วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การศึกษาจีนภายใต้อิทธิพลเสรีนิยมใหม่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ชีวิตอาจารย์กับจีนศึกษา (ต่อ)

ปัญหานี้ทำให้เห็นว่า ภาษาไทยมีระบบการสะกดคำที่เป็นของตนเอง ซึ่งไม่มีปัญหาเวลาที่คนไทยจะใช้สื่อสารกันด้วยคำไทย แต่ด้วยระบบเดียวกันนี้ก็ทำให้มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทางเมื่อนำไปใช้สะกดคำหรือทับศัพท์ในภาษาของชาติอื่น

และทำให้มีโอกาสที่การทับศัพท์ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันเกิดขึ้นได้ สุดแท้แต่ละบุคคลจะเลือกแนวทางใด เมื่อต่างบุคคลต่างทับศัพท์กันไปตามแนวทางที่ตนเลือก ความต่างนั้นย่อมมิได้หมายว่าใครผิดหรือถูก แต่ก็มิใช่ความผิดของภาษาไทยอย่างแน่นอน

ปัญหาการทับศัพท์ดังกล่าวสามารถพบได้โดยทั่วไปในผลงานจีนศึกษาในไทย ไม่เว้นแม้แต่งานของตนเอง ที่แม้ทุกวันนี้ได้ทำให้ดีขึ้นมากแล้ว แต่ก็มิได้สมบูรณ์ร้อยละร้อย ในขณะที่บางคำก็มิได้อิงกับเกณฑ์ที่บางสำนักกำหนดมาให้ใช้

เช่น คำในตัวโรมัน sh ที่กำหนดให้เป็นเสียง ช หรือ ฉ นั้น ตั้งแต่เล็กจนโตที่ได้เรียน ได้ฟัง ได้ใช้ภาษาจีนมานั้น โสตสัมผัสที่ได้รับทำให้รู้สึกว่าเสียงจะหนักไปทาง ส หรือ ซ มากกว่าเสียง ช หรือ ฉ งานจีนศึกษาของตนเองจึงทับศัพท์ด้วยเสียง ส หรือ ซ เรื่อยมาจนทุกวันนี้

แต่กระนั้นก็เข้าใจเกณฑ์ที่บางสำนักกำหนดมา เพราะเสียงดังกล่าวเป็นเสียงเสียดแทรก (fricative) ที่เวลาจะออกเสียงปลายลิ้นจะงอขึ้นไปใกล้เพดานแข็ง แต่ต้องไม่แตะเพดานแข็ง เสียงนี้จึงออกค่อนข้างยากสำหรับคนไทยทั่วไปที่ไม่ได้เรียนภาษาจีน

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้คงจะยังอยู่ไปอีกนาน แต่จะนานเพียงใดคงตอบได้ยาก

 

ส่วนงานจีนศึกษาของตัวเองนั้น หลังจากเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองจีน แล้วเสร็จและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกใน ค.ศ.2004 ไปแล้วก็ยังคงได้รับการตีพิมพ์อีกสองครั้ง โดยครั้งที่สามซึ่งเป็นครั้งล่าสุดนั้นตีพิมพ์ใน ค.ศ.2014

หลังจากนั้นก็ยังคงมีผลงานศึกษาเรื่องจีนในเชิงโครงสร้างออกมาอีกหนึ่งเรื่องคือ ครองแผ่นดินจีน : พรรค ผู้นำ อำนาจรัฐ อันเป็นงานศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและการปกครองของจีนโดยตรง และเป็นงานที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองจีนอยู่ไม่น้อย

กล่าวเฉพาะ เศรษฐกิจการเมืองจีน แล้วในระหว่างที่ศึกษาได้ทำให้เข้าใจเหตุการณ์บางเหตุการณ์ในจีนมากกว่าที่เคยรับรู้และเข้าใจมาแต่เดิม

เช่น ตอนที่เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในระหว่าง ค.ศ.1966-1976 อันเป็นช่วงที่การเมืองจีนเหวี่ยงไปสู่กระแสซ้ายจัดนั้น แท้ที่จริงแล้วมาจากความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยกันเอง และทำให้ชนชั้นนำที่อยู่ในสายของเหมาเจ๋อตงผงาดขึ้นมาแล้วนำจีนเข้าสู่กระแสซ้ายจัด

เวลานั้นไม่ว่าใครหรืออะไรที่ไม่เป็นซ้ายจะถือว่าผิด ใครที่ขัดขืนหรือไม่ยอมรับจะถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ส่วนชื่อสถานที่ต่างๆ ที่แต่เดิมมีชื่อเรียกว่าอย่างไรก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็นชื่อที่ฟังดูเป็นซ้าย เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นโดยฝีมือของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกขานตัวเองว่ายามพิทักษ์แดง หรือเรดการ์ด (Red Guard)

ที่ว่าทำให้เข้าใจจีนมากขึ้นในด้านหนึ่งก็อยู่ตรงที่ว่า ครั้งหนึ่งที่กระแสซ้ายขึ้นสูงในไทยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) นั้น ปรากฏว่ากระแสหลักของซ้ายไทยเวลานั้นก็คือกระแสที่ได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ไทยเรารับมาโดยไม่รู้ว่า ที่แท้แล้วเหตุการณ์นี้ในจีนมีที่มาจากความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำจีน

จากเหตุนี้ มีนักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่งที่เคยเป็นซ้ายมาก่อน พอได้อ่านงานเรื่อง เศรษฐกิจการเมืองจีน มาถึงตอนที่ว่าก็เปรยขึ้นเล่นๆ ว่า ซ้ายไทยเหมือนถูกจีนหลอก

 

อย่างไรก็ตาม นับแต่ที่เป็นอาจารย์เรื่อยมาและมีวิชาที่เกี่ยวกับการเมืองจีนที่ต้องสอนนั้น พบว่าเรื่องที่นิสิตให้ความสนใจมากเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของเรดการ์ด ซึ่งก็ได้บรรยายเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดในชั้นเรียน และต่อมาก็พบอีกว่า เรื่องนี้ยังเป็นที่สนใจของคนไทยบางกลุ่มที่อยู่ในวังวนการเมืองไทยปัจจุบันอีกด้วย

เรื่องเรดการ์ดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าที่จะเขียนเป็นการต่างหากออกไป

ชีวิตการเป็นอาจารย์จากที่กล่าวมาก็เป็นดังเช่นที่ว่ามา และเป็นชีวิตที่ยังคงมิได้ตัดขาดจากการศึกษาเรื่องจีน ชีวิตที่ดำเนินควบคู่ไปกับงานวิชาการที่ว่าจึงทำให้เพลิดเพลินไปโดยไม่รู้ตัว ว่าในระหว่างนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงวิชาการไทยอย่างช้าๆ

นั่นคือการเข้ามาของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในแวดวงวิชาการ เป็นการเข้ามาในรูปของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

ซึ่งถึงตอนนั้นชีวิตในโลกของจีนศึกษาของตนเองก็เข้าใกล้ช่วงของการเกษียณเต็มทีแล้ว

 

ในวงล้อมของเสรีนิยมใหม่

ตลอดเวลานับแต่ที่รับราชการด้วยการเป็นนักวิจัยจนถึงเมื่อเป็นอาจารย์นั้น แม้จะพบว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลในแวดวงวิชาการอย่างช้าๆ ก็ตาม แต่ก็มิได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าการเข้ามาของลัทธินี้จะทรงอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง

คือทรงอิทธิพลจนเรียกได้ว่าสามารถครอบงำจิตวิญญาณบางด้านของมนุษย์ได้

และที่มิได้เฉลียวใจก็เพราะเชื่อตามที่มีผู้มีอำนาจว่ามาว่า เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่เพื่อให้เข้าใจการครอบงำที่ว่า สิ่งที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องแรกก็คือสิ่งที่เรียกว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่

รากเหง้าของลัทธิเสรีนิยมใหม่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนักเศรษฐศาสตร์ตะวันตกกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นใยยุโรป ว่าเมื่อสงครามยุติแล้วจะมีแนวทางฟื้นฟูได้อย่างไร ในเบื้องต้นกลุ่มนี้คิดว่า สิ่งที่จะต้องทำโดยเร่งด่วนก็คือ การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่

และจะทำเช่นนั้นได้สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ ต้องห้ามมิให้มีการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน

จากนั้นหลักคิดของลัทธินี้ก็ถูกพัฒนาให้มีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนหลังสงครามโลกผ่านไปแล้วหลายสิบปี หลักคิดนี้ก็มีความชัดเจนมากขึ้นในทศวรรษ 1970 เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเจ้าหลักคิดนี้สองคนได้รับรางวัลโนเบลในเวลาที่ห่างกันไม่กี่ปี

หลังจากนั้นต่อมาอีกหลายปี หลักคิดนี้ก็ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี

และปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จก็คือ การเข้าจัดการมิให้เกิดการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน ซึ่งหลักคิดนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสะสมทุนของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ หลักคิดดังกล่าวยังได้เสนอชุดนโยบายผ่านสูตรที่เรียกย่อๆ ว่า “สูตรดี-แอล-พี” (D-L-P Formula) หรือสูตรการผ่อนปรนการกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ (deregulation) การเปิดเสรีการค้าและอุตสาหกรรม (liberalization) และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน (privatization)

สูตรนี้ยังรวมถึงการลดภาษีครั้งใหญ่ให้แก่ภาคธุรกิจและผู้มีรายได้สูง การปรับลดขนาดภาครัฐ การตัดลดบริการสังคมและสวัสดิการ การใช้นโยบายปลอดภาษีแก่บริษัทในประเทศและต่างชาติที่มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจที่กำหนดไว้ การให้มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเขตเมืองซึ่งเกิดจากบรรษัทข้ามชาติ และการกีดกันการรวมตัวของสหภาพแรงงาน เป็นต้น

อุดมการณ์ รูปแบบ และชุดนโยบายของลัทธิเสรีนิยมใหม่จากที่สรุปมาข้างต้นนี้ ทำให้เห็นถึงแก่นสาระหรือธาตุแท้ของลัทธินี้ว่ามีความแนบแน่นกับอำนาจนิยมอย่างยิ่ง

 

คําว่า “เสรี” ที่เป็นคำสำคัญของลัทธินี้อาจจะหมายถึง “เสรี” ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ ขอเพียงแต่ให้ “เสรี” นั้นตกอยู่แก่ผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจเอกชนให้มากที่สุด และกีดกัน “เสรี” อันใดก็ตามที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการสะสมทุนของผู้ประกอบการให้มากที่สุดเป็นใช้ได้

จะเห็นได้ว่าหลักคิดเสรีนิยมใหม่ที่กล่าวโดยสังเขปข้างต้นนี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติในไทยหลายสิบปีแล้ว ดังจะเห็นได้จากความพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จไปทั้งหมด)

การสร้างเขตเศรษฐกิจที่มีเงื่อนไขจูงใจต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ

หรือการปรับลดบริการสังคมและสวัสดิการในหน่วยงานภาครัฐบางหน่วย เป็นต้น

และกับมหาวิทยาลัยแล้วหลักคิดนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ