือที่นั่งซัดไปไกลหนักหนา

จนพ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด”

 

เมื่อหลงทะเล “จนพ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา” ขนาดนี้ ชื่อ “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ในที่นี้ก็ย่อมเป็นชื่อของ “ทะเล”

โดยเมื่อพิจารณาประกอบกับเรื่องราวในพระอภัยมณีแล้ว ทะเลที่ว่าก็คือ “ทะเลอันดามัน” นั่นเอง

 

ถึงแม้ว่าสุนทรภู่จะเรียก “ทะเลอันดามัน” ว่า “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีใครเรียกทะเลอันดามันอย่างนี้จริงๆ หรอกนะครับ

เพราะชื่อดังกล่าวนี้เป็นเพียงแค่ชื่อสมมติ ที่สุนทรภู่ตั้งขึ้นมาเก๋ๆ ไว้สำหรับใช้ในวรรณกรรม ซึ่งก็คือนิยาย ไม่ต่างไปจากชื่อเกาะแก้วพิสดาร เมืองผลึก และอีกสารพัดสถานที่ในนิยายพระอภัยมณี ที่มีแรงบันดาลใจมาจากสถานที่จริง

แต่ไม่ใช่ชื่อเรียกจริงของสถานที่เหล่านั้น

แต่ก็ไม่ใช่ว่าสุนทรภู่จะยกเมฆคำว่า “นาควารินทร์” ขึ้นมาเลยเสียทีเดียว เพราะท่านเอาชื่อมาจาก “หมู่เกาะนิโคบาร์” ที่อยู่ระหว่างกลางในทะเลอันดามัน ซึ่งในเอกสารโบราณของไทยเรียกว่า “เกาะนาควารี”

ชื่อ “นาควารี” ไทยเราน่าจะเอามาจากคำว่า “นาควารัม” ในภาษาทมิฬ ทางใต้ของอินเดีย (แน่นอนว่าชื่อ “นิโคบาร์” เองก็เช่นกัน) แต่คำทมิฬที่ว่านี้ก็มีรากมาจากคำว่า “นาควาระ” ในภาษาสันสกฤตอีกทอดหนึ่ง ซึ่งหากจะแปลอย่างตรงตัวตามรูปศัพท์แล้วก็จะมีความหมายว่า “ที่อยู่ของนาค” (ดังนั้น การที่สุนทรภู่เขียนว่า “ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ” จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า ท่านได้สนใจศึกษาถึงรากศัพท์ด้วยหรือเปล่า? เพราะคำว่า “นาควารี” ที่ไทยเรียกเพี้ยนมานั้น แปลว่าที่อยู่ของนาคไม่ได้แน่)

อย่างไรก็ตาม “นาค” ในที่นี้น่าจะหมายถึง “คนเปลือย” มากกว่า (นาค ในภาษาสันสฤตเป็นรากศัพท์ของคำว่า “snake” ที่แปลว่า “งู” และ “nake” ที่แปลว่า “เปลือย” ในภาษาอังกฤษ) เพราะมีหลักฐานอยู่ให้เพียบด้วยว่า หมู่เกาะแห่งนี้ถูกรู้จักกันในชื่อ “เกาะคนเปลือย”

 

หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในบันทึกการจาริกแสวงบุญของพระภิกษุชาวจีนที่ชื่อว่า “อี้จิง” ซึ่งไปเรียนพุทธศาสนา และภาษามลายูที่ศรีวิชัย (ปัจจุบันคือเมืองปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา) แล้วเดินทางจากเกาะสุมาตรา ไปที่หมู่เกาะนิโคบาร์เมื่อ พ.ศ.1216

โดยท่านได้เรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่า “อาณาจักรคนเปลือย” มาตั้งแต่ในครั้งนั้นแล้ว

อี้จิงจะเดินทางไปอินเดีย โดยเมื่อออกจากหมู่เกาะนิโคบาร์แล้ว ท่านก็ได้เดินทางต่อไปยังเมืองตามรลิปติ (อ่านว่า ตาม-ระ-ลิ-ปะ-ติ) อันเป็นเมืองท่าสำคัญที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา

แต่ผู้คนจากโลกตะวันออกถ้าจะเดินทางโดยเรือตัดข้ามทะเลอันดามันไปยังโลกตะวันตก ก็ย่อมต้องมีหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นจุดแวะพักสำคัญเหมือนกันทั้งนั้น

บันทึกที่น่าสนใจอีกเล่มเป็นของ “หม่าฮวน” (เลขานุการของอีกหนึ่งเซเลบในประวัติศาสตร์โลกอย่าง “เจิ้งเหอ” มหาขันทีผู้บุกเบิก และสำรวจโลกด้วยกองทัพเรือของจักรวรรดิหมิง แห่งจีน) เพราะในบันทึกของหม่าฮวน ที่เดินทางไปหมู่เกาะนิโคบาร์เมื่อ พ.ศ.1964 นั้น ได้จัดหมู่เกาะแห่งนี้เข้าอยู่ในบทเดียวกับเกาะลังกา

ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นถึงเกาะแห่งนี้ ในฐานะจุดแวะพักเมื่อจะเดินทางไปยังศรีลังกาด้วย

และหม่าฮวนเองก็ได้เดินทางต่อไปยังเกาะลังกา หลังจากแวะพักที่เกาะนี้จริงๆ

ที่สำคัญก็คือ หม่าฮวนเองก็เรียก “หมู่เกาะนิโคบาร์” ว่า “ประเทศของคนเปลือย” และได้บรรยายถึงการเปลือยของผู้คนบนหมู่เกาะไว้อย่างค่อนข้างละเอียด

 

แน่นอนว่า ชาวตะวันตกที่จะเดินทางเรือข้ามสมุทรตัดข้ามทะเลนดามัน ก็มีหลักฐานว่าจะต้องแวะพักที่หมู่เกาะนิโคบาร์ด้วยเช่นกัน ดังปรากฏอยู่ในเอกสารของนักเดินเรือชาวอาหรับในช่วงระหว่าง พ.ศ.1350-1450 (คริสต์ศตวรรษที่ 9) ด้วยเช่นกัน

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทั่วไปที่สืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ตมักจะอ้างว่า ในบันทึกการเดินทางของมาร์โค โปโล (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.1797-1867) พ่อค้า ควบตำแหน่งนักสำรวจ และนักผจญภัย ชาวเมืองเวนิส ในประเทศอิตาลี ก็ได้บันทึกถึงผู้คนบนหมู่เกาะนิโคบาร์

แต่ดูจะไม่ให้ความสำคัญกับการเปลือยเท่าไหร่นัก แต่มุ่งเน้นไปที่ความป่าเถื่อนดุร้ายของผู้คน ที่มาร์โค โปโล ถึงขนาดบรรยายเอาไว้ว่า

“พวกเขากินทุกอย่างที่สามารถจับได้ ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันเอง”

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่า ผู้คนที่มาร์โค โปโล บรรยายถึงไม่ได้หมายถึงหมู่เกาะนิโคบาร์ แต่หมายถึงผู้คนบนหมู่เกาะอันดามันต่างหาก เพราะอันที่จริงแล้ว ที่ใจกลางของทะเลอันดามันนั้นมีหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สำคัญอยู่ 2 หมู่เกาะ ที่ทอดยาวต่อเนื่องกัน คือ หมู่เกาะนิโคบาร์ ทางตอนล่าง กับหมู่เกาะอันดามัน ทางตอนบน

แต่มีเฉพาะผู้คนในหมู่เกาะอันดามันนั้นค่อนข้างโหดร้าย ซึ่งก็ดูจะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป เพราะพวกพราหมณ์ที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งโคโรมันเดล (โจฬะมณฑล คือชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน) ก็เรียกผู้คนบนหมู่เกาะนี้ว่า “รากษส” (อมนุษย์ที่กินของดิบ)

ในเอกสารข้างไทยเอง อย่างบันทึกของพระสงฆ์ที่รัชกาลที่ 2 ทรงส่งไปลังกาเมื่อ พ.ศ.2357 ก็แสดงให้เห็นว่า รู้จักทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะนิโคบาร์ และหมู่เกาะอันดามัน โดยได้บรรยายถึงผู้คนบนเกาะนิโคบาร์ว่า

“แลเกาะนาควารีย์นั้น ผู้คนอยู่เป็นอันมาก คนเหล่านั้นไม่กินข้าว กินแต่เผือกมันแลหมากพร้าว ครั้นเห็นเรือเข้าไปใกล้เกาะแล้ว ก็เอาเผือกมันหมากพร้าวกล้วยอ้อยลงมาแลกยา”

ในขณะที่บรรยายถึงผู้คนบนเกาะอันดามันไว้ต่างออกไปว่า

“คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิ่งที่นั่นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”

 

ที่สำคัญก็คือ มันมีความเป็นไปได้ที่ว่า สุนทรภู่อาจจะเคยเดินทางไปเกาะลังกา เพราะมีร่องรอยอยู่มากว่าสุนทรภู่คุ้นเคยกับเส้นทางการเดินเรือในทะเลอันดามัน จากทั้งในพระอภัยมณีเอง และรำพันพิลาป ซึ่งหากสุนทรภู่จะเคยไปเกาะลังกาจริงๆ ก็คงจะไปพร้อมกับพระสงฆ์ในคณะที่บรรยายถึงผู้คนบนหมู่เกาะทั้งสองนี่แหละครับ

ถึงแม้ว่า ในบันทึกของพระสงฆ์ดังกล่าวจะไม่ได้พูดถึง “คนเปลือย” บนหมู่เกาะนิโคบาร์ แต่สุนทรภู่ก็น่าจะเคยได้ยิน หรือรู้จักแน่ เพราะในบันทึกของพระสงฆ์ที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงส่งไปประดิษฐานพุทธศาสนาสยามวงศ์บนเกาะลังกาเมื่อ พ.ศ.2298 นั้น ได้บรรยายถึงหมู่เกาะนิโคบาร์เอาไว้ว่า

“ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”

นอกจากนี้ในสมุดภาพไตรภูมิทั้งในยุคศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างก็วาดรูป “คนเปลือย” ไว้บนเกาะนิโคบาร์ คนที่มีการศึกษาดี และน่าจะเคยเดินทางไปลังกาอย่างสุนทรภู่ ย่อมรู้แน่

สุนทรภู่ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้สร้างจักรวาลในพระอภัยมณีได้อย่างที่ไม่เคยมีวรรณกรรมไทยเรื่องไหนทำได้มาก่อนหน้า จักรวาลที่มี “ทะเลอันดามัน” หรือ “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ที่ตั้งของหมู่เกาะนิโคบาร์ และหมู่เกาะอันดามัน เป็นศูนย์กลาง