ทวารวดี จากผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร อยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี) โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทวารวดี

จากผู้ทรงคุุณวุฒิของกรมศิลปากร

อยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ทวารวดี” คือ เมืองละโว้ (เมืองลพบุรี) ที่ต่อมาได้สืบเนื่องเป็นกรุงศรีอยุธยา
สรุปจากข้อเขียนของ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (“ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร”) มีผลงานวิชาการเยี่ยมยอดเป็นที่ยอมรับกว้างขวางจากนักวิชาการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ บอกตรงไปตรงมาในหนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง กรมศิลปากร (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2531) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2562 จะยกข้อความช่วงนั้นมาดังนี้

“กรุงศรีอยุธยา ที่สืบเนื่องต่อมาจากรัฐโบราณทวารวดี หรือที่ต่อมาคือเมืองละโว้หรือลพบุรี” [บทคัดย่อ หน้า 7]

“กรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติการสืบเนื่องมาจากบ้านเมืองเก่าแก่แต่สมัยโบราณ เช่น เมืองละโว้ หรือลพบุรี ซึ่งแต่ดั้งเดิมชื่อว่าเมืองทวารวดี” [หน้า 50]

“ทวารวดี” คือ เมืองละโว้ (ลพบุรี) ตรงตามจดหมายเหตุจีนบอกไว้ 2 ฉบับ และตรงกับข้อเขียนสันนิษฐานของ มานิต วัลลิโภดม (เมื่อ พ.ศ. 2515) เหล่านี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่ว่าทวารวดีมีศูนย์กลางอยู่เมืองศรีเทพ (อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) เพราะเมืองศรีเทพ เป็นต้นทางเครือข่ายเมืองละโว้ ซึ่งอยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน คือ ลุ่มน้ำป่าสัก-บางขาม แล้วยังสอดคล้องกับการตรวจสอบอักษรจีนในเอกสารโบราณของปัญชลิต โชติกเสถียร (สุพรรณบุรี)
ที่สำคัญคือตรงเผงกับนามทางการของกรุงศรีอยุธยา ยืนยันความเป็นมาจากทวารวดี ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”

หลักฐาน

หลักฐานเกี่ยวกับทวารวดี มีสำคัญๆ ดังนี้
1. “ทวารวดี” ในคัมภีร์อินเดียไม่เป็นพุทธ แต่เป็นพรามหณ์-ฮินดู มาจากชื่อเมืองศักดิ์สิทธิ์ของพระกฤษณะว่า “ทวารกา” ที่พระกฤษณะสถาปนาขึ้นเอง
พระกฤษณะเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ (พระนารายณ์) มีในนารายณ์สิบปาง

2. พระกฤษณะ พบเทวรูปสลักหินลอยตัว 3 องค์ ในเมืองศรีเทพ (อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์) ขนาดสูงใหญ่เท่าคนหรือใหญ่กว่าคน ซึ่งเคลื่อนย้ายไม่สะดวก จึงยังพบอยู่ที่แหล่งเดิม ย่อมน่าเชื่อมากกว่าเหรียญเงินที่จารึกคำว่า “ทวารวดี” พบที่เมืองโบราณนครปฐม ที่หยิบติดมือไปจากเมืองไหนก็ได้ เพราะไม่พบแหล่งผลิตที่นครปฐม

กรมศิลปากร อย่าเอียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของกรมศิลปากร บางแห่งมีเจตนาดี จัดแสดงแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโบราณศิลปวัตถุ พบในไทยที่มีอายุเรือน พ.ศ. 1000
แต่ด่วนสรุปว่าเป็นศิลปะแบบทวารวดี แล้วลำเอียงว่ามีศูนย์กลางทางการเมืองอยู่นครปฐม เสมือนมีอคติต่อแนวคิดต่าง
อย่างนี้ไม่ควรทำ เพราะเท่ากับปิดหูปิดตาประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษาให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านเดียว ซึ่งเป็นด้านที่มีแนวโน้มหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว จึงไม่อัพเดท