คำ ผกา : มันชักจะมากไป มันชักจะฉลาดไป

คำ ผกา

ฉันคิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์ที่มีความกลัวในเทคโนโลยีสูงมาก

สูงจนอาจเรียกได้ว่าเป็นโฟเบียอย่างหนึ่ง อย่างที่ฉันเคยเขียนไว้ในบทความไหนสักชิ้นหนึ่งเรื่องฉันเคยกลัวตู้เอทีเอ็ม

นึกออกไหม ทำไมมีตู้หนึ่งตู้ แล้วเสียบบัตรเข้าไปแล้วมีเงินไหลออกมา

และนั่นทำให้ฉันไม่กล้าใช้บัตรเอทีเอ็ม คือกลัวการเดินไปเสียบบัตร กดหมายเลข จากนั้นก็กลัวว่าเกิดกดไปแล้วไม่มีเงินออกมาจะทำอย่างไร?

จนกระทั่งมีคนมาอธิบายกลไกการทำงานของตู้เอทีเอ็มให้ฉันเข้าใจได้นั่นแหละ ฉันจึงกล้าใช้

และภายหลังถึงขั้นกล้าลืมบัตรเอทีเอ็มไว้ในตู้กดอย่างไม่สะทกสะท้าน

เหตุที่พูดเรื่องเทคโนโลยีโฟเบียขึ้นมาก็เพราะหลังจากการกลัวตู้เอทีเอ็ม ฉันพบว่าช่วงหลังๆ ฉันเริ่มกลัวระบบปฏิบัติการในเทคโนโลยีสื่อสารที่เราใช้

ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ไปจนถึงตัวอุปกรณ์เอง

โดยเฉพาะตัวสมาร์ตโฟน และแท็บเล็ตต่างๆ

 

แต่ก่อนอื่นต้องชี้แจงเสียก่อนว่าฉันยืนอยู่ข้างเทคโนโลยี และเกลียดคำพูดประเภท “คิดถึงอารมณ์จับกระดาษเวลาอ่านหนังสือ คิดถึงกลิ่นหมึก กลิ่นกระดาษ คิดถึงสัมผัสของเรากับแต่ละแผ่นกระดาษ บลา บลา บลา”

เพราะมันฟังดูโรแมนติก และทำให้เรากลายเป็นคนฟูมฟายทางอารมณ์โดยไม่จำเป็น (โดยความเชื่อส่วนตัว ฉันคิดว่า คนเราควรใช้อารมณ์อย่างประหยัด)

แต่กระนั้น ฉันก็ชอบอ่านหนังสือ และอ่านจากกระดาษมากกว่าอ่านจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ไม่ใช่เพราะชอบกลิ่นน้ำหมึก (ออกจะเกลียด) แต่เพราะไม่ชอบความร้อนจากประจุไฟฟ้าในยามที่เราถืออุปกรณ์เหล่านั้นนานๆ ไม่ชอบแสงจากจอ

ยิ่งกว่านั้นการอ่านจากอุปกรณ์ มีสิ่งที่ทำให้สมาธิเราไขว้เขวจากสิ่งที่เราอ่าน เช่น การแจ้งเตือนต่างๆ ที่คอยกะพริบมา แจ้งเตือนมาแล้ว ก็มีความอยากรู้อยากเห็นอยากกดเข้าไปอ่านอีก

ดังนั้น การอ่านจากอุปกรณ์ ทำให้เราต้องอ่านหนังสือแบบ “ซิกแซ็ก” คืออ่านอันนี้แล้ววิ่งไปอ่านอันนั้น แล้ววิ่งย้อนกลับมาอ่านอันเก่า ก่อนจะวิ่งเฉียงไปอ่านอะไรสักอย่างที่โผล่ขึ้นมา

หนักกว่านั้น อาจมีการแวะดูคลิปอะไรสั้นๆ อีกสอง-สามนาที

และนั่นทำให้คนสมองขี้เลื่อยอย่างฉันอ่านอะไรก็ไม่จบสักที หรือจบก็จบแบบจำอะไรไม่ค่อยได้

เพราะฉะนั้น สำหรับฉันแล้วเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านหนังสือเล่มหรือพ็อกเก็ตบุ๊กอ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

และแม้แต่บทความสั้นๆ หากต้องอ่านแบบเอามาใช้งานจริงจัง ฉันก็จะต้องปริ๊นต์ออกมาใส่กระดาษเสียก่อน

และเมื่อต้องอ่านก็ต้องปิดอุปกรณ์สื่อสาร แล้วนั่งอ่าน นอนอ่าน ใช้ปากกาทำไฮไลต์ และแม้กระทั่งนั่งทำโน้ตสั้นด้วยลายมือขยุกขยุย แล้วรู้สึกว่า เข้าใจ จดจำได้มากกว่า

 

และสิ่งที่ทำให้ฉันทึ่ง และอิจฉาคนที่ทำได้มากๆ นั่นคือ คนที่อ่านจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แล้วใช้แอพฟลิเคชั่นช่วยอ่าน ช่วยไฮไลต์ ช่วยตัดแปะทำระบบจัดเก็บข้อมูล ทำแผนที่ความคิดโยงไปโยงมาสวยงาม ดูเข้าใจง่าย และแตกแขนงการอ่านออกมาได้อย่างหลากหลาย

และฉันเชื่อว่า คนที่ทำแบบนี้ เขาจะอ่าน คิด และเขียนได้มีประสิทธิภาพกว่าการอ่านด้วยวิธีอะนาล็อกแบบฉันแน่ๆ

แต่ก็นั่นแหละ ความสามารถในการอ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของฉันดันเข็นไม่ขึ้นจริงๆ

และฉันก็จะไม่แปลกใจที่ฉันอาจจะค่อยๆ โง่ลงโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากไม่สามารถขยายเพดานขีดความสามารถทางการอ่านของตัวเองออกไปได้

และอาจเป็นเพราะความโฟเบียทางเทคโนโลยีส่วนตัว ที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าหนังสือมีความเป็น “สิ่งของ” มากกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นั่นแปลว่า หนังสือกระดาษมีความเป็น passive มากกว่า นั่นคือ เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตโดยสิ้นเชิง มันเป็นกระดาษที่มีคนพิมพ์ตัวอักษรลงบนมัน

หนังสือกระดาษจะไม่มีวันเปล่งเสียง เรืองแสง แจ้งเตือน สั่ง ขอร้อง มันคือ “สิ่งของ” ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของสิ่งมีชีวิตอย่างเราโดยสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น ฉันจะรู้สึกว่าฉันมีอำนาจเหนือวัตถุที่เรียกว่าหนังสือ ฉันจะอ่านไม่อ่าน จะโยนลงพื้น จะขีด จะฆ่า จะพับ จะขยำ – กระดาษจะไม่มีวันรู้ว่าฉันทำอะไร

แต่การอ่านจากแอพพลิเคชั่น และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่บรรจุความจำ จนมีความก้าวก่ายในชีวิตของเราสูง จนกระทั่งเหมือนจะโต้ตอบกับเราได้ เช่น ในขณะที่เราอ่าน อาจจะมีข้อความขึ้น “คำแนะนำ” หรือแม้กระทั่ง “ขอร้อง” ให้เราทำนู่นทำนี่ หรือการขออนุญาตที่จะเข้าถึงตำแหน่งที่อยู่ของเรา ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทอรนิกส์ที่มีระบบปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้มีสภาวะกึ่งกับการเป็นสิ่งมีชีวิต หรือเป็น “สมอง” ที่เป็นเอกเทศ และมีอิสระในตัวเอง

นอกจากเราแทบจะควบคุมมันไม่ได้แล้ว มันมีแนวโน้มจะควบคุมเราเสียด้วย ไม่นับว่าระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะเริ่มจดจำว่าเราอ่านอะไร เราชอบดูอะไร จากนั้นจะพยายามหาสิ่งที่มันคิดว่าเราชอบมาเสิร์ฟเราอยู่เรื่อยๆ

และสำหรับคนประสาทแดกเรื่องเทคโนโลยีอย่างฉัน สิ่งนี้ทำให้ฉันเกิดความแปลกแยกกับวัตถุที่ตนเองครอบครอง และตั้งคำถามว่า ตกลงสิ่งนี้เป็นสิ่งของ หรือมันเป็นสิ่งมีชีวิตอีกตนหนึ่ง ที่หากเราการ์ดตกเมื่อไหร่ มันจะเข้ามาบงการชีวิตเรา

และกว่าเราจะรู้ตัว เราก็อาจกลายเป็นทาสของมันไปแล้วก็ได้

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันจึงค่อนข้างปลงใจแล้วว่า ในด้านการอ่าน ยังไงฉันก็จะอ่านจาก “กระดาษ”

แต่ไม่ได้แปลว่าฉันจะเลิกอ่านจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต

เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ นิตยสาร เว็บไซต์ข่าว งานเขียนของบล็อกเกอร์ที่น่าสนใจ

เพราะการอ่านออนไลน์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการ “เข้าถึง” ข้อมูลเหล่านั้น

จำได้ว่า ก่อนยุคที่มีอินเตอร์เน็ต การจะได้อ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารภาษาต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ “แพง” มากๆ

เช่น นิตยสารไทม์ นั้นราคาเล่มละเกือบสามร้อยบาท ค่าต้นฉบับนักเขียนไทย สามพันบาท หากต้องซื้อนิตยสาร หนังสือพิมพ์ต่างประเทศอ่านเองทุกเล่ม คงมีอันต้องล้มละลาย (และห้องสมุดบ้านเราฟังก์ชั่นเสียที่ไหน)

แต่ปัจจุบันเราสามารถอ่าน “วัตถุดิบดิบ” เหล่านี้ฟรีในระดับหนึ่ง เช่น แจแปนไทมส์ให้อ่านฟรีเดือนละไม่เกินสิบบทความ เป็นต้น

และหากเป็นการอ่านเพื่อความเพลิดพลินหรือเพื่อเป็นความรู้รอบตัว ไม่ได้นำมาใช้ในการทำงานอย่างจริงๆ จังๆ ฉันก็จะอ่านโดยไม่ปริ๊นต์ลงกระดาษ อ่านพอรู้เรื่องก็ปล่อยมันลอยละล่องอยู่ในอากาศ

รอคนมา “เรียก” ไปอ่านต่อไป

 

ดังนั้น การอ่านสำหรับตัวฉันเองจึงเป็นลูกผสมระหว่างการอ่านออนไลน์กับการอ่านจากกระดาษ และการอ่านออนไลน์ มีไว้เพื่อเติมเต็มช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้น

นั่นแปลว่าการอ่านจากกระดาษยังเป็น preference คือ เป็นสิ่งที่หากเลือกได้ เราเลือกจะอ่านจากกระดาษมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าเรามีอำนาจเหนือวัตถุที่เราอ่าน

แต่หากไม่มีทางเลือก เราจำต้องยอมอ่านในรูปแบบออนไลน์ที่บางครั้งต้องกัดฟันทนเห็นการ “มีชีวิต” ของสิ่งที่เราอ่านและอุปกรณ์ที่เราอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการป๊อปอัพขึ้นมาของหน้าโฆษณา ที่บางครั้งมาพร้อมกับเสียงและคำสั่ง เช่น คุณจะข้ามโฆษณานี้ไปก็ต่อเมื่อผ่านไปแล้วห้าวินาที สิบวินาที และเป็นเงื่อนไขที่เราไม่สามารถต่อรองได้เลย นอกจากต้องยอมจำนน

ในขณะที่โฆษณาในสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษจะไม่ก้าวร้าวและคุกคามเราขนาดนี้

แต่เพื่อแลกกับการอ่านฟรี เราก็ต้องยอมให้มันคุกคาม กวนใจ หรือแม้กระทั่งยอมให้มันตะโกนใส่หน้าเราได้ในหลายครั้ง

ตัวป๊อปอัพในหน้าเว็บหลายตัว บอกตามตรงว่า สำหรับฉันมันป่วนประสาท และเร้าความโมโหได้ดีมากๆ

และส่วนหนึ่งของความโมโหก็น่าจะเกิดจากการที่เราทำใจให้วัตถุสิ่งของมีอำนาจเหนือเราไม่ได้

เพราะฉะนั้น ที่ว่ากันว่า สิ่งพิมพ์กระดาษจะตาย ฉันยืนยันว่าไม่จริง เพียงแต่สิ่งพิมพ์กระดาษ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร ต้องปรับโครงสร้างของการเล่าเรื่องใหม่เพื่อรองรับนักอ่านลูกผสม ที่ขาข้างหนึ่งอ่านกระดาษ ขาอีกข้างหนึ่งอ่านออนไลน์ และสมอง การรับรู้ ความเร็วในการอ่าน พฤติกรรมการติดตามประเด็นที่อ่าน มันถูกก่อรูปโดยสื่อออนไลน์ไปกว่าครึ่งแล้ว

เช่น ในนิตยสารหนึ่งเล่ม ต้องไม่มีเนื้อหาที่ไม่มี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจนว่า มีคอลัมน์นี้ หรือข้อเขียนมาเพื่ออะไร?

เนื่องจากนิตยสาร หนังสือพิมพ์ยุคหนึ่ง อยู่ได้ด้วยโฆษณา วัฒนธรรมการทำเนื้อหาของนิตยสารจึงย่อหย่อนเรื่องคุณภาพของเนื้อหาในเล่ม

นั่นคือ มีการปล่อยให้มีคอลัมน์ที่ขายได้ หรือเด่นๆ สัก 2-3 คอลัมน์ที่คนติด ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นคอนเทนต์ หรือเนื้อหาของญาติมิตร คอนเน็กชั่น บ.ก.

ช่วงไหน บ.ก. ชอบเข้าวัด อยู่ๆ นิตยสารแฟชั่นก็เต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์พระกับแม่ชี

ช่วงไหน บ.ก. สนิทกับนักเขียนที่กินชีวจิต คอนเทนต์ในหนังสือก็มีแต่เรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ อะไรทำนองนี้

แน่นอนว่าในยุคที่เราไม่มีอะไรให้อ่าน เราก็ทนๆ อ่านไป

แต่ในยุคที่มีทางเลือก คนอ่านก็ไม่ทน ไม่ใช่เพราะเขาเบื่อกระดาษ แต่เขาเบื่อคอนเทนต์ เบื่อเนื้อหา

นั่นแปลว่า นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ในยุคดิจิตอล อยู่รอดแน่ๆ แต่ต้องผ่าตัดโครงสร้างการนำเสนอเนื้อหาในนิตยสารทั้งหมด

และทุกๆ หน้าที่เป็นคอนเทนต์ ต้องไม่มีอะไร “ที่ไม่จำเป็น” หรือสักแต่ใส่มาเพื่อให้ครบหน้ากระดาษเฉยๆ

การวางโครงของเนื้อหาทั้งเล่มต้องผ่านการคิด ตกผลึก ว่าตั้งแต่ บทบรรณาธิการหน้าที่ 1 เรื่อยไปจนถึงบทปิดเล่ม แต่ละชิ้นของบทความ บทสัมภาษณ์ บันเทิงและอื่นๆ มันตอบสนองต่อกันอย่างไร เป็นเหตุ เป็นผลต่อกันอย่างไร

การมีอยู่ของคอลัมนิสต์แต่ละคนมีอยู่ด้วยเหตุผลใดเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ใดของนิตยสารเล่มนั้น หัวนั้น

สไตล์การเขียน ภาษาที่ใช้ การจัดย่อหน้า ไปจนถึงจำนวนคำของแต่ละบทความ ต้องถูกคิดจากฐานของผู้อ่านที่พฤติกรรมถูกเปลี่ยนแปลงจากการอ่าน text ออนไลน์มาแล้ว

ปัญหาของของนิตยสาร หนังสือพิมพ์กระดาษตอนนี้คือ ยังไม่มีใครปรับตัวมาที่ตรงนี้ ฉันนั่งเปิดนิตยสารเล่มหนึ่ง ก็ยังเจอแต่สิ่งที่ “ไม่จำเป็น” เต็มไปหมด และนั่นทำให้ตัวนิตยสารดูน่าเบื่อมาก

อาจจะมีคนเถียงว่า ไม่จำเป็นสำหรับคุณ แต่อาจจำเป็นสำหรับคนอื่น

แต่ฉันยืนยันว่า หากคุณต้องการทำนิตยสารให้รอด คุณต้องทำให้สิ่งที่ไม่จำเป็นกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นและน่าอ่านให้ได้ ไม่ว่าจะสำหรับใคร เช่น ต้องสามารถทำให้เรื่องดาวอังคารมันน่าสนใจและจำเป็นสำหรับคนไม่สนใจดาราศาสตร์อย่างฉันให้ได้ – ถ้าทำได้นั่นแหละคือประสบความสำเร็จ นิตยสารจะอยู่รอด มีคนอยากอ่าน

นอกจากนี้ ฉันยังจะกล้าทำนายต่อไปจากประสบการณ์ของคนที่เป็นเทคโนโลยีโฟเบียว่าอีกไม่ช้านาน มนุษย์เราจะเกิดอาการ “เหนื่อย” กับความสมาร์ตของเทคโนโลยีที่ชักจะยุ่มย่ามกับชีวิตของเรามากเกินไป

จนเราอาจจะโหยหาสิ่งที่เรียบง่ายและรับมือได้ราบรื่นกว่าแม้จะสะดวกน้อยลง หรือล่าช้าลงกว่าเดิม

เช่น ตัวฉันเองตอนนี้เกลียดเฟซบุ๊กมาก (เป็น love – hate) เพราะเกลียดการ “รู้ทัน” เช่น ตอนเช้าต้องขึ้นมาเตือนว่า

“นี่มีคนที่ไม่ใช่เพื่อนเธอมากดไลก์เธอนะ ไปตั้งค่าส่วนตัวสิ”

“นี่ฉันสังเกตว่าเธอเซฟบทความไว้ตั้ง 11 ชิ้นแล้วนะ เข้าไปอ่านสิ”

“นี่ใกล้จะถึงวันที่เธอนัดจะไปงานนั้นงานนี้แล้วนะ อย่าลืมล่ะ”

“นี่เธอเป็นเพื่อนกับคนนี้ครบสองปีแล้วนะ ชั้นทำสไลด์เก็บความทรงจำดีๆ ไว้ให้เธอ”

“นี่มาดูว่าปีที่แล้วมีเหตุการณ์อะไรที่เป็นความทรงจำดีๆ ของเธอบ้าง”

ฯลฯ

โอยยยยยยยยยย – ฉันร้องออกมาแบบนี้จริงๆ แล้วอยากตะโกนดังๆ ว่า เลิกเสือกกับชีวิตกู แล้วเลิกเลือกความจำให้กู มึงเป็นใครจะมาคัดว่าเหตุการณ์นี้ คนนั้นคนนี้ คือสิ่งสำคัญของปี ของแบบนี้กูเลือกเอง และกูมีเหตุผลของกูเอง

แล้วที่มึงเลือกมาเนี่ย หลายคนก็หายหกตกหล่น เหอะ เลือกใช้อะกอริธึ่มบ้าๆ บอๆ มาเผือกกับกูได้แล้ว

และช่วยเลิกทำตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่รู้ดีว่า บอกว่า มึงเซฟนั่นเซฟนี่แล้วเข้าไปอ่าน กูอยากอ่านเมื่อไหร่ กูไปเองว้อยยยยยยยยย – ขอกรี๊ดอีกรอบ

 

ไอ้ความรู้ดีของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราเผลอขายวิญญาณให้มัน ตอนนี้มันกำลังทวงราคาของมันอย่างเต็มเหนี่ยว และฉันคิดว่าอีกไม่ช้านาน ที่เราจะไม่สามารถทนให้มันมาครอบชีวิตของเราได้อีกต่อไป

วันนั้นเราอาจจะต้องการแค่อินเตอร์เน็ตแล้วขอไปตามเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยตัวเราเอง ด้วยจังหวะความเร็วในชีวิตของเราเอง และในระดับที่เรารู้สึกว่า เราควบคุมมันได้ในระดับหนึ่ง

นั่นรวมไปถึงความเหน็ดเหนื่อยจากการมีชีวิตอยู่สมาร์ตโฟนที่มันชักจะมีชีวิตเป็นของมันเอง อัพเดตตัวเอง เปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ด้วยตัวเองยังกะมีลูกน้อยหอยสังข์ซ่อนอยู่แล้วตอนที่ทุกคนเผลอก็ออกมาเล่น มากวาดบ้านถูบ้านซะงั้น

หนักกว่าคือ ฉันเกิดความกระอักกระอ่วนอย่างแรงกับการที่ฉันรู้สึกว่าสมาร์ตโฟนของฉันชักจะรู้มาก ออกคำสั่ง ยื่นเงื่อนไข แจ้งข้อมูล ข่าวสาร และบังคับกลายให้เราต้องเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ อัพเดตระบบปฏิบัติการ และยิ่งอัพเดต มันก็ยิ่งรู้มากและยิ่งเผือก ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งมีเงื่อนไขมาก ยิ่งมีคำสั่งต่อเรามากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งใช้ก็ยิ่งเหนื่อย แล้วฉันก็เริ่มคิดถึงโทรศัพท์ที่ทำได้แค่โทรศัพท์จริงๆ

กลับไปอ่านหนังสือจากหนังสือจริงๆ

กลับไปอ่านนิตยสารที่เป็นนิตยสารจริงๆ ที่เราพลิกอ่านทีละหน้า ทีละหน้า ไม่ใช่กระโดดไปมาจนไม่มีอะไรปะติดปะต่อกับอะไร

หวังว่าจะไม่ได้มีฉันคนเดียวที่รู้สึกแบบนี้