ธงทอง จันทรางศุ | ถึงคนที่ยังไม่เกษียณ

ธงทอง จันทรางศุ

ชีวิตคนเกษียณอายุราชการแล้วอย่างผม นอกจากไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนฝูงหรือหาของอร่อยรับประทานตามที่ต่างๆ แล้ว

กิจกรรมหนึ่งที่ยังวนเวียนเข้ามาในชีวิตอยู่เสมอคือการเข้าร่วมประชุมในหน้าที่กรรมการตามที่ต่างๆ เกือบร้อยละร้อยเป็นกรรมการของหน่วยราชการครับ

การมีพื้นฐานการศึกษาและประสบการณ์เป็นนักกฎหมายนี่ก็ดีไม่ใช่น้อย เพราะเมื่อเกษียณอายุมาแล้วจึงพบว่า หน่วยงานต่างๆ มักต้องการนักกฎหมายที่ไม่มีส่วนได้เสียไปเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของกรรมการนานาชนิดในประเทศไทย

ชีวิตของผมจึงไม่เหงานักเพราะต้องออกจากบ้านไปประชุมโน่นประชุมนี่อยู่เสมอ

การไปประชุมกรรมการต่างๆ เป็นโอกาสที่จะได้ลับสมองประลองปัญญาของเรา และเป็นจังหวะเวลาที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เข้าร่วมประชุมท่านอื่น

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีการประชุมครั้งหนึ่งที่ผมเก็บตกสาระได้จากที่ประชุมแล้วรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก

จึงขอนำมาเล่าขยายความในที่นี้

เมืองไทยของเราประมาณห้าปีที่ผ่านมาพูดกันถึงเรื่อง 4.0 มากมาย แต่แรกผมไม่ค่อยรู้หรอกครับว่าหมายถึงอะไร เพราะคนรุ่นผมนั้นไม่เรียกหากระดานชนวนมาใช้เขียนหนังสือก็บุญโขแล้ว

เอาแต่เพียงความเข้าใจของผมโดยย่อว่า เจ้าระบบ 4.0 นี้ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน สำหรับมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของผู้ใช้ข้อมูลจะได้ใช้ตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้การงานทั้งหลายรอบคอบ แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น

ขนาดพูดกันมาประมาณห้าปีแล้ว ระบบราชการของเราก็ยังปรับตัวช้ามาก และยังไม่ค่อยยอมจะเป็น 4.0 กันเท่าไหร่ อย่าโกรธกันนะครับ ถ้าจะขอยกตัวอย่างว่า ผมเป็นคนชอบค้นภาพเก่าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ

ครั้งหนึ่งเคยไปเที่ยวที่ประเทศนิวซีแลนด์ มีโอกาสเดินผ่านหอจดหมายเหตุแห่งชาติของเขา อ๊ะ! ลองแวะเข้าไปดูสักหน่อยเป็นไร

ตรงห้องโถงกลางของสำนักงานมีคอมพิวเตอร์ระบบใหญ่วางอยู่ ใครเข้าไปก็คลิกดูได้ ในระบบข้อมูลนั้นมีภาพมากมายหลายหมื่นภาพ จัดเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ เราอยากดูภาพไหนก็เรียกขึ้นมาขยายดูบนจอได้ ดูแล้วยังไม่สาแก่ใจ อยากได้ภาพกลับบ้าน ไม่ยากครับ ส่งเป็นอีเมลกลับบ้านได้เลย

ทั้งนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนหอจดหมายเหตุแห่งชาติของเมืองไทยซึ่งเป็นแฟนกับผมมาช้านาน ยังไปไม่ถึงไหนเลย ระบบของเราทุกวันนี้น่าจะใกล้เคียงกับระบบที่ผมเข้าไปค้นคว้าครั้งแรกเมื่อตอนเป็นนิสิตปีหนึ่ง พุทธศักราช 2516 เรื่องนี้ต้องลงทุน ต้องพัฒนาและต้องสร้างความเข้าใจกันอีกมาก ผู้ใหญ่และงบประมาณก็ต้องสนับสนุนด้วย

ไม่เป็นไรครับ เอาใจช่วยอยู่เสมอ

กลับไปต่อความเดิมอีกหน่อยหนึ่ง ขณะที่ 4.0 เรายังไม่ถึงไหน โลกก็ได้ก้าวไปอีกระดับหนึ่งคือระดับที่เรียกว่า AI หรือ artificial intelligence แล้ว เคยได้ยินอยู่เหมือนกันว่าเขาแปลว่า “ปัญญาประดิษฐ์”

แต่คำนี้ก็ยังไม่ติดตลาดเท่าไหร่นัก สรุปรวมความก็คือเครื่องจักรจะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์ คนจะตกงานกันครั้งมโหฬารล่ะครับ

ตัวอย่างเช่น สิ่งที่เราคุ้นเคยเมื่อมีคนมาสมัครงานคือการตั้งกรรมการสัมภาษณ์แล้วให้คะแนนกันไปตามเกณฑ์ โลกทุกวันนี้มีบริษัทเกิดขึ้นให้บริการรับจ้างบริษัทขนาดใหญ่ขนาดยักษ์ สัมภาษณ์คนที่สมัครงาน เพื่อทุ่นเวลาและทุ่นกำลังของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในบริษัทใหญ่เหล่านั้น

คนที่สมัครงานนั้นนั่งอยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นการสัมภาษณ์ทางไกลผ่านโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์

ผู้ถามคำถามสัมภาษณ์ไม่ใช่คน หากแต่เป็นเครื่องจักร ซึ่งมีข้อมูลสารพัดเก็บรวบรวมไว้ เช่น การประเมินคำตอบว่าตอบแบบนี้ควรคะแนนมากน้อยอย่างไร บุคลิกแบบนี้ใช้ได้ไหม แววตามีพิรุธหรือเปล่า ฯลฯ

สมมุติว่ามีคนมาสมัครงาน 1,000 คน เจ้าเครื่องปัญญาประดิษฐ์ที่ว่านี้สามารถสัมภาษณ์ได้สำเร็จเรียบร้อยภายในเวลาเพียงครึ่งวันเช้า หลังจากประมวลผลแล้วก็ส่งรายงานผลให้บริษัทใหญ่ที่เป็นผู้ว่าจ้างได้ก่อนเที่ยง จะคัดให้เหลือคนเดียวเลย หรือคัดให้เหลือห้าคน สิบคน เผื่อว่าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อยากจะเรียกมาพบหน้าค่าตากันก่อนการตัดสินใจรอบสุดท้ายก็เรื่องของคุณ สั่งมาเถิด เราทำได้หมด

เรื่องแบบนี้มองในแง่ดีก็ดีใจหาย เพราะประหยัดทั้งเวลาและสตางค์ ไม่เสียค่าเดินทาง ตัดสินใจได้ถูกต้องไม่มีอคติ แต่ขณะเดียวกันก็น่ากลัวใจหายเหมือนกัน เพราะวิธีทำงานจะเปลี่ยนไป เครื่องจักรเข้ามาแทนมนุษย์ แล้วมนุษย์จะไปอยู่ที่ไหน

เป็นความจำเป็นที่มนุษย์ยุคใหม่ต้องรู้จักและเข้าใจโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้

มีคนเล่าให้ฟังว่าการนำสินค้าออกจากท่าเรือ เช่น ท่าเรือคลองเตยเพื่อไปส่งยังที่หมายปลายทาง วิธีทำงานของบ้านเราต้องใช้คนมากมายทุกขั้นตอน ส่วนเมืองนอกหลายประเทศนั้นพัฒนาไปไกลแล้ว เครื่องจักรเข้ามาทำแทนเกือบทั้งหมด พอคอนเทนเนอร์วิ่งออกจากท่าเรือเพื่อไปที่ไหนก็แล้วแต่ ผู้ควบคุมระบบก็สามารถติดตามได้ตลอดเวลาว่าสินค้าถึงไหนแล้ว ไม่มีทางหายหกตกหล่นไปได้ และสินค้าจะไปถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพ

เล่ามาถึงเพียงนี้แล้วก็อดห่วงไม่ได้ว่า ผู้คนของเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กันอย่างไร

ระบบราชการที่มีคนทำงานภาครัฐอยู่ 2,000,000 กว่าคน ไม่สามารถจะอยู่อย่างนี้ได้ต่อไป วิธีคิดแบบเดิมว่าเมื่อมีคนเกษียณอายุราชการ ก็ต้องบรรจุคนใหม่มีจำนวนเท่ากันเข้าทดแทน อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสียแล้ว

ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทยที่เดิมมีคนทำงานอยู่ประมาณ 25,000 คน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลดจำนวนคนทำงานลงประมาณ 10,000 คน เพราะเครื่องจักรเข้ามาทำแทนหมดแล้วครับ

เดี๋ยวนี้ใครเขาต้องไปแบงค์กันบ้างล่ะ ธุรกรรมการเงินทุกอย่างสำเร็จเรียบร้อยด้วยโทรศัพท์มือถือทั้งสิ้น จริงไหมครับ

เรื่องอย่างนี้ส่งผลกระทบไปหมด ตั้งแต่การเรียนการสอนในโรงเรียนในมหาวิทยาลัยหรือสายอาชีพ คนรุ่นใหม่ต้องมีทักษะอย่างใหม่ มีความสามารถที่จะปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว อารมณ์เหมือนกันกับคำขวัญของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เขียนไว้หลายปีก่อนริมทางด่วนว่า “โลกก้าวไกล ลูกต้องก้าวให้ทัน”

ย่อหน้าสุดท้ายนี้บอกทุกคนรวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ทำงานอยู่ในสำนักพิมพ์มติชนด้วยนะครับ

อุ่ย!